ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 91,945 view


ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
The Kingdom of Saudi Arabia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ในภูมิภาคตะวันออกกลาง บนคาบสมุทรอาหรับ ทิศเหนือติดอิรัก (814 กม.) และจอร์แดน (744 กม.) ทิศตะวันออกติดคูเวต (222 กม.)กาตาร์ (60 กม.) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (457 กม.) บาห์เรน (อ่าวเปอร์เซียคั่นกลาง) ทิศตะวันตกอียิปต์ (ทะเลแดงคั่นกลาง) ทิศใต้ติดเยเมน (1,458 กม.) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดโอมาน (676 กม.) ติดอ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลแดงทางทิศตะวันตก

พื้นที่ 1,960,582 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย

เมืองหลวง กรุงริยาด (Riyadh)

เมืองสำคัญ เจดดาห์ (Jeddah) มักกะห์ (Makkah) ทาอีฟ (Taif)
เมดินา (Medina) และดัมมัม (Dammam)

ประชากร 24.3 ล้านคน

ศาสนา อิสลาม (ส่วนใหญ่นับถือสุหนี่ มีชีอะห์ประมาณ 5 แสนคน)

ภาษาราชการ อาหรับ

หน่วยเงินตรา ริยาล

ประมุข กษัตริย์อับดุลลาห์ (The Custodian of the Two Holy Mosques King Abdullah bin Abdulaziz Al Saud)

นายกรัฐมนตรี กษัตริย์อับดุลลาห์

รมว.กต. เจ้าชายซาอุด อัลไฟซาล (Saud Al-Faysal)

 

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง

- เดิมซาอุดีอาระเบีย มีการเมืองการปกครองตามหลักกฎหมายอิสลาม (Sharia) กษัตริย์ทรงมีอำนาจเด็ดขาดและสูงสุดในการบริหารประเทศ ต่อมาหลังสงครามอิรัก-คูเวต ในปี 2534 มีความเคลื่อนไหวของประชาชนบางส่วนเรียกร้องการมีส่วนร่วมในทางการเมือง จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐาน (basic law) ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญของประเทศ กำหนดให้มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งสภาที่ปรึกษา (Shoura Council) โดยในการดำเนินนโยบายที่สำคัญบางด้านจะทรงปรึกษาหารือฝ่ายศาสนา ทหาร สมาชิกราชวงศ์ ภาคธุรกิจและประชาชนด้วย

- ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกำลังดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการเลือกสมาชิกสภาเทศบาลตามเมืองต่างๆ จำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด การส่งเสริมการปรึกษาหารือระหว่างทุกภาคส่วนของสังคม (national dialogue) เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการเมืองการปกครองในอนาคต

- รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเน้นนโยบายในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็พยายามเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำในโลกมุสลิมและกลุ่มอาหรับและให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council-GCC) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและความมั่นคงของกลุ่มอาหรับและกลุ่มประเทศ GCC นอกจากนั้น ปัจจุบันกษัตริย์อับดุลลาห์ยังเร่งดำเนินการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล (International Center for Combating Terrorism) และการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือในประเทศในเอเชีย

- ซาอุดีอาระเบีย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 เขต หรือ ภาค ได้แก่
(1) Riyadh Region (2) Makkah Region (3) Eastern Region
(4) Madinah Region (5) Qassim Region (6) Aseer Region
(7) Jizan Region (8) Najran Region (9) Tabuk Region
(10) Hail Region (11) Baha Region (12) Jouf Region
(13) Northern Border Region

- กองกำลังทางทหารของซาอุดีอาระเบียประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ Air Defense Force, National Guard, Ministry of Interior Forces (กองกำลังพลเรือน)

นโยบายด้านต่างประเทศ

- ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจในโลกอิสลาม กลุ่มอาหรับและภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิมและเป็นที่ตั้งขององค์กรมุสลิมที่สำคัญ อาทิ Organization of Islamic Conference (OIC), GCC, Islamic Development Bank (IDB) ซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อประเทศในกลุ่ม GCC ประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มอาหรับในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียพยายามขยายบทบาทของตนในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง โดยเมื่อเดือน มีนาคม 2545กษัตริย์ Abdullah (ขณะทรงเป็นมกุฎราชกุมาร) ได้เสนอแผนสันติภาพ (Abdullah Peace Initiative) ตามหลักการ Land for Peace โดยขอให้อิสราเอลถอนจากดินแดนอาหรับที่ถูกยึดครองทั้งหมด เพื่อแลกกับการที่กลุ่มประเทศอาหรับทั้งหมดจะทีความสัมพันธ์เป็นปกติกับอิสราเอล ทั้งนี้ ต่อมาแผนสันติภาพดังกล่าวได้รับการับรองจากสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States) ให้เป็นแผนสันติภาพของประเทศอาหรับ

- นอกจากนั้น ในระยะปัจจุบันซาอุดีอาระเบียได้เร่งดำเนินนโยบายปราบปรามและต่อต้านการก่อการร้ายโดยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาในสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย (war on terror) การปราบปรามและการตัดช่องทางการเงินของกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่ม Al Qaeda และเครือข่าย
- ในขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียก็กำลังดำเนินนโยบาย “มุ่งตะวันออก” เพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ ความร่วมมือและสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศในเอเชีย โดยกษัตริย์อับดุลลาห์ ได้เสด็จเยือนประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีน (22-24 มกราคม 2549) อินเดีย (24-27 มกราคม 2549) มาเลเซีย (30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2549) และปากีสถาน (1-2 กุมภาพันธ์ 2549) ซึ่งนับเป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรกของพระองค์ภายหลังการขึ้นครองราชย์

- ทั้งนี้ ในการเยือนเอเชียของกษัตริย์อับดุลลาห์นี้ ทรงมุ่งขยายความร่วมมือด้านพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) กับจีน เพิ่มพูนความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมกับอินเดีย การส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมกับมาเลเซีย ในส่วนของการเยือนปากีสถานนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลง
ที่จะร่วมมือกันในการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

การเข้าเป็นสมาชิก ACD ของซาอุดีอาระเบีย

- ซาอุดีอาระเบียได้แสดงความจำนงขอเป็นสมาชิก Asia Cooperation Dialogue -ACD ต่อไทยในฐานะผู้ประสานงาน ACD เมื่อ 16 ธันวาคม 2547 ต่อมา ไทยได้แจ้งที่ประชุม ACD Ambassadorial Meeting ที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และมีการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 ในเดือน เมษายน 2548 ที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับซาอุดีอาระเบียเป็นสมาชิกลำดับที่ 27 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจ (2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 416.4 พันล้าน USD (2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 16,656 USD (2551)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.0 (2551)

มูลค่าการค้าไทย-ซาอุดีฯ 9,207.29 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.58 (ไทยส่งออก 1,942.66 ล้าน USD นำเข้า 7,264.63 ล้าน USD ไทย
ขาดดุลการค้า 5,321.96 ล้าน USD)

สินค้าส่งออกของไทย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและส่วนประกอบ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้านำเข้าจากซาอุดีฯ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ

ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

อุตสาหกรรมหลัก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี

สินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อาหารแปรรูป สิ่งทอ

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ สหรัฐฯเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส

ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ

- ซาอุดีอาระเบียมีระบบเศรษฐกิจแบบมีรัฐเป็นผู้นำ (State-led Economy) มีทรัพยากรน้ำมันเป็นพื้นฐานและเป็นตัวนำในการพัฒนา ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และมีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุด (1 ใน 4 ของโลก) อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญใน OPEC และในการรักษาเสถียรภาพราคาและระดับอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ในแต่ละปี ผลผลิตภาคน้ำมันของซาอุดีอาระเบียคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของ GDP รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 90-95 ของรายได้การส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 70-80 ของรายได้รัฐบาล เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจึงมีลักษณะพึ่งพาภาคน้ำมันสูง (oil dependence)

- ภาวะเศรษฐกิจในปี 2549 อยู่ในระดับที่ดีมาก (GDP เติบโตร้อยละ 5.9) ทำการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น (เฉลี่ยวันละ 10.4 ล้านบาร์เรล) กอปรกับการที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น (เฉลี่ยตลอดปีอยู่ในระดับ 35 ดอลลาร์สรอ/บาร์เรล) ทำให้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน 106 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของซาอุดีอาระเบีย (ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ มีรายได้โดยเฉลี่ยปีละ 69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเกินดุล 70.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินดุลร้อยละ 23.6 ซึ่งเกินดุลเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่ปี 2548 ซาอุดีอาระเบียทำการผลิตน้ำมันได้เฉลี่ยวันละ 9.6 ล้านบาร์เรล ทำให้รัฐบาลมีรายได้ในปี 2548 ประมาณ 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ GDP มีมูลค่ารวมประมาณ 310.2 พันล้านดอลลารสหรัฐ และปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศ 90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- เศรษฐกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) ในปี 2547 มีการขยายตัวร้อยละ 5.7 สูงที่สุดในรอบ 22 ปี ภาคที่เติบโตสูงได้แก่ โทรคมนาคม การก่อสร้าง ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมการผลิต (manufacturing) นับว่าซาอุดีอาระเบียมีเศรษฐกิจเข้มแข็งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ ในปี 2547

- ภาวะเศรษฐกิจที่ดีในระยะปัจจุบัน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการมีสภาพคล่องในระบบน่าจะทำให้เศรษฐกิจ มีเสถียรภาพและแนวโน้มที่ดีในปี 2549 ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มุ่งผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเพิ่มงบประมาณด้านการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการสังคม เช่น กษัตริย์อับดุลลาห์ได้ทรงประกาศเพิ่มงบลงทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงและการทหารไปพร้อมกันด้วย

- นอกจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ดีทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ จัดให้ซาอุดีอาระเบีย มีระดับความน่าเชื่อถือสูง กล่าวคือ Standard & Poors (S&P) จัดให้อยู่ในระดับ A Fitch Ratings จัดให้อยู่ในระดับ A และ Moody’s Investors Services จัดให้อยู่ในระดับ Baa2

- อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการทหารและความมั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต้นปี 2546 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจึงประกาศเริ่มดำเนินนโยบาย Saudization เพื่อส่งเสริมให้กำลังแรงงานชาวซาอุดีอาระเบียมีงานทำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนซาอุดียังไม่นิยมทำงานหนักหรืองานที่ต้องใช้ทักษะความรู้เฉพาะด้าน ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะจำกัดจำนวนให้มีแรงงานต่างชาติไม่เกินร้อยละ 20 ของประชากรซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 25 ล้านคน เกี่ยวกับเรื่องนี้ Dr. Ghazi Al-Qusaibi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานซาอุดีอาระเบีย ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ว่า ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเร่งลดจำนวนแรงงานต่างชาติให้เร็วยิ่งขึ้น คือจะลดลงปีละ 100,000 คน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานชาวซาอุดีอาระเบียเข้ามาแทนที่

ทางด้านสังคม

- ซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่มีลักษณะอนุรักษ์ทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมมากที่สุด ประเทศหนึ่งในโลกอาหรับ ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียจะยึดมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลาม รัฐบาลไม่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สตรีจะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับสตรีด้วยกันเองโดยตรง เช่น แพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาคนไข้สตรี ครูสอนโรงเรียนสตรี เป็นต้น ไม่อนุญาตให้สตรีเป็นพนักงานขายทุกประเภท และไม่อนุญาตให้ขับรถอีกด้วย ในขณะที่ในทางการเมืองสตรีไม่มีสิทธิ์ออกเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้ง

- อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะทำการปฏิรูปทางสังคม รวมทั้งการให้สิทธิแก่สตรีมากขึ้น

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ความสัมพันธ์ทั่วๆ ไป

- ซาอุดีอาระเบีย นับเป็นประเทศอาหรับประเทศแรกๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย (1 ตุลาคม 2500) ในชั้นแรกยังไม่มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต คงมีเพียงการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางกงสุลระหว่างกัน โดยไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เมือง
เจดดาห์ และซาอุดีอาระเบียเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร

- เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2509 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระหว่างกัน โดยยกฐานะสถานกงสุลใหญ่ของแต่ละฝ่ายขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ซาอุดีอาระเบียได้ตั้งกงสุลใหญ่ซึ่งประจำการในประเทศไทยอยู่แล้ว คือ Sheikh Abdulrahman Al-Omran เป็นเอกอัครราชทูตคนแรก ส่วนไทยได้แต่งตั้งอุปทูตไปประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ เมืองเจดดาห์

- ต่อมาเมื่อ 4 มิถุนายน 2518 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำซาอุดีอาระเบีย (เอกอัครราชทูตประสงค์ สุวรรณประเทศ) และเมื่อปี พ.ศ. 2527 ซาอุดีอาระเบียได้ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงริยาด คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อ 15 มกราคม 2528 ย้ายสถานเอกอัครราชทูตไปยังกรุงริยาด และเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

- ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับต่างๆ โดยต่อเนื่อง จนกระทั่งการเกิดคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย (3 คดี รวม 4 ศพ) และคดีการหายสาบสูญของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533
- ก่อนการเกิดคดีต่างๆ ข้างต้น ซาอุดีอาระเบียมีความสำคัญต่อไทยในหลายด้าน ได้แก่
1) เป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง โดยจากสถิติของกรมแรงงาน (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในขณะนั้น) ในบางช่วงเคยมีแรงงานไทยสูงถึง 300,000 คน นำรายได้เข้าประเทศโดยเฉลี่ยปีละ 9,000 ล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบัน(ปี 2551) มีคนไทยอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียประมาณ 16,896 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าก่อนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ และคนงานในภาคบริการ เช่น ประกอบกิจการร้านอาหารไทย พนักงานธนาคาร และบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นต้น
2) แม้ความสัมพันธ์จะได้รับผลกระทบจากคดีที่เกิดขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันซาอุดีอาระเบียก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ของไทย โดยในช่วงปี 2543-2546 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับสาม (รองจาก UAE และโอมาน) เฉลี่ยปีละ 800-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3) เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับสองของไทยในตะวันออกกลาง และเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง
4) เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม มีศาสนสถานศักดิ์สิทธ์ของชาวมุสลิมที่เมืองมักกะห์ และมาดีนะ ในแต่ละปีมีผู้แสวงบุญชาวไทยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประมาณปีละ 1 หมื่นคน (ในปี 2548 มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 10,451 คน และปี 2549 ประเทศไทยได้โควต้า 11,000 คน) 5) เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือไทยในด้านต่างๆ เช่น Saudi Fund for Development ได้ให้เงินกู้ เพื่อการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อปี 2524 และ Islamic Development Bank ของซาอุดีอาระเบียได้ให้เงินช่วยเหลือในการก่อสร้างอิสลามวิทยาลัย จังหวัด ยะลา เป็นจำนวน 32 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2528

- คดีต่างๆ ข้างต้น มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก โดยเป็นผลให้ซาอุดีอาระเบียมีมาตรการตอบโต้ไทย ประกอบด้วย การห้ามมิให้คนซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทย การไม่ออกวีซ่าให้คนไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น การไม่ให้การตรวจลงตราไป-กลับ ( Exit-re-entry Visa) แก่คนงานไทยในซาอุดีอาระเบียที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ และการลดระดับตัวแทนทางการทูตเป็นระดับอุปทูต

การปรับความสัมพันธ์

- ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ในภาวะถดถอย กระทรวงการต่างประเทศได้พยายามรักษาการติดต่อและประคับประคองมิให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรุดลงอีก โดยการดำเนินนโยบายคู่ขนาน (dual track policy) ได้แก่ การพยายามสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับคดี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้า วัฒนธรรม (ศาสนา กีฬา) และการส่งเสริมความสัมพันธ์ในกรอบพหุภาคี เช่น อาศัยกรอบ ASEAN และ GCC (Gulf Cooperation Council) เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อกับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย การเชิญนักวิชาการมาประชุมทางวิชาการในไทย การใช้บุคคล กลไก ช่องทางต่างๆ ทุกทางที่เป็นไปได้เพื่อช่วยรักษาสัมพันธ์ ซึ่งความพยายามต่างๆ ดังกล่าวเป็นผลให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาทิ

• นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ซาอุดีอาระเบีย ได้ยินยอมให้วีซาแก่นักธุรกิจไทยที่จะเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าที่กรุงริยาด และเมืองเจดดาห์

• ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย มีท่าทีผ่อนคลายลงในด้านแรงงาน โดยนับแต่ปี 2543 เป็นต้นมาแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย สามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทไป-กลับ ( Exit re-entry Visa) ได้เช่นเดียวกับแรงงานชาติอื่นๆ

- ในด้านการสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับคดี นั้น การปรับสัมพันธ์เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ได้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นใหม่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับดูแล เร่งรัด ติดตามผลการดำเนินการและการสืบสวนคดีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2544 พัฒนาการทางบวกที่สำคัญ ได้แก่

• รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้ส่งทีมงานสืบสวนมาทำงานร่วมกับทีมสืบสวนของไทยซึ่งมี พล.ต.ท. ชิดชัย วรรณสถิตย์ (ยศในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีม 2 ครั้ง ระหว่าง 13-18 กรกฎาคม 2546 และระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2546

• ความคืบหน้าในการสืบสวนและการทำงานร่วมกัน ทำให้ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 20 เมษายน 2547 ตามคำเชิญของเจ้าชาย Saud Al-Faisal รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และได้เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร Abdullah รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และผู้สำเร็จราชการของซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น)

- ในระยะปัจจุบัน คดีต่างๆ เกี่ยวกับซาอุดีอาระเบียถือเป็นคดีพิเศษ และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการขยายผลการการสืบสวนจากทีมสืบสวนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะนำทุกคดีเข้าสู่การพิจารณาชั้นศาล ทั้งนี้ ในคดีฆาตกรรมนักการทูตนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษได้พยายามหาหลักฐานใหม่ สอบสวนพยานบุคคลต่างๆ เพิ่มเติม และสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัย 1 ราย ซึ่งหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศกลับประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2549

- ในส่วนของคดีการหายไปของนักธุรกิจ นั้น ขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีแนวทางที่
จะให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อให้ครอบครัวและญาติสามารถจัดการทรัพย์สินและมรดกได้ โดยฝ่ายไทยได้ขอทราบท่าทีและความประสงค์ของฝ่ายซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้แล้ว ขณะที่ในส่วนของคดีเพชร นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงติดตามเพชรที่สูญหาย และจะรวบรวมหลักฐานเพื่อให้สามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อริบทรัพย์ผู้ครอบครองเพชร

- การสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับคดีนับแต่มีการรื้อฟื้นคดีเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากฝ่ายซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้น โดยทีมสอบสวนทั้งสองฝ่ายตกลงจะจัดประชุมร่วมครั้งที่ 3 ในปีนี้ (2549) โดยฝ่ายซาอุดีฯ ได้เชิญฝ่ายไทยไปประชุมที่ริยาด และฝ่ายไทยกำลังพิจารณากำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

- แม้จะมีปัญหาความสัมพันธ์ต่อกัน ที่ผ่านมาฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ก็มิได้ปิดกั้นการติดต่อทางการค้า และธุรกิจระหว่างเอกชนทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริม คงเพียงปล่อยให้มีการดำเนินการไปตามปกติ ในขณะที่ภาคเอกชนซาอุดีอาระเบียต้องการขยายการติดต่อกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งมีการต่อต้านสินค้าตะวันตกในระดับประชาชนในซาอุดีอาระเบีย ได้ปรากฏแนวโน้มที่ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการซาอุดีอาระเบีย มีความต้องการติดต่อกับประเทศในเอเชีย รวมทั้งการนำเข้าจากประเทศไทยมากขึ้น

- ในด้านการส่งออกนั้น สินค้าของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการยอมรับในตลาดซาอุดีอาระเบีย จากการมีราคาที่แข่งขันได้ และมีคุณภาพทัดเทียมสินค้าของประเทศอุตสาหกรรมใหม่อื่นๆ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สินค้าที่มีการขยายตัวและมีอนาคตเชิงธุรกิจในตลาดซาอุดีอาระเบียสูง ได้แก่ อุปกรณ์ โทรคมนาคม อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์การกลั่นน้ำทะเล อะไหล่รถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย สินค้าเกษตร ผักผลไม้สด อาหารฮาลาล เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

- ปัญหาสำคัญในการติดต่อการค้าระหว่างกันได้แก่ ข้อจำกัดในการให้ตรวจลงตรา แก่นักธุรกิจไทย ทำให้การขยายช่องทางการติดต่อ การเพิ่มพูนมูลค่าการค้าทำได้ไม่กว้างขวางพอ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยได้หาทางขยายตลาดในซาอุดีอาระเบีย โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเมืองเจดดาห์และที่กรุงริยาด ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่จะได้รับการตรวจลงตราจากฝ่ายซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ต่อมา ซาอุดีอาระเบียได้ผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการตรวจลงตรา ซึ่งเป็นผลให้มี การเยือนของภาคเอกชนมากขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่

• ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประพัฒน์ โพธิวรคุณ) ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย (20-23 พฤษภาคม 48) ได้พบหารือกับผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน (กึ่งราชการ) ที่สำคัญของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ Saudi Arabia General Investment Authority (SAGIA) และ Saudi Arabian Basic Industries Corporation (SABIC) และ Saudi Chambers of Commerce and Industry โดยได้มีหนังสือเชิญนาย Abdulrahman Al Jeraisy ประธาน Saudi Chambers of Commerce and Industry มาเยือนไทย ซึ่งนาย Abdulrahman ตอบรับจะมาเยือนไทยในปี 2549

• การเยือนซาอุดีอาระเบียของผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (27 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 48) เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับธนาคารซาอุดีอาระเบีย เช่น National Commercial Bank

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

ด้านการท่องเที่ยว

- ก่อนเกิดปัญหาระหว่างกัน ชาวซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2530 มีจำนวน 77,782 คน ปี 2531 มีจำนวน 68,071 คน ชาวซาอุดีอาระเบียจำนวนมากยังคงต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย แม้รัฐบาลจะยังมีนโยบายห้าม ทั้งนี้ จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2544-2547 มีนักท่องเที่ยวจากอาระเบียเฉลี่ยประมาณปีละ 7,000 คน และในปี 2548-49 มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 1 หมื่นคนและในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียมาไทย 16,896 คน

- อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันทางการซาอุดีมีท่าทีผ่อนปรนสำหรับบุคคลชั้นสูงและนักธุรกิจ ที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย โดยปรากฏแนวโน้มในระยะหลังว่าสมาชิกราชวงศ์มีความนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ด้านทุนศึกษา

รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษาไทยจะได้รับทุนการศึกษาปีละ 3-5 คน เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านศาสนาอิสลาม และภาษาอาหรับหลักสูตร 2 ปี ปัจจุบัน (2549) มีนักศึกษาไทยมุสลิมศึกษาอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมด 67 คน (นครมาดีนะห์ 35 คน นครเมกกะ 9 คน กรุงริยาด 23 คน) และเมื่อ 18-29 พฤศจิกายน 2549 นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ อุปทูตฯ และนายสุขเกษม โยธาสมุทร กงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าพบอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยมุสลิมศึกษาอยู่เพื่อเจรจาขอเพิ่มที่นั่งซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะรับไปพิจารณาต่อไป

ด้านกิจการฮัจย์

ไทยได้รับความร่วมมือจากทางการซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดีเกี่ยวกับการไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยมุสลิมมาโดยต่อเนื่อง ทั้งในการเตรียมการและการประสานงาน โดยในทุกปี กรมการศาสนา จะส่งคณะผู้แทนฮัจย์ไทยไปประชุมกับกระทรวงฮัจย์ (Ministry of Haj) ของซาอุดีอาระเบียเพื่อหารือในด้านการเตรียมที่พัก การขนส่ง การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในปี 2548 ซาอุดีฯ อนุมัติให้ไทยเพิ่มจำนวนผู้แสวงบุญจาก 10,494 คน เป็น 13,500 คน (แต่มีผู้แสวงบุญไทยเดินทางจริง 10,451 คน) และในปี 2549 ไทยได้รับโควตาจากซาอุดีฯ จำนวน 11,000 คน โดยมีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการของไทย (เดินทางถึงนครเมกกะแล้วเมื่อ 13 ธันวาคม 2549)

ความตกลงที่สำคัญ

- ความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรใน
ส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (2537)

- ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีกิจการขนส่งทางอากาศ (Agreement for the
Reciprocal Exemption of Taxes on the Activities of Air Transport Enterprises)

- เอกสารพิธีการ (Proces-Verbal) เพื่อการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารความตกลง เพื่อการเว้นการเก็บภาษีจากกิจการขนส่งทางอากาศ (เมษายน 2539)

- ความตกลงการบิน (ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงบริการขนส่งทางอากาศระหว่างกันที่เมืองเจดดาห์ โดยฝ่ายซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นผลให้ บริษัทการบินไทย ตกลงจะทำการบินไปซาอุดีอาระเบียอีกหลังจากหยุดดำเนินการมาเป็นเวลา 14 ปี รวมทั้งเพิ่มสิทธิ์การบินไปยังเจดดาห์ (จากเดิมที่มีสิทธิ์การบินไปกรุงริยาด เมืองดัมมัม และเมืองดาห์ราน เท่านั้น) ขณะที่lสายการบิน Saudi Arabian Airlines ได้ตกลงจะทำการบินมาไทยอีกครั้ง หลังหยุดมา 3 ปี และจะมีการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน หรือ Code Sharing ระหว่างทั้งสองสายการบิน )

การเยือน

การเยือนของฝ่ายไทย

- พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 มกราคม 2528

- พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางเยือนระหว่าง 4-11 ตุลาคม 2532 ตามคำทูลเชิญของเจ้าชาย Naif bin Abdulaziz Al-Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบีย และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงมหาดไทยของทั้งสองประเทศ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายสากล และดูแลให้ความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต

- ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนระหว่าง 10-12 กุมภาพันธ์ 2533 เพื่อแสดงความเสียใจในเหตุการณ์และคดีที่เกิดขึ้น

- นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนระหว่าง 29 ธันวาคม 2533 - 2 มกราคม 2534 เพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนซาอุดีอาระเบียในช่วงสงครามอ่าวอาหรับ

- นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนในฐานะอามีรุ้ลฮัจย์ ระหว่าง 22-28 เมษายน 2536 และได้เข้าพบเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด เจ้าของเพชรซึ่งถูกโจรกรรม

- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการคมนาคม เดินทางไปซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 เพื่อเข้าร่วมประชุม World Muslim League และได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ Fahad bin Abdulaziz Al-Saud และเจ้าชาย Abdullah bin Abdulaziz Al-Saud มกุฎราชกุมาร พร้อมผู้เข้าร่วมประชุม WML อื่นๆ

- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 19-20 เมษายน 2547 ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และได้เข้าเฝ้าฯ และหารือกับ Crown Prince Abdullah Al Saud รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และผู้สำเร็จราชการของซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น) เกี่ยวกับคดี ที่คั่งค้างและแนวทางความร่วมมือในอนาคตเช่น เรื่อง ACD และการร่วมมือด้านการข่าวเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย

- นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นำคณะเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อเจรจาเตรียมการฮัจย์ ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม 2548

- นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างปะเทศ เป็นผู้แทนพระองค์และผู้แทนรัฐบาล เดินทางไปร่วมพิธีพระศพกษัตริย์ฟาฮัด ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2548

- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2548 เพื่อมอบสารนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกษัตริย์อับดุลลาห์ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


การเยือนของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย

การเยือนของฝ่ายซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่เป็นการเยือนอย่างไม่เป็นทางการ
ที่สำคัญ การเยือนของภาคเอกชน และองค์กรด้านศาสนาอิสลาม และองค์กรสาธารณกุศล ที่สำคัญ ได้แก่

- การเยือนของเจ้าชาย Mohammad bin Nawaf bin Abdulaziz, Director
General of Inspection กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อติดตามคดีที่คั่งค้างระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2536

- เจ้าชาย Turki bin Fahad bin Jalwi Al-Saud ประธานสันนิบาตมุสลิมโลก (World Muslim League) เดินทางมาเยือนเพื่อร่วมพิธีเปิดวิทยาลัยอิสลามยะลา ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2541

- การเยือนของนาย Sulaiman Saleh Al Ogla คณบดีบรรณารักษ์ศาสตร์
มหาวิทยาลัย King Saud และนาย Khaled Al Al Arfaj คณบดีบรรณารักษ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Imam Mohammad ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2542 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

- การเยือนของคณะนักธุรกิจผู้นำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรซาอุดีอาระเบีย
ระหว่างวันที่ 6-12 กันยายน 2546 ตามโครงการของกระทรวงการต่างประเทศ

- การเยือนของคณะสื่อมวลชนซาอุดีอาระเบีย ในฐานะแขกของกระทรวง
การต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม- 2 สิงหาคม 2547

- เจ้าชาย Abdulaziz bin Bandar ผู้ช่วยผู้อำนวยการ General Intelligence Presidency ของซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาพบและหารือกับผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2547

- การเยือนของนาย Abdulrahman Al Sawailarn ประธานสภาเสี้ยววงเดือนแดงซาอุดีอาระเบีย (Saudi Red Crescent Society) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2548


ผู้แทนทางการทูต

ฝ่ายไทย

Royal Thai Embassy
Diplomatic Quarter,
P.O. Box 94359,
Riyadh 11693
Tel. (966-1) 488-1174, 488-0797, 488-0300, 488-1507
Fax. (966-1) 488-1179
E-mail : [email protected]
Website : http://www.thaiembassy.org/riyadh

ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย

The Royal Embassy of Saudi Arabia
82 Saeng Thong Thani Bldg.,
23rd & 24th Fl.,
North Sathorn Rd., Silom,
Bangrak, Bangkok 10500
Tel: 0-2639-2999, 0-2639-2960-3
Fax : 0-2639-2950

******************

กันยายน 2552

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 6404 E-mail : [email protected]

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ