รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาระบบการค้าและการพัฒนา ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ ๑๕

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาระบบการค้าและการพัฒนา ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ ๑๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,187 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมเสนอ ๓ แนวทางในการพลิกโฉมระบบการค้าและการพัฒนาโลกเพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งไปสู่ทุกภาคส่วน ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ ๑๕

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ ในช่วง General Debate ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ ๑๕ (Fifteenth Session of the United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD XV) โดยมีบาร์เบโดสและ UNCTAD เป็นเจ้าภาพร่วม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ ๓ – ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ “From Inequality and Vulnerability to Prosperity for All”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) พร้อมเสนอ ๓ แนวทางในการพลิกโฉมระบบการค้าและการพัฒนาโลกเพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งไปสู่ทุกภาคส่วน ได้แก่ (๑) สร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมุ่งสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยอาศัย Big Data และเทคโนโลยีในการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค (๒) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ SMEs สตาร์ทอัพ สตรี และเยาวชนในห่วงโซ่อุปทาน BCG ด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาทักษะ และปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ และ (๓) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

การประชุม UNCTAD XV มีเป้าหมายที่จะรับรองกติกาบริดจ์ทาวน์ (Bridgetown Covenant) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดความเปราะบาง และเสริมสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวไปสู่ทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อการค้าและการพัฒนาการจัดการกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเสริมสร้างบทบาทของ UNCTAD ในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ

อนึ่ง UNCTAD เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศโดยเน้นมุมมองสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๙๕ ประเทศ

 

----------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ