มาเลเซีย

มาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 81,105 view


มาเลเซีย
Malaysia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ประกอบด้วย 11 รัฐ คือ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เประ กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เกดะห์และปะลิส มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์และซาราวัก นอกจากนี้ ยังมีเขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐ อีก 3 เขต คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน

พื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร ( ประมาณ 64% ของไทย)

เมืองหลวง กรุงกัวลาลัมเปอร์

ประชากร 29.512 ล้านคน

ภาษาราชการ มาเลย์

ศาสนา อิสลาม (60%) พุทธ (19%) คริสต์ (12%)

 

การเมืองการปกครอง

ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดี อัลมูตัสสิมู บิลลาฮี มูฮิบบุดดิน ตวนกู อัลฮัจญ์ อับดุล ฮาลิม มูอัซซัม ชาห์ อิบินี อัลมาฮูม สุลต่าน บาดิชาห์ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 14 (His Majesty Almu’tasimu Billahi Muhibbuddin Tuanku Alhaj Abdul Halim Mu'adzam Shah ibini Almarhum Sultan Badlishah The Yang di-Pertuan Agong XIV of Malaysia)

ผู้นำรัฐบาล ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัค (Dato’ Sri Mohd Najib bin Tun Abdul Razak)

รัฐมนตรีต่างประเทศ ดาโต๊ะ ซรี อานิฟาห์ บิน ฮัจญี อามาน (Dato’ Sri Anifah bin Haji Aman)

ระบอบการปกครอง สหพันธรัฐ โดมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang di-Pertuan Agong) เป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 แห่ง (ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง สลังงอร์ เกดะห์ กลันตัน เนกรีเซมบิลัน เประและปะลิส) และผลัดเปลี่ยนหมุดเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี โดมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ และมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar ในกรณีที่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือ Chief Minister ในกรณีที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ) เป็นหัวหน้ารัฐบาลแห่งรัฐ

เขตการปกครอง มาเลเซียแบ่งเขตการปกครองเป็น 13 รัฐ ได้แก่ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เประ กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เกดะห์ ปะลิส ซาบาห์และซาราวัก และ 3 ดินแดนสหพันธ์ ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน

วันชาติ 31 สิงหาคม

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500

 

 

เศรษฐกิจการค้า

หน่วยเงินตรา ริงกิต (1 ริงกิตประมาณ 10.17บาท สถานะ ก.พ.2556)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 307.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 10,502 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
 
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.2 (ปี 2555)

สินค้านำเข้าสำคัญ ไฟฟ้าและอิเล็ก เครื่องจักรและอุกรณ์ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป อุปกรณ์ด้านการขนส่ง

สินค้าส่งออกสำคัญ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ด้านการขนส่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ
อนิกส์ น้ำมันปาล์ม เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมันดิบ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 และมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบันคือ นายกฤต ไกรจิตติ  ซึ่งเดินทางไปรับหน้าที่เมื่อวันที่ 2 เดือนตุลาคม 2555 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ (1) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และ (2) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซียได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน และสำนักงานประสานงานตำรวจ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาเลเซีย 

มาเลเซียมีสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้แก่ ดาโต๊ะ นาซีระห์ บินตี ฮุสซัยน์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 และมีสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา และกงสุญใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ได้แก่ นายไฟซัล แอต มุฮัมมัด ไฟซัล บิน ราซาลี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission : JC) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy : JDS) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ซึ่งทั้ง 3 ระดับเป็นกรอบความร่วมมือของฝ่ายทหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และความร่วมมือชายแดน คณะกรรมการด้านความมั่นคงกรอบอื่น ๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และความร่วมมือในกรอบ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) และอาเซียน และ (2) ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศและการเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures) บนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา (Education) การจ้างงาน (Employment) และการประกอบกิจการ (Entrepreneurship) 

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีพลวัตร รวมทั้งตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการมี “จุดมุ่งหมาย” ร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง

กองทัพไทยกับมาเลเซียมีการฝึกทางทหารระหว่างกันเป็นประจำ ได้แก่ (1) LAND EX THAMAL ซึ่งเป็นการฝึกประจำปีเริ่มเมื่อปี 2536 (2) THALAY LAUT ซึ่งมีการฝึกครั้งแรกเมื่อปี 2523 จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยไทยกับมาเลเซียสลับกันเป็นเจ้าภาพ (3) SEA EX THAMAL เริ่มเมื่อปี 2522 มีพื้นที่ฝึกบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการร่วมชายแดนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซียทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (4) AIR THAMAL เป็นการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีตามบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2525 โดยทำการฝึกทุกปี ประกอบด้วยการฝึกภาคสนามสลับกับการฝึกปัญหาที่บังคับการ และสลับกันเป็นเจ้าภาพ  และ (5) JCEX THAMAL เป็นการฝึกร่วม/ผสมภายใต้กรอบการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 - 7 มีนาคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารและเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยประจำปี 2555 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มและเมื่อวันที่ 17-19 เมษายน 2555 รองผู้บัญชาการทหารบกและผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงกลาโหมได้เดินทางเยือนมาเลเซียเพื่อเข้าร่วม Defence Services Asia – DSA 2012) ครั้งที่ 13 และมาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย - มาเลเซีย (HLC) ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤษภาคม 2555 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้า  

ในปี 2554 มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4  การค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 24,724.8  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (749,626.68 ล้านบาท) ไทยส่งออก 12,398.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (373,606.62 ล้านบาท) และนำเข้า 12,326.06  ล้านดอลลาร์สหรัฐ(376,020.05 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 72.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เสียเปรียบดุลการค้าเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,4613.43 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้ารวมปี 2553 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 18,688.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (560,654.99 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 6,602.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (198,073.34 ล้านบาท) ทั้งนี้ การค้าชายแดนประกอบเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ของการค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย

สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ  น้ำมันสำเร็จรูป  แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียประกอบด้วย น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่และโลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

การลงทุน

ในปี 2554 มาเลเซียลงทุนในไทยจำนวน 34 โครงการ มีมูลค่า 6,135 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาการบริการยานยนต์ การเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 21 โครงการ  คิดเป็นมูลค่า 3,863 ล้านบาท มาเลเซียสนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมาเลเซียมีศักยภาพในการลงทุน และการลงทุนในไทยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากไทยมีแรงงานและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดีกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้ Malaysia Industrial Development Authority (MIDA) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่มีภาคการลงทุนของไทยลงทุนด้วยจำนวน 3 โครงการ มีมูลค่า 2,415 ล้านบาท นักลงทุนไทยที่สนใจไปลงทุนในมาเลเซียได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เครือซีเมนต์ไทย กลุ่มบริษัทสามารถ และร้านอาหารไทย

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางมาประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 2.47 ล้านคน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียจำนวน 1.52 ล้านคน

แรงงานไทย

ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในมาเลเซียประมาณ 210,000 คน โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 6,600 คน ทั้งนี้ ในปี 2553 มีแรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในมาเลเซียจำนวน 458,698 คน โดยแรงงานจากอินโดนีเซียจัดเป็นลำดับหนึ่ง ร้อยละ 55.81 และแรงงานไทยจัดอยู่ในลำดับ 9 ร้อยละ 1.45 มาเลเซียมีความต้องการแรงงานไทยสาขาก่อสร้าง งานนวดแผนไทย งานบริการ การเกษตรชายแดน อุตสาหกรรมและงานแม่บ้าน ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้ ค่าจ้างขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไทยกับมาเลเซียมีความร่วมมือด้านแรงงานในกรอบคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือแรงงานภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-มาเลเซีย

 
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียประกอบด้วย (1) กลุ่มแรงงานไทยในร้านต้มยำของมาเลเซีย (ร้านอาหารไทย) จำนวนมากกว่า 10,000 คน และ (2) กลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งศึกษาระดับมัธยมต้น - มัธยมปลายในโรงเรียนสอนศาสนาของรัฐบาลมาเลเซียจำนวน 350 คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนมาเลย์เชื้อสายสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยอาศัยอยู่ใน 4 มณฑลในภาคใต้ตอนล่างของสยาม เนื่องจากเมื่อปี 2452 รัฐบาลสยามตกลงมอบ 4 มณฑลให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกับการให้อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามในส่วนอื่นของประเทศ คนเหล่านี้จึงตกค้างและกลายเป็นพลเมืองของมาเลเซียในปัจจุบัน คนสยามดังกล่าวมีการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสื่อสารในท้องถิ่น

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 21 สิงหาคม 2550 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 19 มกราคม 2554 ซึ่งดำเนินความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และการให้ทุนการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการไทย - มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Think Tank and Scholar Network) โดยมีศูนย์ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Institute of Strategic and International Studies ของมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานหลัก

 
ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ


การเยือนที่สำคัญของฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- วันที่ 20 - 27 มิถุนายน 2505 เสด็จฯ เยือนสหพันธ์มลายาอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 25 เมษายน 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนรัฐกลันตันอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน เพื่อทรงร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำในวโรกาสที่สุลต่านแห่งรัฐกลันตันทรงครองราชย์ครบ 25 ปี

- วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนรัฐกลันตัน เพื่อทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ในวโรกาสพิธีอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารรัฐกลันตัน กับนางสาวกังสดาล พิพิธภักดี (สตรีไทยซึ่งมีภูมิลำเนาที่ จ.ปัตตานี)   

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

- วันที่ 7 - 12 กรกฎาคม 2529 เสด็จฯ เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 8 แห่งมาเลเซีย

- วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานฉลองเอกราช 50 ปี ของมาเลเซีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 แห่งมาเลเซีย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- วันที่ 6 -12 พฤษภาคม 2526 ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสภากาชาด-สมาชิกวงเดือนแดง กลุ่มประเทศอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลมาเลเซีย     

- วันที่ 11 - 15 เมษายน 2537 เสด็จฯ เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 17 - 19 มีนาคม 2540 เสด็จฯ เยือนมาเลเซียเพื่อทอดพระเนตรโครงการเกษตรในพื้นที่สูง ที่คาเมรอนไฮแลนด์

 

- วันที่ 24 กรกฎาคม 2555 เสด็จฯ เยือนมาเลเซียเพื่อทรงนำนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปศึกษาดูงานด้านอิสลามสายกลาง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

- วันที่ 8 -11 กรกฎาคม 2544

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

- วันที่ 8 กันยายน 2544

 

รัฐบาล

- วันที่ 24 - 25 เมษายน 2544 พันตำรวจโททักษิณชินวัตร เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 18 ตุลาคม 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 23 - 24  เมษายน 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 8 มิถุนายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 8 - 9 มีนาคม 2544 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

-  วันที่ 9 - 12 มิถุนายน 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

-  วันที่ 22 - 23 มีนาคม 2550 นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

 

การเยือนที่สำคัญของฝ่ายมาเลเซีย

พระราชวงศ์

สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี

- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2507 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- วันที่ 1 -8 กุมภาพันธ์ 2516 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ     

- วันที่ 17 - 21 ธันวาคม 2528 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 8 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ     

- วันที่ 17 - 21 ธันวาคม 2533 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 9 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ     

- วันที่ 27 - 30 มีนาคม 2543 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 11 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ      

- วันที่ 11 - 14 มิถุนายน 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 12 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     

- วันที่ 9 - 12 มีนาคม 2552 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ      

รัฐบาล

- วันที่ 16 มกราคม 2547 ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

- วันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2547 ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต และเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ระหว่างบ้านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส กับบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน     

- วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2550 ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล     

- วันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2552 ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 4

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2553 ที่กรุงเทพฯ


ปรับปรุงเมื่อ เมษายน 2556

กองเอเชียตะวันออก 1 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5195-6 Fax. 0-2643-5197

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ