คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 96,159 view

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
United Nations Security Council – UNSC

1. ข้อมูลพื้นฐาน/โครงสร้าง

1.1 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) มีสมาชิก 15 ประเทศ ประกอบไปด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกถาวร 5 ประเทศ (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย) และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ในทันทีเมื่อหมดวาระ
1.2 การเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC แบ่งตามกลุ่มภูมิภาค 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอเชียและแปซิฟิก   กลุ่มแอฟริกา กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) กลุ่มยุโรปตะวันออก (EES) และกลุ่มยุโรปตะวันตกและประเทศอื่น (WEOG) โดยกลุ่มเอเชียฯ ได้รับการจัดสรรที่นั่ง 2 ที่ กลุ่มแอฟริกา 3 ที่ กลุ่ม GRULAC 2 ที่ กลุ่มยุโรปตะวันออก 1 ที่ และกลุ่ม WEOG 2 ที่
1.3 การเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC มีขึ้นในราวเดือนพฤศจิกายน ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) ซึ่งมีการประชุมหลักๆ ในช่วงเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. ของทุกปี โดยประเทศที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมลงคะแนนในการประชุม UNGA ขณะนั้น(present and voting) โดยเป็นการลงคะแนนลับ ทั้งนี้ สมาชิก UNSC ที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ม.ค.  ของปีถัดไป
1.4 ผู้แทนของประเทศสมาชิก UNSC จะหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธาน UNSC ทุกเดือน ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศ

1.5 สามารถสืบค้นรายชื่อประเทศสมาชิก UNSC ในปัจจุบันได้ที่ http://www.un.org/en/sc/members/

 

2. อำนาจ/หน้าที่
ข้อ 24-26 ของกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดอำนาจหน้าที่หลัก (primary responsibility) ของ UNSC ไว้ให้มีความรับผิดชอบในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (ข้อ 24) และกำหนดภารกิจของกองกำลังรักษาสันติภาพและร่วมมือกับคณะกรรมการฝ่ายทหารในการกำหนดแผนการลดอาวุธ (ข้อ 26) ทั้งนี้ สมาชิก UN ตกลงยอมรับและมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ UNSC (ข้อ 25)

 

3. การลงคะแนนเสียง
ข้อ 27 ของกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดวิธีการลงคะแนนเสียงข้อมติ คือ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนเท่ากัน โดยคำวินิจฉัยของ UNSC ในทุกเรื่องจะต้องกระทำด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกอย่างน้อย 9 ประเทศ โดยต้องรวมคะแนนเสียงของประเทศสมาชิกถาวรทั้ง   5 ประเทศ ด้วย   (เป็นที่มาของคำว่า “สิทธิยับยั้ง” (veto) อย่างไรก็ดี ไม่มีคำว่า veto ปรากฏในกฎบัตรฯ) ยกเว้นในกรณีคำวินิจฉัยเรื่องวิธีการดำเนินการ (procedural matters) ต้องการเสียงเห็นชอบจากสมาชิกประเภทใดก็ได้จำนวนอย่างน้อย 9 ประเทศ

 

4. ลักษณะ/แนวโน้มการดำเนินงานของ UNSC
4.1 ที่ผ่านมาข้อมติ UNSC อาจจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ วาระที่เกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ (country-specific agendas) และวาระที่มีลักษณะประเด็นเฉพาะ (thematic issues) เช่น การก่อการร้ายสากล (international terrorism) เด็กและความขัดแย้งด้วยอาวุธ (Children and Armed Conflict) ความร่วมมือกับองค์กรภูมิภาค (Cooperation with Regional Organisations) ประเด็นความยุติธรรม การไม่ต้องรับโทษ และการปกครองโดยหลักนิติธรรม (Justice, Impunity & Rule of Law Issues) การคุ้มครองพลเรือนในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ (Protection of Civilians in Armed Conflict) และอาวุธเล็ก (Small Arms)
4.2 ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 95 ของข้อมติเป็นเรื่องที่ UNSC สามารถมีฉันทามติร่วมกันได้โดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง อีกประมาณร้อยละ 5 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและมีผลประโยชน์ขัดแย้งชัดเจน จึงมักจะนำไปสู่การลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกถาวร 5 ประเทศใน UNSC มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันมากขึ้น ทำให้ร่างข้อมติที่จะนำไปสู่การลงคะแนนเสียงอาจจะมีจำนวนน้อยลง แต่กระบวนการเพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งฉันทามติอาจจะมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการโน้มน้าว (lobby) มากขึ้น
4.3 UNSC ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาที่มีผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ เช่น ปัญหาตะวันออกกลาง ปัญหาความขัดแย้งในแอฟริกา (โซมาเลีย ซูดาน เอริเทรีย ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เข้าสู่การพิจารณาของ UNSC น่าจะมีมากขึ้นและมีความหลากหลาย ทั้งนี้ ปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงและกรณีความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ จะยังคงอยู่ แต่จะมีมิติที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นที่กว้างกว่าสันติภาพและ ความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศาสนาและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม/ศาสนา คาดว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น
4.4 ปัจจุบัน UNSC มีแนวโน้มที่จะอภิปรายในเรื่องที่มิได้เป็นเพียงประเด็นความมั่นคงรูปแบบเดิม (traditional security issues) โดยเฉพาะประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (international peace and security) ตามอาณัติเดิมของ UNSC โดยเริ่มมีการอภิปรายปัญหาระหว่างประเทศในเกือบทุกหัวข้อ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ความรุนแรง การพัฒนา สิทธิสตรี ฯลฯ โดยมีการอภิปรายประเด็นเฉพาะ (thematic issues) ในหัวข้อต่างๆ มากขึ้น ซึ่งหลายประเทศเห็นว่า UNSC ไม่ควรมีบทบาทและพิจารณาประเด็นที่คาบเกี่ยวหรือประเด็นที่อาจจะทำให้เกิดการก้าวล่วงภารกิจ/บทบาทขององค์กรอื่นๆ
4.5 ขณะนี้ ได้มีความพยายามปฏิรูป UNSC อย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ประเด็นที่หารืออย่างกว้างขวางและยังไม่เป็นที่ตกลงกันคือ การขยายสมาชิกภาพ ประเภทของสมาชิกภาพ การใช้สิทธิยับยั้ง นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก UN หลายประเทศให้ความสำคัญกับการปรับปรุงวิธีการทำงานของ UNSC ในเรื่องความโปร่งใสและการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น

 

5. ไทยกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC (พ.ศ. 2560-2561 / ค.ศ. 2017-2018)
5.1 ภูมิหลัง
        - ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2489 (ค.ศ. 1946) และเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC ครั้งเดียวในช่วงวาระปี 2528-2529 (ค.ศ. 1985-1986)  
        - คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้แจ้งการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC ในวาระปี 2560-2561 (ค.ศ. 2017-2018) ผ่านคณะกรรมการอาเซียน ณ นครนิวยอร์ก (ASEAN New York Committee) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 (ค.ศ. 2007) และแจ้งต่อกลุ่มเอเชีย ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 (ค.ศ. 2007) รวมทั้งได้แจ้งการสมัครรับเลือกตั้งของไทยในวาระปี 2560-2561 (ค.ศ. 2017-2018) ต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 (ค.ศ. 2008) ทั้งนี้ การเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงการประชุมสมัยสามัญของสมัชชาสหประชาชาติปี 2559 (ค.ศ. 2016) 
        - คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการสมัครของไทยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (ค.ศ. 2009) โดยขณะนี้ไทยได้เริ่มแลกเสียงและขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ แล้ว

5.2 นโยบายรัฐบาล
        - การสมัครดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในด้านการปกป้องรักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งในกรอบสหประชาชาติ
5.3 ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
        - ส่งเสริมและยกระดับภาพลักษณ์ วิสัยทัศน์ และความก้าวหน้าเชิงการทูตและการเมืองระหว่างประเทศของไทยในเวทีพหุภาคี เนื่องจาก UNSC เป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศของสหประชาชาติ รวมทั้งอาจช่วยยกระดับไทยให้เป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญขนาดกลางในเวทีระหว่างประเทศ
        - เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะมีผลให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมและบทบาทในการกำหนดท่าทีต่อประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของ UNSC ตั้งแต่ต้น อันรวมถึงประเด็นที่ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ที่ผ่านมา อาทิ ด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงของมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลดีต่อการเตรียมตัว เตรียมท่าที หรือแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที
        - เป็นโอกาสในการผลักดันวาระที่จะเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยในช่วงนั้น หรือปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของไทยในประเด็นที่มีผลกระทบหรือเกี่ยวโยงกับ ไทยโดยตรงอย่างใกล้ชิด หากไทยมีวาระที่ต้องการใช้กลไกพหุภาคีเป็นเวทีที่จะรักษาผลประโยชน์ 
        - เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของไทยในด้านการทูตพหุภาคี 
       - โอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งระหว่างการหาเสียงและการร่วมมือกับประเทศต่างๆ หากไทยได้รับการเลือกตั้ง
5.4 แนวทางดำเนินงานของไทย
       - ไทยได้กำหนดประเด็นหลัก (theme) ในเรื่อง “สร้างสะพานเชื่อมโยงกับพันธมิตร” เพื่อใช้เป็นแนวทางการรณรงค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยชี้ให้เห็นว่า หากไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาสายกลาง ไทยจะสามารถและยินดีทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (bridge builder) เชื่อมโยงระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศอื่นๆ รวมทั้ง ระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก UNSC บนพื้นฐานของการหารือและร่วมมือที่สร้างสรรค์ ในการพิจารณาส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์แบบครอบคลุมรอบด้าน

 

--------------------------------

 

กองสันติภาพ ความมั่นคง และการลดอาวุธ
กรมองค์การระหว่างประเทศ

30 กันยายน 2556