สาธารณรัฐอิรัก

สาธารณรัฐอิรัก

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 40,963 view


สาธารณรัฐอิรัก
Republic of Iraq

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปเอเชีย ทิศเหนือติดกับตุรกี ซีเรียและอิหร่าน ทิศตะวันออกติดกับอิหร่าน ทิศใต้ติดกับอ่าวอาหรับ (58 กม.) คูเวตและซาอุดีอาระเบีย และทิศตะวันตกติดกับซีเรีย จอร์แดนและซาอุดีอาระเบีย มีแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสไหลผ่านกลางประเทศเป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากรที่สำคัญของอิรัก
พื้นที่ 441,839 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมถึงพื้นที่ 3,522 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนแบ่งจากข้อตกลงเขตจัดการร่วมกันกับซาอุดีอาระเบีย
เมืองหลวง กรุงแบกแดด
ประชากร 30.7 ล้านคน (ปี 2552)
ภูมิอากาศ พื้นที่ร้อยละ 40 เป็นทะเลทราย ส่งผลให้ภูมิอากาศแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ฤดูร้อน (เมษายน – กันยายน) อากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว (ตุลาคม – มีนาคม) อากาศหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 4-10 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาอาหรับและเคิร์ด
ศาสนา ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 97 (ชีอะต์ร้อยละ 60-65, สุหนี่ร้อยละ 32 –37) คริสเตียนและอื่นๆ ร้อยละ 3
หน่วยเงินตรา ดินาร์อิรัก (Iraqi Dinar - IQD) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับประมาณ 38 ดินาร์ (สถานะ ณ วันที่ 14 กันยายน 2553)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 74.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2552)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,434 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2552)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5 (ปี 2552)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นระบบสภาเดียวคือ สภาผู้แทน (Council of Representatives) มีผู้แทน 325 คน มาจาก การเลือกตั้งมีวาระ 4 ปี โดยสภาผู้แทนจะเลือกประธานาธิบดีเพื่อเป็นประมุขของรัฐ ประธานธิบดีมีวาระ 4 ปีตามวาระของสภาผู้แทน และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Jalal Talabani (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Nouri Al-Maliki (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2548) อิรักจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2553

ประวัติศาสตร์
- อิรักเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เรียกว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) หมายถึง แผ่นดินที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส (Euphrates) ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีผู้คนอพยพจากที่ต่าง ๆ เพื่อมาอาศัยในดินแดนแห่งนี้ มีอาณาจักรโบราณหลายแห่ง อาทิ อาณาจักรซูเมอร์ (Sumerian Civilization) อาณาจักรบาบิโลเนีย (Babylonia) อัสซีเรีย (Assyria) มีเดีย (Media) เป็นต้น ในศตวรรษที่ 8 Abassid caliphate ได้ตั้งเมืองหลวงขึ้น ณ กรุงแบกแดด ต่อมาในปี ค.ศ. 1453 ชาวเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ได้ยึดครองดินแดนที่เป็นอิรักได้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17
-- อิรักอยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมันจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสหราชอาณาจักรได้รับอาณัติจากองค์การสันนิบาตชาติให้ควบคุมดูแลดินแดนดังกล่าวในปี 2463 โดยมีอดีตขุนนางออตโตมันซึ่งเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่กุมอำนาจภายใต้กษัตริย์ฮัชไมต์ ทำให้เกิดความแตกแยกของกลุ่มศาสนาและเชื้อชาติ และเมื่ออิรักได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2475 ได้เกิดกระแสชาตินิยมต่อต้านรัฐบาลและเกิดความไม่มั่นคงและการแก่งแย่งอำนาจโดยการปฏิวัติของผู้นำทางทหารบ่อยครั้ง นำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์ (สมัยกษัตริย์ Faisal ที่ 2) และอิรักเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐในปี 2501
-หลังจากนั้น อิรักปกครองโดยประธานาธิบดี Abdul Karim Qassim ประธานาธิบดี Abdul Salam Arif และประธานาธิบดี Ahmad Hassan al- Bakr ซึ่งในสมัยประธานาธิบดี al- Bakr ซัดดัม ฮุสเซน มีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการรักษาความมั่นคงของประเทศ โดยซัดดัม ฮุสเซน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทหารเมื่อปี 2519 และตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2522 ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมและสังคมนิยมของพรรค Baath ของซีเรีย โดยซัดดัมพยายามแพร่ขยายอำนาจของอิรักในภูมิภาค จนนำไปสู่การทำสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน (2523-2531) และสงครามอ่าวเปอร์เชีย (2533-2534) โดยหลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหประชาชาติได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิรัก ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวอิรักตกต่ำอย่างมาก
- ระหว่างปี 2529-2532 รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ได้ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเคิรด์ด้วยการใช้อาวุธสารเคมี
- ต่อมาสหรัฐฯ และพันธมิตรอ้างว่า อิรักกำลังครอบครองอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จึงได้ใช้เหตุผลดังกล่าวในการบุกเข้าไปในอิรักเมื่อเดือนมีนาคม 2546 และทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน และเข้าไปจัดการปกครองประเทศชั่วคราว โดยได้จัดตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority - CPA) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ขึ้นมาดูแลความมั่นคงและกระบวนการประชาธิปไตย ก่อนจะส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่รัฐบาลชั่วคราวของอิรัก (Iraqi Interim Government) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547
-เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2548 อิรักได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 275 ที่นั่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน (Transitional Government) โดยมีนาย Jalal Talabani ชาวเคิร์ดเป็นประธานาธิบดี และนาย Ibrahim Al-Jaafari ชาวชีอะต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราวและจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้รับการลงประชามติรับรองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของอิรักและการจัดตั้งรัฐบาลถาวรเมื่อเดือนธันวาคม 2548
-การประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีอิรักเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2549 ถือเป็นการสิ้นสุดของการปกครองแบบเผด็จการของนายซัดดัม ฮุสเซน ที่ยาวนานกว่า 30 ปี

 

การเมืองการปกครอง

1.การเมืองการปกครอง
1.1 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2548 สาธารณรัฐอิรักปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีเพียงสภาเดียวคือ สภาผู้แทน (Council of Representatives) มีผู้แทน 275 คน มาจากการเลือกตั้งและมีวาระ 4 ปี โดยสภาผู้แทนจะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีมาเป็นประมุขของรัฐ ประธานธิบดีมีวาระ 4 ปีตามวาระของสภาผู้แทนและสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 ครั้ง แม้ประธานาธิบดีจะไม่มีหน้าที่บริหารแต่มีอำนาจในการ veto กฎหมายในสภาฯ
1.2 การเลือกตั้งทั้วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ปรากฏว่า นาย Jalal Talabani (ชาวเคิร์ด) ได้รับคัดเลือกโดยสภาผู้แทนให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิรักเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548 และมีรองประธานาธิบดี 2 คน คือ นาย Adel Abdul Mahdi (นิกายชีอะต์) และนาย Tariq Al-Hashemi (นิกายสุหนี่) ซึ่งเรียกโดยรวมว่า สภาประธานาธิบดี (Presidency Council) และนาย Nouri Al-Maliki จากพรรค Dawa ของชาวอิรักนิกายชีอะต์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอิรักมีจำนวน 37 คน แต่งตั้งโดยสภาประธานาธิบดี อิรักเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2548
1.3 อิรักประสบปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งภายในเนื่อจากความแตกต่างทั้งทางชนชาติและศาสนา
1.3.1. ชาวเคิร์ด ปัจจุบันมีชาวเคิร์ดอยู่ในอิรักประมาณ 6.5 ล้านคน โดยอาศัยอยู่ในสามจังหวัดทางตอนเหนือของอิรัก ได้แก่ Dohuk, Irbil และ Suleimaniyah ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ภายใต้รัฐบาล Kurdistan Regional Government (KRG) ชาวเคิร์ดในอิรักมีความปรารถนาที่จะแยกตนเองออกจากอิรักมาช้านาน แต่เนื่องจากได้รับสิทธิในการปกครองตนเองและมีส่วนร่วมที่สำคัญในกระบวนการทางการเมืองของอิรัก เช่น การมีประธานาธิบดีที่เป็นชาวเคิร์ด ทำให้ชาวเคิร์ดยังพอใจใน status quo อย่างไรก็ตาม ประเด็นการอ้างสิทธิเหนือเขต Kirkuk ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันมหาศาลและเป็นถิ่นดั้งเดิมของชาวเคิร์ดและชาวเติร์ก แต่ถูกชาวอาหรับเข้ามาครอบครองด้วยนโยบาย Arabisaton ของซัดดัม ฮุสเซน ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกระหว่างชาวอาหรับและชาวเคิร์ดในอิรัก
1.3.2. ความแตกต่างทางศาสนาก็เป็นปัจจัยหนึ่งของเหตุการณ์ความรุนแรงและความแตกแยกทางการเมือง นับจากการล่มสลายของยุคซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นยุคที่มุสลิมสุหนี่ ซึ่งเป็นชนมุสลิมกลุ่มน้อย ได้ครอบครองอำนาจการบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ชาวมุสลิมชีอะต์ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 60 ของประชาการ ได้กลับเข้ามาครองอำนาจและตำแหน่งสำคัญทางการเมือง กลุ่มมุสลิมสุหนี่ต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งในอุดมการณ์ความเป็นชาตินิยมและทางศาสนา มองว่า รัฐบาลอิรักเป็นพันธมิตรตะวันตก ดังนั้น กลุ่มที่เป็นหัวรุนแรง (เช่น อดีตสมาชิกพรรค Baath) รวมถึงกลุ่ม al-Qaeda ในอิรัก จึงตั้งเป้าโจมตีทั้งกองกำลังสหรัฐฯ และกองกำลังของรัฐบาลอิรัก
1.4 ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลอิรักอย่างเป็นทางการ รัฐบาลอิรักยังคงพยายามเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสุหนี่ กลุ่มชีอะต์ และกลุ่มเคิร์ด ทั้งนี้ ในปี 2550 รัฐสภาอิรักได้ยอมลบสัญลักษณ์ของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ออกจากธงชาติอิรัก ตามคำขอของกลุ่มเคิร์ด และยอมให้อดีตสมาชิกพรรค Baath ของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการสมานฉันท์ในอิรักระหว่างกลุ่มชีอะต์-สุหนี่-เคิร์ด ยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากทุกฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของการเจรจาแบ่งพื้นที่และรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และยังคงมีปัญหาของกลุ่มก่อการร้าย PKK ในพื้นที่เขตปกครองตนเองของเคิร์ด ตอนเหนือของอิรัก ที่โจมตีตุรกี เป็นเหตุให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างอิรักและตุรกีบ่อยครั้ง
1.5 สำหรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในอิรักนั้น ในช่วงปี 2550-2552 ความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายของกลุ่ม Al Qaeda ระหว่างกองกำลังสหรัฐฯ และกองกำลังชาวอิรักสุหนี่ Awakening Council หรือ Concerned Local Citizens ที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2006 และมีจำนวนประมาณ 15,000 คน ได้มีส่วนช่วยลดจำนวนของการก่อการร้ายทั่วประเทศอิรักลง แต่ในขณะเดียวกัน การมีส่วนร่วมของ Awakening Council กลับนำไปสู่การที่กลุ่ม Al Qaeda เพิ่มความรุนแรงของการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทั่วไปภายในอิรักยังถือว่าไม่มีความปลอดภัย มีรายงานสถานการณ์รุนแรง ทั้งจากฝ่ายต่อต้านกองกำลังรัฐบาลอิรักและกองกำลังต่างชาติ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ และการก่อการร้ายโดยกลุ่ม Al Qaeda อย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะการระเบิดสังหาร และการจับตัวประกัน และการเรียกค่าไถ่ เป็นต้น
1.6 กองกำลังสหรัฐฯ ในอิรัก ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดี George W. Bush กับประธานาธิบดี Barrack Obama สหรัฐฯ และอิรัก ได้จัดทำความตกลงความร่วมมือทางการทหาร (Status of Forces Agreement –SOFA) ระหว่างกัน ซึ่งความตกลงดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญ คือ การต่อเวลาให้กองกำลังสหรัฐฯ อยู่ในอิรัก ได้จนถึงปี 2011 (2554) แทนการถอนทหารทั้งหมด ภายหลังอาณัติของสหประชาชาติ (ที่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติอยู่ในอิรัก) หมดอายุลงในปลายเดือนธันวาคม 2551 อย่างไรก็ตามความตกลง SOFA ได้ลด/จำกัดสิทธิของกองกำลังสหรัฐฯ ลง อาทิ ไม่อนุญาติให้ทหารสหรัฐฯบุกค้นบ้านเรือนชาวอิรัก โดยปราศจากความยินยอมจากทางการอิรัก และทหารสหรัฐฯ จะต้องถูกดำเนินคดีโดยทางการอิรัก หากกระทำความผิดนอกค่ายและนอกเวลาราชการ เป็นต้น นอกจากนั้น ความตกลง SOFA มีเงื่อนไขด้วยว่า จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ภายในกลางปี 2552 เพื่อสำรวจความเห็นชาวอิรัก เกี่ยวกับความตกลง SOFA ด้วย
นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่ง ปธน สหรัฐฯ ของนายบารัค โอบามา สหรัฐฯ ได้ทะยอยถอนกำลัง
ทหารออกจากอิรักอย่างต่อเนื่อง โดยทหารหน่วยรบถูกถอนออกจากเมืองใหญ่ในอิรักตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2552 ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 กองทัพสหรัฐฯ ได้ยุติปฏิบัติการทางทหาร Operation Iraqi Freedom ในอิรัก แต่จะยังคงทหารจำนวน 50,000 นาย ภายใต้ชื่อ Operation New Dawn จนถึงสิ้นปี 2554 เพื่อให้การสนับสนุนและฝึกอบรมหน่วยรักษาความมั่นคงของอิรัก ทั้งนี้ นรม Al Maliki ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่า การถอนกำลังทหารสหรัฐฯ จะส่งผลให้สถานการณ์ก่อการร้ายในอิรักทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนอิรักส่วนหนึ่ง รู้สึกเป็นกังวลต่ออนาคตของอิรัก โดยเห็นว่า สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว และการสิ้นสุดปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ จะไม่นำความสงบสุขกลับคืนสู่อิรักได้
1.7 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 อิรักได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2553 ท่ามกลางการจับตามองของนานาชาติ และมาตรการรักษาความปลอดภัยและการสังเกตการณ์จากผู้แทนต่างประเทศในอิรักที่เข้มข้น เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของอิรัก ทั้งในแง่ของสถานการณ์ความมั่นคงและแผนการถอนทหารสหรัฐฯ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 62 % ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคของนาย Iyad Allawi ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนที่นั่ง 91 ที่นั่ง มากกว่าพรรคของนาย Nouri Al-Maliki 2 ที่นั่ง ซึ่งการที่ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ทำยังไม่มีฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
1.8 การจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ในขณะที่การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของนาย Allawi ยังไม่ประสบความสำเร็จ กลุ่ม Iraqi National Alliance (INA) ซึ่งเป็นกลุ่มชีอะต์ที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน นำโดยนาย Moqtada al- Sadr ซึ่งชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นที่ 3 โดยได้ที่นั่ง 70 ที่นั่งในสภาฯ ได้ตกลงเข้าร่วมกับกลุ่ม State of Law Alliance ของ นรม Al Maliki ทำให้ทั้งสองกลุ่มมีที่นั่งรวม 159 ที่นั่ง ขาดอีก 4 ที่นั่งก็จะเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความกังวลกับหลายฝ่ายโดยเฉพาะสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลอิรักชุดใหม่จะเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะต์ที่ไม่เป็น secular และจะสร้างความแตกแยกในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังมีความกังวลว่า อิรักภายใต้รัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่าน ซึ่งเป็นพันธมิตรชีอะต์ที่สำคัญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2553 นาย Allawi ได้ประกาศถอนตัวจากการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิรัก ส่งผลให้ นรม Al Maliki มีแนวโน้มเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมในอิรักมากขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลแก่สหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ให้ให้อิหร่าน กลุ่ม Sadrist และสภาสูงสุดของอิสลาม มีอิทธิพลแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลของอิรัก สหรัฐฯ จึงมีความประสงค์ให้กลุ่มการเมือง Al-Iraqiya และ State of Law Coalition หันหน้ามาปรองดองกัน โดยสหรัฐฯ จะส่งผู้แทนเข้าไปร่วมหารือและช่วยหาข้อตกลงที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ ผลการจัดตั้งรัฐบาลอิรักยังต้องรอต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

2. เศรษฐกิจ
2.1 อิรักมีรายได้หลักของประเทศจากการส่งออกน้ำมันดิบประมาณร้อยละ 95 โดยมีรายได้จาก อินทผลัม ปุ๋ย และสินค้าอื่น ๆ บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ในอดีตอิรักเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงและเคยมีระบบการศึกษา วิชาการ และสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง อิรักมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองประมาณ 115 พันล้านบาร์เรล เป็นอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งมีก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนมหาศาล ประมาณ 112 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (3.7 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร)
2.2 ช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 อิรักเผชิญกับความยากลำบากจากสงครามกับอิหร่าน รวมทั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนการอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบัน รัฐบาลอิรัก โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนนานาประเทศ ได้พยายามฟื้นฟูสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอิรัก ภายใต้แผนระดมการสนับสนุนเพื่อพัฒนาประเทศอิรักในระยะยาว “International Compact with Iraq” โดยการประชุมครั้งล่าสุด คือที่กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551
2.3 อิรักมีหนี้สินระหว่างประเทศที่ตกค้างจากสมัยอดีต ปธน ซัดดัม ฮุสเซน มูลค่ารวมประมาณ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในระหว่างปี 2550-2551 อิรักได้ชดใช้หนี้แล้วทั้งหมด 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากรายได้การส่งออกน้ำมัน และในการประชุมความช่วยเหลือระหว่างประเทศ อาทิ International Compact with Iran รัฐบาลอิรักได้เรียกร้องให้นานาประเทศยกเลิกหนี้สินของอิรัก ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหนี้อิรักส่วนใหญ่ก็รับในหลักการที่จะยกเลิกหนี้สินให้ อิรัก แต่ในทางปฏิบัติ หลายประเทศก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการยกเลิกหนี้อย่างจริงจัง
2.4 ปัจจุบัน การฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจของอิรักยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากอิรักยังคงประสบปัญหาการบริหารจัดการภายในประเทศ โดยยังคงขาดแคลนงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำมัน และขาดแคลนบ้านเรือนที่พักอาศัยสำหรับประชาชนรายได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 รัฐบาลอิรัก ได้ประกาศใช้เงินทุน 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคต่างๆ แล้ว
2.5 อุตสาหกรรมน้ำมัน ปัจจุบันอิรักผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 2.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันสำรองที่อิรักมี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันดังกล่าว รัฐบาลอิรักจึงได้เปิดการประมูลสัมปทานการขุดเจาะและผลิตน้ำมันในอิรัก ในลักษณะ Service Contract 20 ปี ขึ้น 2 ครั้งในปี 2552 โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจและได้รับสัมปทานเข้าไปดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำมันต่างๆ ได้แก่ BP และ Royal Dutch Shell ของอังกฤษ, CNPC ของจีน, Lukoil และ Gazprom ของรัสเซีย, StatoilHydro ของนอร์เวย์, ปิโตรนาสของมาเลเซีย, Total ของฝรั่งเศส, Japex ของญี่ปุ่น, Korea Gas Corp., TPAO ของตุรกี และ Sonagol ของอังโกลา โดยคาดว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตของอิรักได้เป็นวันละ 7 ล้านบาร์เรลใน 6 ปี และ 10-12 ล้านบาร์เรลต่อวันใน 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ หลายบริษัทที่ได้รับสัมปทานประสบปัญหาในการทำสัญญากับรัฐบาลอิรัก เนื่องจากอิรักพยายามต่อรองให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตในสัญญาได้ เพื่อรองรับข้อจำกัดโควตาของ OPEC ในอนาคต เมื่ออิรักกลับเข้าสู่ระบบ OPEC ตามเดิม นอกจากนั้น การที่อิรักยังไม่มีกฎหมายแบ่งปันการบริหารจัดการน้ำมันในประเทศที่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความกังวลว่า การเมืองภายในจะเข้ามาทำให้ธุรกิจน้ำมันเสียหาย
2.6 การปฏิรูประบบการค้า การลงทุน และการธนาคาร ภายหลังสงคราม รัฐบาลอิรักได้พยายามฟื้นฟูระบบการค้าและเศรษฐกิจ และบูรณาการอิรักกลับเข้าสู่ระบบการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง และของโลก โดยรัฐบาลอิรักได้พยายามเสริมสร้างฟื้นฟูโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอิรัก เจรจา ลดหนี้ค้างชำระกับ IMF และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น และเพื่อเชิญชวนการค้าการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอิรักได้พยายามเปิดเสรีการค้าการลงทุน และการธนาคารของอิรัก ภายหลังการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากระบอบอดีตประธานาธิบดี Saddam Hussein มาเป็นเวลานาน โดยรัฐบาลอิรัก พยายามปรับปรุงระบบราชการ แก้ไขกฎระเบียบด้านการค้า ปรับปรุงระบบภาษี อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ ยกเว้น การครอบครองทรัพยากร ธรรมชาติ (อาทิน้ำมัน) รวมทั้ง รัฐบาลอิรักพยายามปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง อาทิ ปรับปรุงสนามบินนานาชาติแบกแดด อนุญาตให้สายการบิน Royal Jordanian เปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงอัมมาน (จอร์แดน) และกรุงแบกแดด และปรับปรุงท่าเรือ ออม กอสร์ (Umm Qasr) และ Az Zubair สำหรับภาคการธนาคาร รัฐบาลอิรัก พยายามปฏิรูประบบการเงินการธนาคารของอิรักให้ได้มาตรฐานสากลยิ่งขึ้น เช่น การสร้างความเป็นอิสระของธนาคารชาติ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการค้า (Trade Bank of Iraq) การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ การป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคธนาคารยังไม่คืบหน้ามาก โดยในปี 2551 ยังมีรายงานว่า ธนาคารเอกชนกว่า 30 แห่ง ในอิรัก ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง แม้ว่า รัฐบาลอิรักจะให้ความช่วยเหลือในการกู้ยืมเงินอย่างเต็มที่
2.7 ด้านทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลอิรักได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนากองกำลังทหารและกองกำลังตำรวจมา เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และในปี 2551 ซึ่งกองกำลังสหรัฐฯ และกองกำลังต่างชาติอื่นๆ ได้ส่งมอบภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยให้แก่ทางการอิรัก ก็ปรากฏว่า กองกำลังทหารและตำรวจของอิรัก มีความพร้อมพอสมควรที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม อิรักยังคงประสบปัญหาสมองไหล (Brain drain) ส่งผลให้ในปี 2551 รัฐบาลอิรัก ได้พยายามเรียกร้องให้ชาวอิรักที่มีความรู้ความสามารถ อาทิ แพทย์ วิศวกร ครู อาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์ที่ ลี้ภัยไปในช่วงสงคราม เดินทางกลับอิรัก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยในอิรัก การปรับตัวเพื่อกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพในอิรัก เป็นต้น
2.8 ความเป็นอยู่ทั่วไป แม้ว่าจะมีคูปองปันส่วน อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และน้ำมัน ของรัฐบาลแจกจ่ายให้ แต่ความเป็นอยู่ในอิรักโดยทั่วไปยังคงยากลำบาก เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอิรักถูกทำลายตั้งแต่ช่วงเกิดสงคราม และยังไม่ได้รับการบูรณะปรับปรุงตามที่คาดหมายไว้ โดยในอิรัก ยังมีปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคที่สำคัญ อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ทั้งนี้ ในอิรัก สามารถใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ได้เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย ที่สืบเนื่องจากระบบการจัดการขยะ การขาดแคลนน้ำสะอาด และยังมีปัญหามลภาวะ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนว่างงานและปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศ และยังมีความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ของอิรัก ทั้งนี้ มีผู้อพยพอิรักหลายรายที่หลบหนีปัญหาความขัดแย้งไปอาศัยอยู่ในจอร์แดน ซีเรีย ซูดาน อิหร่าน อียิปต์ และเลบานอน และภายในประเทศอิรักเองก็มีปัญหาชาวอิรักพลัดถิ่น (internally displaced persons) สำหรับชาวต่างชาติ การใช้ชีวิตในกรุงแบกแดด มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากค่าสาธารณูปโภคของชาวต่างชาติจะคำนวณเป็นคนละอัตรากับของชาวท้อง ถิ่น นอกจากนั้น ในการดำรงชีวิต ชาวต่างชาติจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ตนเอง ที่พักอาศัย และการเดินทาง อาทิ มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย ใช้รถยนต์กันกระสุน ใช้เสื้อเกราะกันกระสุน รวมทั้ง มักต้องอาศัยชาวท้องถิ่นในการช่วยเหลือจับจ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้
2.9 การคมนาคม การเดินทางไปยังอิรักโดยรถยนต์ จะต้องผ่านเส้นทางและเขตต่าง ๆ ซึ่งตกอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน และกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้น การเดินทางโดยรถยนต์จึงไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจถูกซุ่มโจมตี ถูกปล้น และถูกจับไปเป็นตัวประกันได้ สำหรับ การเดินทางโดยทางเครื่องบิน มีสายการบินอิรัก และสายการบินจอร์แดน ที่เปิดเส้นทางไปยังกรุงแบกแดด แต่ก็ปรากฏมีการสั่งปิดสนามบินกรุงแบกแดดอยู่ เนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัย โดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน เขตพื้นที่ซึ่งอาจถือว่าปลอดภัยที่สุดในอิรัก ได้แก่ เขตปกครองตนเอง Kurdistan ของกลุ่มเคิร์ด ทางตอนเหนือของอิรัก

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิรัก

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 ความสัมพันธ์ของอิรักและสหรัฐฯ ถือว่า เป็นปัจจัยกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอิรัก นับตั้งแต่สงครามโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2546 เพราะสหรัฐฯ ได้เข้ามาควบคุมดูแลและบริหารจัดการกิจการในอิรักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้ปัจจุบันอิรักจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของตนเองแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อการเมืองและนโยบายที่จะมีผลต่อความมั่นคงและเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่จะเห็นอิรักเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิรักพยายามที่จะแสดงความเป็นเอกเทศจากอิทธิพลสหรัฐฯ ในการบริหารประเทศ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นทั้งพันธมิตรและอริของสหรัฐฯ
3.2 ความสัมพันธ์ของอิรักกับอิหร่าน ซึ่งตกต่ำมายาวนาน นับตั้งแต่สงคราม 8 ปี และจากการที่อิรักอยู่ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซนและกลุ่มมุสลิมนิกายสุหนี่ เปลี่ยนไปเป็นใกล้ชิด เมื่อรัฐบาลชีอะต์ได้เข้ามาปกครองอิรัก โดยอิหร่านเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอิรัก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสุหนี่ในอิรักไม่พอใจที่อิหร่านพยายามเข้ามามีอิทธิพลในการเมืองของอิรักและให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะต์ในอิรัก
3.3 ความสัมพันธ์ของอิรักกับประเทศอาหรับในตะวันออกกลางอยู่บนพื้นฐานของความหวาดระแวง เพราะประเทศอาหรับส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่และรัฐบาลปัจจุบันของอิรักเป็นมุสลิมนิกายชีอะต์ ทำให้ประเทศอาหรับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ต่างหวาดระแวงในความใกล้ชิดของอิรักกับอิหร่าน (รวมถึงซีเรียซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน) ซึ่งถือว่า เป็นภัยคุกคามของทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตาม อิรักยังคงจะพยายามผูกมิตรกับประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน ด้วยหวังว่า อาจจะนำไปสู่การยกเลิกหนี้สิน ในช่วงที่ผ่านมา อิรักจึงได้มีนโยบายการปราบปรามกลุ่มมุสลินนิกายชีอะต์หัวรุนแรงในอิรัก และมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อซีเรียในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ซีเรียให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุในอิรัก เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดยจอร์แดน บาห์เรน คูเวต และยูเออี ได้ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในอิรักแล้ว
3.4 ประเด็นชาวเคิร์ดยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิรักและเพื่อนบ้านทางเหนืออย่างตุรกี โดยกลุ่ม Kurdish Workers’ Party (PKK) ยังใช้พื้นที่บนเทือกเขทางตอนเหนือในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก เป็นฐานโจมตีตุรกี ทำให้ตุรกียังมีความกังวลต่อความมุ่งหวังของชาวเคิร์ดที่จะแยกตนเป็นอิสระจากอิรัก รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในตุรกี หากชาวเคิร์ดในอิรักประสบผลสำเร็จในการแยกเป็นเอกเทศ และการที่รัฐบาล KRG ของเคอร์ดิสถานเมินเฉยต่อการกระทำของกลุ่ม PKK ทำให้ตุรกีได้รุกเข้ามาในพื้นที่อิรักหลายครั้งเพื่อปราบปราม PKK แต่รัฐบาลกลางอิรักพยายามนิ่งเฉยต่อการรุกล้ำอาณาเขต เพราะไม่ต้องการให้กระทบความสัมพันธ์ที่สำคัญทั้งในด้านการทูตและการค้ากับตุรกี

4.ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิรัก
4.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป
1) การทูต
ประเทศไทยกับอิรักสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2499 (1956) ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด และอิรัก มีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามสหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก ทางการอิรักได้ทำการปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตอิรักในกรุงเทพฯ ในขณะที่ ในส่วนของไทย เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด ได้อพยพออกจากอิรักก่อนสงคราม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2546 และได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน โดยยังคงมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลอาคารสถานเอกอัครราชทูตในกรุงแบกแดด
ปัจจุบัน ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมอิรัก โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ได้แก่ นายอิสินทร สอนไว ในส่วนของอิรัก สถานเอกอัครราชทูตอิรัก ที่ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ ได้ปิดทำการไปตั้งแต่ช่วงสงคราม สหรัฐฯ – อิรัก เดือนเมษายน พ.ศ. 2546 และยังไม่ได้เปิดทำการใหม่ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตอิรัก ที่ติดต่อประสานงานกับทางการไทย ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตอิรักประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
2) เศรษฐกิจ
2.1) การค้า
ไทยและอิรัก ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee - JTC) เมื่อปี 2527 โดยอิรักได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกที่กรุงแบกแดด เมื่อปี 2531 และครั้งที่สองเมื่อปี 2543 สำหรับครั้งที่ 3 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2545 แต่ภายหลังสงครามในปี 2546 (2003) ก็ไม่ได้มีการจัดการประชุม JTC ดังกล่าวอีก ทั้งนี้ ก่อนช่วงสงคราม อิรักเป็นตลาดสำคัญในตะวันออกกลางแห่งหนึ่งของไทย โดยไทยส่งออกข้าว น้ำตาลทราย เหล็ก เหล็กกล้า อุปกรณ์การศึกษา เครื่องมือแพทย์ น้ำมันพืช และนำเข้าน้ำมันจากอิรัก มูลค่าการค้าระหว่างปี 2538-2542 อยู่ระหว่างปีละ 30-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2552 ไทยกับอิรัก มีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่ารวมประมาณ 288 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังอิรัก สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และไทยนำเข้าสินค้ามูลค่ารวมประมาณ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอิรัก โดยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียวคือ น้ำมันดิบ ทั้งนี้ อิรักเป็นตลาดนำเข้าข้าวไทยที่สำคัญรายหนึ่งของโลก โดยในปี 2552เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 12 มูลค่ารวมประมาณ 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 50 จากปี 2551)
2.2) โครงการ Oil for Food ในปี 2533 (1990)
ภายหลังจากที่อิรักบุกยึดคูเวต และอิรักถูกคว่ำบาตรด้วยข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council –UNSC) ปริมาณการค้าได้ลดลง โดยในช่วงปี 2538-2546 (1995-2003) นักธุรกิจไทยได้ทำการค้ากับอิรักภายใต้โครงการ Oil for Food โดยติดต่อขายสินค้าให้อิรักภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ในปี 2546 ได้มีรายงานทั้งของ UN และในข่าวสื่อมวลชนทั่วโลก ว่าธุรกิจเอกชนต่างชาติได้ติดสินบนและกระทำการทุจริตในโครงการ Oil for Food ซึ่งธุรกิจเอกชนไทยถูกพาดพิงด้วย ประกอบกับในปีเดียวกัน มีข่าวการยุบโครงการ Oil for Food ก่อนหน้าที่สหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก ดังนั้น ธุรกิจเอกชนไทยจึงได้ดำเนินการทวงหนี้สินที่รัฐบาลอิรักคั่งค้างโดยการติดต่อรัฐบาลอิรักโดยตรง และไม่ได้หยิบยกประเด็นการทวงหนี้กับกระทรวงฯ อีก คาดว่าในปัจจุบัน รัฐบาลอิรัก น่าจะยังคงมีหนี้สินค้างชำระจำนวนหนึ่งกับธุรกิจไทย 4 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท ข้าวไชยพร จำกัด จำหน่ายข้าว (2) บริษัท พีบี (พึ่งบุญ) อินเตอร์เทรด จำกัด จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเจาะ, น้ำมัน, อุปกรณ์การศึกษา (3) บริษัท ไทย เอส ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จำหน่ายคอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง, อุปกรณ์การแพทย์ และ (4) บริษัท สหมิตร ถังแก๊ส จำกัด จำหน่ายถังแก๊ซ อย่างไรก็ตาม การหยิบยกประเด็นการทวงหนี้ Oil for Food กับรัฐบาลอิรักชุดปัจจุบัน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก รัฐบาลอิรักแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการให้ประชาคมโลกยกเลิกหนี้สมัยอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทั้งหมดให้อิรัก
2.3) ด้านการท่องเที่ยว
สำหรับในด้านการท่องเที่ยว มีชาวอิรักเดินทางมาไทย เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ หรือเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ จำนวนประมาณ 2,289 คน ในปี 2552
2.4) ด้านแรงงาน นักศึกษา และอื่นๆ
ตั้งแต่หลังปี 2546 (2006) ไทยกับอิรักไม่มีการลงทุนระหว่างกัน และไม่มีนักศึกษาไทย หรือแรงงานไทยในอิรัก นอกจากนั้น ไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันตั้งแต่หลังปี 2546 สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก อย่างไรก็ตาม ไทยกับอิรัก ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนอยู่ โดยยังคงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของทีมฟุตบอล เพื่อแข่งขันฟุตบอลระหว่างกัน โดยสมาคมฟุตบอลของทั้งสองฝ่ายเป็นระยะๆ ในปี 2544 รัฐบาลอิรัก ภายใต้อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เคยขอจัดตั้งสมาคมมิตรภาพอิรัก-ไทย แต่ฝ่ายไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอจัดตั้งสมาคมดังกล่าวมีนัยทางการเมืองที่ละเอียดอ่อน จึงไม่ได้ให้ความเห็นชอบ
ปัจจุบันมีแรงงานไทยในอิรักประมาณไม่เกิน 100 คน โดยส่วนใหญ่ (60 คน) ทำงานในสนามบินเมือง Najaf ทางตอนใต้ของแบกแดด และประมาณ 10 คน เป็นพนักงานสปาประจำโรงแรมในเมือง Erbil ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเอง Kurdistan ส่วนที่เหลืออาจเข้าไปทำงานในอิรักโดยมิได้แจ้งให้ทางการทราบ ทั้งนี้ แรงงานไทยอยู่ในเขตที่มีความปลอดภัยสูงและยังไม่เคยมีรายงานแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงในอิรัก
3) ความช่วยเหลือของไทยแก่อิรัก
3.1) ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ภายหลังสงครามในปี 2546 (2003) ไทยให้ความช่วยเหลืออิรัก ในด้านมนุษยธรรมโดยบริจาคเงินให้กับ ICRC จำนวน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือด้านอาหารและเวชภัณฑ์อีกมูลค่า 20 ล้านบาท นอกจากนั้น ตามมติของสหประชาชาติที่ 1483 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ให้สมาชิกสหประชาชาติให้การสนับสนุนกองกำลังพันธมิตรในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรักเป็นการเร่งด่วน และให้การสนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรักให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลไทยได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาและฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม โดยจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก หรือ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก จำนวน 2 ผลัด ผลัดละ 443 นายไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองคาร์บาลา ประเทศอิรัก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 - กันยายน 2547
- ด้านการช่าง สนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรัก ได้แก่ การซ่อมสร้างถนน 13 สาย อาคารโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่สาธารณและระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย
-ด้านการแพทย์ เปิดบริการ MOBILE CLINIC ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักในเขตพื้นที่เมืองคาร์บาร่าและบริเวณใกล้เคียง ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักเป็นจำนวน 32,241 ราย
-ด้านส่งเสริมการเกษตร ในผลัดที่ 2 มีการส่งชุดส่งเสริมการเกษตรเข้าไป แนะนำด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้ชาวอิรักสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ มีการนำพันธุ์พืชแจกจ่ายให้กับชาวอิรัก รวมทั้งจะมีการอบรมการใช้ปุ๋ยเพื่อให้พื้นดินเหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้วในติมอร์ตะวันออก
-ด้านกิจการพลเรือน ปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์รอบค่ายลิม่า โดยจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เดินทางไปให้บริการประชาชนชาวอิรัก และนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร ผ้าห่ม ปลากระป๋อง นมกระป๋องสำหรับทารก ของเด็กเล่น ฯลฯ
3.2) ความช่วยเหลือทางวิชาการ
รัฐบาลไทยยังคงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่อิรัก โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับชาวอิรักในสาขาต่างๆ ได้แก่ การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง ได้เคยให้ความช่วยเหลือในการสร้างเก้าอี้คนไข้และอุปกรณ์สำหรับคนพิการ และจัดสรรทุนศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศไทยให้กับชาวอิรักอีกจำนวนหนึ่ง
1) ทุนภายใต้กรอบหลักสูตรฝึกอบรมประจำปี
- ในปี 2549 และ 2550 สพร. ได้แจ้งเวียนทุนฝึกอบรมประจำปีหลักสูตร Managing a Market Economy in a Globalizing World (ไม่มีผู้สมัคร)
- ปี 2551 2552 และ 2553 สพร. ได้แจ้งเวียนทุนฝึกอบรมประจำปีหลักสูตร Managing a Market Economy in a Globalizing World หลักสูตร Animal Diseases Control (Highly Pathogenic Avian Influenza- HPAI as a model) และหลักสูตร Epidemiology and Control of Tropical Disease (ปี 2551 และ 2552 ไม่มีผู้สมัคร ปี 2553 กำลังอยู่ในระหว่างการรับสมัคร)
2) การจัดหลักสูตรศึกษา/ดูงาน ฝึกอบรมภายใต้กรอบทวิภาคี
- หลักสูตรศึกษา/ดูงานด้าน Community Empowerment สำหรับผู้บริหารระดับสูง ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552
- หลักสูตรฝึกอบรมด้าน Community Empowerment สำหรับเจ้าหน้าที่ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 1 ตุลาคม 2549
- หลักสูตรฝึกอบรมด้าน Strengthening Community สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับกลาง/ปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 14 – 17 ธันวาคม 2549
4) การตรวจลงตราให้แก่คนอิรัก
- รัฐบาลไทยอนุมัติการตรวจลงตราให้แก่คนอิรักที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวใน ประเทศไทยแล้ว โดยจะต้องขอรับการตรวจลงตราในประเทศที่มีถิ่นพำนัก และใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์
- การขอรับการตรวจลงตราของชาวอิรักเพื่อเดินทางไปประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะต้องใช้เอกสารประกอบยื่นคำร้อง ดังนี้
1) จดหมายเชิญจากบริษัทหรือหน่วยงานในประเทศไทย ที่เชิญให้นักธุรกิจเดินทางไปติดต่อธุรกิจในประเทศไทย
2) สำเนาหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติอิรักที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
3) หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงว่ามีการติดต่อทางธุรกิจกับบริษัทในประเทศไทยจริง เช่น ใบ Invoice สำเนา Bill of Lading เป็นต้น
4) สถานเอกอัครราชทูต ฯ จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ก่อนที่จะดำเนินการตรวจลงตราให้แก่นักธุรกิจอิรักที่จะเดินทางไปติดต่อทาง ธุรกิจในประเทศไทยทุกครั้ง
5) ความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศ
อิรักให้การสนับสนุนไทยแบบให้เปล่าว ในการเลือกตั้งสมาชิก UNHRC วาระ 2010 – 13 ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งไทยได้รับเลือก

4.2 ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยการค้าไทย-อิรัก ลงนามเมื่อปี 2527 ที่กรุงเทพฯ
ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของอิรัก-ไทย ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2545
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ระหว่างอิรัก-ไทย ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2545
- ความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอิรัก ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2542

4.3 การติดต่อ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัมมาน นายอิสินธร สอนไว
Royal Thai Embassy
No. 33 Al-Hashemeen St.,
Dirghabar-Abdoun,
P.O. Box 144329,
Amman 11814 JORDAN
Tel. (9626) 592-3300 ,592-1964
Fax. (9626) 592-3311
E-mail : [email protected]
Website : http://www.thaiembassy.org/amman
Office Hours : Sunday - Thursday 09.00 - 16.30 hrs.
Visa and Consular section : 09.30-12.30 and 14.00-16.00 hrs.
สถานเอกอัครราชทูตอิรัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
Embassy of the Republic of Iraq
2 Jalan Langgak Golf, Off.
Jalan Tun Razak 55000
Kuala Lumpur, Malaysia
Tel: (603) 2148-0555, 2148 0650
Fax: (603) 2141 4337
Email: [email protected]


******************************

กันยายน 2553


กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2053 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ