รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการสัมมนา Envisioning The Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership ในหัวข้อ Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการสัมมนา Envisioning The Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership ในหัวข้อ Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,932 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการสัมมนา Envisioning The Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership ในหัวข้อ Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19

เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถาในการสัมมนา Envisioning The Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership ในหัวข้อ Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19 โดยเน้นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - หมุนเวียน - สีเขียว (BCG Economy) เป็น new paradigm of growth ในการประสานกับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่น จากปัจจุบันสู่โลกหลังโควิด-๑๙ ผ่านความร่วมมือใน ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicles: ZEV) ของไทยอย่างสมบูรณ์ (๒) การสร้าง Bio-Cycle ในวงจรเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นลงทุนในไทย (๓) อุตสาหกรรมอาหาร และ (๔) การเสริมสร้างผู้ประกอบการและแรงงานทักษะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy

รายละเอียดคำกล่าว ดังนี้

 

คำกล่าวปาฐกถาของ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในหัวข้อ “Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19”

สำหรับการสัมมนาเชิงวิชาการ
“Envisioning the Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership”

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น.ผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

ท่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ท่านวิทยากร และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

  • ผมยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจัดขึ้นในวันนี้

  • ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับและในทุกมิติตลอด ๑๓๔ ปีที่ผ่านมาและเป็นมิตรแท้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอในทุกช่วงเวลา
      
  • ขณะนี้ ไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังเผชิญกับความท้าทายจาก “สงครามโรค” การระบาดของโควิด-๑๙ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของมนุษย์ในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะเดียวกัน โควิด-๑๙ ได้เปิดประตูสู่โอกาส (gateway) ที่ทุกประเทศจะหยุดคิดทบทวนแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป (Post COVID-19 Strategy) ว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด

  • ๔ ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะพาประเทศไทยไปสู่ “Thailand 4.0” ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เรียกกันว่า New S-Curves และ S-Curves และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างเต็มกำลัง ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ด้วย  ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลก โดยนำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อนำประเทศไปสู่การบรรลุ SDGs   
     
  • วิกฤติโควิด-๑๙ ทำให้เราตระหนักชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกำไร (maximization) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินความพอดี (extreme) ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไร้ความสมดุลของทุกสิ่ง โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-๑๙  นับเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องขบคิดหาคำตอบว่าจะปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไปอย่างไร  เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน ของประเทศ และของโลก

  • สำหรับประเทศไทย เราตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาในยุคหลังโควิด-๑๙ ใหม่ (new paradigm of growth) ไปสู่การพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความยั่งยืน และความครอบคลุม (balance, sustainable and inclusive growth)
    โดยอาศัยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Model (Bio-Circular-Green) เป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนชุดความคิด (mindset) ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ชุมชน และเยาวชน ให้ตระหนักถึงความสมดุลและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า (optimization) ในการดำเนินพฤติกรรมและกิจกรรมทุกอย่างซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนด้วย  

  • การขับเคลื่อน BCG Model ที่เน้นความสมดุลของทุกสิ่ง (Balance of all things) จะเกื้อกูลและสอดประสานกันเป็นอย่างดีกับความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน โดยความพยายามทั้งสองด้านที่คู่ขนานกันไปนี้ (two-pronged approach) จะนำเราไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การรักษาโลกใบนี้ให้ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเจริญมั่งคั่ง และยั่งยืน

  • BCG Model ของไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่นที่มุ่งบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี ๒๕๙๓ ผ่านการปรับเปลี่ยนวงจรและโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกันได้ในหลายด้าน ทั้งนี้ ในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น หรือ HLJC ครั้งที่ ๕ ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่ผมจะเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย กับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ NEDO ของญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่จะช่วยขับเคลื่อน BCG Model ของไทยกับ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
  • ในโอกาสนี้ ผมขอเสนอแนวทางความร่วมมือที่ญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมในการเดินหน้า BCG Model ๔ ด้าน ดังนี้

  • หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicles: ZEV) อย่างสมบูรณ์ โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ ZEV ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี ๒๕๗๘  ผมเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จากการที่ไทยมีประสบการณ์ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สำคัญในตลาดโลกมามากกว่า ๓๐ ปี และมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากญี่ปุ่น ซึ่งเอื้อต่อการต่อยอดการลงทุนในด้าน ZEV ได้ต่อไป

  • สอง การสร้างวงจรทางชีวภาพ (Bio-Cycle) ที่ประกอบด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-Fuel) และวัสดุชีวมวล (Bio-Mass) ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อน BCG Model ของไทย และเป็นสาขาที่ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก โดยไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งผลิตผลทางการเกษตร ขยะ และของเสียจากกระบวนการผลิต  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ ๓๐ ของปริมาณการใช้พลังงานภายในปี ๒๕๘๐  สำหรับวัสดุชีวมวลนั้น สามารถนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แทนการใช้พลาสติก ซึ่งการลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและโลกอย่างมาก ผมยินดีที่รับทราบว่ามีบริษัท Startup ของญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรกในต่างประเทศแล้ว และหวังว่าจะมีเอกชนญี่ปุ่นรายอื่นๆ สนใจลงทุนเพิ่มเติม  

  • สาม อุตสาหกรรมอาหาร ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวของโลก" เป็นแหล่งผลิตอาหารครบวงจร มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารและสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของโลก โดยอาศัยจุดแข็งความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพและกำลังการผลิตที่ทำให้สามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผนวกกับการปรับใช้จุดแข็งด้านมาตรฐานการแพทย์ของไทยในการผลิตอาหารเฉพาะทาง อาทิ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับการรักษาโรค อาหารออร์แกนิค อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น แต่ไทยยังต้องการส่งเสริมให้สินค้าอาหารเหล่านี้มีคุณภาพและมูลค่าที่สูงขึ้น และพัฒนาวงจรการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่ามีความก้าวหน้าในด้านนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่ทันสมัย

  • และสี่ การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาแรงงานทักษะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy โดยการเร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องภายใต้สถาบันโคเซ็นในไทย ซึ่งญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้งแล้ว ๒ แห่ง ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างๆ  ซึ่งผู้ประกอบการและแรงงานทักษะเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในสาขาเหล่านี้ในไทย โดยเฉพาะการรองรับการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมของ Startup ที่มีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากญี่ปุ่น

    ทั้งนี้  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ในไทย นอกจากนั้น ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังมีนโยบายรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียนด้วย รวมทั้งการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วย  


ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

  • นอกจากความร่วมมือทวิภาคีแล้ว ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมผ่านการประสานโมเดล BCG Economy กับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น ในเวทีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือ Mekong-Japan Cooperation และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) รวมทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศที่สาม

  • ในกรอบอาเซียน  ไทยได้รับศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ BCG Model สำหรับอาเซียน และไทยจะทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น ในช่วง ๓ ปีจากนี้

    ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างญี่ปุนกับอาเซียน โดยการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ของญี่ปุ่นกับ ASEAN Outlook on Indo-Pacific (AOIP)
    ซึ่งได้กำหนดให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาขาที่สำคัญ

  • นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๕ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปค ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่นในฐานะที่ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมและสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด โดยไทยมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง และนำเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยอาศัย BCG Model ต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สันติภาพ ความเจริญมั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับทุกเขตเศรษฐกิจ ภูมิภาค และโลกหลังจากที่ได้ผ่านพ้นความบอบช้ำจากโควิด-๑๙ มาแล้ว     

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

  • ท้ายสุดนี้ ผมขอส่งกำลังใจให้รัฐบาลญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกที่กรุงโตเกียวซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในอีกสองวันนี้ทัพนักกีฬาไทยมุ่งหวังและตั้งตารอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาตินี้ และผมขอสนับสนุนการเข้าร่วมจัดแสดงศาลาไทยในงานมหกรรม Expo 2025 ที่นครโอซากาในปี ๒๕๖๘ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษยชาติในการฟื้นฟูของโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ ด้วย

  • ผมขอส่งความปรารถนาดีไปยังท่านโมเทกิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และท่านนายกรัฐมนตรีซูกะ รัฐบาลญี่ปุ่น ตลอดจนประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน

ขอบคุณครับ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

คำกล่าวปาฐกถาของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในหัวข้อ “Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19