สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 77,484 view


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
The United Arab Emirates

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง
ทิศเหนือเป็นทะเลอ่าวเปอร์เซียหรืออ่าวอาหรับ ทิศตะวันออกติดกับโอมานและอ่าวเปอร์เซียบริเวณ ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) และบริเวณอ่าวโอมาน ทิศใต้และตะวันตกติดกับโอมานและซาอุดีอาระเบีย

พื้นที่ ประมาณ 90,559 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi)

ประชากร 6.7 ล้านคน (ปี 2553) เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 20 ชาวต่างชาติ ร้อยละ 80 ส่วนมากเป็นแรงงานจากอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และจากกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน

ศาสนา ศาสนาอิสลามร้อยละ 96 (สุหนี่ร้อยละ 80 ชีอะต์ ร้อยละ 16) ฮินดู คริสต์ และอื่นๆ ร้อยละ 4

ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษมีการใช้อย่างกว้างขวาง และภาษาฟาร์ซี (Farsi) มีการใช้ระหว่างชาวอิหร่านที่พำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ภูมิอากาศ มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว
เดือนพฤษภาคมถึงกันยายนอากาศร้อนจัดและความชื้นสูง อุณหภูมิประมาณ 32-48 องศาเซลเซียส เดือนตุลาคมถึงเมษายนเป็นฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ย 15-30 องศาเซลเซียส

หน่วยเงินตรา ดีแรห์ม (Dirham) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดีแรห์ม เท่ากับประมาณ 8.48 บาท (ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554)

ประธานาธิบดี H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan
(เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี)

นายกรัฐมนตรี H.H. Sheikh Mohammad bin Rashid Al Maktoum (รอง ปธน.ยูเออี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ)

รมว.กต. H.H.Sheikh Abdallah Bin Zayid Al Nahyan

ระบอบการปกครอง
สหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐ ๗ รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี (Abu Dhabi) ดูไบ (Dubai) (เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางธุรกิจ) ชาร์จาห์ (Sharjah) อัจมาน (Ajman) ราสอัลไคมาห์ (Ra’s al-Khaimah) ฟูไจราห์ (Fujairah) และอุมม์ อัล ไคเวน (Umm al-Qaiwain) ปกครองโดยประธานาธิบดีซึ่งเลือกจากเจ้าผู้ครองรัฐแต่ละรัฐ การปกครองมีลักษณะเป็นราชาธิปไตย

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง
1.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เกิดจากการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ อย่างหลวม ๆ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2514 เป็นต้นมาและได้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2514 ให้เป็นฉบับถาวรเมื่อปี 2539 โดยได้มีการลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539 นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคงทั้งนี้ วันดังกล่าวถือเป็นวันชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1.2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสหพันธรัฐ (Federation) ประกอบด้วย 7 รัฐ แต่ละรัฐมีระบบการปกครองท้องถิ่นของตนเอง มีกรุงอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงถาวร โดยมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) ดูแลนโยบายและกิจการที่สำคัญของประเทศ เช่น การต่างประเทศและความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วย

1.2.1 สภาสูงสุด (Federal Supreme Council) ประกอบด้วยเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 7 รัฐ เป็นผู้กำหนดทิศทางของนโยบาย ออกกฎหมายและเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากสมาชิกสภาฯ การตัดสินใจใช้คะแนนเสียงอย่างต่ำ 5 คะแนน (โดยต้องมีรัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบ) ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ เชค คอลิฟะห์ บิน ไซอิด อัล นะฮ์ยัน (H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan) ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อนึ่ง นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศ เป็นที่ตกลงกันว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะอยู่กับเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบีและตำแหน่งรองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ

1.2.2 คณะรัฐมนตรี (Federal Council of Ministers) มีสมาชิก 24 ตำแหน่ง (รวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารขึ้นตรงต่อสภาสูงสุด แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ปัจจุบันมีสตรีเป็นสมาชิก 4 คน

1.2.3 สภาแห่งชาติของสหพันธรัฐ (Federation National Council - FNC) มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 40 คน มีวาระ 4 ปี ประกอบด้วยสมาชิก 20 คนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐแต่ละรัฐและอีก 20 คนมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2549 จากเดิมที่สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งและเริ่มวาระสมาชิกสภาฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาการทางการเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้คนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คุ้นเคยและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม สภาแห่งชาติของสหพันธรัฐยังไม่มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกับรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย แต่ทำหน้าที่คล้ายสภาที่ปรึกษาและกลั่นกรองกฎหมายเพื่อเสนอให้สภาสูงสุดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ

การเลือกตั้งครั้งที่สองมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 และมีการเปิดสมัยประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 โดยที่ประชุมได้เลือกนาย Ahmed Al Mur เป็นประธานสภาฯ และนาง Amal Al Qubaisi เป็นรองประธานสภาฯ ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับทั้งหมด

1.2.4 ศาลสูงสุด (Federal Supreme Council) ประกอบด้วยประธานศาลสูงสุดและผู้พิพากษาจำนวนรวม 5 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภาสูงสุด โดยมีหน้าที่พิจารณากรณีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหพันธรัฐกับรัฐในสหพันธรัฐและระหว่างรัฐในสหพันธรัฐ รวมทั้งพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1.3 แม้ว่าเจ้าผู้ครองรัฐมีอำนาจและมีสิทธิค่อนข้างมากในการกำหนดนโยบายในรัฐของตน แต่จากการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เชค โมฮัมเมด บิน ราชิด อัล มัคทูม (H.H. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) เจ้าผู้ครองรัฐดูไบและการสนับสนุนที่เข้มแข็งของ เชค โมฮัมเมด บิน ไซอิด อัล นะฮ์ยัน (H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan) มกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี มีแนวโน้มจะนำไปสู่การมีนโยบายร่วมกันในระดับสหพันธรัฐ

2. เศรษฐกิจและสังคม
2.1 เศรษฐกิจ

2.1.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรพลังงาน เป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดของโลกจากการจัดลำดับของ World Economic Forum มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 1 ของโลก คือ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ประมาณกว่า 800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีน้ำมันดิบสำรองร้อยละ 8.3 ของโลก รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นลำดับที่ 7 ของโลก (ร้อยละ 3.3) สภาพที่ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการค้าในตะวันออกกลางและเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น อิหร่าน รวมทั้งส่งออกไปยังตลาดนอกภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา เอเชียกลาง และยุโรป ปัจจุบันมีท่าเรือ 9 แห่ง (รัฐละ 1 แห่ง) ยกเว้นรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบีมีรัฐละ 2 แห่ง ท่าเรือทั้งหมดรองรับสินค้าประมาณ 30 ล้านตันต่อปี (ไม่รวมน้ำมันดิบ)

2.1.2 รายได้หลักของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นอยู่กับน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ รัฐดูไบซึ่งมีมูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นในปี 2549 ถึงร้อยละ 9.15 ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (diversification) เพื่อเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว การสร้างงานให้ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพยายามส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรี (Economic Free Zone) ทั้งในรูป การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นฐานการกระจายสินค้า

2.1.3 รายได้จากรัฐอาบูดาบีคิดเป็นมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยมี Abu Dhabi Investment Authority รับผิดชอบการลงทุนรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซ ยุทธศาสตร์ของรัฐอาบูดาบีเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมปลายน้ำ (downstream) ของกระบวนการผลิตน้ำมันและอุตสาหกรรมการหลอมอะลูมิเนียม หน่วยงานดูแลการลงทุนในต่างประเทศของรัฐเน้นเลือกการลงทุนในโครงการที่ก่อผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติในโครงการที่มีอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนึ่ง ผู้นำรัฐรุ่นใหม่มีการริเริ่มโครงการเศรษฐกิจใหม่ ๆ และสนับสนุนเพื่อสร้างให้รัฐเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศูนย์กลางการศึกษา อาทิ มีโครงการสร้างสาขาของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musée du Louvre) ของฝรั่งเศส เป็นต้น

2.1.4 การพัฒนาของรัฐดูไบนับจากทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523 - 2533) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการทำให้ดูไบเป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางทะเลและทางอากาศ การเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกต่อ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของดูไบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นอกจากนี้ ดูไบยังเป็นศูนย์กลางการเงินโดยมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าไปในภาคอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน ดูไบได้เปิดตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 และสามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้ในเวลาเพียง 5 ปี ตลาดหลักทรัพย์ดูไบถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนและใน NASDAQ และการที่มีเงินไหลเข้ามาจำนวนมากจึงนำไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และลงทุนในต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 เศรษฐกิจดูไบก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จนนำไปสู่วิกฤติดูไบเวิลด์ (Dubai World) (กลุ่มบริษัทที่รวมบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของเข้าด้วยกัน) ในปี 2552 ทำให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 40 ต้องหยุดชะงักไป โครงการอสังหาริมทรัพย์ถึง 400 โครงการ มูลค่าประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐยังขายไม่ได้ นอกจากนี้ การลงทุนของดูไบในต่างประเทศก็ต้องชะงักลง โดยดูไบเวิลด์มีหนี้สินทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหนี้สินทั้งหมดของรัฐดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2553 เจ้าหนี้ร้อยละ 99 ของดูไบเวิลด์ได้ยินยอมที่จะปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูไบเวิลด์จะแบ่งชำระหนี้ได้ ในระยะเวลา 5-8 ปี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุนและตลาดการลงทุนและทำให้บริษัทสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ต่อไปได้ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

2.1.5 นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ รัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบมีการแข่งขันกันอยู่ในทีและมีการต่อรองการอยู่ร่วมกันมาโดยตลอด ความสำคัญของอาบูดาบีเกิดจากการมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมแหล่งน้ำมันร้อยละ 94 แหล่งก๊าซธรรมชาติร้อยละ 93 และการเป็นรัฐผู้สนับสนุนงบประมาณของสหพันธรัฐเป็นสัดส่วนสูงสุด ขณะที่ดูไบมีการผลิตน้ำมันประมาณร้อยละ 6 มีฐานะเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ รวมทั้งการประชุม การจัดการแข่งขันกีฬา และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ดูไบ เวิลด์ และเจ้าผู้ครองรัฐซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารได้เข้าไปมีบทบาทดำเนินการต่าง ๆ ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้นำรุ่นที่สองของประเทศเห็นว่า บทบาทที่ขีดเส้นว่าอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงและดูไบเป็นเมืองพาณิชย์เริ่มชัดเจนน้อยลง โดยผู้นำของรัฐทั้งสองตระหนักว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อรัฐดูไบประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งรัฐอาบูดาบีและธนาคารกลางยูเออีเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจของดูไบโดยการช่วยเหลือด้านการเงิน การเข้าถือหุ้นและซื้อกิจการของรัฐดูไบ ทำให้ปัจจุบันนี้รัฐอาบูดาบีมีอิทธิพลและอำนาจในการต่อรองกับรัฐดูไบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

2.1.6 ล่าสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีโครงการก่อสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่ (New Economic City – NEC) เรียกว่าโครงการ Masdar City ที่รัฐอาบูดาบี มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกแบบตามความต้องการของบริษัทข้ามชาติที่มาร่วมลงทุน โดยนำเงินรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบมาใช้ในการพัฒนา และจะเป็นแหล่งทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ในภาคพลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้แสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และการกลั่นน้ำทะเล เป็นต้น นอกจากนั้น ระหว่างการเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้มีการลงนามความตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติกับ Dubai Supreme Energy Council ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การก่อตั้ง Dubai Excellence Centre for Carbon Control โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแห่งแรกของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโรงงาน ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ 4 โรง มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทของเกาหลีใต้ (Korea Electric Power Corporation – Keppo) ได้รับประมูลสร้างโรงงานดังกล่าว

2.1.7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสมาชิกในตลาดร่วมศุลกากร (Customs Union) ของ คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council - GCC) และได้มีการกำหนดให้เพิ่มภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าภายในกลุ่มจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 สำหรับสินค้าทั่วไปและไม่มีภาษีสำหรับสินค้าประเภทอาหาร นอกจากนั้น ยังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไรและภาษีรายได้บุคคล และมีนโยบายที่อนุญาตให้โอนเงินได้อย่างเสรีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น

2.2 สังคม
2.2.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เหมือนกับประเทศอ่าวอาหรับอื่น ๆ ที่ให้สวัสดิการกับประชาชนสูงในด้านสาธารณสุข การเคหะและการดำรงชีพ มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของตะวันออกกลาง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สตรีมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สูงเมื่อเทียบกับสังคมประเทศอาหรับทั่วไป

2.2.2 สำหรับคนชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และชุมชนชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับว่ามีสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่มั่นคง แต่สำหรับแรงงานที่มีรายได้ต่ำจะประสบความยากลำบากเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการที่ระดับการคุ้มครองของรัฐยังไม่สูงพอ ในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกและมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ โดยรวมแล้วมักเลือกแสดงท่าทีและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกัน ในกรอบภูมิภาคมากกว่าจะแสดงจุดยืนโดยลำพัง แต่ในระยะหลังได้แสดงท่าที ข้อคิดเห็นต่อประเด็นการเมือง ในภูมิภาคอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Arab Quartet (ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์) ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานท่าทีระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศอาหรับกับกลุ่ม International Quartet ในเรื่องพัฒนาการและสถานการณ์ในภูมิภาค และเพื่อชี้แจงทัศนะและท่าทีของอาหรับโดยไม่ต้องการให้ International Quartet มีบทบาทนำฝ่ายเดียวในการกำหนดระเบียบวาระของกระบวนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง

3.2 นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีหลักการต่อต้านความรุนแรงและการรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ การส่งเสริมการเจรจาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ การสนับสนุนการดำเนินการที่ยุติธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศ

3.3 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพันธมิตรทางการทหารในวงกว้าง โดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานขนส่งบำรุงกำลัง (ฐานทัพอากาศที่อาบูดาบีและท่าเรือเจเบล อาลี (Jebel Ali) ที่ดูไบ) ร่วมมือกับกองทัพในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และมีการสั่งซื้ออาวุธสงครามที่ทันสมัยจากหลายประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีอู่ต่อเรือและซ่อมเรือรบของตนเอง คือบริษัท Abu Dhabi Ship Building (ADSB) และล่าสุด ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรตามลำดับ เพื่อวางกรอบความร่วมมือในเรื่องการสำรวจและใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และความตกลงด้านความร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสตั้งฐานทัพถาวรในปี 2552 อนึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ 4 ในตะวันออกกลางที่ประกาศแผนจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์โดยเน้นย้ำจุดยืนว่าตนสนับสนุนสนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนให้ตะวันออกกลางปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD)

3.4 แม้จะมีการขู่จากกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติการก่อการร้ายเกิดขึ้น ขณะที่รัฐประกาศและให้ความมั่นใจว่าประเทศปลอดภัยจากการก่อการร้าย แต่ก็มีการออกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐมีความกังวลต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในกลุ่มประเทศที่กลุ่มก่อการร้ายอัลไคดาห์ (Al-Qaeda) ได้ประกาศว่าเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นรัฐที่ร่วมมือให้สหรัฐฯ ใช้ดินแดนของตนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร

3.5 ท่าทีและบทบาทของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบัน
3.5.1 พลังงานหมุนเวียน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่หลายประเทศต่างยกย่องว่า เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนวัตกรรมเรื่องพลังงานหมุนเวียน จนได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency - IRENA) เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 และปัจจุบัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชา (President of the General Assembly) ของ IRENA นอกจากนั้นยังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรี (Chair of the Council) สำหรับการประชุมคณะมนตรี IRENA ครั้งที่ 3 ในปี 2555

3.5.2 โครงการปรมาณูของอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายต่อต้านการแพร่ของอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางและการกระทำอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค โดยหวังว่า อิหร่านจะยึดถือการดำเนินการที่โปร่งใส แต่หวั่นเกรงว่าการพัฒนาปรมาณูดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อมติ UNSC ที่ 1929 (2010) เพื่อคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มเข้มงวดกับการทำการค้ากับอิหร่านมากขึ้น

3.5.3 ข้อพิพาทด้านดินแดนกับอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีข้อพิพาทกับอิหร่านในเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะ 3 เกาะ คือ เกาะอาบู มูซา (Abu Musa), เกาะทูมใหญ่ (The Greater Tunb) และเกาะทูมเล็ก (The Lesser Tunb) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ เคยมีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นในที่ประชุม UNSC ในปี 2514 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักถือโอกาสการประชุมสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และการประชุมกลุ่มประเทศ GCC ส่งสัญญาณทางการเมืองไปยังอิหร่านโดยขอให้อิหร่าน มีการเจรจาโดยตรงหรือนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอิหร่านและมีความร่วมมือกับอิหร่านในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแสดง ให้เห็นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แยกแยะประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกันเมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

3.5.4 ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี 2547 และสนใจที่จะเป็นผู้นำ (Prime Mover) ในด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Education) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Development) และการศึกษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Education)

เศรษฐกิจการค้า

2. เศรษฐกิจและสังคม
2.1 เศรษฐกิจ

ข้อมูลเศรษฐกิจ (2553)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 269.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 40,204 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.1 (ปี 2553)

2.1.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรพลังงาน เป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดของโลกจากการจัดลำดับของ World Economic Forum มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 1 ของโลก คือ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ประมาณกว่า 800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีน้ำมันดิบสำรองร้อยละ 8.3 ของโลก รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นลำดับที่ 7 ของโลก (ร้อยละ 3.3) สภาพที่ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการค้าในตะวันออกกลางและเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น อิหร่าน รวมทั้งส่งออกไปยังตลาดนอกภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา เอเชียกลาง และยุโรป ปัจจุบันมีท่าเรือ 9 แห่ง (รัฐละ 1 แห่ง) ยกเว้นรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบีมีรัฐละ 2 แห่ง ท่าเรือทั้งหมดรองรับสินค้าประมาณ 30 ล้านตันต่อปี (ไม่รวมน้ำมันดิบ)

2.1.2 รายได้หลักของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นอยู่กับน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ รัฐดูไบซึ่งมีมูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นในปี 2549 ถึงร้อยละ 9.15 ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ (diversification) เพื่อเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว การสร้างงานให้ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพยายามส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรี (Economic Free Zone) ทั้งในรูป การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นฐานการกระจายสินค้า

2.1.3 รายได้จากรัฐอาบูดาบีคิดเป็นมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยมี Abu Dhabi Investment Authority รับผิดชอบการลงทุนรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซ ยุทธศาสตร์ของรัฐอาบูดาบีเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมปลายน้ำ (downstream) ของกระบวนการผลิตน้ำมันและอุตสาหกรรมการหลอมอะลูมิเนียม หน่วยงานดูแลการลงทุนในต่างประเทศของรัฐเน้นเลือกการลงทุนในโครงการที่ก่อผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติในโครงการที่มีอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนึ่ง ผู้นำรัฐรุ่นใหม่มีการริเริ่มโครงการเศรษฐกิจใหม่ ๆ และสนับสนุนเพื่อสร้างให้รัฐเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศูนย์กลางการศึกษา อาทิ มีโครงการสร้างสาขาของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musée du Louvre) ของฝรั่งเศส เป็นต้น

2.1.4 การพัฒนาของรัฐดูไบนับจากทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523 - 2533) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการทำให้ดูไบเป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางทะเลและทางอากาศ การเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกต่อ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของดูไบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นอกจากนี้ ดูไบยังเป็นศูนย์กลางการเงินโดยมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าไปในภาคอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน ดูไบได้เปิดตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 และสามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้ในเวลาเพียง 5 ปี ตลาดหลักทรัพย์ดูไบถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนและใน NASDAQ และการที่มีเงินไหลเข้ามาจำนวนมากจึงนำไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และลงทุนในต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 2551 เศรษฐกิจดูไบก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จนนำไปสู่วิกฤติดูไบเวิลด์ (Dubai World) (กลุ่มบริษัทที่รวมบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของเข้าด้วยกัน) ในปี 2552 ทำให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 40 ต้องหยุดชะงักไป โครงการอสังหาริมทรัพย์ถึง 400 โครงการ มูลค่าประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐยังขายไม่ได้ นอกจากนี้ การลงทุนของดูไบในต่างประเทศก็ต้องชะงักลง โดยดูไบเวิลด์มีหนี้สินทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหนี้สินทั้งหมดของรัฐดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2553 เจ้าหนี้ร้อยละ 99 ของดูไบเวิลด์ได้ยินยอมที่จะปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูไบเวิลด์จะแบ่งชำระหนี้ได้ ในระยะเวลา 5-8 ปี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุนและตลาดการลงทุนและทำให้บริษัทสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ต่อไปได้ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

2.1.5 นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ รัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบมีการแข่งขันกันอยู่ในทีและมีการต่อรองการอยู่ร่วมกันมาโดยตลอด ความสำคัญของอาบูดาบีเกิดจากการมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมแหล่งน้ำมันร้อยละ 94 แหล่งก๊าซธรรมชาติร้อยละ 93 และการเป็นรัฐผู้สนับสนุนงบประมาณของสหพันธรัฐเป็นสัดส่วนสูงสุด ขณะที่ดูไบมีการผลิตน้ำมันประมาณร้อยละ 6 มีฐานะเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ รวมทั้งการประชุม การจัดการแข่งขันกีฬา และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ดูไบ เวิลด์ และเจ้าผู้ครองรัฐซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารได้เข้าไปมีบทบาทดำเนินการต่าง ๆ ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้นำรุ่นที่สองของประเทศเห็นว่า บทบาทที่ขีดเส้นว่าอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงและดูไบเป็นเมืองพาณิชย์เริ่มชัดเจนน้อยลง โดยผู้นำของรัฐทั้งสองตระหนักว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อรัฐดูไบประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งรัฐอาบูดาบีและธนาคารกลางยูเออีเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจของดูไบโดยการช่วยเหลือด้านการเงิน การเข้าถือหุ้นและซื้อกิจการของรัฐดูไบ ทำให้ปัจจุบันนี้รัฐอาบูดาบีมีอิทธิพลและอำนาจในการต่อรองกับรัฐดูไบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

2.1.6 ล่าสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีโครงการก่อสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่ (New Economic City – NEC) เรียกว่าโครงการ Masdar City ที่รัฐอาบูดาบี มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกแบบตามความต้องการของบริษัทข้ามชาติที่มาร่วมลงทุน โดยนำเงินรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบมาใช้ในการพัฒนา และจะเป็นแหล่งทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ในภาคพลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้แสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และการกลั่นน้ำทะเล เป็นต้น นอกจากนั้น ระหว่างการเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้มีการลงนามความตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติกับ Dubai Supreme Energy Council ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การก่อตั้ง Dubai Excellence Centre for Carbon Control โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแห่งแรกของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโรงงาน ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ 4 โรง มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทของเกาหลีใต้ (Korea Electric Power Corporation – Keppo) ได้รับประมูลสร้างโรงงานดังกล่าว

2.1.7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสมาชิกในตลาดร่วมศุลกากร (Customs Union) ของ คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council - GCC) และได้มีการกำหนดให้เพิ่มภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าภายในกลุ่มจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 สำหรับสินค้าทั่วไปและไม่มีภาษีสำหรับสินค้าประเภทอาหาร นอกจากนั้น ยังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไรและภาษีรายได้บุคคล และมีนโยบายที่อนุญาตให้โอนเงินได้อย่างเสรีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น

2.2 สังคม
2.2.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เหมือนกับประเทศอ่าวอาหรับอื่น ๆ ที่ให้สวัสดิการกับประชาชนสูงในด้านสาธารณสุข การเคหะและการดำรงชีพ มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของตะวันออกกลาง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สตรีมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สูงเมื่อเทียบกับสังคมประเทศอาหรับทั่วไป

2.2.2 สำหรับคนชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และชุมชนชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับว่ามีสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่มั่นคง แต่สำหรับแรงงานที่มีรายได้ต่ำจะประสบความยากลำบากเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการที่ระดับการคุ้มครองของรัฐยังไม่สูงพอ ในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกและมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ โดยรวมแล้วมักเลือกแสดงท่าทีและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกัน ในกรอบภูมิภาคมากกว่าจะแสดงจุดยืนโดยลำพัง แต่ในระยะหลังได้แสดงท่าที ข้อคิดเห็นต่อประเด็นการเมือง ในภูมิภาคอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Arab Quartet (ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์) ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานท่าทีระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศอาหรับกับกลุ่ม International Quartet ในเรื่องพัฒนาการและสถานการณ์ในภูมิภาค และเพื่อชี้แจงทัศนะและท่าทีของอาหรับโดยไม่ต้องการให้ International Quartet มีบทบาทนำฝ่ายเดียวในการกำหนดระเบียบวาระของกระบวนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง

3.2 นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีหลักการต่อต้านความรุนแรงและการรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ การส่งเสริมการเจรจาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ การสนับสนุนการดำเนินการที่ยุติธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศ

3.3 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพันธมิตรทางการทหารในวงกว้าง โดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานขนส่งบำรุงกำลัง (ฐานทัพอากาศที่อาบูดาบีและท่าเรือเจเบล อาลี (Jebel Ali) ที่ดูไบ) ร่วมมือกับกองทัพในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และมีการสั่งซื้ออาวุธสงครามที่ทันสมัยจากหลายประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีอู่ต่อเรือและซ่อมเรือรบของตนเอง คือบริษัท Abu Dhabi Ship Building (ADSB) และล่าสุด ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรตามลำดับ เพื่อวางกรอบความร่วมมือในเรื่องการสำรวจและใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และความตกลงด้านความร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสตั้งฐานทัพถาวรในปี 2552 อนึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ 4 ในตะวันออกกลางที่ประกาศแผนจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์โดยเน้นย้ำจุดยืนว่าตนสนับสนุนสนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนให้ตะวันออกกลางปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD)

3.4 แม้จะมีการขู่จากกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติการก่อการร้ายเกิดขึ้น ขณะที่รัฐประกาศและให้ความมั่นใจว่าประเทศปลอดภัยจากการก่อการร้าย แต่ก็มีการออกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐมีความกังวลต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในกลุ่มประเทศที่กลุ่มก่อการร้ายอัลไคดาห์ (Al-Qaeda) ได้ประกาศว่าเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นรัฐที่ร่วมมือให้สหรัฐฯ ใช้ดินแดนของตนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร

3.5 ท่าทีและบทบาทของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบัน

3.5.1 พลังงานหมุนเวียน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่หลายประเทศต่างยกย่องว่า เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนวัตกรรมเรื่องพลังงานหมุนเวียน จนได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency - IRENA) เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 และปัจจุบัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชา (President of the General Assembly) ของ IRENA นอกจากนั้นยังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรี (Chair of the Council) สำหรับการประชุมคณะมนตรี IRENA ครั้งที่ 3 ในปี 2555

3.5.2 โครงการปรมาณูของอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายต่อต้านการแพร่ของอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางและการกระทำอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค โดยหวังว่า อิหร่านจะยึดถือการดำเนินการที่โปร่งใส แต่หวั่นเกรงว่าการพัฒนาปรมาณูดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อมติ UNSC ที่ 1929 (2010) เพื่อคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มเข้มงวดกับการทำการค้ากับอิหร่านมากขึ้น

3.5.3 ข้อพิพาทด้านดินแดนกับอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีข้อพิพาทกับอิหร่านในเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะ 3 เกาะ คือ เกาะอาบู มูซา (Abu Musa), เกาะทูมใหญ่ (The Greater Tunb) และเกาะทูมเล็ก (The Lesser Tunb) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ เคยมีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นในที่ประชุม UNSC ในปี 2514 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักถือโอกาสการประชุมสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และการประชุมกลุ่มประเทศ GCC ส่งสัญญาณทางการเมืองไปยังอิหร่านโดยขอให้อิหร่าน มีการเจรจาโดยตรงหรือนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอิหร่านและมีความร่วมมือกับอิหร่านในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแสดง ให้เห็นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แยกแยะประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกันเมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

3.5.4 ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี 2547 และสนใจที่จะเป็นผู้นำ (Prime Mover) ในด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Education) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Development) และการศึกษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Education)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518 โดยไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม 2535 และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2541

นับจากนั้นมา ฝ่ายไทยมีการเยือนที่สำคัญหลายครั้งทั้งในระดับพระราชวงศ์และรัฐบาล ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแวะพักที่เมืองดูไบระหว่างทรงทำการฝึกบินหลายครั้ง และล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของฝ่ายยูเออี ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2554 ในส่วนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาชิกราชวงศ์และผู้บริหารระดับสูงเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์/ส่วนตัวบ่อยครั้ง โดยล่าสุด เชค ฮามดาน บิน ไซอิด อัล นะฮ์ยัน (H.H. Sheikh Hamdan bin Zayed Al Nahyan) รองนายกรัฐมนตรี และพระอนุชาของประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์เมื่อเดือนมีนาคม 2552

1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประตูการค้าของไทยและเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง โดยการค้าระหว่างกันในปี 2553 มีมูลค่ากว่า 11,498.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 2,843.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 8,654.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2554 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 12,298.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 2,244.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 10,053.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์และอะไหล่ (2) ชิ้นส่วนประกอบเครื่องรับความถี่สำหรับวิทยุและโทรทัศน์ (3) อัญมณีและเครื่องประดับ (4) คอมพิวเตอร์และอะไหล่ (5) เครื่องปรับอากาศและอะไหล่

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากยูเออี 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) น้ำมันดิบ (2) ก๊าซธรรมชาติ (3) น้ำมันดิบที่ผ่านการแปรรูป (4) เครื่องประดับ (5) เหล็กและเศษเหล็ก

1.2.2 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับหนึ่งจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าน้ำมันดิบจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) มากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัญญาการซื้อขายน้ำมันแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โดยในปี 2554 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 280,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณการที่ราคาเฉลี่ย 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) โดยตัวเลขเฉลี่ยล่าสุด ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากอาบูดาบีคิดเป็นร้อยละ 48 ของน้ำมันดิบนำเข้าจากตะวันออกกลาง และเป็นร้อยละ 35 ของน้ำมันดิบนำเข้าทั้งหมดจากทั่วโลก ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดสำนักงาน PTT Group Dubai Office ที่เมืองดูไบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อเจรจาธุรกิจการค้าปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งดำเนินโครงการต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง

1.2.3 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 สภาเทศบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มีมติรับรองตราฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการรับรองโรงฆ่าไก่ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย ซึ่งมติดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่ต้มสุกฮาลาลไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ และมติรับรองดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสสำหรับสินค้าฮาลาลไทยในตะวันออกกลาง เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์ส่งออกต่อฮาลาลที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคไปยังประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States – CIS)

1.3 การลงทุน
1.3.1 ภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ดังนี้
(ก) การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการสาธรสแควร์ ของกลุ่ม Istithmar Hotel FZE ดูไบ และ Islamic Hotel Chain ของ Al Mulla Group ดูไบ
(ข) กลุ่ม Dubai Holdings ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 800 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 15 จากบริษัท ธนายง
(ค) กลุ่มดูไบ เวิลด์ ได้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนลเทอร์มินอล จำกัด (Laem Chabang International Terminal Co.Ltd.) ทำการบริหารจัดการคลังสินค้า C3 ท่าเรือแหลมฉบัง และได้ลงนามกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรมอบเงินจำนวน 200 ล้านบาทแบบให้เปล่าเพื่อสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Land Bridge)
(ง ) กลุ่ม Jumeirah ได้รับหน้าที่ด้านบริหารการลงทุน (Investment management) กับโครงการต่าง ๆ ในไทย อาทิ โครงการ Jumeirah Private Phuket Island ซึ่ง เป็นโครงการมูลค่าหลายพันล้านบาท ประกอบด้วยที่พักส่วนตัว โรงแรมและท่าจอดเรือ โดยอยู่ในระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จของบริษัท TGR Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของผู้ถือหุ้นชาวแคนาดาและชาวไทย อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างผู้ร่วมทุนทั้งสองฝ่าย ทำให้มีการชะลอโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่ไว้แล้วในบริเวณทางตอนใต้ฝั่งเดียวกับโรงแรมแชงกรี-ลา นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังรับสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในอ่าวไทยและมีการร่วมทุนกับบริษัทไทย เช่น บริษัท Depa United Group ของดูไบกับบริษัทผลิตพรม (ไทปิง) เป็นต้น

1.3.2 โดยที่บริการด้านการแพทย์ของไทยเป็นที่นิยมของชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้มีโรงพยาบาลเอกชนไทยสนใจไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้าไปดำเนินการบริหารโรงพยาบาลรัฐของอาบูดาบี และโรงพยาบาลกรุงเทพได้ร่วมทุนกับบริษัท Royal Group ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของราชวงศ์แห่งรัฐอาบูดาบีสร้างโรงพยาบาล Royal Bangkok Hospital ขนาด 300 เตียง ในกรุงอาบูดาบี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555 รวมทั้งเปิดคลินิก 1 แห่งบนเกาะรีม (Reem Island) ในอาบูดาบี ซึ่งเป็นพึ้นที่ถมทะเลเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานที่พักอาศัยครบวงจร โดยจะจัดส่งทีมแพทย์ชาวไทยทั้งหมดเป็นผู้ไปทำการรักษา รวมถึงพยาบาลชาวไทยระดับหัวหน้า

นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนของบริษัทไทยรายอื่น เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทสยามซีเมนต์ได้เข้าไปมีบริษัทตัวแทนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภาคการก่อสร้าง เช่น บริษัท อิตัล-ไทย บริษัทเพาเวอร์ไลน์ บริษัทชิโน – ไทย อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ได้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ดูไบ (Thai-Dubai Business Council) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อมูล และความช่วยเหลือ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของภาคเอกชนไทยในดูไบ

1.4 ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
1.4.1 ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากยูเออีเดินทางมาไทยมากเป็นอันดับสามของภูมิภาคตะวันออกกลาง (รองจากอิสราเอลและอิหร่าน) มีประมาณ 140,000 คน โดยนักท่องเที่ยวยูเออีกว่า ร้อยละ 60 นิยมเดินทางมาตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลในไทยเนื่องจากการบริการที่ดีและค่ารักษา พยาบาลถูกกว่าประเทศในยุโรป และมักใช้โอกาสเดินทางมาพักผ่อนด้วย ซึ่งยูเออีได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่สถานเอกอัครราชทูตยูเออีประจำประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยที่รัฐส่งมารับการรักษาพยาบาล ในส่วนของไทย เมืองดูไบเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

1.4.2 ด้านแรงงาน ปัจจุบัน มีคนไทยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ธุรกิจบริการ และธุรกิจก่อสร้าง ส่วนมากทำงานในรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจดูไบทำให้ความต้องการแรงงานไทยในดูไบลดลง ขณะที่การขยายโครงการก่อสร้างในรัฐอาบูดาบีทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

2.ความตกลงที่สำคัญกับไทย
2.1 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างกัน (ลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533)

2.2 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2543)

2.3 ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งร่างฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อปี 2547 และอยู่ในระหว่างการเจรจา)

2.4 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2550 และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2551)

2.5 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (ลงนามเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2550)

2.6 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง (ลงนามย่อเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2552)

2.7 บันทึกความเข้าใจระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพและกรมสุขภาพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาบริการทางการแพทย์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยกรมสุขภาพฯ จะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน)

2.8 บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน (The Emirates Securities and Commodities Authority - ESCA) ได้ลงนามกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550)

2.9 บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และบริษัทดูไบ เวิลด์ 2551 ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากบริษัทดูไบ เวิลด์เพื่อศึกษา ความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (ลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551)

******************

มิถุนายน 2555

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5052

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ