รายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗

รายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,548 view

เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ร่วมกับ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดตัวรายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗ ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

รายงานดังกล่าวเป็นรายงานประจำปีของไทยเพื่อเผยแพร่สถานการณ์การค้ามนุษย์และความคืบหน้าในการดำเนินการต่อต้านการมนุษย์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งครอบคลุมทุกมิติตามยุทธศาสตร์ 5Ps ได้แก่ (๑) ด้านนโยบายและการนำไปสู่การปฏิบัติ (Policy) (๒) ด้านการดำเนินคดี (Prosecution) (๓) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) (๔) ด้านการป้องกัน (Prevention) และ (๕) ด้านความร่วมมือ (Partnership)

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้ดำเนินการอย่างบูรณาการและรวดเร็ว โดยเฉพาะการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการจัดการแก้ไขที่ปัจจัยรากเหง้าและ
ปัจจัยเสี่ยงซึ่งนำไปสู่ปัญหา เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนเพื่อสร้างงานให้ชาวไทยและประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน การนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและสามารถติดตามดูแลได้ นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ตุลาคม ๒๕๕๗ – กันยายน ๒๕๕๘) รัฐบาลยังได้เพิ่มการสนับสนุน เป็น ๔๙๖.๘๒ ล้านบาท (จากปี ๒๕๕๗ จำนวน ๒๑๐.๗๗ ล้านบาท)

สรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จสำคัญในปี ๒๕๕๗ ได้แก่

๑. การบูรณาการในระดับนโยบายและทุกมิติของการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์
โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเชื่อมโยงกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนแผนงานการแก้ไขปัญหาในประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะ

๒. การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจำนวนกว่า ๑.๖ ล้านคน ผ่านศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จำนวน ๘๗ แห่งทั่วประเทศ การนำแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้เข้าสู่ระบบไม่เพียงช่วยปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อจัดระเบียบและบริหารแรงงานเท่านั้น แต่การมีเอกสารทางการกำกับได้ช่วยคุ้มครองเรื่องสิทธิที่แรงงานจะได้รับ ติดตามดูแลสภาพการทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือลดโอกาสที่แรงงานเหล่านี้จะถูกเอาเปรียบและตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์ด้านแรงงานหรือการค้ามนุษย์

๓. การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกมิติ ที่สำคัญที่สุดได้แก่ร่างการแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วและกำลังรอการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ที่ได้รับการแก้ไขนี้ ได้เพิ่มการคุ้มครองผู้แจ้งเหตุ พยาน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ในขณะที่เพิ่มโทษผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ เช่น ริบทรัพย์เพื่อนำมาชดใช้เป็นค่าสินไหมแก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษอย่างรุนแรงขึ้น

ในกรณีที่ทำให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ ทางการไทยยังได้ออกกฎระเบียบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองป้องกันคนงานมิให้ตกเป็นเหยื่อการเอาเปรียบด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้วย เช่น กฏกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในงานประมงทะเลและกำหนดระยะเวลาพักอย่างน้อยวันละ ๑๐ ชั่วโมง พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการติดตั้งระบบติดตามเรือ และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายต่อไป  

๔. การดำเนินการทางกฎหมายกับนายหน้า นักค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์ ในปี ๒๕๕๗ สถิติที่รวบรวมได้ในขณะนี้ มีเหยื่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ๕๙๕ คนมีการสอบสวนตั้งข้อหาการค้ามนุษย์ ๒๘๐ คดี มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาการค้ามนุษย์ ๑๑๕ คดี มีผู้ถูกพิพากษาลงโทษ ๑๐๔ คน มีการลงโทษบริษัทจัดหางานที่ถูกกฎหมาย ๕ บริษัท และดำเนินคดีนายหน้าหรือบริษัทนายหน้าที่ผิดกฎหมาย ๑๓๔ คดี พัฒนาการสำคัญเรื่องการดำเนินคดีก็คือ มีการเน้นจัดการกับคดีที่มีความซับซ้อนเพราะเกี่ยวข้องกับผู้บงการหรือขบวนการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) สามารถนำไปสู่การช่วยเหลือผู้เสียหายและดำเนินคดีได้ถึง ๑๖ คดี

๕. บริการสายด่วน ๒๔ ชั่วโมง (หมายเลข ๑๓๐๐) รับแจ้งทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและความรุนแรงต่อเด็ก สตรี คนพิการ และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม มีบริการล่ามแปลภาษา ๕ ภาษา (เมียนมาร์ จีน อังกฤษ กัมพูชา และเวียดนาม) ซึ่งปี ๒๕๕๗ ได้รับเรื่องร้องเรียน ๓,๔๘๕ เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ๑๒๓ เรื่อง โดยมีการส่งต่อไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายและทำให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน แต่ยังคงมีสิ่งท้าทายและประเด็นที่สามารถปรับปรุงการทำงานได้อีก การจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยเป็นประจำทุกปี จึงมิใช่เพียงการประมวลผลงานนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงข้อจำกัดและสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงเพิ่มขึ้น ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รัฐบาลและองค์กรในต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ถือเป็นหุ้นส่วนที่ส่วนราชการไทยให้ความสำคัญ และต้องการเพิ่มการติดต่อปฏิสัมพันธ์ เพื่อรับฟังข้อแนะนำและแสวงหาความร่วมมือให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยเกิดความก้าวหน้าและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

อนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับแปลรายงานเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่สนใจ เช่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ ได้รับทราบด้วยแล้ว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ