สาธารณรัฐคีร์กิซ

สาธารณรัฐคีร์กิซ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,942 view


สาธารณรัฐคีร์กิซ
Kyrgyz Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่ในเอเชียกลาง ทางทิศตะวันตกของจีนและทิศใต้ของคาซัคสถาน (ระหว่างเทือกเขาเทียนชานและพาเมียร์)

พื้นที่ 198,500 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เพาะปลูกร้อยละ 7

ภูมิอากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป

เมืองหลวง บิชเคก (Bishkek)

ประชากร ประมาณ 5.58 ล้านคน (2554) แบ่งเป็น - ชาวคีร์กีซ ร้อยละ 68.9 -ชาวอุซเบก ร้อยละ 14.4 - ชาวรัสเซีย ร้อยละ 9.1 - อื่น ๆ ร้อยละ 7.6

ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 75 รัสเซีย (ออร์โธดอกซ์) ร้อยละ 20  อื่นๆ ร้อยละ 5

ภาษาราชการ คีร์กีซและรัสเซียเป็นภาษาราชการ

วันชาติ 31 สิงหาคม (เรียกว่าวันประกาศเอกราช เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1991 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต)

สกุลเงิน เงินซอม (Som)

เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 6 สิงหาคม 2535 (1992)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการเมืองการปกครอง นับแต่สาธารณรัฐคีร์กีซได้แยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2534 มีการจัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข

ประมุข H.E. Mr. Almazbek Atambayev

นายกรัฐมนตรี H.E. Mr. Omurbek Babanov

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ H.E. Mr. Ruslan Kazakbaev

รัฐสภา สาธารณรัฐคีร์กีซมีการปกครองระบบสภาเดียวเรียกว่า Jogorku Kenesh มีวาระ 5 ปี โดยภายหลังจากการประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ที่นั่งของผู้แทนเพิ่มขึ้นจาก 90 ที่นั่งเป็น 120 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญ ผลจากการประชามติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งลดอำนาจประธานาธิบดี โดยให้รัฐสภาและนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 6 ปี โดยไม่สามารถลงเลือกตั้งซ้ำในวาระต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียังคงเป็นผู้นำแห่งรัฐ และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการต่างประเทศ ความมั่นคง ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง  นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในกรณีที่พรรคใดพรรคหนึ่งไม่สามารถได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา

สถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อเดือนเมษายน 2553 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในสาธารณรัฐคีร์กีซ โดยประชาชนได้รวมกันประท้วงและขับไล่ นายคูมานเบ็ก บาคิเอฟ (Kurmanbek Bakiev) ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการประท้วงเนื่องมาจากปัญหาการทุจริต การบริหารประเทศอย่างไม่มีประสิทธิภาพและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังจากการลาออกของนายบาคิเอฟในเดือนเมษายน ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว นำโดยนางโรซ่า โอตุนบาเยวา (Roza Otunbayeva)  

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะและความรุนแรงระหว่างชาวคีร์กีซเชื้อสายอุซเบกและชาวคีร์กีซทางตอนใต้ของประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลชั่วคราวได้จัดให้มีการประชามติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ให้การยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่และตอบรับการดำรงตำแหน่งของนางโอตุนบาเยวาอย่างเป็นทางการจนถึงสิ้นปี 2554

จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 นายอัลมาซเบ็ก อาตามบาเอฟ (Almazbek Atambayev) นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครเป็นประธานาธิบดีมีคะแนนนิยมมากที่สุด และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว

นโยบายต่างประเทศ
สาธารณรัฐคีร์กีซมีนโยบายต่างประเทศที่มุ่งพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ และมุ่งหาตลาดการค้าใหม่ในต่างประเทศ โดยความร่วมมือนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกันและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ นโยบายดังกล่าวกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสาธารณรัฐ คีร์กีซตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศใหญ่ คือ จีนกับรัสเซีย นอกจากนั้น ปัจจุบันอเมริกากับญี่ปุ่นพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์โดยการขยายเขตอิทธิพลในบริเวณเอเชียกลางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างประเทศหลักของสาธารณรัฐคีร์กีซได้หันมาเน้นความสำคัญกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในรูปแบบของความร่วมมือใต้ - ใต้ โดยสาธารณรัฐคีร์กีซได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้และไทย และมีการพัฒนาความเข้าใจที่ดีต่อกันกับญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและเกาหลีใต้

ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ สาธารณรัฐคีร์กีซเป็นประเทศเดียวในเอเชียกลางที่มีฐานทัพของทั้งรัสเซียและสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ ที่ผ่านมาผู้นำสาธารณรัฐคีร์กีซได้รับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากรัสเซียและอเมริกา เช่น เงินช่วยเหลือจากรัสเซีย และค่าเช่าการใช้ Manas Airbase ที่ได้รับจากอเมริกานอกจากนั้นแล้วสาธารณรัฐคีร์กีซยังถือว่าเป็นประเทศที่มีความเปิดกว้างและเป็นเสรีนิยมมาก รวมถึงเป็นประเทศเดียวในเอเชียกลางที่เป็นสมาชิก WTO ดังนั้นประเทศมหาอำนาจและประเทศตะวันตกจึงจับตาความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ

ความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของสาธารณรัฐคีร์กีซยังมีความตึงเครียดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีความขัดแย้งเรื่องน้ำและพลังงานกับประเทศที่มีชายแดนติดกัน คืออุซเบกิสถาน นอกจากนั้น ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติระหว่างคนคีร์กีซเชื้อสายอุซเบกทางตอนใต้ กับคนคีร์กีซในส่วนที่เหลือของประเทศก็ยังอาจเป็นฉนวนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ได้ นอกจากนั้น สถานการณ์ความไม่สงบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างสองเชื้อชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน มิถุนายน 2553 ทำให้ประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันในประเทศของตนด้วย

เศรษฐกิจการค้า

ภาพรวม ถึงแม้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศตะวันตก รวมถึง IMF สาธารณรัฐคีร์กีซในช่วงแยกตัวมาจากสหภาพโซเวียตยังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความผกผัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสาธารณรัฐคีร์กีซได้พยายามสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตในระยะยาว การบูรณาการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐคีร์กีซส่งผลให้คีร์กีซสามารถเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 1998 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม นโยบายทางเศรษฐกิจภายในประเทศของสาธารณรัฐคีร์กีซต้องคำนึงถึงรากฐานความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและทางเชื้อชาติ และต้องพยายามยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

การเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสาธารณรัฐคีร์กีซ โดยในปี 2553 ร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมาจากเกษตรกรรม และร้อยละ 32 ของการจ้างงานในประเทศมาจากเกษตรกรรม ทั้งนี้ การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นส่วนประกอบสำคัญของการอุตสาหกรรมและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการลงทุน

ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,075 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 16.6
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.6
อุตสาหกรรม เครื่องจักรขนาดเล็ก สิ่งทอ อาหารแปรรูป ซีเมนต์ รองเท้า ไม้ซุง ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์
ทรัพยากรธรรมชาติ ทองคำ ยูเรเนียม ปรอท ถ่านหิน พลังงานไฟฟ้าจากน้ำ
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน สหรัฐฯ
ตลาดส่งออกที่สำคัญ สวิตเซอร์แลนด์ คาซัคสถาน รัฐเซีย อัฟกานิสถาน จีน
สินค้านำเข้าที่สำคัญ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร
สินค้าออกที่สำคัญ ทองคำ ปรอท ยูเรเนียม ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักร ฝ้าย ขนสัตว์ เนื้อสัตว์ ยาสูบ รองเท้า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กิซ

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ไทยรับรองเอกราชของคีร์กิซสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐคีร์กีซสถาน (Republic of Kyrgyzstan) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 ต่อมาประเทศได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐคีร์กีซ (Kyrgyz Republic) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2536

นับตั้งแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ยังอยู่ในระดับที่เริ่มต้นเท่านั้น ทั้งในความร่วมมือทวิภาคีระดับต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนการเยือน ทั้งนี้ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซยังผ่านทางกรอบพหุภาคีในฐานะที่ทั้งไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซต่างเป็นสมาชิกของกรอบการประชุมว่าด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ด้วย

สำนักงานผู้แทนทางการทูตระหว่างกัน

ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดูแลความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐคีร์กีซ

สาธารณรัฐคีร์กีซได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคีร์กีซประจำมาเลเซียมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ในรอบปีที่ผ่านมา การปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซมีเพิ่มมากขึ้น โดยมีการพบหารือของผู้แทนระดับสูงมากขึ้น นอกจากยังมีการติดต่อระหว่างกันในระดับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานผู้แทนทางการทูตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศด้านการเมืองส่งผลไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่น ๆ ด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สาธารณรัฐคีร์กีซ ยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มูลค่าการค้าปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 3.69 ดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 3.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 0.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 0.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ นำเข้า 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าสำคัญ ที่นำเข้าจากสาธารณรัฐคีร์กีซ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า กล้อง เลนส์และอุปกรณ์การถ่ายรูปและภาพยนตร์

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซยังมีไม่มากนัก แต่ไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซก็พยายามพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือทางวิชาการ คือ การให้ทุนสำหรับผู้แทนชาวคีร์กีซเดินทางมาดูงานและศึกษาอบรมระยะสั้น ๆ นอกจากนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ฝ่ายคีร์กีซได้ขอให้ไทยนำวรรณกรรมที่แต่งโดยนักเขียนชาวคีร์กีซ คือ นายชิงกิซ เอ็ทมาทอฟ (Chingiz Aitmatov) และได้แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณธนิต ธรรมสุคติ ไปแสดงในเทศกาลหนังสือนานาชาติด้วย

ความตกลงที่ลงนามกับไทย
ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (Air Service Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
- นายเฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เยือนสาธารณรัฐคีร์กีซอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. – 1 ต.ค. 2554 โดยได้พบหารือกับนายรุสลัน คาซัคบาเอฟ (Ruslan Kazakbaev) รมว.กต. สาธารณรัฐคีร์กีซ และนายโอเล็ก พานคราเทเอฟ (Oleg Pankratyev) รมช.ศก.สาธารณรัฐคีร์กีซ และผู้แทนระดับสูงของสาธารณรัฐคีร์กีซด้วย

ฝ่ายคีร์กีซ

- นายรุสลัน คาซัคบาเอฟ (Mr. Ruslan Kazakbaev) รมว.กต.สาธารณรัฐคีร์กีซ เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม ESCAP และได้พบหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รมว.กต. ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2554 นาย นูร์ลาน เอทมูร์ซาเอฟ (Mr. Nurland Aitmurzaev) Alikbek Djekshenkoulov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม AMED ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 14 - 16 ธันวาคม 2553 โดยได้พบหารือกับ นายกษิตย์ ภิรมย์ รมว.กต.ในขณะนั้น

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคีร์กีซประจำประเทศมาเลเซีย
10-C, Lorong Damai 9
55000 Kuala Lumpur
Malaysia
Tel: 603 2163-2012

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก
Ul. Bolshaya Spasskaya 9,
Moscow 129090 Russia
โทร. +7495 608-0817, 608-0856, 608-6671
แฟกซ์: +7495 690-9659, 607-5343

************
กรกฎาคม 2555

กลุ่มงานเอเชียกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0 2643 5518

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ