แถลงข่าวร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ ๕

แถลงข่าวร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 58,856 view

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

แถลงข่าวร่วม

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ ๕

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๕ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายโมเทกิ โทชิมิทสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลายประเด็นเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ดังนี้

๑. การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น

   ทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น ในสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านชีวภาพ หมุนเวียนและสีเขียว โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรกรรมและอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน และยานยนต์เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (Carbon Neutrality) โดยทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าไปสู่การเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาดังกล่าว

   ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในความพยายามสรรหาโอกาสทางเลือกที่หลากหลายให้ได้มากที่สุดภายใต้บริบทภายในประเทศเพื่อบรรลุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความร่วมมือทวิภาคีเพื่อนำไปสู่การบรรลุการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่มความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานแห่งเอเชีย (AETI) นอกจากนี้ ยังแสดงความมั่งมุ่นที่จะผลักดันความพยายามของอาเซียนในการบรรลุการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์

          ๒. ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

   ฝ่ายไทยย้ำถึงความสนใจในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และแจ้งว่าได้มีการจัดทำการศึกษาเชิงลึกเพื่อประเมินความพร้อมของไทยสำหรับการเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯ และรายงานผลและข้อเสนอแนะของการศึกษาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับการเตรียมการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวของไทย นอกจากนี้ ในส่วนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ฝ่ายไทยยินดีต่อตราสารยอมรับของฝ่ายญี่ปุ่น และฝ่ายญี่ปุ่นยินดีต่อความคืบหน้าของกระบวนการภายในของไทย โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันถึงความสำคัญของการบังคับใช้ความตกลง RCEP
อย่างเต็มรูปแบบโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจในภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้าน (๑) การลงทุนที่มีคุณภาพภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็งทั้งในไทยและญี่ปุ่น และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สาธารณสุขและความเป็นอยู่ที่ดี ยานยนต์สมัยใหม่ การวิจัยและพัฒนา เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งเมืองอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
(๒) การส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการที่หลากหลาย เช่น โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (LIPE) (๓) การส่งเสริมวิสาหกิจตั้งต้น (Startups) ผ่านโครงการ Asia Digital Transformation (ADX) ของญี่ปุ่น (๔) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านสถาบันโคเซ็นในไทย และ (๕) ความร่วมมือในระดับท้องถิ่น

ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านไปรษณีย์ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น และบันทึกความความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (LIPE) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (“depa”) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย กับกรมนโยบายการค้า และกรมความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในสาขาเหล่านี้

๓. ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข

ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซึ่งรวมถึงระบบคมนาคมในไทยผ่านโครงการพัฒนาเส้นทางรางที่สำคัญ เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ รวมถึงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ ๒ (M-MAP2) การพัฒนาพื้นที่บางซื่อ และความร่วมมือความร่วมมือด้านการจราจร

ฝ่ายไทยยินดีและสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง - ญี่ปุ่น และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในรุ่นแรก รวมถึงกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทยระยะที่ ๓ (JTPP3) โดยฝ่ายญี่ปุ่นย้ำถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในอนุภูมิภาคโดยการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอนุภูมิภาคผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงในโครงการ EWEC และโครงการระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือในด้านสาธารณสุข

ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับสำนักงานนโยบายสาธารณสุข สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในสาขาการดูแลสุขภาพของไทย และแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการสอดประสานเชิงนโยบายของไทยกับข้อริเริ่มด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแห่งเอเชียของญี่ปุ่น ในการนี้ ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งรวมถึงการมอบวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ตลอดจนเครื่องวัดระดับออกซิเจนและการสนับสนุนระบบห่วงโซ่ความเย็นตามที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นไว้เพื่อเป็นหลักประกันแก่ประชาชนในการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง