สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้ให้การต้อนรับรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอกนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ ๗ และรุ่นที่ ๘

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้ให้การต้อนรับรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอกนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ ๗ และรุ่นที่ ๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ก.ย. 2565

| 7,751 view
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล โดยนางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูตฯ นายมนต์ศักดิ์ แจ้งอริยวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา และนางสาวกนกนภัส สุขสง เจ้าหน้าที่ค้นคว้าวิจัย บริหารจัดการและประสานงาน Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) ประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้การต้อนรับนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอกนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ ๗ และรุ่นที่ ๘ จำนวน ๔๐ คน ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานด้านรัฐบาลดิจิทัลของนอร์เวย์ (วันที่ ๒๑-๒๔ กันยายน ๒๕๖๕) โดยคณะจะศึกษาดูงานที่ Directorate of e-health กระทรวงสาธารณสุขนอร์เวย์ ในหัวข้อ e-health ของนอร์เวย์ และ Norwegian Digitalization Agency ในหัวข้อแผนดิจิทัลของนอร์เวย์ และการพัฒนาบริการภาครัฐและระบบบริการดิจิทัลกลางของนอร์เวย์
 
เอกอัครราชทูตฯ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ ที่มีจุดเด่นคือด้านประวัติศาสตร์นับจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสนอร์เวย์ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ไทยและนอร์เวย์มีความสัมพันธ์ที่ดีในระดับประชาชน โดยเฉพาะการมีชุมชนไทยในนอร์เวย์กว่า ๓๐,๐๐๐ คน ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมีพลวัตร โดยมีลักษณะการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ เช่น นวัตกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด ความร่วมมือด้านดิจิทัลก็เป็นสาขาที่นอร์เวย์มีความเชี่ยวชาญและไทยสามารถเรียนรู้ได้
 
การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับนอร์เวย์มีพัฒนาการที่ดีและมีศักยภาพ โดยเฉพาะปัจจุบัน กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือด้านนวัตกรรมและดิจิทัลกับนอร์เวย์ เช่น บริษัท Q-free จากเมือง Trondheim เป็นผู้ให้บริการ Easy Pass ในไทย บริษัท Kongsberg ร่วมมือกับบริษัท SDA Group Thailand และกรมเจ้าท่าเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ โดยใช้เทคโนโลยี Maritime Boat Radio ในส่วนความร่วมมือด้านพลังงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ปตท.สผ. และหน่วยงานด้านพลังงานของไทย ได้มาศึกษาดูงานเทคโนโลยี Carbon capture and storage (CCS) ของบริษัท Northern Lights ที่เมือง Bergen เพื่อแก้ปัญหาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุนและถือหุ้นหลักในบริษัท OKEA ASA บริษัทพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของนอร์เวย์ด้วย
 
สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งเสริมการศึกษาด้านนวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนอร์ดิก จึงได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม โคเปนเฮเกน และเฮลซิงกิในการจัดตั้ง Thailand-Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) โดยจัดทำบทความ และจัด webinar ในด้านต่าง ๆ เช่น Electric Vehicle เป็นต้น นอกจากนี้ ในด้านการให้บริการแก่ชุมชนไทยในนอร์เวย์ ฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ใช้ระบบดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ เช่น e-Visa/e-payment ระบบการจองบริการต่าง ๆ ทางออนไลน์ และการใช้ประโยชน์ของ social media อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ขอฝากคณะผู้บริหาร รอส.ในการศึกษาดูงานด้านดิจิทัลในนอร์เวย์ครั้งนี้ว่า ในการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศไทย ควรให้ความสำคัญเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุสามารถมี digital literacy เพื่อให้สามารถเข้าถึง (accessibility) ระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวก ง่าย และปลอดภัยด้วย อันจะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายของประเทศไทยในการมี Thailand Digital Valley ประมาณ ปี ๒๕๖๗
 
ในโอกาสนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ มนต์ศักดิ์ฯ และนางสาวกนกนภัสฯ ได้ร่วมการบรรยายสรุปในหัวข้อการพัฒนาดิจิทัลในนอร์เวย์ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ