ราชอาณาจักรบาห์เรน

ราชอาณาจักรบาห์เรน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 38,875 view


ราชอาณาจักรบาห์เรน
Kingdom of Bahrain

 

ข้อมูลทั่วไป

 

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในอ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) ประกอบด้วยเกาะ 33 เกาะ ซึ่งห่างจากฝั่งทะเลตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย 24 กิโลเมตรและห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันตกของกาตาร์ 27 กิโลเมตร

พื้นที่ 712 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงมานามา (Manama)

 ประชากร ประมาณ 1.3 ล้านคน (ปี 2554)

ภูมิอากาศ ในฤดูหนาว (ธันวาคม-มีนาคม) อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง19-29 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูร้อน (เมษายน–ตุลาคม) อุณหภูมิอาจสูงถึง 49 องศาเซลเซียส

ภาษา  ภาษาอาหรับ (ภาษาราชการ) และใช้ภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวาง

ศาสนา ศาสนาอิสลามร้อยละ 85  (นิกายสุหนี่ ร้อยละ 25 นิกายชีอะต์ ร้อยละ 75) ศาสนาคริสต์และอื่นๆ ร้อยละ 15

หน่วยเงินตรา          บาห์เรนดีนาร์ (Bahrain Dinar) 1 บาห์เรนดีนาร์เท่ากับประมาณ 80 บาท (เมษายน 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 26.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 23,410 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.8 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง ราชาธิปไตยกึ่งรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ    ซึ่งเป็นไปตามผลการลงประชามติของชาวบาห์เรนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮามัด บิน อิซา อัล คอลิฟะห์ (His Majesty King Hamad Bin Isa Al Khalifa) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2542

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

1. การเมืองการปกครอง

1.1 บาห์เรนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรและได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2514 ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีอิซา บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ โดยทรงดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองรัฐ (Emir) จนถึงปี 2542 และต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีฮามัด บิน อิซา อัล คอลิฟะห์ พระโอรส ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2542 สืบต่อจากพระราชบิดาซึ่งเสด็จสวรรคต และทรงเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และทรงเปลี่ยนชื่อประเทศจากรัฐบาห์เรน (State of Bahrain) เป็นราชอาณาจักรบาห์เรน (Kingdom of Bahrain) ในปี 2545 รวมทั้งทรงเปลี่ยนการเรียกตำแหน่งประมุขของประเทศจากเจ้าผู้ครองรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ (King)

1.2  ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ (His Royal Highness Prince Khalifa bin Salman Al Khalifa) ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรน รัฐสภาบาห์เรนประกอบด้วยสภาที่ปรึกษา (Shura Council) เทียบเท่าวุฒิสภา จำนวน 40 คน แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และสภาผู้แทนราษฎร (Nuwwab Council) จำนวน 40 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจทางการเมืองการปกครองขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ สมาชิกพระราชวงศ์อัลคอลิฟะห์ ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงด้านความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

1.3 ด้านการทหาร กองทัพบาห์เรนมีกำลังพล 11,200 คน เป็นทหารบก 8,500 คน ทหารเรือ 1,200 คน ทหารอากาศ 1,500 คน ทั้งนี้ การที่บาห์เรนเป็นประเทศเล็กและมีกำลังพลจำกัด จึงพึ่งพาประเทศสมาชิกอื่นๆ  ในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย ในการป้องกันประเทศ

1.4 รัฐบาลบาห์เรนได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2545 บาห์เรนได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

1.5 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2554 ได้เกิดการชุมนุมประท้วงโดยสงบบริเวณวงเวียน Pearl เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง ต่อมาผู้ชุมนุมได้ยกระดับข้อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีบาห์เรนลาออกทั้งคณะและขับไล่ราชวงศ์ Al-Khalifa การชุมนุมดำเนินไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจสลายการชุมนุม มีการประเมินว่าสถานการณ์ความ  ไม่สงบในบาห์เรนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 คน บาดเจ็บกว่า1,700 คน และสูญหายกว่า 40 คน ภายหลังการสลายการชุมนุม สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรน ทรงแต่งตั้งให้มกุฎราชกุมารเป็นผู้นำในการหารือระดับชาติ (National Dialogue) กับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปและ สร้างความปรองดองในประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาธิบดีบาห์เรนทรงตรา พ.ร.ฎ. แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในบาห์เรนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2554 เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก โดยมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา

รัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการสร้างความสงบสุขในสังคม เห็นได้จากกการจัดให้มีการหารือระดับชาติ โดยนำผลการหารือมาปฏิบัติใช้จริงและการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในบาห์เรนฯ เพื่อสร้างความปรองดองในประเทศ รวมทั้งยังจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติศึกษารายงานของคณะกรรมการอิสระฯ เพื่อนำมาปรับปรุงกฎหทายและและการฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กองกำลัง Peninsular Shield Force ก็ยังคงอยู่ในบาห์เรน และยังมีรายงานการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตชุมชนชีอะต์ รวมทั้ง ยังคาดการณ์ว่าผู้ชุมนุมประท้วงมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้น

2. เศรษฐกิจ

2.1 การส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักของบาห์เรนนับตั้งแต่การค้นพบน้ำมันในปี 2475     อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบาห์เรนมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  ใน GCC รัฐบาลบาห์เรนจึงเร่งทำการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (economic diversification) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันโลก โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม รวมทั้งพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาค

2.2 บาห์เรนมีเป้าหมายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคารในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อแข่งขันกับประเทศริมอ่าวอื่นๆ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์ บาห์เรน มีสถาบันการเงินประมาณ 400 แห่ง มีรายได้จากภาคการเงินและการธนาคารคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติ

3. สังคม

รัฐบาลบาห์เรนได้พยายามแก้ไขปัญหาว่างงานสูง โดยการดำเนินนโยบายส่งเสริมการจ้างงาน ชาวบาห์เรน (Bahrainisation) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2539 โดยภาครัฐและภาคเอกชนต้องว่าจ้างชาวบาห์เรนในอัตราที่กำหนด กล่าวคือ ทุกบริษัทต้องว่าจ้างชาวบาห์เรนอย่างน้อย 1 คน บริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 10 คน ต้องเพิ่มอัตราการจ้างงานชาวบาห์เรนเป็นร้อยละ 5 ต่อปี ทุกปีจนถึงเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 ในขณะที่โครงการใหม่ๆ ต้องมีการว่าจ้างชาวบาห์เรนอย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จในการว่าจ้างงานในภาครัฐ แต่ประสบปัญหาในภาคเอกชน เนื่องจากมีการเปลี่ยนงานบ่อย ภายหลังจากที่ได้มีการว่าจ้างและรับการฝึกอบรมแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่พอใจ

4. นโยบายต่างประเทศ

บาห์เรนเป็นประเทศอาหรับที่ดำเนินนโยบายสายกลาง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ใน GCC โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวต นอกจากกลุ่มประเทศ GCC แล้ว บาห์เรนยังมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกในกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States  หรือ Arab League) เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก บาห์เรนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและสหราช อาณาจักร บาห์เรนเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา (The Fifth Fleet) บาห์เรนสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการส่งกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานและได้รับสถานะ Major Non-NATO Ally (MNNA) ในปี 2545 นอกจากนี้ บาห์เรนยังเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่เจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐอเมริกาเป็นผลสำเร็จ

ความสัมพันธ์ไทย - บาห์เรน

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและบาห์เรนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2520 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด บาห์เรนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่ประเทศในตะวันออกกลางในหลายมิติ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นไปด้วยดีเนื่องจากนายกรัฐมนตรีบาห์เรนทรงชื่นชอบประเทศไทยและอัธยาศัยไมตรีของคนไทย และทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศ ทรงชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดประเทศไทยและเสด็จมาพักผ่อนที่ประเทศไทย เป็นประจำทุกปี  ล่าสุด ได้เสด็จมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อทรงพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ อนึ่ง ในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 นายกรัฐมนตรีบาห์เรนทรงเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรนเสด็จมาร่วมงานและยังทรงสั่งการให้อำนวยความสะดวกในการติดต่อนัดหมายให้คณะผู้แทนไทยเข้าเฝ้าราชวงศ์ในตะวันออกกลางหลายพระราชวงศ์เพื่อกราบบังคมทูลเชิญร่วมงาน

ความสัมพันธ์การเมืองไทย-บาห์เรนพัฒนาอย่างรวดเร็วภายหลังการเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 และการเปิดสถานเอกอัครราชทูตบาห์เรนประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานเอกอัครราชทูตบาห์เรนเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีนาย Adel Yousif Sater เป็นเอกอัครราชทูตบาห์เรนผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทยคนแรก รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

2. การเมือง

บาห์เรนให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขภาพลักษณ์ของไทย  ในประเด็นปัญหาภาคใต้ในเวทีองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference – OIC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation โดยคงอักษรย่อ OIC เช่นเดิม) และยังเป็นสื่อกลางในความพยายามปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งยังให้ข้อสนเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แก่ไทย นอกจากนี้ บาห์เรนยังได้ให้การสนับสนุนการสมัครดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เมื่อปี 2549 อย่างเข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีบาห์เรนทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ได้แสดงความมั่นใจว่าทางการไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

3. ความมั่นคง

กองทัพเรือไทยได้เข้าร่วมกับกองทัพเรือบาห์เรนและกองทัพเรือมิตรประเทศในการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย โดยส่งนายทหารประสานภารกิจ จำนวน 8 นาย ไปประจำที่ Combined Maritime Forces (CMF) กรุงมานามา เมื่อปี 2554 กองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงสิมิลันและเรือหลวงนราธิวาส ไปปฏิบัติการภารกิจหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม – 28 พฤศจิกายน 2554 สำหรับในปีนี้ นายทหารจากกองทัพเรือจะรับตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 และกองทัพเรือไทยได้ส่งนายทหารเข้าร่วมภารกิจดังกล่าวอีก 15 นาย ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 14 กรกฎาคม 2555

4. เศรษฐกิจ

4.1 การค้า

บาห์เรนยังเป็นตลาดเล็กสำหรับไทย โดยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 98 ของไทย และลำดับที่ 7 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางแอฟริกาตอนเหนือ มูลค่าการค้ารวมในรอบ 4 ปี (2548 - 2551) เฉลี่ยปีละประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เดิมไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า เนื่องจากสินค้านำเข้าหลักจากบาห์เรนเป็นสินแร่โลหะ ปุ๋ย และน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ดีในปี 2553 มูลค่าการค้ารวมประมาณ 330.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าการค้ารวมระหว่างเดือนมีนาคม–กรกฎาคม 2554 ประมาณ 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การส่งออกของไทยมีมูลค่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าจากบาห์เรนมีมูลค่าประมาณ 199.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า

ไทยและบาห์เรนได้เจรจาที่จะจัดทำ FTA ระหว่างกัน 4 ครั้ง แต่จากการที่บาห์เรนจัดทำ FTA กับสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับการกดดันจากประเทศ GCC อื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยที่บาห์เรนจะจัดทำ FTA เป็นรายประเทศ บาห์เรนจึงเสนอให้ปรับการเจรจา FTA ไทย-บาห์เรน เป็น FTA ไทย-GCC แทน ซึ่งฝ่ายไทยเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังมิได้เริ่มเจรจาในกรอบใหม่แต่อย่างใด

สินค้าออกที่สำคัญของไทยไปบาห์เรน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ทองแดง และผลิตภัณฑ์ทองแดง ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบาห์เรน ได้แก่ สินแร่โลหะ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น

4.2 การลงทุน

นายกรัฐมนตรีบาห์เรนได้ทรงพยายามชักจูงและผลักดันให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในบาห์เรน โดยได้ทรงสนับสนุนให้สมาคมผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในต่างประเทศของไทย (Overseas Business Investment Association - OBIA) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัท Promoseven ของบาห์เรน ร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์ Thai Business Center (TBC) ภายใต้พระอุปถัมภ์ เป็นศูนย์ส่งเสริมการค้าของไทยที่กรุงมานามา เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 โดยเน้นการแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยทั้งในด้านสินค้าและบริการ 6 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง สินค้าหัตถกรรมชุมชน สปาและการแพทย์ไทย สินค้ากลุ่มแฟชั่น ร้านอาหารไทย และ supermarket จัดจำหน่ายผลไม้สด อาหารสดและแช่แข็ง และอาหารฮาลาลกระป๋อง ทั้งนี้ รัฐบาลบาห์เรนได้ให้เงินอุดหนุนสถานที่เช่าที่ทำการของศูนย์ TBC โดยในปี 2549 ออกให้ร้อยละ 100 เป็นเงิน 10 ล้านบาท ปีที่ 2 และ 3 ฝ่ายไทยต้องออกครึ่งหนึ่ง เป็นเงินปีละ 5 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อปลายปี 2550 นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ นักธุรกิจไทยที่ร่วมทุนเข้าไปบริหารศูนย์ TBC ได้แจ้งขอยุติบทบาทของโครงการศูนย์ TBC เนื่องจาก มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ดี ฝ่ายบาห์เรนยังคงมีความต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์ TBC

บาห์เรนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนในต่างประเทศสูง และยังสนใจที่จะลงทุน             ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านบริการ และโรงแรม รวมทั้งยังต้องการที่จะร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างของไทยในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในบาห์เรน ในส่วนของการลงทุนของไทยในบาห์เรน บริษัท ปตท.สผ. ก็ได้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแปลงนอกชายฝั่งบาห์เรน

4.3 ด้านแรงงาน

ปัจจุบันมีคนไทยในบาห์เรนประมาณ 3,000 คน เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ จำนวน 2,000 คน คนไทยที่ประกอบกิจการร้านอาหารไทย ช่างทำผม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าพร้อมครอบครัวประมาณ 1,000 คน  อย่างไรก็ตาม จากการที่คนไทยสามารถเดินทางเข้าบาห์เรนได้โดยไม่ต้องตรวจลงตรา (พำนักอยู่ในบาห์เรนได้ 14 วัน) ทำให้มีการลักลอบเข้าเมืองและอยู่อาศัยในบาห์เรนอย่างผิดกฎหมาย จำนวนกว่า 1,000 คน และมีปัญหาหญิงไทยไปค้าประเวณีในบาห์เรนจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่กรุงมานามา และเมืองริฟฟา (เมืองท่องเที่ยวของบาห์เรน) และเมืองมูฮารัค (เป็นเมืองใหญ่ของบาห์เรนและเป็นที่ตั้งของ Bahrain International Airport) จำนวนคนไทยที่พำนักในบาห์เรนอย่างผิดกฎหมายลดลงเหลือประมาณ  500 คน (จากประมาณกว่า 1,000 คน ในปี 2553) เนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลบาห์เรนอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่อยู่เกินกำหนดวีซ่าและพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายสามารถเดินทางกลับประเทศได้โดยไม่ต้องโทษจำคุก แต่ยังคงต้องเสียค่าปรับที่อยู่เกินกำหนดวีซ่า ทั้งนี้ โดยต้องไม่เป็นผู้มีคดีความอื่นๆ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลบาห์เรนเริ่มใช้มาตรการใหม่ในการตรวจคน เข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 36 ประเทศ รวมทั้งไทย ผู้ที่เดินทางเข้าบาห์เรนต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประกอบการตรวจลงตรา ณ ท่าอากาศยาน ได้แก่ บัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับ เงินสดที่เพียงพอตลอดระยะเวลาที่พำนักในบาห์เรน และที่พำนักในบาห์เรน

4.4 การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจากบาห์เรนเดินทางมาไทยประมาณ 21,300 คน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปบาห์เรนยังมีประมาณ 4,500 คนในปี 2550

5. ความตกลงที่สำคัญกับไทย

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544

- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544

- ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อ 21 พฤษภาคม 2545

- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-บาห์เรน (High Joint Commission) ลงนามเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 ที่กรุงมานามา

- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ลงนามเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551

- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-บาห์เรน (Agreement on the Establishment of Joint Business Council (JBC)) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคลังสำรองอาหารและศูนย์กระจายสินค้าไทย (MoU on the Establishment of Thailand Food Security Stockpile and Distribution Centre) ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างหอการค้าและอุตสาหกรรมบาห์เรน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553

*****************
มิถุนายน 2555






กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5052

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-351-document.doc