สาธารณรัฐทาจิกิสถาน

สาธารณรัฐทาจิกิสถาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มี.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 18,905 view


สาธารณรัฐทาจิกิสถาน
Republic of Tajikistan

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ทางตอนใต้บริเวณเอเชียกลางของอดีตสหภาพโซเวียต ระหว่าง
อุซเบกิสถานและจีน โดยร้อยละ 90 ของภูมิประเทศเป็นภูเขา
พื้นที่ 143,100 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 7.8 ล้านคน (2554) แบ่งเป็น ชาวทาจิก รัอยละ 79.9 ชาวอุซเบก ร้อยละ 15.3 ชาวรัสเซีย ร้อยละ 1.1 คีร์กีซ ร้อยละ 1.1 อื่นๆ ร้อยละ 2.6
เมืองหลวง ดูชานเบ (Dushanbe)
ภาษาราชการ ภาษาทาจิก มีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างแพร่หลายในภาครัฐและภาคเอกชน และประมาณ 1/4 ของประชากรใช้ภาษาอุซเบก
ศาสนา อิสลาม นิกายสุหนี่ ร้อยละ 85 นิกายชีอะห์ ร้อยละ 5 อื่นๆ ร้อยละ 10
ภูมิอากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป (ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด ฤดูร้อน อากาศร้อนจัด)
เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 6 ชั่วโมง
วันชาติ 9 กันยายน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย 5 สิงหาคม 2535 (1992)
ระบบการเมือง ประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
ประมุข ประธานาธิบดี H.E. Emomali Rahmon
นายกรัฐมนตรี H.E. Oqil Oqilov
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ H.E. Khamrokhon Zarifi

การเมืองการปกครอง

สถานการณ์การเมือง
สาธารณรัฐทาจิกิสถานได้รับเอกราชภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ 9 กันยายน 2534 ก่อนได้รับเอกราชในปี 2533 การเมืองภายในประเทศขาดเสถียรภาพเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากนโยบายเปิดกว้าง (Glasnost) และปฏิรูป (Perestroika) ของนายมิคาเอล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเกิดขบวนการชาตินิยมในทาจิกิสถานเช่นเดียวกับในรัฐอื่นๆ ของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้เกิดการจลาจลในเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เนื่องจากมีข่าวลือว่าผู้อพยพชาวอาร์เมเนียจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองหลวงของทาจิกิสถาน (ดูชานเบ) และต่อมาในปี 2535 นาย Rahmom Nabiyev ประธานาธิบดีทาจิกิสถานซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ถูกบังคับโดยกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงให้ยอมรับรัฐบาลผสมที่เกิดจากการรวมกลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตย สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของประธานาธิบดี Nabiyev ผลักดันให้กลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตยถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม และก่อตั้งกลุ่ม Neo-communist ขึ้น ในปี 2537 ประธานาธิบดี Nabiyev ได้ลาออกจากตำแหน่ง นาย Emomali Rahmon ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาในขณะนั้น จึงได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยปริยาย ในขณะเดียวกับที่ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำโดยพรรค Islamic Rebirth Party (IRP) ได้อพยพออกนอกประเทศพร้อมด้วยประชาชนหลายหมื่นคน ไปตั้งมั่นอยู่ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน และกลับเข้ามาปฏิบัติการแบบกองโจรในทาจิกิสถาน ทำให้รัฐบาลทาจิกิสถานต้องพึ่งกองกำลังรัสเซียดูแลแนวชายแดนทาจิกิสถาน-อัฟกานิสถาน และมีการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี

นานาชาติได้พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทาจิกิสถาน โดยเฉพาะรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งได้มีส่วน ในการจัดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทาจิกิสถานและกลุ่มต่อต้านให้มีการตกลงหยุดยิงชั่วคราวในปี 2537 และได้ขอให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา เลขาธิการสหประชาชาติจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติ (the United Nation Mission of Observers in Tajikistan:UNMOT) เข้าดูแลกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเริ่มละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและมีการสู้รบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มรุกเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

ในปี 2540 ด้วยความร่วมมือระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และสหประชาชาติ สามารถโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประธานาธิบดี Emomali Rahmon กับนาย Sayed Abdulla Nuri ผู้นำกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล (United Tajik Opposition - UTO) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ทำการดูแลการส่งผู้ลี้ภัยคืนถิ่น ตลอดจนการปลดอาวุธกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และเริ่มกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างยุติธรรม

ในช่วงแรกภายหลังการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ ข้อตกลงยังได้รับการปฏิบัติตามไม่มากนัก ยังมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจากทั้งสองฝ่ายอยู่เรื่อยๆ แต่รัฐบาลทาจิกิสถานได้เรียกร้องให้ UNMOT ตลอดจนประเทศ ผู้ค้ำประกันความตกลงฯ ให้เข้ามามีบทบาทในการยุติการใช้กำลังอาวุธของกลุ่ม UTO โดย UNMOT ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพจำนวน 70 คน เข้าไปสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในทาจิกิสถาน และจัดให้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจนกระทั่งสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2542 ซึ่งประธานาธิบดี Rakhmon ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 2546 ได้มีการลงประชามติให้ประธานาธิบดี Rahmon สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก 2 สมัย (วาระ 7 ปี) ติดต่อ กันหลังจากหมดวาระในปี 2549 จนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ทาจิกิสถานได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยมีผู้สมัครจำนวน 5 คน ซึ่งผลเป็นไปตามความคาดหมายคือประธานาธิบดี Rahmon ได้รับชัยชนะและปกครองประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สำคัญ 3 พรรค คือ Islamic Revival Party Democratic Party และ Social Democratic Party ไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันและประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส และพรรครัฐบาลจำกัดสิทธิพรรคการเมืองอื่นในการเข้าถึงสื่อทุกประเภท ในขณะที่องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ซึ่งส่งคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน 170 คน เพื่อติดตามการเลือกตั้งในทาจิกิสถานระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีสัญญาณของการแข่งขันอย่างแท้จริง และขาดตัวเลือกทางการเมือง (lack of political alternatives)

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นี้ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้รัฐบาลจะให้การรับรองความโปร่งใสของการเลือกตั้ง นักวิชาการมองว่าผลการเลือกตั้งมีความไม่โปร่งใส ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สงบในอนาคตได้

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจปี 2554

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 858.97 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.4
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 12.4
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 2.2
อุตสาหกรรม (GDP) อะลูมิเนียม สังกะสี ตะกั่ว เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย ซีเมนต์ น้ำมันพืช เครื่องตัดโลหะ
ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานน้ำ ยูเรเนียม ถ่านหิน ทองคำ เงิน ตะกั่ว
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อลูมิเนียมออกไซด์ เครื่องจักร
สินค้าออกที่สำคัญ อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ฝ้าย ผลไม้ (เมล่อน แตงโม) น้ำมันพืช สิ่งทอ
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อาเซอร์ไบจาน สหรัฐฯ ตุรกี
ตลาดส่งออกที่สำคัญ เนเธอร์แลนด์ ตุรกี อุซเบกิสถาน ลัตเวีย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย

สภาวะเศรษฐกิจทาจิกิสถาน
สาธารณรัฐทาจิกิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต (CIS) โดยปัจจุบันประชากร 2 ใน 3 ยังมีความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน เศรษฐกิจของทาจิกิสถานอาศัยรายได้จากภาคเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน (ถ่านหิน และการผลิตพลังงานไฟฟ้า) เป็นส่วนใหญ่ โดยในภาคการเกษตร เน้นการปลูกฝ้ายเพื่อการส่งออก สงครามกลางเมืองระหว่างปี 2535-2540 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทาจิกิสถานเป็นอย่างมาก

ตั้งแต่ปี 2535 รัฐบาลทาจิกิสถานได้กำหนดนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นระบบการตลาดแบบเสรีให้มากที่สุด โดยเน้นด้านการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การโอนถ่ายกิจการของรัฐทั้งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้เป็นของเอกชนให้มากที่สุด การปรับปรุงสถาบันการเงิน การธนาคาร และระบบภาษี ซึ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจนี้จะต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลทาจิกิสถานประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ในปี 2540 รัฐบาลทาจิกิสถานจึงได้ตัดสินใจรับเงื่อนไขที่เข้มงวดของ IMF เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน รัฐบาลทาจิกิสถานได้ดำเนินนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจของ IMF อย่างเคร่งครัด (Poverty Reduction and Growth Facility-PRGF) ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่รัฐบาลทาจิกิสถานคาดหวัง

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งประสบปัญหาด้านการลงทุน ขาดการตลาดและระบบสินเชื่อ อีกทั้งระบบชลประทานที่เสื่อมสภาพและเครื่องมือที่ล้าสมัย โดยจะเห็นได้จากหนี้สินของเกษตรกรที่ปลูกฝ้ายในปี 2547 ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของทาจิกิสถานมีมูลค่าถึง 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจาก 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีก่อนหน้านี้) ถึงแม้ว่าผลการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

ปัญหาหนี้ต่างประเทศของทาจิกิสถานเริ่มดีขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจาทวิภาคี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 รัสเซียได้เซ็นสัญญาปลดหนี้ของทาจิกิสถานถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของทาจิกิสถานลดลงจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 เป็น 822 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 อย่างไรก็ดี ทาจิกิสถานยังประสบปัญหาในด้านระบบบริหารหนี้ต่างประเทศจนกระทั่งปัจจุบัน (ในปี 2553 มีมูลค่า 1,988 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2554 มีมูลค่า 2,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ทาจิกิสถานมีศักยภาพด้านการผลิตอะลูมิเนียม ฝ้าย และไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ในปัจจุบันยังขาดการลงทุนจึงยังไม่สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการวางระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น นอกจากนี้ ทาจิกิสถานยังมีปัญหาการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจจากหลายประเทศ ที่สำคัญ คือ สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่นๆ อาทิ จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลีใต้ อิตาลี เวียดนาม อินโดนีเซีย

ในปี 2549 Shanghai Cooperation Organization ประกาศให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมในทาจิกิสถาน และสหรัฐฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างสะพานมูลค่า 36 ล้านเหรียญซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างทาจิกิสถานและอัฟกานิสถาน

ในช่วงปี 2550 ถึงปี 2552 ทาจิกิสถานได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ International Financial Institutions (IFIs) อย่างเคร่งครัด ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างแข็งแรง นอกจากนั้นแล้ว ในเดือนเมษายน 2552 ทาจิกิสถานได้ทำสัญญากู้เงินจาก International Monetary Funds (IMF) เป็นจำนวน 120 ล้านดอลลาห์สหรัฐ เป็นเวลา 3 ปี เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการช่วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐทาจิกิสถาน

ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทาจิกิสถาน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดูแลทาจิกิสถาน และกระทรวงการต่างประเทศทาจิกิสถานเป็นผู้ดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย

ทาจิกิสถานเริ่มมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม OIC ในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ทาจิกิสถานยังได้ให้ความสนใจต่อการกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เห็นได้จากความพยายามในการจัดเทศกาลละครหุ่นนานาชาติ

การเยือนระดับสูงและการพบหารือครั้งล่าสุด
- เมื่อเดือนกันยายน 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พบหารือประธานาธิบดี Rahmon ในระหว่างการประชุม UNGA
- เมื่อเดือนเมษายน 2553 นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผช. รมว.กต. ได้พบหารือประธานาธิบดี Rahmon ในโอกาสที่เครื่องบินประธานาธิบดีแวะพักที่ประเทศไทยหลังจากการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ไทยกับทาจิกิสถานมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันตั้งแต่ปี 2536 แต่มูลค่าการค้ารวมยังต่ำมาก โดยในปี 2554 มูลค่ารวม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 0.06 ดอลลาร์สหรัฐ และไทยได้ดุลการค้า 1.94 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุที่การค้า การลงทุน และการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศยังมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการฝ่ายไทยประสบปัญหาความยากลำบากในการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังทาจิกิสถาน เนื่องจากยังไม่มีสายการบินที่บินตรงระหว่างกันจึงต้องส่งสินค้าผ่านประเทศที่สาม อีกทั้งระดับรายได้ประชากรยังไม่สูงมากนัก จึงส่งผลให้การขยายตลาดสินค้าเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันทาจิกิสถานยังประสบปัญหาเรื่องระบบการชำระเงินผ่านธนาคารที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล

ในด้านการลงทุน ฝ่ายทาจิกิสถานได้เชิญชวนไทยไปลงทุนในอุตสาหกรรมแร่ (แร่บ็อกไซด์ นำมาใช้ผลิตอลูมิเนียม) การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยว และการร่วมลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ โดยยินดีให้ไทยนำอะลูมิเนียมกลับในลักษณะแลกเปลี่ยน (หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย คือ ก. พลังงาน กฟผ. และ ก. อุตสาหกรรม เคยเตรียมจัดคณะเดินทางไปสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ แต่ได้ยกเลิกไป โดยให้ความเห็นว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างเดียว จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อาจไม่คุ้มทุน จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่จะไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในทาจิกิสถาน นอกจากนี้ ไทยมีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าอะลูมิเนียมจากประเทศใกล้เคียงอื่น เช่น เวียดนามด้วย)

สินค้าส่งออก ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ตลับลูกปืน เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้านำเข้า ธุรกรรมพิเศษ (สินค้าที่รับการยกเว้นภาษีอากร เช่น ของที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต) แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องประดับอัญมณี เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ด้ายและเส้นใย วงจรพิมพ์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ สินแร่และโลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่

ความตกลงทวิภาคี

ความตกลงที่ลงนามแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-ทาจิกิสถาน (Air Services Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีเอกอัครราชทูตไทยและเอกอัครราชทูตทาจิกิสถานประจำกรุงมอสโกเป็นผู้ลงนาม

ความตกลงทวิภาคีต่างๆ ที่ลงนามระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทาจิกิสถานเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 
- ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถาน (Trade Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Tajikistan)

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติดวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Tajikistan on the Cooperation in Narcotic Drugs Psychotropic Substances and Precursor Chemical Control)

- ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Agreement on Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Tajikistan on Economic and Technical Cooperation.)

- ความตกลงระหว่างและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Tajikistan for the promotional and protection of investments)

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถาน (Memorandum of Understanding on the Establishment of Bilateral Consultations between the Ministry of Foreign Affairs of the Republic of Tajikistan and the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand )

- ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement between the Government of the Republic of Tajikistan and the Government of the Kingdom of Thailand on Cooperation in the field of Tourism)

ความตกลงที่คั่งค้าง
อนุสัญญาการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-ทาจิกิสถาน (Convention on between the Government of the Republic of Tajikistan and the Government of the Kingdom of Thailand for the Avoidance of Double taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect of Tax Income)

ความช่วยเหลือต่างๆ จากไทย
ทาจิกิสถานเคยขอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทย ซึ่งไทยได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยเหตุผลที่ว่าทาจิกิสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ในทวีปเอเชียประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยรวมทั้งยังอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางและมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ห่างไกลจากประเทศไทยมากนัก ดังนั้น จึงเป็น ภูมิภาคที่ไทยสนใจที่จะขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เนื่องจากอาจจะเป็นตลาดรองรับสินค้าของไทยและเป็นแหล่งวัตถุดิบให้ไทยได้ ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ทาจิกิสถานในรูปของยารักษาโรค ซึ่งมีมูลค่า 700,000 บาท โดยส่งมอบให้สถานเอกอัครราชทูตทาจิกิสถาน ประจำกรุงมอสโก เพื่อส่งต่อไปยังกรุงดูชานเบ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทย (บริษัทเบลออย จำกัด) ได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูป ปางไสยยาสน์ ในทาจิกิสถาน เป็นจำนวน 629,517 บาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547

นอกจากนี้ ไทย โดย สพร ยังให้ความช่วยเหลือแก่ทาจิกิสถานในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของทาจิกิสถาน เช่น การเกษตร การป้องกันยาเสพติด และการท่องเที่ยว รูปแบบความช่วยเหลือที่ไทยให้ความช่วยเหลือประกอบด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ การจัดการศึกษาดูงานภายในกรอบทวิภาคี และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงานในสาขาที่เป็นความต้องการของ ทาจิกิสถาน ในขณะนี้ ไทยกำลังประสานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ทาจิกิสถานในด้าน การฝึกอบรม Capacity Building for Tajik Tourism National Administration, Business and Associations to improve the Quality of Overall Level of Management and Service Delivery

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวชาวทาจิกิสถานเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีไม่มากเท่าที่ควร (ในปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 204 คน และปี 2554 จำนวน 188 คน) เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศ ส่งผลให้ศักยภาพของตลาดการท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

************
กรกฎาคม 2555

กลุ่มงานเอเชียกลาง  กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา  โทร. 02-643-5518

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ