โครงการนำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและอัตลักษณ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๘ ณ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๘

โครงการนำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและอัตลักษณ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๘ ณ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ก.ค. 2568

| 35 view

ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมคู่สมรส จำนวน ๔๕ คน จาก ๓๒ ประเทศ เดินทางไปยังจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Weaving towards Sustainability”
   
กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการนำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เพื่อเป็นโอกาสให้คณะทูตฯ ได้มีความรู้ความเข้าใจ ผ่านการเรียนรู้และมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง เกี่ยวกับประเทศไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตของชุมชน ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการฯ ในปี ๒๕๖๘ กระทรวงการต่างประเทศได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ในการจัดกิจกรรม ดังนี้
           
๑. การศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเกษตรแบบผสมผสานการพัฒนาดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การส่งเสริมเกษตรกรรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งทำกิจกรรม workshop ทำยาดมและดอกไม้ในน้ำมัน (Herbarium oil) ซึ่งได้จากสมุนไพรและดอกไม้พื้นถิ่นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยหลังจากการศึกษาดูงานดังกล่าว นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และภริยา ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่คณะทูตฯ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนจัดให้มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดสกลนคร

๒. การศึกษาดูงานเกี่ยวกับวัตุประสงค์และความเป็นมาของ “ดอนกอยโมเดล” และรับชมการสาธิตขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมคราม ณ ศูนย์การเรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร ในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๘ ซึ่งคณะทูตฯ ได้ตระหนักรับรู้ถึงพระกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองและงานหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อยกระดับผ้าไทยสู่สากล เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ คณะทูตฯ ยังได้ร่วมกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมและย้อมสีเส้นใยด้วยตัวเองอีกด้วย

๓. ในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๘ นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และภริยา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติและเป็นโอกาสในการเผยแพร่การแสดงทางวัฒนธรรมของจังหวัดนครพนมให้แก่คณะทูตฯ ณ โรงแรม Fortune View Khong จังหวัดนครพนม  

๔. กระทรวงวัฒนธรรมจัดบรรยายหัวข้อ “นครพนม: ประวัติศาสตร์และพัฒนาการจากมุมมองทางวัฒนธรรมในปัจจุบันและในอนาคต” และการเยี่ยมชมวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อให้คณะทูตฯ ได้รับทราบถึงความสำคัญของ “พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในอนาคต นอกจากนี้ ในช่วงกลางวัน นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะทูตฯ ณ ภัตตาคารแม่นำพร โดยมีการจัดบูทสาธิตงานฝีมือ งานทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเปิดให้คณะทูตฯ ร่วมกิจกรรม workshop เพื่อประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ของจังหวัดนครพนม

๕. ในช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๘ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และคู่สมรส เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะทูตฯ โดยมีการจัดการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจากบ้านดอนกอยและ “นาหว้าโมเดล” ภายใต้ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อนำเสนอการประยุกต์ใช้ผ้าไทยในการตัดเย็บเสื้อผ้า ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยให้เป็นที่นิยมสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของช่างฝีมืออย่างยั่งยืนและมั่นคงตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งคณะทูตฯ ต่างประทับใจและชื่นชมความสวยงามและความผสมผสานกลมกลืนของผ้าไทยที่ออกแบบตัดเย็บในสไตล์ที่ทันสมัยในการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งนี้    

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ “นาหว้าโมเดล” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาด้านการออกแบบลายผ้าของช่างฝีมือภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการนำลวดลายผืนผ้าดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยการออกแบบให้มีความร่วมสมัย และเป็นสากล รวมทั้งพัฒนาสีย้อมผ้าธรรมชาติให้ได้มาตรฐาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และพัฒนาการปลูกต้นหม่อนและการเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์พื้นเมือง เพื่อรองรับการผลิตผ้าไหมที่เพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใยและเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน

รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนการออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการแสดงพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของชุมชนและการท่องเที่ยวเมืองรอง

โครงการดังกล่าวเป็นโอกาสในการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นกับต่างประเทศ ผ่านทางคณะทูตและกงสุลต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย โดยคณะทูตที่ร่วมโครงการมีความประทับใจในการต้อนรับของประชาชนในจังหวัดสกลนครและนครพนม และเห็นถึงศักยภาพของภาคส่วนต่างๆ ของไทย ในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่นต่าง ๆ และภูมิปัญญาชุมชน หรือ “ศาสตร์ชาวบ้าน” ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด ให้ได้มาตรฐานในระดับโลก บรรลุถึงซึ่ง “ศาสตร์สากล” ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ