ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 8,647 view

ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดการหารือออนไลน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับสหภาพยุโรปเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบาย กฎระเบียบ และแผนการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในแง่ของการแบ่งปันความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถของกำลังคน (capacity building)

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนกว่า 130 ราย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานไทย ตัวแทนภาคเอกชนไทย เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนจากสภายุโรป

การหารือออนไลน์แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การจัดการขยะพลาสติก และ 3) ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ

นางศิริลักษณ์ นิยม อุปทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวเปิดการหารือออนไลน์ โดยเน้นย้ำถึงการมีเป้าหมายร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเชิงเส้น สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของไทยนั้น มีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป

คำนึงถึง “วงจร” ของสินค้า

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับสหภาพยุโรปใน 4 ด้าน ได้แก่ การประเมินและการติดตามผล มาตรฐานสินค้า โครงการวิจัยและการพัฒนา และการจับคู่ธุรกิจ โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้กล่าวเสริมถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับแรก ได้แก่ พลาสติก ขยะเศษอาหาร และวัสดุก่อสร้าง

นายกิตติพันธุ์ เทพารักษ์ษณากร ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีการป้องกันมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเรื่องแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

นาย Federico Porra เจ้าหน้าที่ด้านนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) ได้นำเสนอภาพรวมเรื่องการดำเนินการของอียูภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (Circular Economy Action Plan: CEAP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียวของสหภาพยุโรป โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนานโยบายสีเขียวควบคู่กับนโยบายด้านเศรษฐกิจ และนำเสนอแผนการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรชีวิตของสหภาพยุโรป อาทิ กฎระเบียบแบตเตอรี่ฉบับใหม่ แผนการออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Products Initiative) รวมถึงแนวคิดให้ผู้ผลิตจัดทำ “Digital Product Passports” เพื่อให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนของสินค้าแก่ผู้บริโภค และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการส่งออกขยะพลาสติกจากอียูไปยังประเทศอื่น

บอกลา “โลกพลาสติก”

นางสาววาสนา แจ้งประจักษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอ Road map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศซึ่งมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป้าหมายให้ได้ 100% ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2570 นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกบรรลุเป้าหมาย โดยมีมาตรการในการจัดการขยะพลาสติก 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาตรการจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค

นาย Christoffer Vestli เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) เน้นย้ำว่าปัญหาพลาสติกเป็นเรื่องข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง จึงจําเป็นที่จะต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือในระดับโลก สหภาพยุโรปจึงจะผลักดันต่อที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5/2 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee:INC) เพื่อการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศเรื่องพลาสติก (global agreement on plastics) ในช่วงต้นปี 2565

หลายความร่วมมือ หลายทางออก

นาย Roman Brenne เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม (DG RTD) ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพของสหภาพยุโรป โดยมีการกล่าวถึงรูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึง International Bioeconomy Forum ซึ่งประเทศไทยก็สามารถเข้าร่วมได้ นอกจากนี้ ยังได้อธิบายกลไกการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพผ่านโครงการ Horizon Europe เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Helix Model) ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ และเพื่อพัฒนาทักษะให้แรงงานมีศักยภาพเหมาะสมกับงานใหม่ ๆ ในเศรษฐกิจสีเขียว โดยนางสาว Katarina Grgas Brus เจ้าหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (DG ENV) กล่าวเพิ่มเติมว่า สหภาพยุโรปแสวงหาความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและระดับอาเซียน ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปมีกิจกรรมและเวทีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกับหลายประเทศในอาเซียน

ในช่วงท้ายของการหารือฯ อุปทูตศิริลักษณ์ฯ ได้แจ้งถึงพัฒนาการของการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าที่จะลงนามความตกลง PCA กันภายในปีนี้ อันจะเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และช่วยสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในหลากหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดาวโหลด powerpoint presentations ได้ที่ https://bit.ly/rtebxl25032021

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ