สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 31,982 view


สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตะวันตกเฉียงเหนือของภาคพื้นทวีปยุโรป

พื้นที่ 242,514 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงลอนดอน

ภูมิประเทศ เป็นเกาะ ยาวประมาณ 1,000 กม. กว้างประมาณ 500 กม.

ภูมิอากาศ อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ย 8°C ฝนตกตลอดปี

ประชากร 61.4 ล้านคน

กลุ่มชนชาติ อังกฤษ สกอต เวลส์ ไอริช เอเชียใต้ และอื่นๆ

ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ

ศาสนา คริสต์ นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ (Church of England)

สกุลเงิน ปอนด์สเตอร์ลิง (Pound Sterling—GBP)

อัตราแลกเปลี่ยน ประมาณ 47.23 บาท = 1 ปอนด์สเตอร์ลิง (ณ วันที่ 5 ม.ค. 2554)

วันชาติ ไม่มี ใช้วันเฉลิมพระชนมพรรณาฯ แทน (เสาร์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน)

ระบบการเมือง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2495)

นายกรัฐมนตรี นายเดวิด คาเมรอน

รัฐมนตรีต่างประเทศ นายวิลเลี่ยม เฮก

อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ – 4.9 (2552)

อัตราเงินเฟ้อ ประมาณร้อยละ 2.2 (2552)

อัตราการว่างงาน ประมาณร้อยละ 7.5 (2552)

ประเทศคู่ค้าสำคัญ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ จีน (2552)

มูลค่าการส่งออก 356.4 พันล้านดอลาร์สหรัฐ (2552)

มูลค่าการนำเข้า 484.9 พันล้านดอลาร์สหรัฐ (2552)

สินค้าออกสำคัญ ยา น้ำมันและเชื้อเพลิงอื่นๆ รถยนต์ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ อาหาร เครื่องดื่ม

สินค้าเข้าสำคัญ สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล เชื้อเพลิง อาหาร

ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เหล็ก

การเมืองการปกครอง

สถาบันทางการเมือง
สหราชอาณาจักรมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์ (สมเด็จพระราชินีนาถ) เป็นประมุข สหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบเรียงลำดับมาตรา แต่ใช้พระราชบัญญัติและกฎหมายจารีตประเพณีในการบริหารประเทศ รัฐสภาทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และในทางปฏิบัติ เป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ฝ่ายบริหารประกอบด้วยรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) หน่วยงานทางราชการ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ และหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของ รัฐมนตรี ฝ่ายตุลาการกำหนดกฎหมายและตีความจารีตประเพณี

สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ทรงมีบทบาทสำคัญด้านนิติบัญญัติ ทรงเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ และทรงเป็น ”ผู้บริหารสูงสุด” ของคริสตจักรแห่งอังกฤษ

นับตั้งแต่การบริหารของอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ได้มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แคว้นต่าง ๆ มากขึ้น โดยเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้จัดให้มีการลงประชามติในแคว้นสก๊อตแลนด์ และเวลส์ และต่อมา ในปี 2542 ได้มีรัฐสภาเป็นของตนเอง และมีการจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการบริหารแคว้น ด้านการพัฒนา ด้านกิจการภายในเป็นของตนเอง ส่วนอำนาจด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการต่างประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลกลางสหราชอาณาจักร

รัฐสภา
อำนาจทางนิติบัญญัติของรัฐสภาสหราชอาณาจักรประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สมเด็จพระราชินีนาถ สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร และสภาขุนนาง โดยการประชุมของทั้ง 3 ส่วนมีขึ้นเฉพาะในโอกาสทางพิธีการ อาทิ พระราชพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ตรวจสอบนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาล และเปิดอภิปรายในกระทู้สำคัญ รัฐสภาแต่ละชุดจะมีอายุไม่เกิน 5 ปี มีช่วงสมัยประชุมคราวละ 1 ปี โดยเริ่มต้นและสิ้นสุดในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน โดยมีช่วงพักการประชุมในเวลากลางคืน ช่วงสุดสัปดาห์ เทศกาลคริสต์มาส เทศกาลอีสเตอร์ วันหยุดธนาคารในปลายฤดูใบไม้ร่วง และวันหยุดยาวในฤดูร้อน (ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม) ทั้งนี้ การประชุมสภาสามัญมีสมัยประชุมเฉลี่ย 148 วัน และการประชุมสภาขุนนางมีสมัยประชุมเฉลี่ย 152 วัน โดยในการเปิดสมัยประชุมทุกครั้ง สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีพระราชดำรัสเปิดสมัยประชุมรัฐสภา โดยจะทรงกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล และการเสนอร่างกฎหมาย และจะทรงมีพระราชเสาวนีย์ปิดสมัยประชุม รัฐสภาจะมีช่วงปิดสมัยประชุมเพียง 3 – 4 วัน ก่อนเริ่มสมัยประชุมต่อไป และจะเป็นการยุติกระบวนการทางนิติบัญญัติของสมัยประชุมนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎมายที่ไม่สามารถผ่านการพิจารณาก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมจะตกไป ยกเว้นว่าฝ่ายค้านเห็นพ้องจะให้พิจารณากฎหมายต่อในสมัยต่อไป

สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 645 คน จากการเลือกคั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 มีคณะกรรมาธิการต่างๆ 40 คณะ ที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการด้านการช่วยเหลือการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการด้านการคลัง

สภาขุนนาง (House of Lords) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 700 คน มาจากการแต่งตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ (พรรคแรงงาน 196 คน พรรคอนุรักษ์นิยม 171 คน พรรค Liberal Democrat 60 คน) และจากการสืบทอดตำแหน่ง และตัวแทนศาสนา คณะกรรมาธิการต่างๆ ของสภาขุนนางประกอบด้วย 9 คณะกรรมาธิการ ที่สำคัญมี อาทิ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป คณะอนุกรรมาธิการย่อยตามสาขาต่างๆ เช่น เศรษฐกิจการคลัง การพลังงาน อุตสาหกรรมและคมนาคม นโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ

รัฐบาล
รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างๆ ที่รับผิดชอบดูแลกิจการของประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาสามัญที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด) และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีไม่เกิน 20 คน ตามการถวายคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสามารถมาจากสภาขุนนางได้ ทั้งนี้ตำแหน่ง The Lord of Chancellor (รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย) จะมาจากสภาขุนนางการปกครองส่วนท้องถิ่น

การปกครองส่วนท้องถิ่นในอังกฤษและเวลส์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ County (เทียบเท่าจังหวัด) มี 53 จังหวัด ระดับ District (เทียบเท่าอำเภอ) มี 369 อำเภอ และระดับ Parish (ในอังกฤษ) และ Community (ในเวลส์) การปกครองส่วนท้องถิ่นในสก๊อตแลนด์ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับภาค (Region) และการปกครองในเขตต่างๆ อีก 3 แห่ง ระดับ District 53 แห่ง และระดับ Community ส่วนไอร์แลนด์เหนือ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับ County 6 แห่ง ระดับ District 26 แห่ง การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวมาข้างต้นปกครองโดยสภาเทศบาล (council) ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทุก 4 ปี

การปกครองส่วนท้องถิ่นสหราชอาณาจักรเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยใช้ระบบเลือกตั้งเทศมนตรี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะมีการสำรวจความคิดเห็น จัด roadshow หรือการแสดงประชามติ ในการบริหารงานส่วนท้องถิ่น

สถานการณ์การเมือง

1. สหราชอาณาจักรจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งมีนายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) เป็นหัวหน้าพรรคได้ รับคะแนนเสียงสูงสุดจำนวน 306 ที่นั่ง พรรคแรงงาน 256 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย 57 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ อีก 28 ที่นั่ง โดยที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวนเสียงข้างมากเป็นที่สุด (absolute majority หรือต้องได้รับ 326 ที่นั่ง) แม้ว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติของสหราชอาณาจักร จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยพรรคเดียว กอปรกับนายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้อยู่ในตำแหน่ง (sitting Prime Minister) มีสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาลเองก่อน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีบราวน์ ได้เปิดโอกาสให้นายคาเมรอนเจรจาจัดตั้งรัฐบาลก่อน และเมื่อนายคาเมรอนสามารถตกลงกับนายนิค เคลกก์ (Nick Clegg) หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ภายใน 5 วันภายหลังการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีบราวน์ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถ อลิซาเบธที่ 2 เมื่อเวลา 19.20 น. ของวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 เพื่อถวายหนังสือลาออก และในวันเดียวกันนั้น เมื่อเวลา 20.40 น. นายคาเมรอน ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เพื่อตอบรับคำเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรสืบแทน

2. นายคาเมรอน อายุ 43 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 200 ปี ตั้งแต่ลอร์ด ลิเวอร์พูล (Lord Liverpool) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2355 (ค.ศ. 1812) และเป็นรัฐบาลผสมครั้งแรกในรอบ 70 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายนิค เคลกก์ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรียังได้รับการจัดสรรให้กับพรรคอนุรักษ์นิยม โดยนายจอร์จ ออสบอร์น (George Osborne) ด้วยอายุ 38 ปี กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 125 ปี ของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีนายวิลเลียม เฮก (William Hague) อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (2540 – 2544) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา (2548 – 2553) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน

3. การตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปไตยทำให้ทั้งสองพรรคต้องยอมประนีประนอมประเด็นนโยบายหลักๆ ที่มีความแตกต่างกันระหว่างสองพรรค อาทิ (1) นายคาเมรอนต้องยอมจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง (voting reform) ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคเสรีประชาธิปไตยให้ความสำคัญมากและตั้งเป็นเงื่อนไขหลักในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมในครั้งนี้ด้วย (2) ในประเด็นการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมมีนโยบายส่งเสริมการจัดระบบตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น เพื่อจำกัดจำนวนคนต่างชาติที่เข้าเมือง พรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งประสงค์ให้มีระบบการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดและเป็นธรรมต่อชาวต่างด้าว ต้องเป็นฝ่ายยอมให้มีการจำกัดจำนวนคนต่างชาติตามนโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยม และ (3) ในประเด็นสหภาพยุโรป พรรคเสรีประชาธิปไตยยอมที่จะชะลอการเสนอให้สหราชอาณาจักรใช้สกุลเงินยูโรออกไปอย่างไม่มีกำหนด และยอมให้มีการทำประชามติในกรณีที่มีการตัดสินใจในประเด็นที่จะทำให้เกิดการเพิ่มอำนาจให้สหภาพยุโรป


วาระสำคัญของรัฐบาลในปี 2554 มี 4 ประการ ได้แก่ (1) Enterprise โดยเน้นว่าธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่กำลังเติบโต (small and growing businesses) คือกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน รัฐบาลจึงจะพยายามสร้างพลวัตรทางเศรษฐกิจโฉมใหม่ โดยเน้นให้ธนาคารปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น การลดระเบียบและข้อบังคับต่างๆ และการขยายการลงทุนทางธุรกิจในสาขาเพื่ออนาคต 2) Aspiration โดยจะเน้นให้โอกาสเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการดูแลในสังคม (3) Public Services Reform โดยให้ถ่ายโอนอำนาจจากระบบราชการแบบรวมศูนย์ไปยังกลุ่มผู้ปกครอง คนเจ็บไข้ และประชาชนที่ใช้บริการสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้ได้รับบนิการที่เปิดกว้าง มีความทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการและความคุ้มค่า และ (4) National Security โดยเน้นถึงการต่อต้านภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสากลที่ยังคงเป็นภัยคุกคามอยู่จนถึงปัจจบัน โดยเฉพาะในสหราชาอณาจักร และเรียกร้องให้ชาวมุสลิมอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางหัวรุนแรงให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับรัฐบาลด้วย
นโยบายด้านการต่างประเทศ

• นโยบายลำดับต้นของสหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน (top priority) การต่อต้านการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ตะวันออกกลาง และจะติดตามประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิด ได้แก่ การปฏิรูปสถาบันระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการก่อการร้าย
• ทิศทางนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งนายวิลเลียม เฮก (William Hague) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 จะมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น (Distinctive British Foreign Policy) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีความเป็นเครือข่าย (networked world) โดยจะให้ความสำคัญแก่การเพิ่มบทบาทของสหราชอาณาจักรในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น นอกจากนั้น จะให้ความสำคัญกับประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น บราซิล อินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพื่อให้นโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักรมีความชัดเจน มีจุดเน้น และมีประสิทธิภาพ (clear, focused and effective) ซึ่งนอกเหนือจากด้านความมั่นคง โดยเฉพาะสถานการณ์ในอัฟกานิสถานแล้ว จะให้ความสนใจกับด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม วัฒนธรรม กีฬาและการศึกษา
• แนวทางการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศ/กลุ่มประเทศต่างๆ
(1) สหรัฐฯ - ยังคงเป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรมองว่า สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ไม่สามารถตัดขาดได้ (unbreakable alliance) เนื่องจากทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ ค่านิยม และผลประโยชน์ร่วมกัน
2) สหภาพยุโรป- สหราชอาณาจักรจะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพยุโรป (European Union--EU) โดยยังให้ความสำคัญกับประเทศหลัก ได้แก่ ฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ก็จะขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิก EU ขนาดเล็ก รวมถึงการให้ความสำคัญกับตุรกี โดยจะสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU เพราะตุรกีเป็นแบบอย่างของประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีการพัฒนาบทบาทใหม่ รวมทั้งมีบทบาทที่แข็งขันในภูมิภาค ได้แก่ บอลข่าน ตะวันตก ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง นอกจากนั้น จะเพิ่มบุคลากรของสหราชอาณาจักรในหน่วยงานของ EU
(3) เอเชีย - สหราชอาณาจักรจะให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และกระชับความเป็นหุ้นส่วนกับจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะขยายความสัมพันธ์กับอินเดีย รวมทั้งจะส่งเสริม ความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(4) ประเทศอื่นๆ - สหราชอาณาจักรจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเครือจักรภพ (Commonwealth) และประเทศเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มลาตินอเมริกา เช่น บราซิล ชิลี และกลุ่มประเทศ ในอ่าวเปอร์เซีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรส (UAE) รวมทั้งกลุ่มประเทศในแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และเคนยา เป็นต้น
• แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ “Distinctive British Foreign Policy” ประกอบด้วย (1) การจัดตั้ง National Security Council และการเสนอแผน Strategic Defence and Security Review เพราะขณะนี้ สหราชอาณาจักรขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรวมการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง ความปลอดภัย และการพัฒนาเข้าด้วยกัน (2) กระทรวงต่างๆ ที่รับผิดชอบงานด้านภายในประเทศของสหราชอาณาจักรได้เพิ่มมิติด้านต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น National Security Council จะทำหน้าที่ประสานนโยบายในมิติต่างประเทศของกระทรวงต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งการทูต การศึกษา สาธารณสุข ประชาสังคม การค้า และความปลอดภัย (3) การใช้จุดแข็งและความได้เปรียบของสหราชอาณาจักรในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี เช่น ระบบการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก การทูตเชิงการทหาร หรือขีดความสามารถในเรื่องข่าวกรอง (4) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร และ (5) การให้ความสำคัญแก่การเป็นสมาชิก EU และองค์กรพหุภาคีอื่นๆ
• นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 นาย William Hague ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ The Telegraph ว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของ สหราชอาณาจักรที่สะท้อนถึงค่านิยมของประเทศและประชาชนสหราชอาณาจักร โดยได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีการจำกัดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ได้แก่ โซมาเลีย พม่า สป.คองโก และเกาหลีเหนือ ซึ่งนักการทูตสหราชอาณาจักรจะต้องหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นหารือในทุกโอกาส ทุกภูมิภาค เพื่อกดดันให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี รวมทั้งรณรงค์ให้ประเทศค่างๆ มีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) เกี่ยวกับวิกฤตทั่วโลก

เศรษฐกิจการค้า

นโยบายเศรษฐกิจและการคลังของสหราชอาณาจักร

รัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคเสรีประชาธิปไตยเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจและการคลังของ สอ. ที่ผ่านมา มีรายจ่ายภาครัฐในสัดส่วนที่สูงคิดเป็นร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และมีประชาชนว่างงานจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน ทำให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล เป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยรัฐบาลปัจจุบันของสหราชอาณาจักรมีแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง ดังนี้

1. ลดขนาดของภาครัฐ เน้นภาคสังคม และตลาดเสรี ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่การจ้างงานกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาครัฐ รัฐบาลใหม่จะเน้นแนวทางการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเน้นการออม แทนการกู้ยืมและซื้อสินค้าจากจีนและภูมิภาคเอเชีย โดยเห็นว่ามีปัจจัยหลักที่สำคัญสำหรับภาคเอกชน 3 ประการ ได้แก่ 1) ความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ภาครัฐ) 2) การแข่งขันที่เสรี (ระบบภาษี กฎระเบียบที่ส่งเสริมภาคเอกชน และลดปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ) 3) วัตถุดิบและทรัพยากรที่จำเป็นต่อความสำเร็จ (นโยบายด้านพลังงาน เทคโนโลยี พัฒนาทักษะแรงงาน)

2. แก้ไขปัญหารายจ่ายภาครัฐ จากการที่มีการกู้ยืมคิดเป็น 1 ปอนด์ ต่อทุกๆ 4 ปอนด์ของรายจ่ายภาครัฐ ซี่งมีผลต่อสัดส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ภาครัฐในอัตราที่สูง ทำให้รัฐบาลกังวลว่า สหราชอาณาจักรกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยรัฐบาลมีแผนจะปรับลดหนี้ภาครัฐลง 6 พันล้านปอนด์ภายในปีงบประมาณ 2553

3. การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลจะให้ธนาคารกลาง (Bank of England) ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระได้ในระดับหนึ่ง

4. ลดความยุ่งยากของกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมธุรกิจและการลงทุน โดยส่งเสริมมาตรการด้านสินเชื่อ ปฏิรูปภาคการธนาคาร และปฏิรูประบบภาษีให้มีความยุติธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะมีการปรับลดภาษีเงินได้ตามเป้าหมายพัฒนาให้สหราชอาณาจักรมีระบบภาษีที่สามารถแข่งขันได้ดีที่สุดในประเทศสมาชิก G20 รวมถึงปรับเพิ่ม personal income tax allowance เป็น 10,000 ปอนด์ ซึ่งจะทำให้ชาวอังกฤษจำนวนลหายล้านคนเสียภาษีลดลง เพื่อให้โอกาสผู้ที่มีรายได้น้อย – ปานกลาง ในการเริ่มต้นธุรกิจ

5. การแสวงหาโอกาสและลู่ทางในประเทศตลาดเกิดใหม่ (อาทิ จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย เวียดนาม) ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายของภาคธุรกิจในประเทศ เนื่องจากประเทศตลาดเกิดใหม่จะพัฒนาจากการอาศัยภาคการผลิต/อุตสาหกรรม (manufacturing) มาเป็น ประเทศที่ร่ำรวยขึ้น และมีจำนวนผู้บริโภคมหาศาล ซึ่งจะเป็นตลาดสำคัญของสินค้าสหราชอาณาจักร อาทิ ยารักษาโรค อากาศยาน พลังงานทดแทน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ประกันภัย บริการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน


สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
• สถานะปัจจุบัน สหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งมีอัตราส่วนกว่า 60% ของ GDP (หรือประมาณ 934.9 พันล้านปอนด์ ณ เดือนสิงหาคม 2553) และมีความจำเป็นที่จะต้องลดภาวะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งนอกเหนือไปจากความพยายามที่ปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงให้ได้ 6 พันล้านปอนด์ ภายในปีงบประมาณ 2553 ในการแถลงงบประมาณ (spending review) สำหรับปีงบประมาณ 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศลดงบประมาณสำหรับระบบสวัสดิการสังคมของสหราชอาณาจักรปีละ 7 พันล้านปอนด์ ลดตำแหน่งงานในภาครัฐเกือบ 500,000 ตำแหน่ง ใน 4 ปี ข้างหน้า ด้วยการไม่จ้างงานในตำแหน่งที่ว่างลง (vacant) ในปี 2555 – 2556 หน่วยราชการถูกปรับลดงบประมาณเฉลี่ย 3 – 8 % ต่อปี กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรถูกปรับลดงบประมาณ 24% โดยการลดจำนวนนักการทูตที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรและสายสนับสนุน และกำหนดนโยบายให้ UK Trade and Investment (UKTI) หน่วยงานด้านการค้าการลงทุนของสหราชอาณาจักรเน้นการช่วยเหลือให้บริษัทสหราชอาณาจักรส่งออกได้มากขึ้น และปกป้องการจ้างแรงงานสหราชอาณาจักรในประเทศมากขึ้น โดยการดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในสหราชอาณาจักรมากขึ้น ในขณะที่กระทรวงเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Department for International Development หรือ DFID) จะได้รับงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 11.5 พันล้านปอนด์ ในระยะ 4 ปีข้างหน้า เพื่อให้งบการให้ความช่วยเหลือในต่างประเทศมีสัดส่วนเป็น 0.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ในปี 2556

• ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3 (ข้อมูลเบื้องต้น) ขยายตัวจากไตรมาสก่อน 0.8% และขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีกว่าคาดการณ์ ปัจจัยหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรขยายตัวดีกว่าคาด มาจากการผลิตภาคบริการ (สัดส่วน 76% ของการผลิตทั้งหมด) ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการค้าส่งค้าปลีกฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มเร่งสะสมสินค้าล่วงหน้าก่อนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มปรับเพิ่มเป็น 20% ในต้นปี 2554 เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 บ่งชี้ว่า การผลิตทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาหดตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอีกครั้งในปี 2553

• เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง จากอัตราเงินเฟ้อจาก Consumer Price Index ในเดือนกันยายน 2553 ยังคงทรงตัวในระดับสูงที่ 3.1% ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2% แต่อัตราการว่างงานในรอบ 3 เดือน มีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.7% จาก 7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 3 ส่งผลให้มีการจ้างงานมากขึ้น

• ดุลการค้าและดุลบริการของสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้น จากการลดลงของการขาดดุลการค้าของสินค้าที่ลดลงเหลือ 8.2 พันล้านปอนด์ จากเดือนก่อนที่ขาดดุล 8.5 พันล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงที่ช่วยให้การส่งออกดีขึ้น

• ภาคการเงินและภาคการคลัง - ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และคงมาตรการ Quantitative Easing (QE) ที่ 200 พันล้านปอนด์ ตรงข้ามกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เพิ่ม QE อีก 600 พันล้าน USD ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการคงมาตรการ QE ของสหราชอาณาจักรส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ในช่วงเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก ทั้งค่าเงินยูโร ค่าเงินดอลลาร์ และค่าเงินเยน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ


ความสัมพันธ์ทางการเมืองไทย-สหราชอาณาจักร
การทูต
ไทยกับสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ซึ่งเวลานั้น สหราชอาณาจักรได้ตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทย ต่อมา เมื่อปี 2425 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พระยศขณะนั้นคือหม่อมเจ้า) ราชทูต ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้งแด่สมเด็จพระราชินีนาถวิคทอเรีย และได้เปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูต (Siamese Legation) ขึ้นที่กรุงลอนดอน
ความสัมพันธ์ระหว่างกันดำเนินไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานของมิตรภาพ ทั้งในกรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและขยายตัวครอบคลุมทุกสาขาของความร่วมมือ ถึงแม้ว่าไทยและสหราชอาณาจักรจะมิได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม หรือคณะกรรมการกำกับดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคี ดังเช่นที่ประเทศไทยมีกับประเทศสำคัญอื่นๆในยุโรป แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักรนั้น ได้หยั่งรากลึกครอบคลุมทุกสาขาแล้ว ทั้งในระดับสถาบัน-สถาบัน เอกชน-เอกชน และประชาชน-ประชาชน

การเมือง
ไทยและสหราชอาณาจักรมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มีการหารือทวิภาคีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครอบคลุมประเด็นพัฒนาการทางการเมืองภายในและสถานการณ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนประเด็นระหว่างประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน สหราชอาณาจักรประสงค์ที่จะให้มิตรประเทศมีบรรทัดฐานและค่านิยมทางการเมืองที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยแบบตัวแทน หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล การค้าเสรีตามระบบกลไกตลาด ตลอดจนสิทธิมนุษยชน


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

การค้า

สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป (ในภาพรวมทั่วโลก ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย) ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2549 – 2551) การค้ารวมมีมูลค่าโดยเฉลี่ยจำนวน 5,187.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2552 มูลค่าการค้ารวมไทย – สหราชอาณาจักรมีจำนวน 4,716.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.50 (คิดเป็นร้อยละ 1.75 ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออก 3,237.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1,767.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,469.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหราชอาณาจักร ได้แก่ ไก่แปรรูป น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป และแผง วงจรไฟฟ้า สินค้านำเข้าหลักจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา และเคมีภัณฑ์

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 การค้ารวมมีมูลค่า 3,607 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.17 จากช่วงเดียวกันของปี 2552 การส่งออกจากไทยไปยังสหราชอาณาจักรยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีมูลค่า 2,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.33 สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคือ ไก่แปรรูป ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 309.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.99 จากช่วงเดียวกันของปี 2552 รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้วยมูลค่าการส่งออก 180.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 248.20 ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักรมูลค่า 1,282 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.40 สินค้านำเข้าสำคัญคือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์


การลงทุน
ในปี 2552 สหราชอาณาจักรเป็นประเทศในยุโรปที่เข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นอันดับ 2 มูลค่า 25,591.30 ล้านบาท) รองจากเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี) โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และก๊าซชีวมวล (biogas) นอกจากนี้ UKTI (UK Trade & Investment) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของสหราชอาณาจักรจัดประเทศไทยให้อยู่ใน “high growth market”

บริษัทสำคัญของสหราชอาณาจักรที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ BP (น้ำมัน, ปิโตรเคมี) ICI (ปิโตรเคมี), Castrol (น้ำมันหล่อลื่น), GKN (ชิ้นส่วนรถยนต์), Thames Water (ผลิตน้ำประปา) Grampian Country Food (เกษตร) Triumph (เครื่องนุ่งห่ม) Triumph Motorcycle (ยานยนต์) Weston EU (ชิ้นส่วนอากาศยาน) Meyer (อลูมิเนียม) Tesco และ Boots (ค้าปลีก) Standard Chartered (ธนาคาร) เป็นต้น

ความสนใจทางด้านการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักรในประเทศไทย มีผลมาจากการที่เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ทรงดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (Special Representative for International Trade and Investment) ของ UK Trade and Investment (UKTI) และได้นำคณะนักธุรกิจและนักลงทุนมาเยือนไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยล่าสุด ดยุกแห่งยอร์กเสด็จเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 - 10 ตุลาคม 2552 ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 โครงการของสหราชอาณาจักรที่ได้รับอนุมัติจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 398.7 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการส่งออกในสาขาเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ และสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน ภาคเอกชนไทยได้เข้าไปลงทุนในสหราชอาณาจักรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านโรงแรม ร้านอาหาร ทีมสโมสรฟุตบอล ในปี 2553 กลุ่มบริษัท King Power ได้ซื้อทีมสโมสรฟุตบอล Leicester City และสหวิริยาสตีลอินดัสตรีอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อโรงถลุงเหล็ก Teesside Cast Products มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


การท่องเที่ยว

ปี 2552 นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรมาไทย 841,000 คน (อันดับที่ 1 ในยุโรป) ถือเป็นตลาดสำคัญของไทยในยุโรป เพราะนอกจากจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดแล้ว นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรยังถือเป็นตลาดที่ทำรายได้สูง ระยะเวลาพำนักเฉลี่ยยาว และไม่จำกัดแต่เฉพาะฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น โดยส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาซ้ำ (repeat visitor) และไม่ใช่ในลักษณะเดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรเดินทางมาไทย มีจำนวน 537,033 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 เพียงร้อยละ 0.92 และนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักร ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวที่มาไทยในจำนวนที่สูงที่สุดจากยุโรป (ตามด้วยเยอรมนี และรัสเซีย) ทั้งนี้ ในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยไปสหราชอาณาจักรนั้น มีจำนวนประมาร 103,000 คน (2552) เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 21.37


การศึกษา

ไทยและสหราชอาณาจักรมีประวัติความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนาน มีความร่วมมือในระดับสถาบันการศึกษาในทุกระดับอย่างกว้างขวาง สถาบัน British Council ในประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายสหราชอาณาจักรที่ได้มีโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาต่างๆ กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของไทย
ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยในสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักรมากกว่า 8,000 คน กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ทุนการศึกษา Chevening Scholarship แก่นักศึกษาไทยให้ไปศึกษาในสหราชอาณาจักรในระดับอุดมศึกษาเป็นประจำทุกปี

ความตกลงทวิภาคีที่สำคัญระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร

1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินทางอากาศ ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2493 (แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2520 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2522) ปัจจุบันฝ่าย สหราชอาณาจักรได้เสนอที่จะให้มีการปรับปรุงบางข้อบท และฝ่ายไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

2. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยว่าด้วยสิทธิพิเศษที่ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญภายใต้โครงการความร่วมมือตามแผนโคลัมโบ (แลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505) ซึ่งคาดว่าการให้สิทธิพิเศษผู้เชี่ยวชาญฯ จะมีน้อยลงเนื่องจากสหราชอาณาจักรได้ยุติการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ไทยในปี 2543

3. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2521 ปัจจุบันมีบริษัทมาขอรับการคุ้มครองภายใต้ความตกลงฯ น้อย เนื่องจากเห็นว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะทำให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีกว่า

4. อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งมีช่วยเหลืออย่างมากให้ภาคธุรกิจของประเทศทั้งสองไม่ต้องแบกรับภาระภาษีเกินความจำเป็นในการประกอบธุรกิจระหว่างกัน ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาทบทวนอนุสัญญาดังกล่าว

5. ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2533 ซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักรได้มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ โดยขอให้มีการโอนตัวนักโทษสหราชอาณาจักรกลับไปรับโทษที่สหราชอาณาจักรอยู่เป็นระยะ ๆ

6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุง ลงนามเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 ซึ่งครอบคลุมไม่เพียงแต่ในเรื่องการส่งกำลัง การซ่อมบำรุง แต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางทหารในด้านอื่น ๆ เช่น การฝึก การวิจัยร่วม การถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น และปัจจุบันกองทัพของทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

7. ความตกลง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลไทย-สหราชอาณาจักร-กัมพูชา ว่าด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างปอยเปตกับคลองลึก ลงนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 โดยเป็นการใช้เงินของสหราชอาณาจักรร่วมกับกำลังทหารของไทยในการสร้างสะพานให้กัมพูชา ซึ่งได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว

8. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งและดำเนินการสถานีถ่ายทอดวิทยุของบริษัทกระจายเสียงของสหราชอาณาจักร (BBC) ในประเทศไทย ลงนามเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ปัจจุบันสถานีวิทยุดังกล่าวได้ดำเนินการกระจายเสียงแล้ว

9. สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 และได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540

มกราคม 2554


กองยุโรป 1 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5145 Fax. 0 2643 5146 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ