คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,237 view

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี

การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

ฯพณฯ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ฯพณฯ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ฯพณฯ อู วิน มยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ฯพณฯ เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

          ๑. ในนามของประชาชนชาวไทย ผมขอให้กำลังใจแก่ประเทศจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของผู้นำจีนและความร่วมมือของประชาชนชาวจีน จีนจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด

          ๒. ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และขอแสดงความชื่นชมที่ MLC มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีพลวัตของความร่วมมือเพิ่มขึ้นเป็นลำดับโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการร่วมที่ได้รับรองไว้ในปฏิญญาซานย่าในการประชุมผู้นำแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหลักพหุภาคีนิยม การเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือด้วยความสมัครใจ ฉันทามติ การเปิดกว้าง และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของแต่ประเทศ

          ๓. การประชุมครั้งนี้แม้จะเป็นการหารือผ่านระบบทางไกล แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่จะขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในภาวะที่ทุกประเทศต่างเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการขาดความเชื่อมั่นในระบบพหุภาคี

          ๔. ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนดังกล่าว ประเทศไทยขอแสดงความชื่นชมสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการความท้าทายด้วยการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอนุภูมิภาค และกรอบอาเซียน ตลอดจนการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมในกรอบพหุภาคี อาทิ ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) และสนับสนุน การทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

          ๕. การประชุมในครั้งนี้เป็นอีกวาระหนึ่งที่ MLC จะร่วมกันพลิกวิกฤตจากโควิด-19 ให้กลายเป็นโอกาสที่จะยกระดับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน โดยใช้จุดแข็งของกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งได้แก่ความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง สามารถตอบรับกับสถานการณ์ใหม่ ๆ และเชื่อมั่นว่า ปฏิญญาเวียงจันทน์ซึ่งที่ประชุมจะให้ความเห็นชอบต่อไปจะย้ำเจตนารมณ์ร่วมของพวกเราที่จะต่อยอดความร่วมมือทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ในภาคประชาชน ตลอดจนพัฒนากลไกความร่วมมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ซึ่งในปีนี้ไทยได้รับอนุมัติทั้งหมด 10 โครงการ

          ๖. ในโอกาสนี้ ผมขอกล่าวถึงสาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญและมีความพร้อมทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่  (๑) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (๒) ความมั่นคงด้านสาธารณสุข (๓) ความเชื่อมโยง และ (๔) การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (Post Covid-19 Economic Recovery) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ๗. ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนับตั้งแต่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือ MLC ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีพัฒนาการรุดหน้าต่อเนื่อง ถ้อยแถลงของท่านนายกรัฐมนตรีหลี่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของฝ่ายจีน  ที่จะยกระดับให้เป็นรูปธรรม และจะร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 45 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย - จีน ผมได้สนทนากับท่านประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนทางโทรศัพท์ และเรามีความเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะทำให้แม่น้ำโขงเป็น “แม่น้ำแห่งมิตรภาพ” ดังนั้น การพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำจึงนับเป็นฉันทามติร่วมที่น่าชื่นชมในช่วงที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้าง

          ๘. ประเทศไทยยินดีที่จีนได้เสนอแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งปีร่วมกันอย่างเป็นระบบ และประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาการจัดตั้งกลไก (Platform) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน และประสงค์ให้มีการติดตามประเมินผลความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขงในทุกประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยประสงค์ให้นำประสบการณ์และรูปแบบการดำเนินการที่ดีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) มาดำเนินการร่วมกับกลไกนี้ และควรให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำระหว่าง MLC และ MRC นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การผลักดันกลไกความร่วมมือในระดับนโยบายรุดหน้า รวมทั้งขอให้นำผลความคืบหน้าการหารือของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำมารายงานให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็น focal point ของ MLC ตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาซานย่าทราบผลสำเร็จของกลไกโดยเร็วด้วย

         ๙. สาขาที่สองด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุข เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและการปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ (new normal) และความปกติในอนาคต (next normal) การที่ไทยได้รับการยอมรับว่าสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น นอกจากประชาชนทั้งชาติร่วมมือกันแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือนโยบายความมั่นคงด้านสาธารณสุข ซึ่งให้ความสำคัญกับความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา และความพร้อมในการเผชิญวิกฤต

         ๑๐. ในระดับอนุภูมิภาค ประเทศไทยพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับจีนในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน (Research and Development) การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาด และการพัฒนาขีดความสามารถของไทยในการเป็นฐานการผลิตยาและวัคซีนของอนุภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยขอแสดง ความชื่นชมแนวคิดและข้อริเริ่มของจีนเรื่อง “การสร้างประชาคมร่วมด้านสาธารณสุข” (Shared Community for Public Health) และยินดีที่ได้ทราบว่า จีนจะจัดตั้งกองทุนพิเศษด้านสาธารณสุขในกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund for Public Health) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในอนุภูมิภาคของเรา 

         ๑๑. ในระดับโลก ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้กรอบ WHO อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไทยกำลังเร่งความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติ และเห็นพ้องกับประเทศสมาชิกว่า เมื่อมีการผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว วัคซีนดังกล่าวควรจะเป็นสินค้าสาธารณะ (global public goods)   ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้

         ๑๒. สาขาที่สามเป็นเรื่องความเชื่อมโยง ประเทศไทยสนับสนุนให้ MLC เร่งยกระดับความเชื่อมโยงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต ซึ่งรวมถึงแนวคิดของจีนในการจัดตั้งช่องทางพิเศษสำหรับการขนส่งสินค้า (Green Channel) และการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุข ประเทศไทยประสงค์จะเห็นการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีความสมดุลกับความมั่นคงทางสาธารณสุขของภูมิภาค เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่มีการคุมเข้มด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ รัฐบาลไทยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผ่อนปรนให้นักธุรกิจ นักลงทุน สามารถเดินทางเข้ามาประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้การจัดทำข้อตกลงพิเศษหรือ Special Arrangement ระหว่างกัน

        ๑๓. นอกจากนี้ MLC ควรเร่งรัดความร่วมมือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบ และประชาชน รวมทั้งเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ทำงานสอดประสานกับแนวคิดและกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค เช่น อาเซียน ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific - AOIP) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ พลังงาน ดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลจากระเบียงเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

        ๑๔. สาขาสุดท้ายเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยเห็นว่า MLC ควรสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และแรงงานมีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤต มีความยืดหยุ่น มีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ผมเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนคือการสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) ให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยประเทศไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการปรับใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างความยืดหยุ่นและการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์กับประเทศสมาชิก MLC และเห็นพ้องกับกับจีนในการเร่งดำเนินการตาม Green Mekong - Lancang Plan และ Mekong - Lancang Environment Cooperation Strategy การขยายความร่วมมือด้าน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมนวัตกรรมในภาคเกษตร และการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรจากประเทศใน MLC ไปจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ท่านประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและผมเห็นพ้องกันในการหารือเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย

       ๑๕. เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์มากขึ้น ประเทศไทยเสนอให้ MLC เพิ่มการสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณภาพ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ คณะทำงานร่วมสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน นอกจากนี้ ประเทศไทยขอสนับสนุนให้ประเทศใน MLC ร่วมกันกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงความสมดุลกับความมั่นคงด้านสาธารณสุข

      ๑๖. ผมถือว่าวันนี้เป็นวันที่พวกเราประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นประจักษ์พยานที่จีนได้ยืนยันความสำคัญที่ให้ต่อประเทศลุ่มน้ำโขง และได้ร่วมกันแสดงเจตน์จำนงและความแน่วแน่ที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในโลก โดยเปลี่ยนวิกฤตที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ให้เป็นโอกาสในการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพ ความเป็นอันหนึ่ง   อันเดียวกัน และเพื่อการพัฒนาและความมั่งคั่งของพลเมืองของเรา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง