รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอินโดนีเซียในระหว่างการประชุม FEALAC FMM ครั้งที่ ๖

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอินโดนีเซียในระหว่างการประชุม FEALAC FMM ครั้งที่ ๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มิ.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,815 view

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศจากลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออก ที่เข้าร่วมการรประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ ๖ ของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออก กับลาตินอเมริกา (FEALAC FMM VI) ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ โดยระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้กล่าวรายงาน ผลการประชุมในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ และยินดีกับผลสัมฤทธิ์จากการประชุมในครั้งนี้

หลังจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออก ได้เดินไปเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการช่วงสุดท้าย ของการประชุม FEALAC FMM VI เพื่อสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ และร่วมรับรอง ปฏิญญาอูลูวาตู (Uluwatu Declaration) ซึ่งกล่าวถึงศักยภาพของ FEALAC ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน และความตั้งใจร่วมกันที่จะเผชิญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ในเวทีโลก

รัฐมนตรี ว่าการฯ ได้แจ้งที่ประชุว่า ในฐานะผู้ประสานงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Senior Official Meeting ของ FEALAC ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะจัดกิจกรรม Sideline events อาทิ การหารือระหว่างภาคเอกชน นักวิชาการ และกิจกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยจะจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่อง Universal Health Coverage และเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ระหว่างประเทศสมาชิก FEALAC

สาระ สำคัญของปฏิญญาแบ่งเป็น ๔ ส่วน ได้แก่ ๑) FEALAC จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชียกับลาตินอเมริกา และความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างกัน  ๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยงของ FEALAC ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ การคมนาคมขนส่ง ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การศึกษา ภัยพิบัติ การท่องเที่ยว การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และความร่วมมือทางวิชาการ  ๓) ความตั้งใจที่จะร่วมมือกันเพื่อเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ในเวทีโลก อาทิ การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีในระบบการค้าโลก การประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดการภัยพิบัติ และการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติและ ๔) ความจำเป็นในการเสริมสร้างองค์กรและกระบวนการของ FEALAC อาทิ การปรับโครงสร้างคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพิ่มการหารือระหว่างสมาชิก และส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ