การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ หารือการส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยไร้รอยต่อเพื่อเตรียมความพร้อมรับวิกฤตใหม่ในอนาคต

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ หารือการส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยไร้รอยต่อเพื่อเตรียมความพร้อมรับวิกฤตใหม่ในอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ส.ค. 2565

| 9,797 view

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในฐานะเจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดน ในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ APEC Safe Passage Taskforce (SPTF) เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยที่ประชุมได้หารือถึงความสำเร็จที่ผ่านมาในการผลักดันข้อริเริ่มที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตลอดจนแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต

คณะทำงานเฉพาะกิจ SPTF ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในปีนี้โดยเฉพาะ โดยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทยเป็นประธาน และได้จัดการประชุมต่อเนื่องมาแล้ว ๒ ครั้ง การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมครั้งสุดท้ายก่อนวาระของคณะทำงานฯ จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ โดยมีการหารือประเด็นสำคัญที่สะท้อนหัวใจการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย

๑. การวางแนวทางการทำงานของเอเปคให้สอดคล้องและสนับสนุนการทำงานของกรอบความร่วมมืออื่น ๆ และตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน โดยในครั้งนี้ ได้เชิญผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและนำเสนอข้อริเริ่มใหม่ ๆ และได้เชิญผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ร่วมให้ข้อเสนอแนะผ่านมุมมองจากภาคธุรกิจด้วย ซึ่งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคมีบทบาทสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจนี้ตั้งแต่ต้น

๒. การแปรผลข้อเสนอในที่ประชุมไปเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยข้อเสนอที่ผ่านการรับรองในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปเริ่มปฏิบัติจริงแล้ว เช่น การจัดทำฐานข้อมูลเอเปคเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางข้ามแดนภายในภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย จะเริ่มเปิดใช้งานในเดือนกันยายนนี้ และหลายเขตเศรษฐกิจสมาชิก อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เปรู และสิงคโปร์ ได้นำหลักการเพื่อส่งเสริมการใช้งานร่วมกันของใบรับรองการฉีดวัคซีนในเอเปคที่ได้รับการรับรองในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ไปดำเนินการแล้ว และได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ในการประชุมคณะทำงานครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือข้อริเริ่มอื่น ๆ เช่น การขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น การอำนวยความสะดวกการเดินทางของลูกเรือ และการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดน เป็นต้น

๓. การเตรียมความพร้อมให้เอเปคสามารถรับมือวิกฤติใหม่โดยยังสามารถรักษาการเดินทางข้ามพรมแดนไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าสถานการณ์โควิด-๑๙ ยังไม่สิ้นสุดและอาจเกิดวิกฤตเช่นนี้ได้อีก ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันหารือกลไกที่เหมาะสมเพื่อสานต่อการทำงานนี้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังรายงานผลการศึกษาเรื่อง “โควิด-๑๙ และการเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปค: การแก้ปัญหาความท้าทายที่พรมแดน” ซึ่งจัดทำโดยหน่วยสนับสนุนด้านนโยบายของเอเปค (PSU) ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านนี้ในระยะยาวต่อไป

ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ได้ช่วยเชื่อมโยงภูมิภาค ฟื้นคืนการท่องเที่ยว และฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ ผ่านการทำงานเพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ไทยได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว หลังจากนี้ ไทยจะยังก้าวต่อเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่พร้อมรับวิกฤตการณ์ ความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยและประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ