ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 52,686 view


ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
Kingdom of the Netherlands

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันตก ระหว่างเบลเยียมและเยอรมนี ติดกับทะเลเหนือ

พื้นที่ 41, 526 ตารางกิโลเมตร พื้นดิน 33,873 ตารางกิโลเมตร พื้นน้ำ 7,655 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่สูงสุด เหนือระดับน้ำทะเล 321 เมตร

พื้นที่ต่ำสุด ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 6.7 เมตร

พื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ร้อยละ 24 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

ภูมิอากาศ เย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 18.3 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 2.6 องศาสเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 797 มิลลิเมตร

ประชากร ประมาณ 16.65 ล้านคน (ธันวาคม 2553) ประกอบด้วย ชาวดัทช์ ร้อยละ 83 ชาวเติร์ก โมร็อกโก อันทิเลียน ซูรินาเม อินโดนิซีย และอื่นๆ ร้อยละ 17

เมืองหลวง นครอัมสเตอร์ดัม

ที่ตั้งของหน่วยงานราชการ กรุงเฮก

ภาษา ดัตช์ และฟริเซียน เป็นภาษาราชการ

ศาสนาสำคัญ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนท์ อิสลาม และอื่นๆ

วันชาติ 30 เมษายน (วันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนา และวันขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ (Her Majesty Queen Beatrix) ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2523

นายกรัฐมนตรี นายยัน ปีเตอร์ บัลเคนเอนเดอ (Mr.Jan Peter Balkenende) (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 และสมัยที่สองเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 สมัยที่สามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 และสมัยที่สี่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นายแมกซิม แฟร์ฮาร์เก้น (Mr.Maxime Verhagen) (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550)

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 707.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

GDP ต่อคน 40,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.9 (ปี 2553)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.0 (ปี 2553)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 4.8 (ปี 2553)

ทรัพยากรสำคัญ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน

อุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมการบริการ ผลิตภัณฑ์โลหะและวิศวกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร

สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งคมนาคม เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ เยอรมนี เบลเยียม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งคมนาคม เคมีภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ และเชื้อเพลิง

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ เยอรมนี เบลเยียม สหราชอาณาจักรฯ และสหรัฐฯ

มูลค่าการค้าไทย-เนเธอร์แลนด์ 4,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

มูลค่าการส่งออกไทย-เนเธอร์แลนด์ 3,643 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

มูลค่าการนำเข้าไทย-เนเธอร์แลนด์ 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

การเมืองการปกครอง

เนเธอร์แลนด์ (the Netherlands) หรือที่มักเรียกกันว่า ฮอลแลนด์ (Holland) มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Neder” หรือ “ต่ำ” เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์เป็นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เนเธอร์แลนด์ได้ปรับพื้นที่โดยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบและทางน้ำต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ เนเธอร์แลนด์จึงมีเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศประสบภาวะอุทกภัย เนเธอร์แลนด์จึงมีสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศยุโรปตะวันตกขนาดเล็ก มีพื้นที่ 41,528 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 16.3 ล้านคน เป็นประเทศหนึ่งที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก มีอัตราส่วนประชากร 387 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 7 ล้านคนอาศัยอยู่ในสี่เมืองทางภาคตะวันตกของประเทศ คือ อัมสเตอร์ดัม เฮก รอตเตอร์ดัม และอูเทรค บริเวณนี้เรียกว่า แลนด์สตัด มีชาวต่างชาติโยกย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเนเธอร์แลนด์ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรป ตุรกี โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์แอนไทลิส และอารูบา (ดินแดนโพ้นทะเลของเนเธอร์แลนด์) อินโดนีเซีย และชูรินาเม (ประเทศอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์)

กรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่กรุงเฮกเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ สถานทูตต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งพระราชวังซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเธอร์แลนด์ กรุงเฮกถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งกฎหมายและยุติธรรมระหว่างประเทศของโลก” โดยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นสถานที่ที่ตั้งขององค์การด้านกฎหมายและยุติธรรมระหว่างประเทศ อาทิ The International Court of Justice , The International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia, The Court of Arbitration, The Iran – U.S. Claims Tribunal, The Hague Conference of Private International Law, The Organization for the Prohibition on Chemical Weapons และ The International Criminal Court

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 1 เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และมีสันติภาพยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลา 250 ปี ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ชนเผ่าเยอรมันนิค และ เซลติคได้เข้าไปครอบครองพื้นที่แถบนั้น

ในช่วงปี ค.ศ. 1363 – 1482 เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของดยุคแห่งเบอร์กันดี และในศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์ถูกปกครองโดยสเปน ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์และขุนนางจำนวนหนึ่ง ได้ก่อการปฏิวัติต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์ สามารถนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ได้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1648 จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ เพื่อสงบศึกระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปน ซึ่งดำเนินมาถึง 80 ปี และถือเป็นการประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์ด้วย

ศตวรรษที่ 17 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกส และ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในดินแดนต่างๆ ของโลก เนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรปในเวลานั้น และกรุงอัมสเตอร์ดัมก็เป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป

เมื่อ ค.ศ. 1795 กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1810 เนเธอร์แลนด์ก็ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อจักรวรรดิฝรั่งเศสเสื่อมอำนาจลงเนเธอร์แลนด์จึงได้รับเอกราชคืนมาอีกครั้งในปี ค.ศ.1814 โดยมีเบลเยียมเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากความแตกต่างในทุกๆ ด้านระหว่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ประเทศทั้งสองจึงได้ แยกออกจากกันอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1839

เนเธอร์แลนด์ประกาศความเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ.1914 – 1918 และประกาศความเป็นกลางอีกครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี กองทัพเยอรมนีได้รุกรานและยึดครองเนเธอร์แลนด์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1940 – 1945 ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกที่มีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือหรือนาโต้

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคมจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1949 และชูรินาเมประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1954 ส่วนเนเธอร์แลนด์อัลไทลิส และอารูบายังคงเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ โดยมีอธิปไตยในการบริหารกิจการภายในประเทศ ส่วนด้านการทหารและการต่าง ประเทศยังอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

การเมืองภายในประเทศ

เนเธอร์แลนด์มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ทรงมีพระราชอำนาจในเชิงพิธีการ อย่างไรก็ดี ทรงมีพระราชอำนาจด้านการเมืองที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาของพระราชวงศ์ออเรนจ์ คือ สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้สรรหานายกรัฐมนตรี (Formateur) ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป (เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยถือว่าทั้งประเทศเป็นเขตเดียว ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภา จึงต้องมีการเจรจาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) และสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเป็นผู้แถลงนโยบายของรัฐบาลในพิธีเปิดสมัยการประชุมรัฐสภาประจำปี หรือ Speech from the Throne

รัฐสภาเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา (First Chamber) มีสมาชิกจำนวน 75 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาจังหวัด 12 แห่ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสภาผู้แทนราษฎร (Second Chamber) มีสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมาย ขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือยับยั้งร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลชุดก่อนของเนเธอร์แลนด์ ภายใต้การบริหารงานของนาย Jan Balkenende นายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากตำแหน่งและประกาศยุบสภา เนื่องจากเกิดความเห็นขัดแย้งเรื่องการคงกองกำลังทหารเนเธอร์แลนด์ในอัฟกานิสถาน ระหว่างพรรค Christian Democrat Appeal (CDA) ของนาย Balkenende ซึ่งต้องการให้มีการขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กับพรรค Partij van de Arbeid (PvdA) ซึ่งต้องการให้ถอนกองกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานตามกำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2553 แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันมานานกว่า 4 เดือน โดยได้มีการประชุมร่วมกันถึง 17 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้พรรค PvdA ประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เนเธอร์แลนด์ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 9 มิถุนายน 2553 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 พรรคการเมืองเนเธอร์แลนด์ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งมีที่นั่งในสภาจำนวน 76 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 150 ที่นั่ง ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรค People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) จำนวน 31 ที่นั่ง พรรค Party for Freedom (PVV) จำนวน 24 ที่นั่ง และพรรค Christian Democrat Appeal (CDA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี Jan Balkenende จำนวน 21 ที่นั่ง โดยนาย Mark Rutte หัวหน้าพรรค VVD ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นาย Uri Rosenthal พรรค VVD ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Ben Knapen พรรค CDA ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดูแลกิจการยุโรปและความร่วมมือระหว่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศ

สนธิสัญญา Lisbon ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 ได้วางกรอบเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารและการตัดสินใจภายใน EU รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของสภาผู้แทนฯ ของแต่ละประเทศในสภาผู้แทนของ EU (European Parliament) ในส่วนของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะพยายามมากขึ้นที่จะให้คนเนเธอร์แลนด์ ให้การสนับสนุนพัฒนาการของ EU ภายใต้กรอบสนธิสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้ EU เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์หวังที่จะได้เห็นการกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมของ EU เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และความมั่นคงด้านอาหาร

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สนับสนุนการขยายสมาชิกภาพของ EU โดยต้องเป็นไปตาม Copenhagen Criteria อย่างเข้มงวดแต่เป็นธรรมกับทุกประเทศสมาชิก โดยปัจจุบัน โครเอเชียและ FYROM กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก EU
3.3 สำหรับประเทศที่อยู่ภายใต้กรอบนโยบายต่อเพื่อนบ้าน (European Neighbourhood Policy ) เนเธอร์แลนด์สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มประเทศดังกล่าวตราบเท่าที่ประเทศเหล่านี้ยังคงมีการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ นอกจากนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังมีกรอบให้ความช่วยเหลือในระดับทวิภาคีกับกลุ่มประเทศดังกล่าว สำหรับโครงการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีเป้าหมายพัฒนาภาคประชาสังคม ตลอดจนการให้ฝึกอบรมระยะสั้นแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกลุ่มประเทศข้างต้นด้วย

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 นาย Mark Rutte นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเน้นการปฏิรูปการเงินสาธารณะ ลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนตามลำดับ ภายใต้แนวคิดว่า การปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศจะส่งเสริมความแข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของเนเธอร์แลนด์

เพื่อเป็นการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน รัฐบาลมีนโยบายตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐลง 1 ใน 3 ส่วน ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศจะมีการตัดลดงบประมาณสำหรับคณะผู้แทนทางการทูตของเนเธอร์แลนด์ในต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณาโยกย้ายบุคลากร การเปิดหรือปิดสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ในบางประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

รัฐบาลจะปรับลดงบประมาณจำนวน ๙๐๐ ล้านยูโร ของความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจำนวน 4,900 ล้านยูโร ภายใน 2 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และลดจำนวนประเทศที่รับความช่วยเหลือจาก 37 ประเทศในปัจจุบันให้เหลือ 10 ประเทศ โดยเน้นการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อาทิ ความร่วมมือกับไทยซึ่งดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank)

เนเธอร์แลนด์จะให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและสาธารณชนเกาหลี นอกเหนือจากพันธมิตรดั้งเดิม คือ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น เนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญและสนับสนุนอิสราเอลมากขึ้นในกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

เศรษฐกิจการค้า

นโยบายเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก รวมทั้งได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับที่ 5 เป็นประเทศผู้ค้าอันดับที่ 7 และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ รัฐบาลจึงเชื่อว่าเนเธอร์แลนด์จะสามารถก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันได้

ภาพรวมเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในปี 2553 มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มอัตราการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เนเธอร์แลนด์ยังคงต้องรับมือกับปัญหาดัชนีการบริโภคภายในประเทศซึ่งมีแนวโน้มลดลงและสภาวะตลาดแรงงานที่พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจได้ลดรายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษีและคาดว่าจะนำไปสู่ภาวะขาดดุลงบประมาณ เป็นจำนวน 4 แสนล้านยูโรในปี 2554 รัฐบาลจึงวางมาตรการการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณ อาทิ การตัดลดงบประมาณจำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การปรับเพิ่มอายุเกษียณเป็น 66 ปี ในปี 2563 การปรับลดขนาดของคณะรัฐมนตรี การเพิ่มการก่อถนนและเส้นทางรถไฟ และการให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญประการหนึ่งคือ การคงไว้ซึ่งอัตราการจ้างงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้จัดเตรียมงบประมาณจำนวน 180 ล้านยูโร สำหรับ 18 เดือน เพื่อใช้ในการว่าจ้างแรงงานมีฝีมือ/นักวิจัยค้นคว้าจากบริษัทต่างๆ ให้เข้าทำงานเป็นการชั่วคราวกับมหาวิทยาลัย สถาบันการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายในเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการลดจำนวนแรงงานมีฝีมือของบรรดาบริษัทห้างร้าน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมเงินอีก 100 ล้านยูโรเพื่ออุดหนุนโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ด้วย นาง Maria van der Hoeven รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการความมั่นใจว่าภาคธุรกิจของเนเธอร์แลนด์ยังคงอยู่ในภาวะที่สามารถแข่งขันได้กับต่างชาติภายหลังสิ้นสุดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้าง Knowledge Position ให้แก่ประเทศในระยะยาว รัฐบาลเนเธอร์แลนด์คาดว่างบประมาณดังกล่าวจะสามารถช่วยรองรับนักวิจัยได้ราว 2,000 คน ทั่วประเทศโดยไม่ต้องตกงาน

ในด้านการเงินและการธนาคาร เนเธอร์แลนด์สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนของสหภาพยุโรปเพื่อให้ความช่วยเหลือกรีซจากวิกฤตทางการเงินและป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4.7 พันล้านยูโร เข้ากองทุนฯ ดังกล่าว ทำให้อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเงินในเขตยูโรโซนและการกู้ยืมข้ามพรมแดน (Cross-border lending) ผ่านธนาคารกลางยุโรปดังกล่าว และมีแนวโน้มว่าหนี้สินดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นจนยากที่จะชำระได้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

ความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์
ความสัมพันธ์ทางการทูต

ไทยและเนเธอร์แลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2147 เมื่อปี 2547 จึงครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เนเธอร์แลนด์ 400 ปี และต่อมา ปี 2551 ถือเป็นวาระครบรอบ 400 ปีแห่งการส่งคณะทูตไทยไปเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นคณะทูตไทยคณะแรกที่เดินทางไปยุโรป เมื่อปี 2151 เพื่อรำลึกถึงวาระที่สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยและสยามสมาคมได้ร่วมกันจัดงานเลี้ยงรับรอง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ณ สยามสมาคม

ความสัมพันธ์ทั่วไปเป็นไปอย่างราบรื่นมาโดยตลอด ทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาลและประชาชน ในปี 2551 สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยได้ขอเปิดสถานกงสุลเนเธอร์แลนด์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการเปิดสถานกงสุลดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 และขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ รวมถึงได้แจ้งความประสงค์ขอเปิดสถานกงสุลเนเธอร์แลนด์ประจำจังหวัดภูเก็ตด้วยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก (นายวีรชัย พลาศรัย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และจะเดินทางไปรับหน้าที่ในเดือนกรกฎาคม 2552) และมีกงสุลกิตติมศักดิ์ที่อัมสเตอร์ดัม (Mr. H.H.M Richard Ruijgrok) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย คือ นายเทียโค เทโอ วาน เดน เฮาท์ (Mr. Tjaco Theo van den Hout)

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

เนเธอร์แลนด์มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับไทยมาช้านาน โดยมีมุมมองที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันในประเด็นต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ไทยและเนเธอร์แลนด์อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางความร่วมมือ ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่ายไทยกำลังยกร่างและจะเสนอให้ฝ่ายเนเธอร์แลนด์พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังเสนอให้มีความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมต่อเรือ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความเชี่ยวชาญของเนเธอร์แลนด์ที่จะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมต่อเรือของไทยได้

เนเธอร์แลนด์สนใจและติดตามพัฒนาการในพม่า โดยมีท่าทีสอดคล้องกับสหภาพยุโรป และในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2551 เนเธอร์แลนด์ได้คัดเลือกผู้หนีภัยชาวพม่าที่พักพิงอยู่ในประเทศไทยไปตั้งถิ่นฐานในเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวน 90 คน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อยแต่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยได้

นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ได้แสดงความห่วงใยและสอบถามถึงปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยตระหนักดีว่า กรณีนี้เป็นเรื่องภายในระหว่างไทยกับกัมพูชา การที่ประเทศไทยใช้กลไกทวิภาคีจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration—PCA) เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ได้แสดงความพร้อมที่จะให้คำแนะนำไทยเกี่ยวกับประเด็นการนำกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก หากฝ่ายไทยประสงค์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง EU และ ASEAN ในการประชุมรัฐมนตรี ASEM ครั้งที่ 16 ณ เมืองนูรัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้ภาคเอกชน และกลุ่มธุรกิจชาวดัตช์มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เช่น ระบบการจัดการน้ำ การสาธารณสุข การขนส่ง และพลังงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา (นาย Bert Koenders) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ(นาย Frank Heemskerk) ได้เสนอโครงการ ORIO (development-related infrastructure improvement) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระยะยาวที่เน้นการฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนา เริ่มดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2552 โดยใช้งบประมาณจำนวน 180 ล้านยูโร โดย โดยประเทศไทยอยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวด้วย นอกเหนือจากฟิลิปปินส์ เปรู แอลจีเรีย โมร็อคโค เซอร์เบียและมอนเตเนโกร

เนเธอร์แลนด์ติดตามและชูประเด็นสิทธิมนุษยชนในพม่ามาโดยตลอด และในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2551 เนเธอร์แลนด์ได้คัดเลือกและรับผู้หนีภัยชาวพม่าที่พักพิงอยู่ในประเทศไทยไปตั้งถิ่นฐานในเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวน 90 คน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อย แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการแบ่งเบาภาระของประเทศไทยได้

นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ได้แสดงความห่วงใยและสอบถามถึงปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยตระหนักดีว่า เป็นเรื่องภายในระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา การใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งเคย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration - PCA) เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ได้แสดงความพร้อมที่จะให้คำแนะนำแก่ประเทศไทยเกี่ยวกับการนำกรณีข้อพิพาทระหว่าง รัฐเข้าสู่การพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกด้วย หากฝ่ายไทยประสงค์

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การค้า
เนเธอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนีและสหราชอาณาจักร) โดยในปี 2553 การค้าระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่ารวม 4,596 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.39 จากปี 2552 โดยไทยส่งออกมูลค่า 3,643 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้ามูลค่า 952 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 2,691 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเนเธอร์แลนด์ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ไก่แปรรูป เลนซ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้กระป๋องและปรรูป เคมีภัณฑ์ และข้าว สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือแผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ

ปัญหาและอุปสรรคการค้าไทย-เนเธอร์แลนด์ คือ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรการของสหภาพยุโรป การเจรจาต่อรองจึงต้องดำเนินไปในกรอบของสหภาพยุโรป นอกจากนั้น สินค้าไทยเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าจากเอเชียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน และเวียดนาม ไทยมีจุดอ่อนในการขยายตลาดการค้าในเนเธอร์แลนด์คือ เอกชนไทยค่อนข้างขาดความกระตือรือร้นที่จะเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการส่งเสริมการค้าในปัจจุบันดำเนินการโดยภาครัฐบาล โดยเป็นการรักษาและขยายตลาดในสินค้าที่ส่งออกอยู่ในปัจจุบัน

การลงทุน
เนเธอร์แลนด์มีการลงทุนในไทยมูลค่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จากสถิติของ BOI ในปี 2553 มีโครงการการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 23 โครงการ รวมมูลค่า 25,780 ล้านบาท และมีบริษัทเนเธอร์แลนด์มาลงทุนในไทยประมาณ 130 บริษัท โดยมีบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Shell, Heineken, Philips, Unilever และ Foremost เป็นต้น

การท่องเที่ยว
ในปี 2553 นักท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์เดินทางมาประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 198,595 คน ลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 3.32

ความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษา และการค้นคว้าวิจัย
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์โดย The Netherlands Organization for International Cooperation in Higher Education (Nuffic) เป็นผู้ดำเนินการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่รัฐบาลไทยในลักษณะทุนการศึกษาและฝึกอบรม ตั้งแต่ปี 2515 โดยทุนดังกล่าวเป็นทุนแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งผู้สมัครจากประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับผู้สมัครรับทุนชาติต่าง ๆ ประมาณปีละ 150 หลักสูตร และทุนที่รัฐบาลไทยได้รับอนุมัติประมาณ 15 - 20 ทุนต่อปี ความร่วมมือทางด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอูเทรค เมื่อปี 2536 และต่ออายุมาจนถึงฉบับปัจจุบัน โดยมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการลงนามทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวน 5 แห่ง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือทางวิชาการด้วยเช่นกัน

Nuffic ได้แสดงความสนใจที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่นCollaborative Doctorate Degree Program และการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น Tropical Medicine, Agriculture Technology, Agriculture Industry, Architecture และ Environment Engineering

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้ทรงลงพระนามในความตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กับมหาวิทยาลัยอูเทรค และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการวิจัยและการศึกษาทางด้านพิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง ระหว่างมหาวิทยาลัยอูเทรค และโครงการบัณฑิตศึกษาด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อม ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการติดต่อและแลกเปลี่ยนความร่วมมือโดยตรงระหว่างสถาบันทั้งสี่แห่ง โดยจะร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยในสาขาพิษวิทยา สาขาระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง ซึ่งรูปแบบของความร่วมมือจะเป็น ในลักษณะของการจัดกิจกรรมร่วมกันในโครงการบัณฑิตศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ ผลงานวิจัย และอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก และโครงการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งความตกลงดังกล่าว ทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันลงนาม

ความตกลงทวิภาคีที่สำคัญกับประเทศไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยบริการทางอากาศ ฉบับแรกลงนามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2490 และฉบับที่ 2 ลงนามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2514
- ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลงนามเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2515 อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ลงนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2518 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2519
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือของเนเธอร์แลนด์สำหรับตลาดเกิดใหม่ (ของเนเธอร์แลนด์) ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 2001 - 2003 ) ลงนามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544
- ความตกลงว่าด้วยการมีผลบังคับในการจ่ายเงินประกันสังคมแก่คนชาติของภาคี (เนเธอร์แลนด์) ที่พำนักอยู่ในประเทศภาคีอีกฝ่าย (ประเทศไทย) ลงนามเมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน 2545
- บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ว่าด้วยโครงการความร่วมมือสำหรับตลาดเกิดใหม่ (ของเนเธอร์แลนด์) ฉบับที่ 2 ลงนามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และได้มีการต่ออายุบันทึกความเข้าใจ ดังกล่าว เป็นเวลา 2 ปี โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 สิงหาคม 2550
- สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษและการให้ความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2548

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- วันที่ 6 - 9 กันยายน 2440 เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 24 - 27 ตุลาคม 2503 เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 30 มิถุนายน 2550 ทรงฝึกบิน และทรงนำเครื่องบินพระที่นั่งลงจอด ณ ท่าอากาศยาน สคิปโพล กรุงอัมสเตอร์ดัม
- วันที่ 19 กรกฎาคม 2550 ทรงฝึกบิน และทรงนำเครื่องบินพระที่นั่งลงจอด ณ ท่าอากาศยานสคิปโพล กรุงอัมเสตอร์ดัม
- วันที่ 15 ตุลาคม 2550 ทรงฝึกบิน และทรงนำเครื่องบินพระที่นั่งลงจอด ณ ท่าอากาศยานเมืองรอตเตอร์ดัม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 28 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2523 เสด็จฯ แทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ มกุฎราชกุมารีแห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2523
- วันที่ 21 - 26 มกราคม 2532 เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์
- วันที่ 23 - 27 กันยายน 2539 เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2531 เสด็จเยือนเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 5 - 8 ตุลาคม 2546 เสด็จเยือนเนเธอร์แลนด์

รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี

- ปี 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

รัฐมนตรี
- วันที่ 20 - 22 กันยายน 2541 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศเยือนเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

ฝ่ายเนเธอร์แลนด์
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์

- วันที่ 15 - 22 ตุลาคม 2506 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายเบิร์นฮาร์ด พระราชสวามี และเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์
- วันที่ 24 - 26 สิงหาคม 2514 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าชายเบิร์นฮาร์ด พระราชสวามี
- วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2525 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าชาย เบิร์นฮาร์ด พระราชสวามี

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 16 - 21 พฤศจิกายน 2505 เจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 19 - 23 มกราคม 2547 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลม- อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เจ้าชายเบิร์นฮาร์ด พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 11 - 12 มีนาคม และ 5 - 7 เมษายน 2513 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2516 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 7 - 8 เมษายน 2518 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 28 กรกฎาคม 2522 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2529 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2531 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 24 พฤษภาคม 2533 เสด็จฯ เยือนไทย

เจ้าชายเคลาส์ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์
- เดือนกุมภาพันธ์ 2528 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าชายฟริโซ และเจ้าชายคอนสตันไตจน์ พระราชโอรส

เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์
- วันที่ 15 - 17 ธันวาคม 2530 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2530 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงมักซิมา พระชายา เพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี

- วันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2536 นาย Ruud Lubbers นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เยือนไทย อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 1 - 2 มีนาคม 2539 นาย Wim Kok นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ Asia-Europe Meeting (ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ

รัฐมนตรี
- วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ 2541 นาย Hans Van Mierlo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2543 นาย Gerrit Yberma รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศ และนาง Evelien Herfkens รัฐมนตรีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเนเธอร์แลนด์
เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 28 - 30 ธันวาคม 2546 นาย Hans van den Broek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เยือนไทย เพื่อเตรียมการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์
- วันที่ 19 - 23 มกราคม 2547 นาย Bernard Bot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ในการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 นาย Bernard Bot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบเหตุธรณีพิบัติภัยจากสึนามิ
- วันที่ 9-12 เมษายน 2551 Ms. Nebahat Albayrak ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเนเธอร์แลนด์ เยือนไทย เพื่อตรวจเยี่ยมกระบวนการสัมภาษณ์คัดเลือกผู้หนีภัยชาวพม่า ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ในเนเธอร์แลนด์

มิถุนายน 2554

กองยุโรป 1 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5145 Fax. 0 2643 5146 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-184-document.doc