รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ ๑๗

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ ๑๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,988 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG economy) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ ๑๗ ผ่านระบบการประชุมทางไกล วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๑๗ (17th Asia Cooperation Dialogue Ministerial Meeting - ACD) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “The New Normal and Healthy and Safe Tourism” เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔

ไทยได้ใช้โอกาสนี้ย้ำให้ประเทศสมาชิกใช้ความโดดเด่นของ ACD ที่เป็นเวทีการหารือและความร่วมมือที่มีสมาชิก ๓๕ ประเทศจากทุกภูมิภาคของเอเชีย ในการยกระดับความร่วมมือเพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันดังกล่าว ไทยได้ผลักดันให้ประเทศสมาชิกขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ ภายใต้แนวคิดการสร้าง 3H-Society คือ ประชาชนสุขภาพดี (Healthy) ระบบเศรษฐกิจมีมาตรฐานสูง (High Standard) และสังคมมีสุขอนามัยและสะอาด (Hygienic) เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างยั่งยืน และด้านความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและน้ำ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy - BCG Economy) ควบคู่กับการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ในการนี้ ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาอังการา (Ankara Declaration) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการยกระดับความร่วมมือภายใต้ ACD ร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตทั้ง ๖ เสาหลัก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักเลขาธิการ ACD

ACD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยการริเริ่มของไทย เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมืออย่างสมัครใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และช่วยส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ