ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,693 view

As delivered


ถ้อยแถลง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕
๒๕ กันยายน ๒๕๖๓
******

หัวข้อหลัก : “The future we want, the United Nations we need: reaffirming our collective commitment to multilateralism – confronting COVID-19 through effective multilateral action”.

 

ท่านประธาน

๑. ผมขอแสดงความยินดีกับท่านประธานที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕

๒. ปีนี้นับเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวาระครบรอบ ๗๕ ปีของการก่อตั้งสหประชาชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนองค์กรแห่งความสมานฉันท์ ความร่วมมือ และเป็นแรงบันดาลใจให้มวลมนุษยชาติเชื่อมั่นในความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจของทุกประเทศสมาชิก เพื่อสร้างสันติสุขและความกินดีอยู่ดีของประชากรโลก

๓. ตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี สหประชาชาติและรัฐสมาชิกได้ฝ่าฟันความท้าทายต่าง ๆ อย่างไม่ย่อท้อ โดยในปีนี้ โลกต้องประสบกับวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนทำให้วาระพิเศษครบรอบ ๗๕ ปีของสหประชาชาติต้องถูกบดบังไป อย่างไรก็ดี ความท้าทายอันใหญ่หลวงครั้งนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การยึดมั่นในระบบพหุภาคีและความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิก คือหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

๔. ทุกประเทศต้องเชื่อมั่นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนมีความแน่วแน่มั่นคงและไม่หวั่นไหวต่อกระแสชาตินิยม และกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้พวกเรามีความเป็นหนึ่งเดียว และสามารถฟันฝ่าภัยพิบัติครั้งนี้ไปได้ในที่สุด เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่มีประเทศใดสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายได้เพียงลำพัง และนี่คืออนาคตที่เราต้องการ

๕. ผมขอใช้โอกาสนี้ส่งกำลังใจไปยังทุกประเทศ และขอให้ผู้ป่วยทุกรายหายเป็นปกติในเร็ววัน รวมทั้งขอให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนอาสาสมัครและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ซึ่งถือเป็นทัพหน้าในสงครามการสู้รบกับโรคโควิด-๑๙ ปลอดภัยและประสบความสำเร็จในภารกิจอันท้าทายนี้

ท่านประธาน

๖. รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและตั้งใจยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในประเทศ โดยจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙” ที่มีผมเป็นผู้บัญชาการหลัก โดยมาตรการต่าง ๆ ของไทยล้วนเป็นไปตามหลักของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. ๒๐๒๕ และแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่ให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ปัญหา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ มีการรณรงค์มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน รวดเร็ว และโปร่งใส และต่อต้านการเผยแพร่ข่าวเท็จ รวมถึงสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า ๑ ล้านคนทั่วประเทศ อีกทั้งมีการรักษาผู้ป่วยทุกคนโดยไม่แยกแยะว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังสนับสนุนแผนพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-๑๙ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยได้เริ่มพัฒนาและวิจัยวัคซีนต้นแบบมาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งยังร่วมมือกับหุ้นส่วนในต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ผมเห็นว่าวัคซีนและยาสำหรับรักษาโรคโควิด-๑๙ ควรต้องเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกประเทศได้รับสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน โดยสหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้

๗. นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาทางเศรษฐกิจ เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ประกอบการสตรี กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม โดยมีการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้ ในการนี้ ผมได้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน

๘. ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งชาติ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งผมขอขอบคุณองค์การอนามัยโลกที่ให้การยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับเชื้อโควิด-๑๙ ได้ดีที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี ผมได้ย้ำเตือนประชาชนและทุกภาคส่วนอยู่เสมอถึงความไม่ประมาท เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง

๙. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และเป็นประเทศต้นแบบด้านการบริหารระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพก็คือ การมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความเข้มแข็งผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งไทยได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในกรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health

๑๐. ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ผมหวังว่าทุกประเทศจะต้องช่วยเหลือ แบ่งปันและเกื้อกูลกัน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผมขอชื่นชมท่านเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนให้รัฐสมาชิกตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อให้ทุกประเทศสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ โดยไทยได้ร่วมบริจาคเงินให้แก่ “กองทุนสหประชาชาติเพื่อรับมือและฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙” ขณะที่ระดับภูมิภาค ไทยได้เสนอให้จัดตั้งและร่วมบริจาคเงินให้แก่ “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙” เพื่อรับมือกับวิกฤติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน เพื่อให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาต่างสนับสนุนข้อเสนอของไทย โดยอาเซียนที่แข็งแกร่งจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีให้แก่สหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ภายหลังโควิด-๑๙ และสิ่งท้าทายอื่น ๆ ในอนาคต ไทยมีความพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศในมิติอื่น ๆ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

๑๑. ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไทยได้ดำเนินนโยบาย “หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” ซึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางพื้นบ้าน มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่โลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

ท่านประธาน

๑๒. ในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปีของสหประชาชาติ พวกเราควรร่วมกันประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว ที่ผ่านมา แม้สหประชาชาติจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของโลกได้ทุกเรื่อง แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบพหุภาคีที่ทุกคนมีส่วนร่วมสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามขนาดใหญ่หรือการใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ดังนั้น เราจึงควรมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีนี้ต่อไป โดยกระชับความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทของความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนี่ก็คือ สหประชาชาติที่เราต้องการ

๑๓. ตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ไทยได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เรายึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ และเคารพหลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ

๑๔. ในด้านสันติภาพและความมั่นคง สหประชาชาติและประชาคมโลกประสบความสำเร็จในการพยายามระงับความขัดแย้งโดยสันติวิธี และการให้ความช่วยเหลือประชาชนหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งตลอดระยะเวลา ๗๕ ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของไทย นอกจากการให้ความสำคัญกับการลดอาวุธ ไทยยังส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั้งชายและหญิงกว่า ๒๗,๐๐๐ คน เข้าร่วมภารกิจเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติในภูมิภาคต่าง ๆ กว่า ๒๐ ภารกิจ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ และยังคงบทบาทนี้ไว้ท่ามกลางวิกฤติในปัจจุบัน โดยกองกำลังของไทยมีส่วนส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ต้นเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๑๖ ก็คือ สังคมสงบสุข มีความยุติธรรม และสถาบันต่าง ๆ เข้มแข็ง นอกจากนี้ ผมขอยืนยันว่าไทยจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้อาเซียนมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณมิตรประเทศต่าง ๆ ที่ให้เสียงสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพวาระปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ซึ่งไทยมุ่งมั่นจะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์สุขของประชาคมระหว่างประเทศต่อไป

๑๕. ในด้านการพัฒนา พวกเรามีเวลาอีก ๑๐ ปี ที่จะเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายล่าช้าออกไป ดังนั้น พวกเราจะต้องทำงานหนักและส่งเสริมความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งมุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา

๑๖. เพื่อจะใช้เวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น งาน Global South-South Development Expo 2021 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ที่กรุงเทพฯ ในต้นปีหน้า และสถานการณ์เป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๑๗. ในด้านสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดหลักการและพันธกรณีเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และการให้ความสำคัญต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่จะต้องยึดมั่นในพันธกรณีข้างต้น และพิจารณาว่าจะสร้างความก้าวหน้าเพิ่มเติมได้อย่างไร สำหรับไทยได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นฉบับที่ ๔ และนำมาปฏิบัติแล้ว โดยมุ่งให้แผนงานด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจส่งผลเป็นรูปธรรม ซึ่งผมรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒

๑๘. ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ ๒๕ ปี ที่ประเทศสมาชิกร่วมรับรองปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ซึ่งไทยขับเคลื่อนการทำงานตามปฏิญญาปักกิ่งฯ ด้วยการบูรณาการประเด็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ เสริมพลังสตรีและสิทธิมนุษยชนสตรี

๑๙. ในทุกวิกฤติย่อมเต็มไปด้วยความเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน ก็แฝงไปด้วยข้อคิดที่สามารถจะนำมาถอดบทเรียน และต่อยอดเป็นแผนงานรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ ในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร “วิถีปกติใหม่” จะทำให้พวกเรามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่านี้หรือไม่นั้นอยู่ที่ประชาชนทุกคน ทั้งรุ่นเราและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ผนึกกำลังกันเพื่อออกแบบอนาคตที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยต่อไป

๒๐. ท้ายที่สุดนี้ ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนวาระต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ทั้งในด้านสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา การจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพราะระบบพหุภาคีเป็นหนทางที่จะนำพาพวกเราให้ หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ร่วมกัน ดังที่ได้ประจักษ์มาแล้วตลอด ๗๕ ปี ทั้งนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่มีสันติสุข และเพื่อโลกที่น่าอยู่สำหรับพวกเราและชนรุ่นหลังต่อไป 

ขอบคุณครับ

******

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ