กลุ่มริโอ

กลุ่มริโอ

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,983 view


กลุ่มริโอ
Rio Group

ข้อมูลทั่วไป

ภูมิหลัง

กลุ่มริโอ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเวทีการหารือและแสวงหาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก โดยกลุ่มริโอเริ่มต้นจากกลุ่ม Contadora ซึ่งรวมตัวกันเมื่อปี ค.ศ. 1983 มีสมาชิกประกอบด้วย โคลอมเบีย เม็กซิโก ปานามา และเวเนซุเอลา และต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Group of Eight โดยมีอาร์เจนตินา บราซิล เปรู และอุรุกวัย เข้าร่วมด้วย และในท้ายที่สุดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Rio Group ซึ่งประกอบด้วย ประเทศจากลาตินอเมริกา 24 ประเทศ คืออาร์เจนตินา เบลิซ โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส จาเมกา (ซึ่งเป็นประเทศผู้แทนประเทศกลุ่ม CARICOM ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มริโอด้วย) เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู สาธารณรัฐโดมินิกัน ซุรินาเม อุรุกวัย และเวเนซุเอลา


กลุ่มริโอไม่มีสำนักงานเลขาธิการถาวร แต่จะมีสำนักเลขาธิการชั่วคราวประจำปี (Secretario Pro Tempore - SPT) โดยมอบหน้าที่นี้ให้แก่ประเทศสมาชิกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา เม็กซิโกได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คล้ายสำนักเลขาธิการของกลุ่มริโอ โดยวาระของเม็กซิโกจะสิ้นสุดในปี ค.ศ. 2010 หลังจากนั้น ชิลีจะรับหน้าที่ต่อจากเม็กซิโก และเม็กซิโกได้มอบหน้าที่ให้ชิลีแล้วภายหลังการประชุมสุดยอดกลุ่มริโอครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010


นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลเม็กซิโกได้พยายามผลักดันการปรับโครงสร้างขององค์กรและขยายสมาชิกใหม่เพิ่ม โดยคิวบา ซูรินาเม และจาเมกา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 เป็นครั้งแรก เพื่อให้กลุ่มริโอเป็นองค์กรความร่วมมือเฉพาะสำหรับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน


การประชุมสุดยอดกลุ่มริโอที่ผ่านมาเน้นประเด็นการต่อสู้กับความยากจนและผลกระทบจากวิกฤตการณ์ของโลก ตลอดจนการสร้างความร่วมมือใหม่ภายในกลุ่ม นอกจากนี้ ประเด็นการหารือร่วมกันอื่นๆ อาทิ ความร่วมมือในภูมิภาค วิกฤตการเงินและพลังงานระหว่างประเทศ โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาสังคมและการขจัดปัญหาความหิวโหยและความยากจน ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ


ปัจจุบัน ประเด็นท้าทายใหม่ของกลุ่มคือ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงจาก Rio Group ไปสู่การเป็นประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Community of Latin American and Caribbean States – CELAC) โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มริโอครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ได้มีการประกาศแผนการที่จะจัดตั้ง CELAC โดยให้จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกของ CELAC ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ที่เวเนซุเอลา และปี ค.ศ. 2012 ที่ชิลี มีการคาดการณ์ว่า CELAC จะเป็นองค์กรที่ขึ้นมามีบทบาทแทนกลุ่มริโอภายหลังการประชุมสุดยอดในปี ค.ศ. 2012 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประธานาธิบดี Hugo Chávez ของเวเนซุเอลามีปัญหาสุขภาพ เวเนซุเอลาจึงขอเลื่อนการประชุมดังกล่าวไปจัดในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011 แทน


ประเทศสมาชิก

ในปัจจุบันสมาชิกกลุ่มประกอบด้วย ประเทศจากลาตินอเมริกา 23 ประเทศ คืออาร์เจนตินา เบลิซ โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส จาเมกา เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู อุรุกวัย และเวเนซุเอลา และประเทศในประชาคมแคริบเบียน CARICOM จำนวน 15 ประเทศ

วัตถุประสงค์

- เป็นเวทีการปรึกษาหารือระดับภูมิภาค (โดยเฉพาะขณะนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเนื่องจากปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคอเมริกากลาง)

- มุ่งส่งเสริมความร่วมมือและประสานงาน เพื่อสันติภาพความมั่นคง และบูรณาการในภูมิภาคอเมริกา รวมทั้งเสริมสร้างการมีความสัมพันธ์อันดีกับภูมิภาคอื่น ๆ (Permanent Mechanism of Political Consultation and Coordination) สำหรับปัจจุบัน กลุ่มริโอให้ความสำคัญกับประเด็นศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นประเด็นหลักของ Global Issues เพิ่มขึ้น

การประชุมสุดยอดของ Rio Group

กลุ่มริโอมีการประชุมสุดยอดทั้งหมด 23 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ได้มีการจัดประชุมที่เมือง Acapulco ประเทศเม็กซิโก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 และครั้งล่าสุด ได้จัดประชุมที่เมืองแคนคูน (Cancun) ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 22 - 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010

การประชุมสุดยอดกลุ่มริโอครั้งล่าสุด ที่เมืองแคนคูน (Cancun) ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010

- ที่ประชุมฯ บรรลุฉันทามติให้มีการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยไม่รวมสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยจะมีการหารือถึงชื่อเรียกอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้มีการกล่าวถึงชื่อที่จะเรียกกลุ่มนี้ว่า ประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Latin American and Caribbean Community) โดยมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งภายในปี ค.ศ. 2011

- การสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือแก่เฮติที่ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในการบูรณะประเทศ

- เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบา

- ที่ประชุมฯ ให้การสนับสนุนอาร์เจนตินาในการเรียกร้องอธิปไตยเหนือเกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland) หรือที่อาร์เจนตินาเรียกว่าเกาะมัลวินัส (Malvinas) และต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งเกาะฟอล์กแลนด์ของบริษัทขุดเจาะน้ำมันอังกฤษ

- การประชุมสุดยอดครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นที่เวเนซุเอลาในปี ค.ศ. 2011 และที่ชิลีในปี ค.ศ. 2012

ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

กลุ่มริโอ ได้เจรจากับสหภาพยุโรปและได้มีการลงนามความตกลงความร่วมมือระหว่างลาตินอเมริกากับสหภาพยุโรป (Latin American/ EU Cooperation Agreement) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1990 โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรี EU/ Rio Group ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ สองปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา การประชุมครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นที่ชิลีในปี ค.ศ. 2011

ความสัมพันธ์กับอาเซียน


- กลุ่มริโอ (Rio Group) มีการติดต่อสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในปี ค.ศ. 1990 โดยเป็นการพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศอาเซียนและผู้แทนจากประเทศสมาชิกกลุ่มริโอ ในช่วงการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่นครนิวยอร์ก โดยในโอกาสดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มริโอ เพื่อส่งเสริมการค้า และการติดต่อระหว่างกลุ่มธุรกิจของประเทศอาเซียนและลาตินอเมริกา และเห็นชอบที่จะจัดประชุมระดับรัฐมนตรี ASEAN – Rio Group เป็นประจำในช่วงการประชุม UNGA โดยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กของประเทศอาเซียนและสมาชิดกลุ่มริโอ เป็นผู้ประสานงาน

- ความร่วมมือในกรอบ ASEAN – Rio Group ไม่มีพัฒนาการมากนัก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 มีการจัดประชุมอีกเพียง 4 ครั้ง คือเมื่อปี ค.ศ. 1991, 1999, เดือนกันยายน ค.ศ. 2010 และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 ในระหว่างการประชุม UNGA วาระที่ 66

การเมืองการปกครอง

เศรษฐกิจการค้า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มริโอ

ความสัมพันธ์กับไทย

ปัจจุบันโดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มริโอ เป็นสมาชิกในเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation – FEALAC) ด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มริโอมีอยู่อย่างจำกัด การดำเนินความสัมพันธ์เกือบทั้งหมดผ่านกรอบทวิภาคี และกรอบพหุภาคีอื่นๆ อาทิ ASEAN – MERCOSUR และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (FEALAC)


**************

14 พฤศจิกายน 2554
กองลาตินอเมริกา
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้



กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5113 Fax. 0-2643-5115 E-mail : [email protected]