การหารือทวิภาคีของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖

การหารือทวิภาคีของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,466 view

ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีต่างประเทศต่างๆ จำนวน ๑๕ ราย ดังนี้

วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔
ออสเตรเลีย นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีพลวัต ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ
บาห์เรน ดร. อับดุลละฏีฟ บิน รอชิด อัซซัยยานี รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือที่มีใกล้ชิด มีพลวัต รวมทั้งจัดตั้งกลไกเพื่อติดตามโครงการที่สองประเทศดำเนินร่วมกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรนเยือนประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนการเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue (ACD) ของบาห์เรนในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ (ค.ศ. ๒๐๒๑ - ๒๐๒๒) โดยเห็นพ้องในการผลักดันประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ

เวียดนาม นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งการให้ความช่วยเหลือของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ   โควิด-๑๙ รวมทั้งย้ำแสดงความพร้อมในการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๕

ฮังการี นายเปเตอร์ ซิยาร์โท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี แสวงหาความร่วมมือทางสาธารณสุขการจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากฮังการี และการสนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์และเชิญชวนมาลงทุนในโครงการ EEC ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ - ดร. สุลฏอน อัล ญาบิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีกับนครดูไบในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2020 โดยฝ่ายดูไบต้องการนำเสนอนิยามและมุมมองใหม่ของ “ความหวัง” เพื่อทำให้ทุกคนกลับคืนสู่การมีชีวิตใหม่ภายหลังการเผชิญกับโรคระบาด และนำพาไปสู่อนาคตที่สดใส โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปนครดูไบเพื่อพิธีเปิดงานฯ รวมถึงเยี่ยมชม Thai Pavilion ด้วย นอกจากนี้ได้หารือความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
เปรู นายโอสการ์ โฮเซ ริการ์โด มาอุร์ตัว เด โรมัญญา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission for Bilateral Cooperation- JC) ไทย-เปรู ครั้งที่ ๖ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบเอเปค รวมทั้งความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือในกรอบ Pacific Alliance ซึ่งปัจจุบันไทยเป็น ๑ ใน ๕๙ ประเทศผู้สังเกตการณ์

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔
ศรีลังกา ศาสตราจารย์ คามีณิ ลักษมัณ ปีริส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้หารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และแสดงความพร้อมของไทยในการรับตำแหน่งประธานกรอบความริเริ่มแห่งอ่าว  เบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือ BIMSTEC ต่อจากศรีลังกาในปี ๒๕๖๕ พร้อมนำเสนอแนวคิดแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG เป็นหัวข้อหลักระหว่างการเป็นประธาน BIMSTEC และเจ้าภาพเอเปคของไทย

สาธารณรัฐคีร์กีซ นายรุสลัน คาซัคบาเยฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันส่งเสริมการค้า กระชับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Thailand - Eurasian Economic Union EAEU Free Trade Agreement)

โมซัมบิก นางเวรอนีกา นาตานีแยล มากามูโดลวู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือโมซัมบิก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอบคุณฝ่ายโมซัมบิกที่สนับสนุนการลงทุนของไทยในโมซัมบิกมาโดยตลอด

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔
คูเวต เชค ดร. อะห์มัด นาศิร อัลมุฮัมมัด อัลอะห์มัด อัลญาบิร อัศเศาะบาฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการความร่วมมือคูเวต เกี่ยวกับแนวทางกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษา ปัญญาประดิษฐ์และไอที และความมั่นคงทางไซเบอร์  ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue –ACD) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation- OIC) และสถานการณ์ในภูมิภาค

ฟิลิปปินส์ นายเตโอโดโร โลเปซ โลกซิน จูเนียร์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ สองฝ่ายยืนยันความพร้อมจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JCBC) ครั้งที่ ๖ เพื่อหารือกระชับความสัมพันธ์

รัสเซีย นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และอื่น ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ  พร้อมย้ำคำเชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี ๒๕๖๕ ที่ประเทศไทย

อินโดนีเซีย นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๔
บังกลาเทศ ดร. อาบุลคาลัม อับดุล โมเมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในกรอบพหุภาคี BIMSTEC และ ACD การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และกิจกรรมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ ๕๐ ปีในปี ๒๕๖๕ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผู้พลัดถิ่นจากรัฐยะไข่

อินเดีย  ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-๑๙ และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ