ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มี.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,624 view


ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
Kingdom of Denmark

ข้อมูลทั่วไป

เมืองหลวง โคเปนเฮเกน (Copenhagen)

ที่ตั้ง คาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรประหว่างทะเลเหนือกับทะเลบอลติก

พื้นที่ 43,077 ตารางกิโลเมตร โดยประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 406 เกาะ ซึ่งร้อยละ 90 ไม่มีผู้อยู่อาศัย รวมทั้งดินแดนปกครองตนเอง คือ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และหมู่เกาะแฟโร (Faroe)

ประชากร 5.58 ล้านคน ประกอบด้วย ชาวเดนิช ร้อยละ 98.0 ชาวสแกนดิเนเวียอื่น ๆ ร้อยละ 0.4 ชาวตุรกี ร้อยละ 0.3 ชาวอังกฤษ ร้อยละ 0.2

ภาษา ภาษาเดนิช (Danish)

ศาสนา ประชากรร้อยละ 97 นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran

สกุลเงิน เดนิชโครน (Danish Krone - DK)
 

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง
การเมืองการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2515 ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฮนริกแห่งเดนมาร์ก)

รัฐสภาเดนมาร์ก (Folketing) เป็นระบบสภาเดียว สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (จากเดนมาร์ก 175 คน จากหมู่เกาะฟาโร (Faroe) 2 คน และจากเกาะกรีนแลนด์ (Greenland) 2 คน ซึ่งหมู่เกาะทั้งสองเป็นดินแดนโพ้นทะเลภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์กซึ่งได้รับ สิทธิในการปกครองตนเอง)

พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Liberal พรรค Conservative พรรค Danish People’s Party และพรรค Social Democratic โดยการเลือกตั้งทั่วไปของเดนมาร์กครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 นางเฮลเลอร์ ทอร์นนิ่ง ชมิดท์ (Helle Thorning-Schmidt) จากพรรค Social Democratic Party ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 89 จาก 179 ที่นั่งในสภา

นายกรัฐมนตรี นางเฮลเลอร์ ทอร์นนิ่ง ชมิดท์ (Helle Thorning-Schmidt)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายมาร์ติน ลินเดอร์การด (Martin Lidegaard)  
 

นโยบายภายในของรัฐบาลปัจจุบัน

1. เน้นการรักษานโยบายว่าด้วยความเสมอภาคอย่างเข้มแข็ง สร้างเดนมาร์กเป็นสังคมแห่งโอกาสสำหรับประชาชนทุกคน

2. การปฏิรูปด้านการศึกษา – มุ่งปฏิรูปการศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยการเพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอน การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการก้าวสู่ตลาดแรงงาน และการลดอัตราการลาออก ซึ่งปัจจุบันมีอัตราที่สูงมาก

3. การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี – การปรับระเบียบและกฎเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีโดยการลดอัตราภาษีรายได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการศึกษาต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน

4. การสร้างความเติบโตของเดนมาร์ก (Growth Plan) – มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและการสร้างงาน โดยการลดภาษีรายได้นิติบุคคลและค่าธรรมเนียม การลดความยุ่งยากและอุปสรรคด้านการบริหารเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุริกิจในเดนมาร์ก

5. ด้านพลังงาน – การทำให้เดนมาร์กเป็นสังคมแห่งสิ่งแวดล้อม  การกำหนดมาตรการรักษาสภาวะอากาศและมาตรการการใช้พลังงานอย่างพอเพียง ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในอัตราร้อยละ 75 ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะพลังงานลมในอัตราร้อยละ 50

6. ด้านเศรษฐกิจ – สนับสนุนการเติบโตและการจ้างงานภายใต้กรอบนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ การรักษาระดับการลงทุนของภาครัฐให้อยู่ในสูง และการลดหนี้สาธารณะ

7. ด้านสังคมและสาธารณสุข – เป็นแม่แบบของระบบสวัสดิการสังคม (Welfare State Model) เน้นการพัฒนาบริการสาธารณสุข การส่งเสริมการรักษาสุขภาพ และการขยายอายุเฉลี่ยของประชาชน

ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นรัฐสวัสดิการที่เน้นการนำรายได้ของรัฐมาสนับสนุนบริการเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ การดูแลคนพิการและผู้สูงอายุ การเน้นความเท่าเทียมกันในการทำงานและสิทธิทางด้านสังคมอื่นๆ ระหว่างชายและหญิง

เศรษฐกิจการค้าและสังคม

ลักษณะทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลเดนมาร์กมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ / การค้า เสรี เนื่องจากเดนมาร์กต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมจาก ต่างประเทศ และจากทำเลที่ตั้งของเดนมาร์กที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางส่งผ่าน สินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสามารถเป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศบอลติกได้ กอปรกับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศ โดยมีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ และมีสะพาน Oresund Bridge เชื่อมระหว่างเกาะ Zealand ของเดนมาร์กกับเมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 จึงทำให้เดนมาร์กมีบทบาทในสถานะที่เป็น trading house ในภูมิภาคยุโรปเหนือ

ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์  การผลิตยา กังหันลม และการต่อเรือ

ข้อมูลเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2556)
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 324.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- GDP ต่อหัว 37, 800 ดอลลาร์สหรัฐ
- อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.8
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.1
- ประเทศคู่ค้า (ส่งออก) เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักรฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์
- ประเทศคู่ค้า (นำเข้า) เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์
- สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องมือในอุตสาหกรรม เนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อ เครื่องมือแพทย์ พลังงานทดแทน
- สินค้านำเข้าที่สำคัญ รองเท้าและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
- จากการจัดอันดับของ World Database of Happiness (2551 - 2552) เป็นอันดับ 6 ของโลก ในด้าน World Competitiveness (2551 - 2552)
 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2164 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีและได้นำปืนไฟมาขาย ต่อมาชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2313 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและเดนมาร์ก ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 หลังจากนั้น ทั้งสองประเทศได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกัน โดยในปี พ.ศ. 2403 เดนมาร์กได้ตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2425 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำในยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งโดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก โดยมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน (พ.ศ. 2425 - 2426) ก่อนย้ายสำนักงานไปยังกรุงปารีส (พ.ศ. 2426 - 2431) กรุงเบอร์ลิน (พ.ศ. 2431 -
– 2497) และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จึงได้เปิดสำนักงานที่กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีขุนพิพิธวิรัชชการ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต

ไทยและเดนมาร์กยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2501 โดยมีขุนพิพิธวิรัชชการ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์ก ถิ่นพำนัก ณ กรุงโคเปนเฮเกน คนแรก

เอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์ก (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ และลิทัวเนีย)
นางสาววิมล คิดชอบ

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน
นาย Carsten Nielsen

กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน
นาย Peer Rosenfeldt

เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย  (มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่าและกัมพูชา)
นาย Mikael Hemniti Winther

กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำกรุงเทพฯ
นาย Anders Normann

กงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำเมืองพัทยา
นาย Stig Vagt-Andersson

กงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำจังหวัดภูเก็ต
-

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยและเดนมาร์กต่างมีความเห็นสอดคล้องและร่วมมือกันด้วยดีในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง/ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีสำหรับในกรอบความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี ไทยและเดนมาร์กได้มีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบความสัมพันธ์อาเซียนกับสหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe –-OSCE) ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน และเดนมาร์กในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป ได้มีท่าทีที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM) ทั้งสองประเทศต่างเห็นถึงความสำคัญของเวทีดังกล่าวว่า จะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปให้ดำเนินไปอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองประเทศได้สนับสนุนซึ่งกันและกันในการพัฒนาเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรปให้มีความเจริญก้าวหน้า


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางการค้า
ในปี พ.ศ. 2556 การค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กมีมูลค่า 676.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 424.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 251.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 172.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รองเท้าและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ
สินค้านำเข้าที่สำคัญจากเดนมาร์ก ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องจักรในการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
สินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ ยานพาหนะและอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
สินค้านำเข้าจากเดนมาร์กที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ด้านการลงทุน กิจการที่เดนมาร์กมีความสนใจลงทุนในไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมขนาดกลางซึ่งเดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ เช่น ด้านการผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องดื่มเบียร์ อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนกิจการด้านบริการโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นสาขาที่เดนมาร์กมีประสบการณ์และถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป

เดนมาร์กเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับโครงการลงทุนจากเดนมาร์กที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of Board of Investment –BOI) ในปี พ.ศ. 2555 มีทั้งสิ้น 19 โครงการ มูลค่ารวม 5, 000 ล้านบาท

การท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กเดินทางมาไทยจำนวน 163,907 คน นักท่องเที่ยวเดนมาร์กนับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูง โดยที่ชาวเดนมาร์กมีอำนาจซื้อสูงและนิยมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เดนมาร์กจึงเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายของไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพำนักระยะยาว และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ความตกลงกับไทย

- ความตกลงว่าด้วยการบินพลเรือนไทย-เดนมาร์ก (ลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2492)
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ และความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2506 และปี พ.ศ. 2536 ตามลำดับ ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2539 เดนมาร์กขอยกเลิกความตกลงทั้ง 2 ฉบับ และได้มีหนังสือแจ้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการให้ฝ่ายไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2539) 
- อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541)
- สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษ (ลงนามเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542)
- ความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เดนมาร์ก (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556)

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือ เดนมาร์กได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ไทยในด้านต่างๆ มาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เช่น
กองทัพบก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชทรงไปศึกษาวิชาการทางทหารที่เดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2434 และทรงฝึกหัดรับราชการทหารอยู่ในกรมปืนใหญ่สนามของเดนมาร์ก เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงนำความรู้วิชาการทางทหารจากเดนมาร์กมาพัฒนากองทัพบกของไทยให้มีความทันสมัย

กองทัพเรือ นายทหารเรือชาวเดนมาร์ก คือ นาย Andreas du Plessis de Richelieu ได้รับราชการในกองทัพเรือระหว่างปี พ.ศ. 2419-2445 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธิน

กิจการรถไฟ รัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานให้แก่บริษัทเดนมาร์กในการสร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในประเทศ คือ เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ (ปากน้ำ) ในปี พ.ศ. 2429

กิจการไฟฟ้า นาย Andreas du Plessis de Richelieu ชาวเดนมาร์ก ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเมื่อปี พ.ศ. 2441 โดยบริษัทได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้า
แก่ประชาชนในพระนคร และต่อมาบริษัทได้โอนกิจการให้มาเป็นของรัฐเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดกิจการรถรางขึ้นในพระนครด้วย

กิจการปูนซีเมนต์บริษัทสยามซีเมนต์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศเดนมาร์ก และได้จ้างชาวเดนมาร์กที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารการผลิตและการบัญชีมาช่วยการดำเนินกิจการของบริษัทในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2457-2502  และหลังจากปี พ.ศ. 2517 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-เดนมาร์ก ในด้านต่างๆ ที่ได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเจริญของประเทศและความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือทางด้านโบราณคดี โครงการความร่วมมือทางด้านพฤกษศาสตร์ กิจการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สยามสมาคม เป็นต้น ในปัจจุบันเดนมาร์กมี 2 หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก คือ 1) หน่วยงานการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance – DANIDA) และ 2) หน่วยงานรับผิดชอบความร่วมมือด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก (Danish Cooperation for Environment and Development –DANCED)

DANIDA ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ต่างประเทศและอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในกรอบทวิภาคีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เช่น การให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม จนถึงปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากเดนมาร์กเห็นว่า ไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นแล้ว (รายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 2,160 ดอลลาร์สหรัฐ)
อย่างไรก็ดี ไทยก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากเดนมาร์กในกรอบระดับภูมิภาค ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางสถาบันระดับภูมิภาค เช่น สถาบัน Asian Institutes of Technology (AIT) รวมทั้งโครงการการให้ความช่วยเหลือภายใต้การให้เงินกู้แบบผ่อนปรน (Mixed Credits Programme)

DANCED เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก โดย DANCED ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาสาขาที่เดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและโรงงาน การจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) ซึ่งเดนมาร์กจะให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมแก่ประเทศที่สามในไทย โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดจีน อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ในปัจจุบันมีกรอบที่เป็นทางการในการดำเนินความสัมพันธ์ในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา คือ การจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่างกันเป็นประจำทุกปีระหว่างหน่วยงาน DANIDA กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศของไทย

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
ระดับราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ
- กรกฎาคม พ.ศ. 2440   เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
- 30 มิถุนายน พ.ศ. 2450 เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
- พ.ศ. 2473  เสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 6-9 กันยายน พ.ศ. 2503 เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 13-15 กันยายน พ.ศ. 2531  เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- กรกฎาคม พ.ศ. 2536  เสด็จเยือนเดนมาร์ก เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 22 สิงหาคม -– 3 กันยายน พ.ศ.2542 เสด็จเยือนเดนมาร์ก และเกาะกรีนแลนด์ลัตเวีย เอสโตเนียและลิทัวเนีย เป็นการส่วนพระองค์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 19-25 เมษายน พ.ศ. 2545 เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

ระดับรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี

- ปี พ.ศ. 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- 1-3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- 16-18 เมษายน พ.ศ. 2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8-11 มีนาคม พ.ศ. 2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- มีนาคม พ.ศ. 2538 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเยือนเดนมาร์ก เพื่อเข้าประชุมสุดยอดด้านสังคม (Social Summit)
- วันที่ 22-24 กันยายน พ.ศ. 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กเพื่อเข้าประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
- วันที่ 17-18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์ก เพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 ( COP 15)

ระดับรัฐมนตรี
- กรกฎาคม พ.ศ. 2526 พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 12-14 ตุลาคม พ.ศ. 2537 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะนักธุรกิจไทยเยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 17-18 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์กเพื่อหารือข้อราชการกับนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก
- วันที่ 22-24 กันยายน พ.ศ. 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์ก โดยร่วมอยู่ในคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อ เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
- วันที่ 5-7 มิถุนายน พ.ศ. 2546 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 26 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2546 นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์


ฝ่ายเดนมาร์ก
ระดับราชวงศ์

เจ้าชายวัลเดอมาร์ (Valdemar) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าคริสเตียน ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Christian IX)
- ธันวาคม พ.ศ. 2442  เสด็จฯ เยือนไทย

สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederik IX)
- เดือนมกราคม พ.ศ. 2473 เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 12-24 มกราคม พ.ศ. 2505 พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีอินกริด (Her Majesty Queen Ingrid) เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
-
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)
- วันที่ 17-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506  เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 30 เมษายน- 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พร้อมด้วยเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี (His Royal Highness Prince Henrik) เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544  พร้อมด้วยเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี และเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
- วันที่ 2-15 ธันวาคม พ.ศ. 2536  เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ประจำปี พ.ศ. 2536
- วันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ. 2542 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโครงการเพื่อการพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเดนมาร์ก (DANCED)
- วันที่ 5 ธันวาคม และ วันที่ 12-13 ธันวาคม พ.ศ. เสด็จฯ แวะผ่านไทย
-วันที่ 11-14 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงเข้าร่วมงาน ฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Crown Prince Frederik) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี
- วันที่ 24-27 ตุลาคม พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 14-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 15-17 เมษายน พ.ศ. 2548  พร้อมด้วยเจ้าหญิงแมรี พระชายา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์กจากเหตุการณ์ภัย พิบัติคลื่นยักษ์ ซึ่งได้จัดขึ้น ที่เขาหลักจ.พังงา วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2548
- วันที่ 24-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงแมรี พระชายา เพื่อทรงร่วมงานฉลองครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เดนมาร์ก
- วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เสด็จฯ แวะผ่านไทย

เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Prince Joachim) พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก
- วันที่ 9 - –10 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เสด็จฯ แวะผ่านไทย
- วันที่ 25 มกราคม -– 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 พร้อมด้วยเจ้าหญิงอเล็กซานดรา และเจ้าชายนิโคไล ( Prince Nikolai) พระโอรส เสด็จฯ เยือนไทย (จ.ภูเก็ต) เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 12-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 พร้อมด้วยเจ้าหญิงอเล็กซานดรา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์

เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (Her Royal Highness Princess Alexandra) พระชายาของเจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก
- กันยายน พ.ศ. 2541 เสด็จฯแวะผ่านไทย


ระดับรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี

- วันที่ 14-17 มีนาคม พ.ศ. 2531 นายพอล ชลูเทอร์ (Poul Schluter) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก พร้อมด้วยภาคเอกชนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล (Official Visit)
- วันที่ 1-2 มีนาคม พ.ศ. 2539 นายนีลส์ เฮลวิก พีเทอร์เซน (Niels Helveg Petersen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting -ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนของนายพอล นูรูพ ราสมูสเซน (Poul Nyrup Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก
- วันที่ 17-18 เมษายน พ.ศ. 2548 นายอันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน (Mr. Anders Fogh Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก และภริยา เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล (Working Visit) ในระหว่างการเยือนไทย นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเพื่อหารือข้อราชการ และเมื่อวันที่ 15-17 เมษายน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยา พร้อมด้วยมกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กและพระชายาได้เข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์ก ซึ่งทางการเดนมาร์กได้จัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ ที่เขาหลัก จ.พังงา เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2548

ระดับรัฐมนตรี
- วันที่ 16-18 มกราคม พ.ศ. 2537 นาย Niels Helveg Petersen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก และคณะพร้อมด้วยภาคเอกชนเยือนไทย
- วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 นาย Mogens Lykketoft รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก พร้อมด้วยนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทย (โดยร่วมอยู่ในคณะการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) และเข้าเยี่ยมคารวะ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

8 สิงหาคม 2557

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0-2643-5000 ต่อ 13132 Fax. 0-2643-5132 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ