สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 26,110 view


สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
Republic of Uzbekistan

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ภาคตะวันตกติดเติร์กเมนิสถาน ภาคตะวันออกติดสาธารณรัฐคีร์กีซและสาธารณรัฐทาจิกิสถาน ภาคเหนือติดคาซัคสถาน ดังนั้นอุซเบกิสถานจึงมีที่ตั้งเสมือนเป็นใจกลางของเอเชียกลางซึ่งมีประเทศอื่น ๆ ล้อมรอบ
พื้นที่ 447,400 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง
ภูมิอากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป หน้าร้อนร้อนนาน หน้าหนาวอากาศเย็นสบาย
เมืองหลวง ทาชเคนต์ (Tashkent)
ประชากร 29.5 ล้านคน (2554)  แบ่งเป็นชาวอุซเบกร้อยละ 80 รัสเซียร้อยละ 5.5 ทาจิก ร้อยละ 5 คาซัค ร้อยละ 3  อื่น ๆ ร้อยละ 6.3
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 88 คริสต์นิกายอีสเทิร์นออโธด๊อกซ์ ร้อยละ 9  อื่นๆ ร้อยละ 3
ภาษาราชการ อุซเบกร้อยละ 74.3 รัสเซียร้อยละ 14.2 ทาจิกร้อยละ 4.4  อื่น ๆ  ร้อยละ 7.1
วันชาติ 1 กันยายน (วันประกาศเอกราช)
สกุลเงิน เงินซอม (Som)
เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 2 ชั่วโมง)
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 6 พ.ค. 2535 (ค.ศ. 1992)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ประมุข H.E. Islam A. Karimov

นายกรัฐมนตรี H.E. Shavkat M. Mirziyayev

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ H.E. Kalimov Abdulaziz Khafizovich

รัฐสภา อุซเบกิสถานมีการปกครองแบบสองสภา เรียกว่า Oliy Majlis ประกอบด้วยสภาสูงหรือวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วย 100 ที่นั่ง (โดย 84 ที่นั่งได้รับเลือกโดยสภาระดับภูมิภาคมีวาระ 5 ปี และอีก 16 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี) สภาล่างประกอบด้วย 150 ที่นั่ง (มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระ 5 ปี)

ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลเศรษฐกิจ

รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญอุซเบกิสถานเริ่มใช้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535

เศรษฐกิจการค้า

ภาพรวม อุซเบกิสถานมีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจซึ่งทำให้อุซเบกิสถานมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ เมือง Samarkand , Bukara และ Khiva ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และ อารยธรรมบนเส้นทางสายไหมในอดีต นอกจากนี้ การเกษตรกรรมและการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญของของเศรษฐกิจอุซเบกิสถาน โดยอุซเบกิสถานเป็นผู้ผลิตและส่งออกฝ้าย ทองคำ ยูเรเนียม และแร่ธาตุที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยอุซเบกิสถานเป็นประเทศผู้ส่งออกยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมาอุซเบกิสถานได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้อุซเบกิสถานจะได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งพลังงานและแร่ธาตุที่สำคัญ แต่รัฐบาล อุซเบกิสถานก็ยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยม รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่  การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การปฏิรูปการเกษตร การเปิดเสรีทางการค้าต่างประเทศและการเงิน การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็ถือว่าอุซเบกิสถานยังมีมาตรการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวดมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของอุซเบกิสถานมีการเจริญเติบโตช้า

ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นธุรกิจผูกขาดที่ดำเนินการโดยเครือข่ายของบุคคลในตระกูลและกลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลในรัฐบาล อีกทั้งระบบการจัดเก็บภาษียังไม่โปร่งใส ตลอดจนการกระจายรายได้ไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ประชากรยังประสบกับปัญหาความยากจน

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 55.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2554)
รายได้ประชาติต่อหัว 3,853 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.3 (2554)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 15
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 1
อุตสาหกรรม สิ่งทอ อาหารแปรรูป เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมโลหะ ก๊าซธรรมชาติเคมีภัณฑ์
ทรัพยากรธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองคำ ยูเรเนียม เงินทองแดง ตะกั่ว สังกะสี
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย เกาหลีใต้ เยอรมนี จีน คาซัคสถาน ตุรกี
ตลาดส่งออกที่สำคัญ รัสเซีย จีน ยูเครน ตุรกี ทาจิกิสถาน บังคลาเทศ สาธารณรัฐเกาหลี
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องมือเครื่องจักร อาหาร เคมีภัณฑ์ โลหะ
สินค้าออกที่สำคัญ ฝ้าย ทอง ก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย โลหะเหล็ก สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ไทยได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกดูแลอุซเบกิสถาน ส่วนฝ่ายอุซเบกิสถานได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ฯ ประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ไทยกับอุซเบกิสถานมีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2538-2540 อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2541 ปริมาณการค้าระหว่างกันได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากไทยได้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้าประเภทเหล็กรีดร้อนและเย็นซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากอุซเบกิสถาน และส่วนใหญ่ไทยยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างกันยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของทั้งสองฝ่าย โดยในปี 2554 มูลค่าการค้ารวม 70.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 8.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 61.71 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียดุล 52.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

การท่องเที่ยว
ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานให้ความนิยมสูงปัจจุบัน สายการบิน Uzbekistan Airlines ได้เปิดเที่ยวบินระหว่างทาชเคนต์ – กรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ได้มีการเจรจาการบินระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการบิน ซึ่งมีสาระสำคัญให้ทั้งสองฝ่ายประติบัติต่างตอบแทนกันในเรื่องการเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากอุซเบกิสถานเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเครือรัฐเอกราชที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด โดยในปี 2554 นักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 11,878 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานขอรับการตรวจลงตราได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่เดือนเมษายน 2553

ความตกลงที่ลงนามกับไทย
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับ
อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ที่กรุงเทพฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2542
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ ตุลาคม 2552
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติตระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬา ลงนามเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555


************

กรกฎาคม 2555

กลุ่มงานเอเชียกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 02-643-5518

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ