สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์*

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์*

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 134,696 view


สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์*
Republic of the Union of Myanmar

ข้อมูลทั่วไป

*หมายเหตุ ภายหลังการประชุมรัฐสภาเมียนมาร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ เมียนมาร์ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” (เดิมคือ The Union of Myanmar เปลี่ยนเป็น The Republic of the Union of Myanmar) ปัจจุบันมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาประชาชน สภาชาติพันธุ์ และสภาท้องถิ่น โดยมีนายเต็ง เส่ง ดำรงตำแหน่งประธาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔

ที่ตั้ง ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจีน (๒,๑๘๕ กม.)
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับลาว (๒๓๕ กม.) และไทย (๒,๔๐๑ กม.)
ทิศตะวันตกติดกับอินเดีย (๑,๔๖๓ กม.) และบังกลาเทศ (๑๙๓ กม.)
ทิศใต้ติดกับทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล
พื้นที่ ๖๕๗,๗๔๐ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๑.๓ เท่าของไทย)
เมืองหลวง เนปิดอว์ (Nay Pyi Taw)
(ตามที่ระบุในบทที่ ๑๓ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๑ แต่รัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่ได้แจ้งเวียนให้ทราบอย่างเป็นทางการ)
ประชากร ๕๘.๓๘ ล้านคน (ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒)
ภาษาราชการ เมียนมาร์/พม่า
ศาสนา ศาสนาพุทธ (ร้อยละ ๘๙) ศาสนาคริสต์ (ร้อยละ ๕) ศาสนาอิสลาม (ร้อยละ ๔) อื่น ๆ (ร้อยละ ๒)

การเมืองการปกครอง

ประมุข* และประธานาธิบดี นายเต็ง เส่ง (U Thein Sein)
*หมายเหตุ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (Senior General Than Shwe) อดีตประมุข ซึ่งยังคงดำรงยศทางทหาร แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเมียนมาร์
รัฐมนตรีต่างประเทศ นายวันนะ หม่อง ลวิน (U Wunna Maung Lwin)
ระบอบการปกครอง รัฐสภาที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขประเทศและหัวหน้ารัฐบาล
เขตการปกครอง แบ่งการปกครองเป็น 7 รัฐ (state) สำหรับเขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และ 7 ภาค (region) สำหรับเขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายพม่า
วันชาติ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (๒๔๙๑)
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (๒๔๙๑)

เศรษฐกิจการค้า

หน่วยเงินตรา จั๊ต อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ ๗๒๕ จั๊ตเท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๒๔ จั๊ตเท่ากับประมาณ ๑ บาท (ณ เดือนกันยายน ๒๕๕๔)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ๓๑.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๓)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๒,๘๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๓)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๓.๓ (ปี ๒๕๕๓)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรกล ใยสังเคราะห์ น้ำมันสำเร็จรูป
สินค้าส่งออกสำคัญ ก๊าซธรรมชาติ ไม้ เมล็ดพืชและถั่ว

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์*

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเมียนมาร์

๑. ภาพรวมความสัมพันธ์
๑.๑ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ดีขึ้นเป็นลำดับ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนเมียนมาร์แล้ว ๒ ครั้ง คือ การเดินทางเยือนในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ ๕ ต.ค. ๒๕๕๔ และการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ๖ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๙ - ๒๐ ธ.ค. ๒๕๕๔ โดยในครั้งหลังนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับประธานาธิบดีเมียนมาร์ ที่เนปิดอว์ และนางออง ซาน ซู จี ที่กรุงย่างกุ้งด้วย
๑.๒ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสองฝ่ายมีความร่วมมือทวิภาคีที่คืบหน้าในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการปราบปรามยาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และล่าสุด รัฐบาลเมียนมาร์ได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรเมียวดีตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค. ๒๕๕๔ (ภายหลังจากที่ปิดมาตั้งแต่วันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๓) และปล่อยตัวนักโทษชาวไทย ๘ คน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗ รอบ และเป็นการแสดงไมตรีจิตในความสัมพันธ์อันดีกับไทย
๑.๓ ไทยกับเมียนมาร์มีความร่วมมือภายใต้กลไกทวิภาคีที่สำคัญ คือ (๑) คณะกรรมาธิการร่วม (Thailand – Myanmar Joint Commission on Bilateral Cooperation - JC) (๒) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee - RBC) (๓) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee - JBC) รวมทั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคว่าด้วยแม่น้ำที่เป็นเขตแดน และ (๔) คณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Commission - JTC)
๒. ความสัมพันธ์/ความร่วมมือในสาขาต่างๆ
๒.๑ ด้านการค้าการลงทุน
(๑) ในปี ๒๕๕๔ ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของเมียนมาร์ (หลังจากที่ไทยเคยครองอันดับ ๑ จนกระทั่ง ปี ๒๕๕๓ ปัจจุบันอันดับ ๑ คือ จีน)โดยการค้าไทย – เมียนมาร์ ปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๘๕,๖๐๒ ล้านบาท (เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๑๙) ส่วนการค้าชายแดนมีมูลค่า ๑๕๗,๕๙๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๒ ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด
(๒) ไทยมีมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ รวม ๙,๕๖๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับที่ ๒ รองจากจีนและฮ่องกง (มูลค่ารวม ๒๐,๒๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันดับ ๓ คือ เกาหลีใต้ (มูลค่ารวม ๒,๙๓๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สาขาการลงทุนของไทยที่สำคัย ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า การผลิต ประมง และปศุสัตว์ ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนสะสมของไทยในเมียนมาร์เคยครองอันดับ ๑ จนกระทั่งถึงปี ๒๕๕๓
(๓) ไทยและเมียนมาร์มีความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ส.ค. ๒๕๕๕ นอกจากนี้ ไทยและเมียนมาร์ได้ลงนามความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๕๑ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์ได้แจ้งฝ่ายไทย เมื่อวันที่ ๘ ส.ค. ๒๕๕๔ ว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้ว และโดยที่ความตกลงฯดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายไทยจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค. ๒๕๕๔ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรัฐสภาพิจารณาเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับต่อไป
๒.๒ ความร่วมมือด้านแรงงาน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง มีแรงงานเมียนมาร์ที่ได้ลงทะเบียนและผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ๘๐๘,๕๘๐ คน ยังเหลือแรงงานที่ลงทะเบียนแล้ว ๓๐๐,๔๘๒ คน ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.พ. ๒๕๕๕ และมีการนำเข้าแรงงานเมียนมาร์อย่างถูกกฎหมายแล้ว ๑๐๑,๐๙๔ คน (ข้อมูลเดือน ม.ค. ๒๕๕๕) ปัจจุบันฝ่ายเมียนมาร์มีศูนย์พิสูจน์สัญชาติในฝั่งเมียนมาร์ที่เมืองเมียวดีและ ท่าขี้เหล็ก และในฝั่งไทยที่ จ.ระนอง โดยฝ่ายเมียนมาร์จะเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทยอีก ๕ แห่ง ได้แก่ ที่ จ.เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดทำการได้ภายในเดือน มี.ค. ๒๕๕๕
นอกจากนี้ ในการเปิดจดทะบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๕ มิ.ย. – ๑๓ ส.ค. ๒๕๕๔ มีแรงงานเมียนมาร์มาจดทะเบียนเพิ่มเติมอีก ๑,๐๔๗,๖๑๒ คน ซึ่งจะต้องพิสูจน์สัญชาติแรงงานกลุ่มนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๕
๒.๓ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับไทย
- เมื่อวันที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๓ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามกับการท่าเรือเมียนมาร์ในกรอบความตกลงเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและเส้นทางคมนาคม (ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้าและท่อก๊าซ/น้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับ จ.กาญจนบุรี) โดยได้จัดตั้งบริษัท Dawei Development Co.,Ltd. (DDC) เพื่อดำเนินโครงการ
-ฝ่ายไทยได้เตรียมการในฝั่งไทยเพื่อรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายฯ โดยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ขณะนี้ ฝ่ายไทยโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการร่วมกันเตรียมการมในส่วนของไทย
-เมื่อวันที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕ รัฐมนตรีว่าการคลัง เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวม ๔๕ คน เยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และหารือกับคณะผู้แทนเมียนมาร์ ซึ่งนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเมียนมาร์ ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยประธานบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ยืนยันจะดำเนินโครงการฯ โดยคำนึงถึงความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
๒.๔ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมโยงกับเมียนมาร์ โดยในปี ๒๕๕๔รับบาลไทยได้จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อ (๑) ซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ ๑ แบบถาวร เชื่อมโยง อ.แม่สอด จ. ตาก – เมืองเมียวดีของเมียนมาร์ (๒) สร้างถนนช่วงต่อจากเชิงเขาตะนาวศรี – กอกะเร็ก และ (๓) ปรับปรุงถนนแม่สอด/เมียวดี – เชิงเขาตะนาวศรี โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง ๓ โครงการรวมประมาณ ๘๔๐ วัน
๒.๕ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและด้านมนุษยธรรม ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์ฝ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก โดยในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาได้มอบทุนการศึกษาและฝึกอบรมไปแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ ทุน ในวงเงินประมาณ ๕๕๐ ล้านบาท โดยเฉพาะด้านการเกษตร การศึกษาและสาธารณสุข นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือเมียนมาร์ในกรณีภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้ง (๑) เหตุการณ์พายุไซโคลนนารืกีส เมื่อเดือน พ.ค. ๒๕๕๑ ซึ่งไทยให้ความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานต่างๆรวมมูลค่าประมาณ ๑ พันล้านบาท และปัจจุบันยังให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุปกรณ์พยากรณ์อากาศ มูลค่าประมาณ ๔๐ ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีมอบระหว่างการเยือนเมียนมาร์เมื่อวันที่ ๕ ต.ค. ๒๕๕๔ (๒) เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รัฐฉาน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งไทยได้ให้เงินช่วยเหลือรวม ๓.๕ ล้านบาท และสิ่งของบรรเทาทุกข์ และ (๓) ล่าสุด เหตุอุทกภัยฉับพลันที่ภาคมะกวย มัณฑะเลย์ และสะกายในภาคกลางของเมียนมาร์ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ซึ่งไทยได้มอบเงินช่วยเหลือ ๒ ล้านบาท ในขณะเดียวกัน เมียนมาร์ได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวน ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐและสิ่งของบรรเทาทุกข์ สำหรับเหตุการณือุทกภัยในไทยเช่นกัน

๙. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
๙.๑ ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒)
๙.๒ บันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย - เมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓)
๙.๓ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๓)
๙.๔ บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย - แม่น้ำสบรวก (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๔)
๙.๕ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย - เมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๖)
๙.๖ ความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง กรรมสิทธิ์ การจัดการและบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเมย/ทองยิน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๗)
๙.๗ ความตกลงเพื่อการค้าชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙)
๙.๘ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการธนาคาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๙)
๙.๙ หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐)
๙.๑๐ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากเมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐)
๙.๑๑ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑)
๙.๑๒ ความตกลงด้านวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๒)
๙.๑๓ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔)
๙.๑๔ ความตกลงเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)
๙.๑๕ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๖)
๙.๑๖ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับคณะกรรมาธิการการลงทุนของเมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗)
๙.๑๗ บันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๗)
๙.๑๘ หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกงานก่อสร้างถนนในเมียนมาร์สายเมียวดี - เชิงเขาตะนาวศรี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗)
๙.๑๙ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
๙.๒๐ บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงพลังงานไฟฟ้าเมียนมาร์ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มน้ำตะนาวศรี (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘)
๙.๒๑ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กับ Central Control Board on Money Laundering เมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘)
๙.๒๒ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๘)
๙.๒๓ บันทึกความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง การถือครองกรรมสิทธิ์และการบริหารจัดการโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัจจี (ลงนามเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๘)
๙.๒๔ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑)
๙.๒๕ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑)
๙.๒๖ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒)
๙.๒๗ บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสภาธุรกิจไทย - พม่ากับสภาธุรกิจพม่า - ไทย (ลงนามเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓)
๙.๒๘ บันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แห่งราชอาณาจักรไทยกับกรมปศุสัตว์และสัตวบาล กระทรวงปศุสัตว์และประมงเมียนมาร์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓)

๑๐.การเยือนที่สำคัญ
๑๐.๑ ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ระหว่างวันที่ ๒ - ๕ มีนาคม ๒๕๐๓

- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
๑) เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ระหว่างวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ - ๕ มีนาคม ๒๕๓๑
๒) เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าเป็นการส่วนพระองค์ (ชื่อประเทศในขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑
๓) ทรงฝึกทำการบินไปยังพม่า ๓ ครั้ง (ชื่อประเทศในขณะนั้น)คือ เมื่อวันที่ 18 ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ (กรุงย่างกุ้ง) วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑ (กรุงย่างกุ้ง) และวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑ (เมืองมัณฑะเลย์)

- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๑) เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙
๒) เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าเป็นการส่วนพระองค์ 2 ครั้ง (ชื่อประเทศในขณะนั้น) คือ เมื่อวันที่ ๓ - ๔ มีนาคม ๒๕๓๗ (เมืองเชียงตุง) และเมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๖ (กรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองมูเซ เมืองมิตจิน่า เมืองพุเตา เมืองเมียะอู)
๓) เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่า (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ในลักษณะ goodwill private visit เพื่อทอดพระเนตรโครงการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่หลังเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส และการปรับปรุงศูนย์โลหิตแห่งชาติ (กรุงย่างกุ้ง นครเนปิดอว์ เมืองเพียพน เมืองโบกาเล รัฐมอญ) เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓

รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ ๒๙ - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๔ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุม AMM Informal Retreat ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๑ - ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๑๙ - ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือน เมืองท่าขี้เหล็กเพื่อพบกับ พล.ท. ขิ่น ยุ้น เลขาธิการ ๑ SPDC และกำหนดจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ ๒
- วันที่ ๕ - ๖ เมษายน ๒๕๔๕ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ๓ ฝ่าย ไทย - พม่า - อินเดีย ครั้งที่ ๑ เรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๕ - ๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือน (working visit) ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๙ - ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนพม่าในลักษณะ retreat (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ที่เมืองงาปาลี
- วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเมืองท่าขี้เหล็กเพื่อลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ ๒ และวางศิลาฤกษ์งานก่อสร้างสะพาน
- วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๑๐ - ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ACMECS Summit ที่เมืองพุกาม
- วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม World Buddhist Summit ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนพม่า (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ที่กรุงย่างกุ้ง
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๔๘ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนนครเนปิดอว์
- วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๒๓ - ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๒๒ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ ๑๒ ที่นครเนปิดอว์
- วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ (ชื่อประเทศในขณะนั้น)
- วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเมืองท่าขี้เหล็ก
- วันที่ ๒๐ - ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ ๑๓ ที่นครเนปิดอว์


๑๐.๒ ฝ่ายเมียนมาร์
- วันที่ ๘ - ๙ มีนาคม ๒๕๔๒ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย SPDC/ นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๓ - ๕ กันยายน ๒๕๔๔ พล.อ.ขิ่น ยุ้น เลขาธิการ - ๑ SPDC เยือนไทย
- วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๔ พล.อ.ขิ่น ยุ้น เลขาธิการ ๑ SPDC เดินทางมาที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อกำหนดจุดที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ ๒
- วันที่ ๒๓ - ๒๖ เมษายน ๒๕๔๕ รอง พล.อ.อาวุโส หม่อง เอ รอง SPDC เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๖ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย SPDC/ นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ พล.อ.ขิ่น ยุ้น เลขาธิการ - ๑ SPDC เดินทางมาที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์งานก่อสร้างสะพาน
- วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๗ พล.อ.ขิ่น ยุ้น นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ พล.อ.ขิ่น ยุ้น นายกรัฐมนตรี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม BIMST-EC Summit ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙ นายญาน วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนไทยเพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ ๒ ที่จังหวัดเชียงราย
- วันที่ ๒๙ เมษายน - ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ - ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อำเภอชะอำ/หัวหิน และได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
- วันที่ ๙ - ๑๑ เมษายน ๒๕๕๒ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
- วันที่ ๑๗ - ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นายญาน วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๒ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่จังหวัดภูเก็ต
- วันที่ ๒๓ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อำเภอชะอำ/หัวหิน และได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒
- วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔ นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง


ปรับปรุงเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๕


กองเอเชียตะวันออก ๒ กรมเอเชียตะวันออก โทรศัพท์ ๐ ๒๖๔๓ ๕๒๐๐-๑ โทรสาร ๐ ๒๖๔๓ ๕๒๐๒ E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ