ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

ถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับการพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,528 view

As delivered

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี

ในการพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

 

* * * * * * * * * *

ท่านประธาน

ฯพณฯ ทั้งหลาย

และผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนทุกท่าน

๑. ครึ่งปีที่ผ่านมานั้น พวกเราทราบดีว่าเราเผชิญกับวิกฤติครั้งสำคัญของมนุษยชาติจากการระบาดใหญ่ของโควิด–๑๙ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจการค้าอย่างรุนแรง เราจึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลของการสาธารณสุขและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปเพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยังคงดำเนินการต่อไปอย่างราบรื่น โดยห่วงโซ่การผลิตของประเทศ ของภูมิภาค และของโลกจะต้องเดินหน้าไปได้ เพราะอาเซียนก็คือห่วงโซ่ที่สำคัญ

๒. ไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น เพื่อให้สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ตรงจุด ครอบคลุม และมีประสิทธิผล อาเซียนควรคำนึงถึงความร่วมมือในการส่งเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนในทั้ง ๓ ระยะ หรือที่เรียกว่า 3R ดังนี้

    หนึ่ง “Responsiveness” การตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าในช่วงล็อกดาวน์เพื่อกระจายสินค้าไปยังประชาชนและขนส่งสินค้าของผู้ผลิตและผู้ส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการหารือในระดับภูมิภาคอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความร่วมมือเชิงรุกระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

    สอง “Recovery” การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง โดยมุ่งรักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุนผ่านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่และแสวงหาโอกาสจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

    สาม Resilience” การยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต โดยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อทำให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่ามีความเข้มแข็งและยั่งยืน

๓. สำหรับไทยนั้น ยินดีกับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนเรื่องกลไกระดับภูมิภาคระหว่างภาครัฐกับเอกชน และสนับสนุนให้คณะกรรมการที่ปรึกษาธุรกิจพิเศษทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานในเรื่องโควิด-๑๙ ภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-๑๙ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

๔. สุดท้ายนี้ ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง และกลับมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดอีกครั้ง ตลอดจนเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญจากต่างประเทศในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก

ขอบคุณครับ