รัฐอิสราเอล

รัฐอิสราเอล

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 37,279 view


รัฐอิสราเอล
The State of Israel

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ทวีปเอเชีย โดยอยู่กึ่งกลางระหว่างยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
- ทิศเหนือ ติดกับเลบานอน
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับซีเรีย
- ทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับจอร์แดนแม่น้ำจอร์แดน และ Dead Sea
- ทิศตะวันตก ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
- ทิศใต้ ติดกับอ่าว Aqaba (Red Sea)
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับคาบสมุทรไซนาย อียิปต์

พื้นที่ 20,770 ตารางกิโลเมตร (พื้นดิน 20,330 ตารางกิโลเมตร
พื้นน้ำ 440 ตารางกิโลเมตร)

ประชากร 7.3 ล้านคน เป็นชาวยิวประมาณ 5.4 ล้านคน
เมืองหลวง กรุงเทลอาวีฟ

ภาษา ภาษา Hebrew และ Arabic เป็นภาษาราชการแต่ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ดี

ศาสนา ยูดาย 76.4 % มุสลิม 16 % คริสต์ 2.1 % อื่น ๆ 5.5 %

หน่วยเงินตรา เชคเกล (New Israeli Shekel) อัตราแลกเปลี่ยน 1 เชคเกล เท่ากับประมาณ 8.70 บาท (ณ วันที่ 3 มีนาคม 2553)


ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ประธานาธิบดี นาย Shimon Peres

นายกรัฐมนตรี นาย Benjamin Netanyahu

รมว. กต. นาย Avigdor Liberman

 

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง

1.1 อิสราเอลปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นระบบสภาเดียวเรียกว่า สภา Knesset มีผู้แทน 120 คน มาจากการเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนพรรค มีวาระ 4 ปี มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ได้รับการเลือกตั้งโดยสภา Knesset มีวาระ 7 ปี แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายชิมอน เปเรส (Shimon Peres) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550) หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นายบินยามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552)
1.2 ผลจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ปรากฏว่าพรรค Kadima (พรรคสายกลางและพรรครัฐบาลในขณะนั้น) และพรรค Likud (พรรคฝ่ายขวา) มีคะแนนสูสีกันมาก โดยพรรค Kadima ได้ 28 ที่นั่ง และพรรค Likud ได้ 27 ที่นั่ง ทำให้ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงเด็ดขาด ในที่สุดพรรค Likud (พรรคฝ่ายขวา) ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลและนายบินยามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค เป็นพรรคขวาจัด 4 พรรค ได้แก่ Yisrael Beiteinu, Shas, Jewish Home และ United Torah Judaism และพรรค centrist 1 พรรค ได้แก่ พรรค Labour รวม 74 ที่นั่งในสภา Knesset
1.3 รัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญสูงสุดต่อนโยบายความมั่นคงภายในประเทศ และการป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวอิสราเอล เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกับปาเลสไตน์และประเทศอาหรับ การจัดตั้งรัฐบาลของอิสราเอลที่ผ่านมา มักจะเป็นรัฐบาลผสม ทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลอิสราเอลมีความอ่อนไหวสูงต่อข้อเรียกร้องของพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์

2. เศรษฐกิจ

2.1 อิสราเอลเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงเทียบได้กับประเทศพัฒนาแล้วในโลกตะวันตก เนื่องจากอิสราเอลมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ประกอบกับการมีระบบเศรษฐกิจลักษณะผสมผสานระหว่างการที่รัฐเข้าไปมีบทบาทควบคุมกิจการที่มีกำลังการผลิตและการจ้างงานสูง ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถมีกิจการได้โดยเสรีอิสราเอล ทำให้วงการค้นคว้าและวิจัย (R&D) ของอิสราเอลมีประสิทธิผล ส่งผลให้อิสราเอลมีความก้าวหน้าสูงในด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจของอิสราเอลจึงมีพื้นฐานที่เข้มแข็งบนอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่น การผลิตเครื่องจักรกล อาวุธยุทโธปกรณ์ อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเลียม การแพทย์และเภสัชกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่างไรก็ดี อิสราเอลยังประสบปัญหาความไม่เสมอภาคทางสังคม ที่เกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วแต่ขาดมารตรการป้องกันทางสังคม (social safety net) ทำให้ยังมีความแตกต่างทางรายได้ของสตรีและประชากรเชื้อสายอาหรับในอิสราเอลอยู่มาก
2.2 แม้ภาคเกษตรกรรมจะไม่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลลงไปมาก โดยมีสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 3 ของ GDP แต่กลุ่มเกษตรกรซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองสูงและนโยบายการกลืนกินดินแดนด้วยการตั้งชุมชนเกษตร (moshav หรือ kibbutz)ในพื้นที่พิพาทกับปาเลสไตน์ ทำให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของอิสราเอลเป็นพื้นที่แห้งแล้งและเป็นทะเลทรายที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก และมีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติอยู่น้อย อิสราเอลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการชลประทาน เพื่อให้ประเทศสามารถทำการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ อิสราเอลจึงได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการชลประทานจนประสบความสำเร็จ โดยอิสราเอลมีความสามารถในการแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค (desalination) การนำน้ำเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม การมีระบบท่อส่งน้ำทั้งจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติและโรงงานผลิตน้ำจืดไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูกแบบระบบน้ำหยด
2.3 วิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่ออิสราเอลอยู่บ้าง ในแง่ของการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงเนื่องจากอุปสงค์ของโลกที่ลดลง แต่ด้วยนโยบายด้านการเงินและการคลังและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่แต่งตากจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น การควบคุมค่าเงินเชคเกลไม่ให้แข็งค่าเกินไป การลดอัตราดอกเบี้ย การกระตุ้นแรงซื้อของภาคครัวเรือนผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (rescue plan) และการสร้างงาน ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 กลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้ง (ร้อยละ 3-4) อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในเป้าที่ประมาณร้อยละ 3.8 และอัตรการว่างงานกระเตื้องขึ้นจากร้อยละ 8 ในเดือนมิถุนายนเหลือร้อยละ 7.4 ในเดือนธันวาคม 2552
2.4 การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอิสราเอลในปี 2552 มีผลลัพธ์ที่เป็นบวก โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงเดินหน้าไปด้วยดี ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตกในสหรัฐฯ หุ้นในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวกว่าร้อยละ 125 และภาคธุรกิจที่ได้รับความสนใจในขณะนี้และมีการขยายตัวมากที่สุดคือ ธุรกิจพลังงาน (ก๊าซและน้ำมัน) ขยายตัวร้อยละ 652 หลังจากมีการขุดค้นพบทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอิสราเอล
2.5 เป็นเวลากว่า 15 ปีที่อิสราเอลพยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยหวังว่า การได้เข้าร่วมองค์กรดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ผ่านการแสดงศักยภาพของอิสราเอลในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม และการลงทุน รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้า และการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการราชการและเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม การขาดมาตรการต่อต้านการทุจริตและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงอัตราส่วนหนี้สาธารณะที่สูงเมื่อเทียบกับ GDP เนื่องมาจากรายจ่ายมหาศาลด้านความมั่นคง เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของอิสราเอล ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 OECD ได้ตัดสินใจรับอิสราเอลเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว พร้อมกับสโลวีเนียและเอสโตเนีย

3. นโยบายต่างประเทศ

3.1 อิสราเอลเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง (ยกเว้นจอร์แดนและอียิปต์) รวมถึงประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ เพราะปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
3.2 ประเด็นปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางถือเป็นหัวใจของการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของอิสราเอล โดยมีสหประชาชาติเป็นเวทีหลักในการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยที่ผ่านมามีความพยายามของประเทศมหาอำนาจหลายประเทศในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์แต่ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ โดยปัจจุบัน Two-state solution และแผน Road Map นับว่าเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากทุกฝ่าย
3.3 การเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้หยุดชะงักไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 หลังอิสราเอลปฏิบัติการ Operation Cast Lead ในฉนวนกาซาเพื่อหยุดการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซา เป็นเหตุให้มีพลเรือนปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 1,300 คน และเมื่อต่อมารัฐบาลของนายเนทันยาฮู จากพรรค Likud ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2552 หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่า รัฐบาลดังกล่าวจะมีท่าทีแข็งกร้าวและไม่ยอมประนีประนอมมากขึ้น และอาจส่งผลให้กระบวนการสันติภาพไม่คืบหน้า
3.4 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล เริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวต่ออิสราเอลมากขึ้นภายใต้การนำของ ปธน โอบามา และกำลังพยายามกดดันอย่างหนักให้อิสราเอลกลับไปสู่การเจรจากับปาเลสไตน์อีกครั้ง และแม้นายเนทันยาฮูจะได้เคยออกมากล่าวยอมรับ two-state solution และสนับสนุนการตั้งรัฐปาเลสไตน์ แต่การขยายนิคมชาวยิวของอิสราเอลในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง ซึ่งขัดต่อมติ UN และกฎหมายระหว่างประเทศ ยังเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้การเจราไม่คืบหน้า เพราะปาเลสไตน์และกลุ่มประเทศอาหรับประสบความสำเร็จในการใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อแม้ในการกลับสู่การเจรจา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง นายเนทันยาฮูจึงอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะได้รับแรงกดดันจากทั้งภายนอกและจากกลุ่มการเมืองภายในที่ไม่ต้องการให้หยุดสร้างนิคมชาวยิว
3.5 ผลจากปฏิบัติการ Cast Lead ของอิสราเอลในฉนวนกาซาอิสราเอลยังมีผลให้อิสราเอลต้องทบทวนนโยบายต่างประเทศ เมื่อกลุ่มประเทศอาหรับประสบความสำเร็จในการ discredit อิสราเอลในเวทีระหว่างประเทศ โดยผลักดันให้ Goldstone Report ซึ่งกล่าวหาว่า อิสราเอล (และฮามาสในระดับหนึ่ง) กระทำผิดกฎหมายอาชญากรรมสงครามจนได้รับการรับรองโดย UNGA โดยหลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงท่าทีไปในทางลบต่ออิสราเอลมากขึ้น นโยบายการต่างประเทศของอิสราเอลจึงเริ่มเน้นการกระชับสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ ที่อิสราเอลยังไม่เคยให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเทศในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อแสวงหาเสียงสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศ และเน้นนโยบายการลดความคาดหวังของประชาคมโลกต่อการเจรจาสันติภาพและการต่อสู้แนวคิดการเกลียดชังยิว
3.6 ในส่วนของนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนั้น อิสราเอลยังคงเล็งเห็นความสำคัญของศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนและอาเซียน อิสราเอลจึงมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคนี้ผ่านความร่วมมือด้านอาหาร เทคโนโลยีสะอาด และการลงทุนในภูมิภาคเพื่อให้เป็นฐานการผลิตของอิสราเอลเพื่อส่งสินค้าออกไปยังยุโรป นอกจากนั้น อิสราเอลยังมีความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ และการพัฒนา ฯลฯ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นประเทศมุสลิม
3.7 อิหร่านเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล โดยประธานาธิบดีอิหร่านเคยกล่าวว่า จะลบอิสราเอลออกไปจากแผนที่โลกและไม่ยอมรับว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ดังนั้น โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจึงถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของอิสราเอล อิสราเอลจึงพยายามอย่างเต็มที่ ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในการโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกถาวร UNSC ที่สำคัญ ได้แก่ รัสเซียและจีน ยอมตกลงออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านให้เข้มข้นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็มีนโยบายผูกมิตรและปรับความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับ/มุสลิมสายกลาง (Moderate Muslim States) ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล อาทิ บาห์เรน กาตาร์ โมร็อกโก ฯลฯ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีผลประโยชน์ร่วมกันด้านธุรกิจ และมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงอาจช่วยอิสราเอลผลักดันในเวทีต่างๆ ให้อิหร่านล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ได้ ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้มีการพบปะและหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้แทนรัฐบาลของอิสราเอลและกลุ่มประเทศดังกล่าว
3.8 ประเด็นความไม่ลงรอยกันระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความพยายามทางการทูตในการโน้มน้าวให้อิหร่านล้มเลิกความคิดที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้อิสราเอลได้ออกมาประกาศเป็นนัยเสมอว่า การโจมตีอิหร่านทางทหารยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งที่อิสราเอลจะทำได้ (all options are on the table) และอิสราเอลอาจดำเนินการโดยลำพัง โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ดังนั้น หากสหรัฐฯ ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า มีทางเลือกอื่น เช่น มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นขึ้น หรือการเจรจา P5 + 1 ที่มีผลในทางปฏิบัติ อิสราเอลก็อาจใช้หนทางทางทหารเพื่อแก้ปัญหาและลดความเสี่ยงต่อการเป็นเป้าโจมตีของอิหร่าน ซึ่งอาจประทุกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 26,351 ดอลลาร์สหรัฐ (2552)

การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.6 (2552)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.5

อุตสาหกรรม เทคโนโลยีระดับสูง ผลิตภัณฑ์ไม้และกระดาษ โปแตซและฟอสเฟต อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ ซีเมนต์ การก่อสร้าง โลหะและเคมีภัณฑ์ พลาสติก การเจียระไนเพชร เสื้อผ้าและรองเท้า

ทรัพยากรธรรมชาติ โปแตซ โบรมีน และเกลือแร่จาก Dead Sea
สินค้านำเข้าสำคัญ วัตถุดิบ อาวุธยุทโธปกรณ์ เชื้อเพลิง เพชร เมล็ดข้าว สินค้าอุปโภคบริโภค

สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ software เพชรเจียระไน ผลิตภัณฑ์เกษตร เสื้อผ้า

ตลาดนำเข้าสำคัญ สหรัฐฯ เบลเยียม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์
สหราชอาณาจักร

ตลาดส่งออกสำคัญ สหรัฐฯ เบลเยียม ฮ่องกง

มูลค่าการค้ารวม( ปี 2551)1,270 ล้าน USD โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ไทย ส่งออก 728 ล้าน USD(อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์) (นำเข้า 541 ล้าน USD (เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการทดสอบ)

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐอิสราเอล

ความสัมพันธ์ทั่วไป


ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ไทยและอิสราเอลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2497 โดยอิสราเอลได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปี 2500 ส่วนไทย เนื่องจากยังไม่ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพราะยังเป็นประเด็นพิพาทกับปาเลสไตน์ จึงได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล เมื่อเดือนมกราคม 2539 โดยมีนายรณรงค์ นพคุณ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ คนแรก เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ได้แก่ นายอิตซ์ฮัก โชฮัม (Itzhak Shoham) ซึ่งได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2552 และได้ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 ส่วนเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ คนปัจจุบัน ได้แก่ นายชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ นอกจากนี้ ไทยยังได้เปิดสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์และสำนักแรงงานไทยในอิสราเอล และแต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำกรุงเทลอาวีฟและเมืองไฮฟาตั้งแต่ปี 2535
ไทยและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมืออันดีต่อกัน และมีกรอบการหารือทวิภาคีในลักษณะ Working Group Dialogue ในระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศประจำทุกปี โดยมีการประชุมครั้งที่ 5 ที่นครเยรูซาเล็ม เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 และหารือประเด็นที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยี ความร่วมมือในกรอบองค์การระหว่างประเทศ และแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ฯลฯ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 6 ในปี 2553

ความสัมพันธ์ด้านการเศรษฐกิจ

การค้า

ในปี 2552 ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอล มีมูลค่า 814.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2551 (1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ 35.93 โดยไทยส่งออกสินค้าไปอิสราเอลมูลค่าลดลงจากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 492.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 171 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ยุทธปัจจัย และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และการทดสอบ เป็นต้น

การท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวอิสราเอลเดินทางมาไทยจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 100,000 คน นับเป็นอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกกลาง โดยในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยจำนวน 105,066 คน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งปลดประจำการฝึกทหาร จึงไม่มีกำลังซื้อมากนักและเลือกประเทศไทยด้วยเห็นว่า ค่าครองชีพไม่สูงมาก

แรงงาน

แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
ซึ่งมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในปัจจุบันประมาณ 26,000 คน (คิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานเกษตรของอิสราเอลทั้งหมด) กระจัดกระจายตามชุมชนการเกษตร (Kibbutz หรือ Moshav) ทั่วอิสราเอล โดยแรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในอิสราเอลเพียงชั่วคราว และมีการหมุนเวียนเข้าออกอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาบริษัทจัดหางานทั้งของไทยและอิสราเอลเก็บค่านายหน้าแรงงานสูงจากแรงงานไทย ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความกตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐ เพื่อให้มีการจัดส่งแรงงานไทยผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organisation for Migration – IOM) แทนบริษัทจัดหางาน เพื่อขจัดปัญหาการเก็บค่านายหน้าแรงงานสูงดังกล่าว โดยล่าสุดทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่างความตกลงแล้ว และกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการเตรียมการนำร่างความตกลงฯ เข้าขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อิสราเอลเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและชลประทาน พลังงานทดแทน การแพทย์และด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ผ่านมาไทยและอิสราเอลได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ ภายใต้กรอบการหารือ Working Group Dialogue (WGD) ทั้งสองฝ่ายยังมีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยการประชุม WGD ครั้งล่าสุดที่อิสราเอลเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ได้นำไปสู่การริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างอิสราเอลในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการปศุสัตว์กับกรมปศุสัตว์ของไทย ในขณะที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังมีแผนที่จะจัดทำความตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอลในเร็ววันนี้ด้วย

ความสัมพันธ์ด้านการเกษตรและชลประทาน

ที่ผ่านมา ไทยและอิสราเอลมีความร่วมมือด้านการเกษตรและชลประทานอยู่บ้าง เช่น ความร่วมมือในการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ล่าสุด อิสราเอลได้เสนอขอร่วมเป็นเจ้าภาพกับไทยจัดการสัมมนาด้านการจัดการน้ำและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวกับให้แก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเสนอให้เป็นความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างอิสราเอล สถาบันแม่โขงและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดกับ สพร. อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทางการเกษตรของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบ Logistics และระบบการชลประทาน อิสราเอลถือว่าเป็นแหล่งความรู้ know-how ที่สำคัญของไทย จึงควรสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐในด้านดังกล่าว

ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
1. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2503)
2. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2511)
3. อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539)
4. สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2540)
5. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543)
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอลสำหรับการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบอาศัยชลประทานบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ลงนามเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545)
7. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาวัฒนธรรมและการศึกษา (ลงนามเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548)
8. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไทยกับสภาการอุดมศึกษาอิสราเอล (ลงนามเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ
9. ความตกลงว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรของอิสราเอล
10. ความตกลงทางการค้า
11. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง สวทช. และกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานอิสราเอล

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 19 - 24 ธันวาคม 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิสราเอลอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 11 - 21 เมษายน 2520 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิสราเอล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 7 - 16 กันยายน 2537 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิสราเอล
- วันที่ 11 - 25 กรกฎาคม 2539 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิสราเอล
- วันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิสราเอล
- วันที่ 17 - 29 ตุลาคม 2542 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิสราเอล

รัฐบาล

- วันที่ 15-20 เมษายน 2542 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอิสราเอล
- วันที่ 17-19 ธันวาคม 2547 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยือนอิสราเอล
- วันที่ 9-14 กันยายน 2551 นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยือนอิสราเอล
- วันที่ 25-29 กรกฎาคม 2552 นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยือนอิสราเอล

ฝ่ายอิสราเอล

รัฐบาล

- วันที่ 23-25 สิงหาคม 2547 นาย Eliezer Sandberg รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณูปโภค เยือนไทย
- วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2548 อิสราเอล นาย Dan Naveh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนไทย
- วันที่ 15-17 ธันวาคม 2548 นาย Ehud Olmert อดีตนากยรัฐมนตรี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงาน เยือนไทย
- วันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2553 นาย Majalli Whbee รองประธานรัฐสภาอิสราเอล เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชา IPU ครั้งที่ 122

ผู้แทนทางการทูต

ฝ่ายไทย

Royal Thai Embassy
1 Abba Eban Boulevard,
P.O.Box 2125
Herzliya Pituach 46120

Tel. (972-9) 954-8412,954-8413
Fax. (972-9) 954-8417
E-mail : [email protected]
Website : http://www.thaiembassy.org/telaviv

ฝ่ายอิสราเอล

Embassy of Israel
Ocean Tower II, 25th Fl.,
75 Sukhumvit Soi 19,
Bangkok 10110
Tel: 0-2204-9200
Fax: 0-2204-9255
E-mail: [email protected]
Website: http://bangkok.mfa.gov.il

**************************

พฤษภาคม 2553

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2053 E-mail : [email protected]

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ