สาธารณรัฐมัลดีฟส์

สาธารณรัฐมัลดีฟส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,703 view


สาธารณรัฐมัลดีฟส์
Republic of Maldives

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และทางตะวันตกของศรีลังกา

พื้นที่ 300 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 26 กลุ่ม (atoll) รวม 1,190 เกาะ มีประชากรอาศัยอยู่เพียงประมาณ 200 เกาะ และได้รับการพัฒนาเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวประมาณ 74 เกาะ

เมืองหลวง กรุงมาเล (Male)

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 27 – 30 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี ช่วงที่ปราศจากมรสุม คือ ช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม

ประชากร 394,451 คน (2554) ประกอบด้วยสิงหล ดราวิเดียน อาหรับและแอฟริกัน

ภาษา มัลดิเวียนดิเวฮี (Maldivian Divehi) ซึ่งมีสำเนียงแบบสิงหล และใช้ตัวอักษรอาหรับ

ศาสนา อิสลาม นิกายซุนนี

หน่วยเงินตรา รุฟิยา (Rufiyaa) 1 รุฟิยา มี 100 ลาริ (Laari) 1 บาท ประมาณ 0.48 รุฟิยา (พฤษภาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 8,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.5 % (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง มัลดีฟส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐานผสมกับระบบ Common Law ของอังกฤษ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี เป็นประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ ดร. Mohamed Waheed หัวหน้าพรรค National Unity Party โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 

 

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน

1.   การเมืองการปกครอง

นายเมามูน อับดุล กายูม (Maumoon Abdul Gayoom) ประธานาธิบดีคนก่อน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2521 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Maldivian People’s Party (The Dhivehi Rayithunge Pary) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมาตลอด จึงถูกโจมตีจากผู้ที่คัดค้านว่าผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง และไม่สามารถกระจายรายได้จำนวนมหาศาลจากการท่องเที่ยวสู่ประชาชนได้ จึงนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบในมัลดีฟส์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 มีประชาชนกว่า 5,000 คน เดินขบวนประท้วงประธานาธิบดีในเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีระบอบการเมืองหลายพรรค เป็นผลให้ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ต้องเริ่มดำเนินการปฏิรูปในส่วนต่าง ๆ ที่ชัดเจน เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูประบบศาล การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการให้อิสรภาพต่อสื่อ เป็นต้น

เมื่อเดือนมีนาคม 2549 รัฐบาลประธานาธิบดีกายูมได้ประกาศแผนการปฏิรูปการปกครอง (Roadmap for Reform) ภายใต้หัวข้อ Ushering in a Modern Democracy เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารการปฏิรูปการปกครอง โดยกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในแต่ละหัวข้อและขั้นตอนของการปฏิรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการปกครองของมัลดีฟส์ เช่น การทบทวนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยยุคใหม่ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 การส่งเสริมระบบการปกครองแบบหลายพรรค โดยเสนอร่างกฎหมายการเลือกตั้งใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดกฎเกณฑ์ด้านการเลือกตั้ง จัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านการเลือกตั้ง และทบทวนเขตการเลือกตั้งและให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านทางสื่อ เป็นต้น

ผลจากความพยายามในการปฏิรูปการปกครอง มัลดีฟส์ได้บังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2551 และได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนตุลาคม 2551 โดยนายมุฮัมเหม็ด นาชีด (Mohamed Nasheed) หัวหน้าพรรค Maldivian Democratic Party ได้รับชัยชนะนับเป็นจุดสิ้นสุดยุคอำนาจของอดีตประธานาธิบดีกายูม ที่ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศมาตลอดระยะเวลา 30 ปี

ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2555 รัฐบาลของประธานาธิบดี Mohamed Nasheed ได้จับกุมหัวหน้าผู้พิพากษาศาลอาญามัลดีฟส์ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมและสนับสนุนฝ่ายค้าน ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงโดยประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และฝ่ายค้าน (กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี Maumoon Abdul Gayoom ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2551) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ดร. Mohamed Waheed รองประธานาธิบดีมัลดีฟส์ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5  ภายหลังจากประธานาธิบดี Mohamed Nasheed ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล  โดย ดร. Mohamed Waheed ประธานาธิบดีฯ ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (National Unity Government) และเชิญผู้แทนจากทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคฝ่ายค้านของอดีตประธานาธิบดี Maumoon Abdul Gayoom และ พรรค Maldivian Democratic Party (MDP) ของอดีตประธานาธิบดี Nasheed เป็นต้น  รวมทั้งประกาศนโยบายที่จะนำไปสู่การยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง  

2.   เศรษฐกิจและสังคม

มัลดีฟส์ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีรายได้มากกว่าร้อยละ 70 ของรายได้หลักของประเทศ แต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2549 และวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มัลดีฟส์ได้รับผลกระทบอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นจำนวนมากและเป็นผลทำให้รัฐบาลมัลดีฟส์สูญเสียรายได้มหาศาล ด้วยเหตุนี้ มัลดีฟส์จึงพยายามจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาสู่ประเทศ อย่างไรก็ดี มัลดีฟส์ มีสาขาประมงที่เข้มแข็ง และเป็นรายได้สำคัญรองจากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ มัลดีฟส์เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่าที่สำคัญ

รัฐบาลมัลดีฟส์มีนโยบายกระจายความเจริญไปยังส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้กับประชาชนในประเทศ ในการนี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นต่าง ๆ  โดยมีแผนให้เอกชนเข้ามาบริหารบางกิจการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งรัฐบาลมัลดีฟส์จะให้มาตรการจูงใจรูปแบบต่าง ๆ

3. นโยบายต่างประเทศ

ในด้านการต่างประเทศนั้น มัลดีฟส์มีบทบาทน้อยมากในเวทีระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation หรือ SAARC) และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement หรือ NAM) อย่างไรก็ดี มัลดีฟส์มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจทำให้มัลดีฟส์ต้องจมลงใต้ทะเลในปี 2557

มัลดีฟส์มีนโยบายต่างประเทศที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียและศรีลังกา ประเทศตะวันตก และกลุ่มประเทศมุสลิม นอกจากนี้ มัลดีฟส์ยังมีบทบาทในการพยายามผลักดันให้ยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศหมู่เกาะ เพราะมัลดีฟส์เคยประสบกับเหตุการณ์ทหารต่างชาติรุกรานอธิปไตยเมื่อปี 2534 แต่ได้รับความช่วยเหลือจากอินเดียในการปราบปรามผู้รุกรานจนสำเร็จ และมีนโยบายให้ประเทศมหาอำนาจคำนึงถึงเอกราชและอธิปไตยของประเทศเล็ก ๆ ด้วย

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1.   ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยกับมัลดีฟส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2522 รวมระยะเวลากว่า 30 ปี นับถึงปัจจุบัน และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอดทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน   ไทยดำเนินความสัมพันธ์กับมัลดีฟส์ตามนโยบาย Look West โดยเน้นบทบาทผู้ให้ความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนา อย่างไรก็ดี ความร่วมมือระหว่างกันมีพลวัตรน้อย เนื่องจากมัลดีฟส์เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก ทำให้ขาดผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจน

ปัจจุบัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำมัลดีฟส์ และมีนายมุฮัมเหม็ด ซอลิห์ (Mohamed Salih) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำมัลดีฟส์ และมีนายมุฮัมมัด ซากิ (Mr. Mohamad Zaki) ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และได้เข้าถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 นอกจากนี้มีนายสนั่น อังอุบลกุล ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์มัลดีฟส์ประจำประเทศไทย

1.1  ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

การค้า - ในช่วงปี 2554 การค้าระหว่างไทยกับมัลดีฟส์มีมูลค่า มีมูลค่า 108.72 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งสินค้าออกไปยังมัลดีฟส์เป็นมูลค่า 68.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากมัลดีฟส์ 40.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยไทยนำเข้าปลาทูน่าสดแช่แข็งและแช่เย็นจากมัลดีฟส์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สินค้าจากไทยเข้าสู่มัลดีฟส์มีปริมาณมากกว่าที่ปรากฏตามสถิติ เนื่องจากสินค้าไทยผ่านการ re-export ทางสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ

การท่องเที่ยว - นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปมัลดีฟส์ในปี 2554 จำนวนประมาณ 5,397 คน นักท่องเที่ยวมัลดีฟส์เดินทางมาไทยในปี 2554 จำนวน 8,343 คน ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ได้เปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพและกรุงมาเล สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน

การประมง - มัลดีฟส์เป็นแหล่งปลาทูน่าที่สำคัญในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของมัลดีฟส์ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่มีการติดต่อเพื่อทำประมงร่วมกับมัลดีฟส์ ทั้งระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน ปัจจุบัน มัลดีฟส์ไม่อนุญาตให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปทำประมงในทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อนึ่ง ฝ่ายไทยเคยส่งเรือวิจัยประมงของกรมประมงเดินทางไปทำการศึกษาและวิจัยด้านปลาทูน่าในมัลดีฟส์ในบางโอกาส

1.2  ความร่วมมือทางวิชาการ

ในการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทยกับมัลดีฟส์ (Thai – Maldives Joint Commission on Economic and Technical Cooperation) ณ กรุงมาเล เมื่อปี 2535 และ 2536 รัฐบาลไทย (โดยกรมวิเทศสหการหรือสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในปัจจุบัน) เริ่มให้ความช่วยเหลือแก่มัลดีฟส์อย่างจริงจัง ทั้งด้านสาธารณสุข การประมง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว การให้ทุนศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยแก่นักเรียนและนักศึกษามัลดีฟส์ รวมทั้งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชและการแพทย์ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่มัลดีฟส์ตามโครงการ Thai Aid Programme โครงการ Third Country Training Programme และข้อตกลงในกรอบของความร่วมมือทางวิชาการ

สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้ทุนฝึกอบรมแก่มัลดีฟส์ โดยเฉลี่ยปีละ
5 - 10 ทุน  ปัจจุบัน  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเพิ่มขีดความสามารถในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและตรงกับความต้องการของมัลดีฟส์ อาทิ การท่องเที่ยว การเกษตร การประมง และการสาธารณสุข

1.3 แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย - มัลดีฟส์

เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ล่าสุด การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกสาขาและทุกระดับน่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นต่อไปได้อย่างราบรื่น

โดยที่รัฐบาลมัลดีฟส์ต้องการเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องการเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในมัลดีฟส์ ในสาขาต่าง ๆ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการแปรรูปอาหาร ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศจึงน่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และจะเป็นแกนหลักของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต่อไป

นอกจากนี้ การเปิดสถานกงสุล ณ กรุงมาเล เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 จะมีประโยชน์ในส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น และจะก่อให้เกิดพลวัตรที่จะนำมาสู่การเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป

1.4   คนไทยและแรงงานไทยในมัลดีฟส์

แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมัลดีฟส์กระจายตัวอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในภาคการก่อสร้าง โรงแรม สปา และพ่อครัว    ข้อมูลของกรมการจัดหางานเมื่อปี 2553 (2010) รายงานจำนวนแรงงานไทยในมัลดีฟส์ว่ามี 158 คน แต่กระทรวงแรงงานมัลดีฟส์ระบุว่า มีแรงงานไทยประมาณ 1,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ที่ 1,387 คน

ตัวเลขแรงงานไทยในมัลดีฟส์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในมัลดีฟส์ทยอยแล้วเสร็จ (ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ) กอปรกับกระทรวงแรงงานไทย (ก) มีความเข้มงวดในการตรวจสอบแรงงานไทยที่จะเข้าไปทำงานในมัลดีฟส์มากขึ้น (ข) มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับแรงงานไทยที่สนใจเข้าไปทำงานในมัลดีฟส์ และ (ค) พิจารณาระงับการส่งแรงงานไปมัลดีฟส์สำหรับผู้ที่มีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงาน (เคยมีกรณีปัญหาแรงงานไทยถูกล่อลวงไปทำงานในมัลดีฟส์)

กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำมัลดีฟส์มีแผนการลงทะเบียนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในมัลดีฟส์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

2.   ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย

2.1   ความตกลงว่าด้วยการเดินอากาศไทย - มัลดีฟส์ (ลงนามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2532)

2.2   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย - มัลดีฟส์ (ลงนามเมื่อวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2546)

 

3.   การเยือนที่สำคัญ

3.1   ฝ่ายไทย

- ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2528

- นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนมัลดีฟส์ เพื่อร่วม      การประชุมเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางวิชาการและงานพัฒนาด้านสาธารณสุขเมื่อวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2531

- นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยือนมัลดีฟส์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 – 8 เมษายน 2543

- นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะเดินทางเยือน

มัลดีฟส์อย่างเป็นทางการ เพื่อเจรจาความร่วมมือสาธารณสุข และลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันเมื่อวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2546

- นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนมัลดีฟส์ และพบหารือกับนาย Mohamed Nasheed ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2552 

- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีกับนาย Mohamed Nasheed ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ระหว่างการประชุม United Nations Climate Change Conference หรือ COP-15 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552

 

3.2   ฝ่ายมัลดีฟส์

- นาย Maumoon Abdul Gayoom ประธานาธิบดี เดินทางแวะผ่านไทยตามคำเชิญฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 5 - 6 และ 9 - 10 ธันวาคม 2528

- นาย Maumoon Abdul Gayoom ประธานาธิบดี เยือนไทย เพื่อร่วมการประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Council on Education for All) เมื่อวันที่ 5 – 9 มีนาคม 2533

- นาย Abdulla Shahid รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือทวิภาคีกับนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 - 29 มีนาคม 2551

- ดร. Mohamed Waheed รองประธานาธิบดี และได้เข้าเยี่ยมคารวะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552

- นาย Mohamed Nasheed ประธานาธิบดี เดินทางแวะผ่านไทย และได้ให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบหารือกับ เมื่อวันที่ 30 เมายน 2553

- นาย Mohamad Zaki เอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย (ถิ่นพำนัก ณ
กรุงกัวลาลัมเปอร์) เข้าร่วมคณะทูตานุทูตเดินทางศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ ในจังหวัดกรุงเทพฯ – เชียงราย – เชียงใหม่ จัดโดย สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  ระหว่างวันที่  28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2554 ทั้งนี้ คณะทูตานุทูต ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 29 กันายน 2554


**********************************

มิถุนายน 2555

กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ