รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๖ ของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๖ ของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,762 view

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ ๖ ของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (FEALAC FMM VI) สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ ดังนี้

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ FEALAC ได้รับรองผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และร่วมกันพิจารณารายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ FEALAC Vision Group ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมด้านการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภาควิชาการ สื่อมวลชน และเยาวชน ตลอดจนการทำให้ FEALAC เป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นรายงานที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและจะได้นำไปศึกษาโดยละเอียดเพื่อพิจารณานำไปปฏิบัติต่อไป 

ในระหว่างการประชุมดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวแสดงทัศนะของไทยต่อแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ FEALAC ใน ๕ สาขาที่สำคัญ ได้แก่

๑) การประกันสุขภาพถ้วนหน้า   ไทยเชื่อว่าประชากรที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความสำเร็จของโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นตัวอย่างของโครงการที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน และมีผลลัพท์เป็นรูปธรรมที่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ โดยไทยพร้อมจะจัดการศึกษาดูงานในด้านนี้แก่ประเทศสมาชิก FEALAC เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในประเด็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

๒) ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร   ไทยเห็นว่าประเด็นความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และในฐานะที่เอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกาเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก จึงมีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยไทยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการด้านการเกษตร การผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรระหว่างเอเชียและลาตินอเมริกา

๓) ความร่วมมือด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไทยเห็นว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาค ไทยได้ให้การสนับสนุนข้อเสนอในการจัดตั้งศูนย์เพื่อการพัฒนา SMEs ระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อเสนอของเอกวาดอร์

๔) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว  ไทยสนับสนุนความเห็นของที่ประชุมที่จะมุ่งเพิ่มพูนการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสู่ประชาชนของสองภูมิภาคผ่านการท่องเที่ยว โดยเน้นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการขนส่ง

๕) การสร้างเครือข่ายด้านการศึกษา – ไทยให้การสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยในกรอบ FEALAC ซึ่งเป็นข้อเสนอของบราซิล และขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของไทยกว่า ๒๐ แห่ง แสดงความสนใจ ทั้งนี้ การจัดตั้งเครือข่ายฯ นอกจากจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้เยาวชนของทั้งสองภูมิภาคมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกของ FEALAC วาระปี ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘ และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส FEALAC ครั้งที่ ๑๕ ในปี ๒๕๕๗  ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเด็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความมั่นคงทางอาหารในเวที FEALAC ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจะนำเสนอโครงการศึกษาดูงานในด้านดังกล่าวสำหรับประเทศสมาชิก ในช่วงปี ๒๕๕๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ