ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,284 view

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live
จากกระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การดูแลแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙

- ขอเรียนว่า รัฐบาลไทยเข้าใจดีว่า ไวรัสโควิด-๑๙ เป็นโรคระบาดที่มีการระบาดในระดับโลก สามารถแพร่และติดต่อไปได้ยังทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติและสัญชาติ โดยไม่มีข้อจำกัด จึงไม่เป็นความจริงที่คนชาติใดชาติหนึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาด

- รัฐบาลไทยและคนไทยไม่เคยมองพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นคนอื่นคนไกล นอกจากเสมือนเป็นญาติมิตรพี่น้อง เป็นบุคลากรที่เข้ามาทำงาน สนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และเป็นผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม และเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการบริการทางการแพทย์เทียบเท่ากันกับคนไทยและแรงงานไทย ซึ่งก็เป็นหลักการนโยบายที่หน่วยงานไทยทุกหน่วยยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

- เพื่อเป็นการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบการผ่อนผันให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานจากสามประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในราชอาณาจักร และทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ เป็นระยะเวลาสองปี ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว

- ในส่วนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในจังหวัดสมุทรสาครนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ จัดหาแนวทางรักษาโรคอย่างเหมาะสมโดยได้แยกผู้ป่วยออกจากผู้ที่ไม่ป่วย ร่วมกับสภากาชาดไทยในการดูแลด้านอาหาร การกินอยู่ และสวัสดิการด้านอื่น ๆ รวมทั้งได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม ทั้งยังเรียนเชิญเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านชาวเมียนมาด้วย

- For foreign media, I wish to reiterate that the Thai government and Thai people always regard migrant workers from neighbouring countries as friends, family, relatives and qualified personnel who support the Thai economy. They also support their economies and families by sending remittances back home. As such, migrant workers deserve to be treated with dignity, should enjoy decent welfare and must receive the same medical attention as Thai workers and Thai nationals when they fall ill. This is the principle and policies to which all Thai agencies always adhere.

- นับตั้งแต่ทางการกัมพูชาตรวจพบว่ามีแรงงานกัมพูชาที่เดินทางออกจากไทยกลับเข้ากัมพูชาทางบกติดเชื้อโควิด-๑๙ ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๔ รวม ๒๗ คน สถานะวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๔ มีคนกัมพูชาในไทยติดเชื้อแล้ว ๑๐๖ คน ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล

- กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ได้รายงานข้อมูลว่า ระหว่าง ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ – ๙ มกราคม ๒๕๖๔ มีพี่น้องแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับจากไทยทั้งหมดจำนวน ๑๒,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เดินทางข้ามแดนผ่าน จ.บันเตียเมียนเจย จ.อุดรเมียนเจย จ.พระตะบอง ส่วนที่เหลือเดินทางข้ามแดนผ่านจังหวัดอื่น ๆ ทั้งนี้ แรงงานกัมพูชาได้เข้ารับการกักกันโรค ณ ศูนย์ต่าง ๆ ใน จ.พระตะบอง บันเตียเมียนเจย ไพลิน และอุดรเมียนเจย จนครบ ๑๔ วัน และมีผลยืนยันการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เป็นลบ จากนั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับภูมิลำเนา

- หลังพบกรณีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร ทั้งไทยและกัมพูชาได้เพิ่มความเข้มงวดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และแนวชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกองกำลังมากขึ้นตามจุดผ่านแดนและช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย จึงขอแจ้งพี่น้องแรงงานกัมพูชาและคนไทยว่า การลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายถือเป็นความผิดทางอาญา

๒. การแจ้งเตือนชุมชนคนไทยในสหรัฐฯ กรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์การประท้วงในวันเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดน วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔

- จากกระแสความตึงเครียดทางการเมืองสหรัฐฯ และเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๔ เพื่อพยายามขัดขวางไม่ให้รัฐสภารับรองนายโจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔

- เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นชอบต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงวอชิงตันของนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๒๔ มกราคม ๒๕๖๔ โดยสั่งการให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินการของเทศบาลกรุงวอชิงตันในการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ ทั้งนี้ จะมีการปิดพื้นที่บริเวณ National Mall และจะมีกองกำลัง National Guard ประมาณ ๑๖,๐๐๐ คนเข้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบในกรุงวอชิงตัน

- นอกจากนี้ ยังปรากฏข่าวความเป็นไปได้ที่จะมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุม ณ สถานที่ราชการต่าง ๆ ทั่วทั้ง ๕๐ มลรัฐในสหรัฐฯ โดยอาจมีการเดินทางมายังกรุงวอชิงตันในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔ และมีการวางแผนการประท้วงในวันที่มีพิธีสาบานตนฯ ด้วย

- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้ออกประกาศแนะนำให้ชุมชนไทยในกรุงวอชิงตันและมลรัฐต่าง ๆ โปรดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น พร้อมทั้งใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้พื้นที่ที่มีหรืออาจมีการชุมนุมประท้วงและพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ

- ทั้งนี้ หากพี่น้องคนไทยในสหรัฐฯ ได้รับความเดือดร้อนหรือทราบข่าวว่าคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว สามารถแจ้งหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และ/หรือแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่ เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ดังนี้

  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หมายเลขโทรศัพท์ ๒๐๒-๙๙๙-๗๖๙๐ หรือที่อีเมล์ [email protected]
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก หมายเลขโทรศัพท์ ๗๗๓-๒๙๔-๕๙๓๓ หรือที่อีเมล์ [email protected]
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก หมายเลขโทรศัพท์ ๖๔๖-๘๔๒-๐๘๖๔ หรือที่อีเมล์ [email protected]
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส หมายเลขโทรศัพท์ ๓๒๓-๕๘๐-๔๒๒๒ หรือที่อีเมล์ [email protected]

และท่านสามารถดูข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ที่เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่ www.thaiembdc.org/th/consularservice/emergency/

 

๓. การเตือนคนไทยลักลอบไปทำงานผิด กม. ในมาเลเซีย

- กระทรวงการต่างประเทศขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนคนไทยที่ประสงค์เดินทางไปทำงานในมาเลเซีย ให้ระมัดระวังการถูกชักชวนให้ลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ รวมทั้งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-๑๙ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในมาเลเซีย และในหลายประเทศ

- บทลงโทษข้อหาลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตาม Immigration Act ของมาเลเซีย กำหนดโทษไว้สูงว่า หากไม่มีเอกสารเดินทางหรือไม่มีตราประทับเข้า-ออกประเทศ จะถูกปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ริงกิต (ประมาณ ๗๕,๐๐๐ บาท) หรือจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ทั้งนี้ บทลงโทษข้อหามาตรการฝ่าฝืนมาตรการ Movement Control Order (MCO) มีโทษปรับ ๑๐,๐๐๐ ริงกิต (ประมาณ ๗๕,๐๐๐ บาท) หรือจำคุก ๖ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปยังมาเลเซีย และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามไปที่กรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

 

๔. การประกาศภาวะฉุกเฉินและการยกระดับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ของมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

- โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศต่าง ๆ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ล่าสุด มาเลเซียและญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และสหรัฐฯ ได้ยกระดับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดสำหรับการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จึงขอแจ้งรายละเอียดให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

๔.๑ มาเลเซีย

- รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-๑๙ โดยเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุลเลาะห์ อาหมัด ชาห์แห่งมาเลเซีย ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ จนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งนี้ยังมีมาตรการ อาทิ งดรับประทานอาหารในร้าน งดกิจกรรมรวมตัวทุกประเภท ห้ามเดินทางออกนอกเขต/พื้นที่/รัฐ โดยจำกัดในรัศมีไม่เกิน ๑๐ กม. จากที่พัก

๔.๒ ญี่ปุ่น

- เมื่อคืนนี้ (๑๓ ม.ค. ๒๕๖๔) ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศขยายพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มเติมจากที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๔ (ได้แก่ กรุงโตเกียว คานากาวะ ชิบะ และไซตามะ) ในอีก ๗ พื้นที่ ได้แก่ โอซากา เกียวโต เฮียวโกะ ไอจิ กิฟุ ฟูกูโอกะ และโทชิกิ

- ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลจนถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยมีมาตรการ อาทิ ขอความร่วมมือหยุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป และปิดบริการภายในเวลา ๒๐.๐๐ น. ขอให้ภาคเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้าน และขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกจากบ้านหลัง เวลา ๒๐.๐๐ น.

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจำกัดการเข้าญี่ปุ่นครั้งใหม่ กล่าวคือ

  • ญี่ปุ่นจะระงับมาตรการการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าประเทศในสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ (ตามระยะเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) โดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นจะงดออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติในช่วงนี้
  • สำหรับผู้ที่เคยได้รับวีซ่าประเภทที่สามารถอาศัยในญี่ปุ่นในระยะยาวไปแล้วก่อนหน้านี้ จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ถึงคืนวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ (ไม่เกินเที่ยงคืน) โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ได้เดินทางไปสหราชอาณาจักรหรือแอฟริกาใต้ ในช่วง ๑๔ วันก่อนเดินทางเข้าญี่ปุ่น
  • ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ (รวมทั้งชาวไทย) ที่ถือ Stay Permit ยังสามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ตามปกติ
  • ผู้เดินทางเข้าญี่ปุ่นต้องตรวจ PCR Test ไม่เกิน ๗๒ ชม. ล่วงหน้าและเมื่อเดินทางถึงสนามบิน และต้องกักตัวที่บ้านพัก ๑๔ วัน ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีบทลงโทษสำหรับคนที่ไม่กักตัวที่บ้านพัก ๑๔ วัน โดยหากเป็นชาวญี่ปุ่นจะถูกประกาศชื่อ และหากเป็นชาวต่างชาติจะถูกยกเลิก Stay Permit และถูกเนรเทศกลับประเทศต้นทาง

๔.๓ สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ผู้เดินทางเข้าสหรัฐฯ แสดงผลตรวจโควิด-๑๙ ที่เป็นลบ

- ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้ออกคำสั่ง ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ กำหนดให้ผู้เดินทางทางอากาศจากต่างประเทศไปยังสหรัฐฯ ทุกคน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ภายใน ๓ วันก่อนเดินทางออกจากต้นทางเพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

- ผู้เดินทางต้องแสดงหลักฐานแสดงผลตรวจที่เป็นลบ หรือเอกสารที่แสดงว่าได้หายป่วยจากโรคโควิด-๑๙ แล้วต่อสายการบินก่อนขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ คำสั่งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔

- กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งให้คนไทยที่พำนักในประเทศข้างต้นทั้ง ๓ ประเทศ และคนไทยที่กำลังจะเดินทางไปประเทศดังกล่าวในช่วงนี้ โปรดติดตามประกาศเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในประเทศเหล่านี้ จะเผยแพร่ประกาศทางการและข้อมูลข่าวสารล่าสุดที่เป็นประโยชน์เป็นระยะ ๆ ทางเว็บไซต์และเฟซบุ้ก เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการเดินทาง

 

๕. ผลการประชุม APEC Focus Group ครั้งที่ ๒ (การเตรียมเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕) 

- ตามที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปคในปี ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ จึงได้จัดการประชุม APEC Focus Group ครั้งที่ ๒ เมื่อวานนี้ (วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๔) ในรูปแบบ hybrid มีผู้เข้าร่วมทางระบบการประชุมทางไกลและที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ เป็นประธานฯ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และ APEC Focus Group ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ร่วมหารือเพื่อสรุปหัวข้อหลัก (Theme) ประเด็นสำคัญ (Priorities) และผลลัพธ์สำคัญ (Key Deliverables) ของเอเปคในปี ๒๕๖๕

- ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ปี ๒๕๖๕ จะเป็นยุคหลังโควิด-๑๙ ที่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลายพอสมควร เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวกลับมามีพลวัตอีกครั้ง โดยเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็อาจมีช่องว่างระหว่างเขตเศรษฐกิจและประชาชนที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้

- นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะกำหนด Theme ที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงความหวังของประชาชนในเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มองไปข้างหน้าสู่อนาคตของภูมิภาคที่ร่วมมือกันสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

- สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยอยู่ระหว่างการเสนอให้ขับเคลื่อน มี ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

- ในขั้นต่อไป กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะนำผลการระดมสมองในครั้งนี้ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ก่อนนำเรียนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งต่อไปในวันที่ ๑๘ มกราคม นี้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม

- ไทยจะประกาศหัวข้อและประเด็นสำคัญของเอเปคปี ๒๕๖๕ อย่างเป็นทางการ เพื่อรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ ในห้วงการประชุมสัปดาห์ผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ และขอฝากให้สื่อมวลชนและประชาชนติดตามผลการประชุมและช่วยกันประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพของไทยต่อไป ทั้งนี้ กรมสารนิเทศ และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะจัดกิจกรรม Media Focus เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเตรียมการการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ ต่อไป

 

๖. ความคืบหน้ากรณีการห้ามนำเข้าอาหารทะเลไทยของ สปป.ลาว

- ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาวได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ ให้ยุติการนำเข้าอาหารทะเล (สดและแช่แข็ง) ที่มาจากทุกประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ชั่วคราว รวมทั้งจากประเทศไทย ซึ่งในการแถลงข่าวที่ผ่านมา ผมได้เคยเรียนรายละเอียดการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ในการชี้แจงกับทางการ สปป.ลาว ซึ่งต่อมา ฝ่าย สปป.ลาวเห็นพ้องที่จะให้มีการประชุมสองฝ่ายเพื่อหารือเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการส่งออกอาหารทะเลให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย

- ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ หน่วยงานของทั้งสองประเทศได้จัดการประชุมหารือผ่านระบบทางไกล ขอรายงานผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้ ฝ่ายไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ ได้ยืนยันกับฝ่าย สปป.ลาวว่า ยังไม่พบการติดต่อของโรคโควิด-๑๙ จากผลิตภัณฑ์อาหารหรือบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของฝ่ายลาว และได้ชี้แจงมาตรการของไทยเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารทะเลทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขั้นตอนการจับสัตว์น้ำ กระบวนการผลิตและการขนส่งออกจากด่าน การออกมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อน และมาตรการครอบคลุมผู้ประกอบการ รวมถึงการมีใบรับรองต่าง ๆ ซึ่งผู้ส่งออกอาหารของไทยจะต้องมีใบรับรองการประเมินมาตรการปฏิบัติที่ดีตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ ที่กรมประมงและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดร่วมกัน

- ฝ่าย สปป.ลาว ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าคณะ ยินดีที่ได้รับทราบข้อมูลจากฝ่ายไทย และเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเพื่อหารือในเชิงลึกถึงรายละเอียด ตลอดจนแนวทางการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการส่งออกสินค้าดังกล่าวระหว่างกัน เพื่อควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทย และกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักฝ่ายลาว ก่อนจะสรุปนำเสนอคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ของลาวเพื่อปรับแก้/ยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าดังกล่าวต่อไป

 

๗. บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการผลักดันวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะ (Vaccine Diplomacy)

- ประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-๑๙ ในขณะนี้คือการสรรหาวัคซีนคุณภาพ และผลักดันให้วัคซีนต้านโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะ (Global Public Goods) ที่ทุกคนสามารถมีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน 

- กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการทูตวัคซีน หรือ Vaccine Diplomacy เพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนของคนไทยโดยใช้เครือข่ายของสถานทูตไทยในต่างประเทศในการเปิดประตูการเจรจาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับองค์กรต่าง ๆ และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศ เช่น Aztra Zeneca ของสหราชอาณาจักร และ Sinovac Biotech ของจีน

- ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านในการรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างยั่งยืน โดยดำเนินความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้
(๑) ประสานงานนโยบายระดับจังหวัดผ่านการประชุมออนไลน์
(๒) ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระหว่างสำนักงานสาธารณสุข และโรงพยาบาลระดับอำเภอของจังหวัดคู่ขนาน (Sister Hospital) ตามแนวชายแดน
(๓) จัดอบรมทางออนไลน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้านสาธารณสุขประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ
(๔) จัดการรวบรวมความรู้ไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์  เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านวัคซีน และ
(๕) สนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน

 

๘. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live คุยรอบโลกกับโฆษก กต.

- ในสัปดาห์นี้แขกรับเชิญคือ นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจะสัมภาษณ์สดและพูดคุยกันเรื่องแนวคิด ประสบการณ์ในการทำงานด้านกงสุล บทบาทของกรมการกงสุลและความสำคัญต่อประชาชน รวมถึงผลงานต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การทำหนังสือเดินทาง E-Visa และการขยายการดำเนินงานกงสุลทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด

- โปรดติดตามรายการในวันศุกร์นี้ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook MFA Thailand รวมทั้ง Facebook ของวิทยุสราญรมย์ (Saranrom Radio)

 

สามารถรับชมวิดีทัศน์การแถลงย้อนหลังได้ที่นี่ >>>https://fb.watch/2-EDyq0Uh9/

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

แถลงข่าวประจำสัปดาห์_๑๔_ม.ค._๖๔.pdf