ตูนิเซีย

ตูนิเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 17,865 view


ตูนิเซีย
Republic of Tunisia

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ : Republic of Tunisia
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ตอนใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตกติดแอลจีเรีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดลิเบีย
พื้นที่ : 154,530 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง : ตูนิส
ประชากร : 10.3 ล้านคน
ภูมิอากาศ : อากาศอบอุ่นในภาคเหนือ ฤดูหนาวมีฝนตกปานกลาง และ
อากาศร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน มีทะเลทรายในภาคใต้
ภาษา : อารบิกเป็นภาษาราชการ ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไปคือ ฝรั่งเศส
ศาสนา : อิสลาม สุหนี่ (ร้อยละ 98) คริสต์ (ร้อยละ1) ยิวและอื่นๆ (ร้อยละ1)

วันชาติ : 20 มีนาคม

ระบบการปกครอง : ระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมี
นายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
มีรัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) หรือ Majlis al-Nuwaab มีสมาชิก 214 คน มีวาระสมัยละ 5 ปี และสภาที่ปรึกษา (Chamber of Advisors) มีสมาชิก 126 คน โดย 85 คนได้รับเลือกจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 41 คน มีวาระคราวละ 6 ปี

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
• ตูนิเซียเคยเป็นที่ตั้งของนคร Carthage และตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของต่างชาติเป็นระยะเวลายาวนานเพราะปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ตูนิเซียตั้งอยู่ใจกลางทวีปแอฟริกาเหนือ อีกทั้งสามารถครอบคลุมการเดินเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตูนิเซียจึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากทั้งจากอาณาจักรโรมันและออตโตมัน ศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับ เติร์ก และฝรั่งเศส
• ตูนิเซียตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสจนกระทั่งปี ค.ศ. 1956 โดยมีนาย Habib Bourguiba เป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราช และต่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 ทศวรรษ



ประธานาธิบดี : Mr. Zine El Abidine Ben Ali
นายกรัฐมนตรี : Mr. Mohammed Ghannouchi
รัฐมนตรีต่างประเทศ : Mr. Abdelwahab Abdallah รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548
การปกครอง : ระบอบรัฐสภา ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง
รายได้ประชาชาติ (GDP) : 29.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (2549)
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 2,837 ดอลล่าร์สหรัฐ (2548)

ภาคอุตสาหกรรม : ปิโตรเลียม เหมืองแร่(ฟอสเฟตและแร่เหล็ก) การท่องเที่ยว สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม
ผลผลิตทางการเกษตร : มะกอก ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม มะเขือเทศ ส้ม เนื้อวัว น้ำตาลทราย อินทะผาลัม อัลมอนด์
อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.2 %(ประมาณการ 2549)
หนี้ต่างประเทศ : 18.4 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณการ 2549)
สินค้าออกสำคัญ : ไฮโดรคาบอน สิ่งทอ ผลิตผลการเกษตร ฟอสเฟต เคมีภัณฑ์
สินค้าเข้าสำคัญ : สินค้าอุตสาหกรรม ไฮโดรคาบอน อาหาร เครื่องบริโภค
ดุลการค้า: ขาดดุล 0.6 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณการ 2549)
หน่วยเงินตรา ตูนิเซียดินาร์ (Tunisian Dinar) อัตราแลกเปลี่ยน 1.33 ตูนิเซียดินาร์ เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.03 ตูนิเซียดินาร์ เท่ากับ 1 บาท

 

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง
1. การเมืองการปกครอง
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของตูนิเซียซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2502 มีการแก้ไขไป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 เพื่อกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้เป็น 3 วาระ จากที่ไม่เคยมีการกำหนดมาก่อน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2545 เพื่อยกเลิกการกำหนดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและขยายการจำกัดอายุของผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จาก 70 เป็น 75 ปี ในโอกาสนี้ได้มีการตั้งระบบ 2 สภาขึ้นอีกด้วย

ประธานาธิบดีดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปีเช่นเดียวกับสมาชิกสภา ประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Zine El Abidine Ben Ali เข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Habib Bourguiba เมื่อปี 2530 หลังจากคณะแพทย์ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นในสมัยที่พลเอก Ben Ali ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ลงความเห็นว่าประธานาธิบดี Bourguiba มีปัญหาด้านสุขภาพ และประธานาธิบดี Ben Ali ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ระบบหลายพรรค ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาพร้อมกันเมื่อปี 2532 และปี 2537 ซึ่งนาย Ben Ali ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และพรรครัฐบาล RCD ครองเสียงข้างมากในสภามาโดยตลอด นอกจากนี้ พรรค Rassemblement constitutionnel démocratique (RCD) ยังได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรตูนิเซียมากที่สุด ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของตูนิเซียครั้งล่าสุด ผลปรากฎว่า สมาชิกพรรค RCD ได้การรับเลือกตั้ง 161 คน (เพิ่มขึ้นจาก 152 คน) จากทั้งหมด 214 ที่นั่ง สำหรับพรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้ที่นั่งเพิ่มเช่นกัน เพราะนาย Ben Ali รักษาการประธานาธิบดี ผลักดันให้มีการเพิ่มที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งเดิมมี189 ที่นั่ง โดยแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งซึ่งทำให้สัดส่วนของที่นั่งในสภาจะเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2552 ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ไม่พบกับการแข่งขันที่น่าเป็นห่วง และผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ว่า นาย Ben Ali จะได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งอีกวาระอย่างแน่นอน มีแนวโน้มว่า นายBen Ali จะเริ่มหาผู้สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองของตนด้วย นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Mohammed Ghannouchi ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2542 เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

2.กาเรมืองภายใน
การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งภายในพรรครัฐบาล (RCD) และการปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาเป็นเพียงเพื่อใช้เน้นย้ำถึงการครองตำแหน่งที่ต่อเนื่องและเบ็ดเสร็จของพรรค RCD และประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ที่มีอำนาจในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลากรของตูนิเซีย การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2552 โดยการเพิ่มจำนวนที่นั่งในสภา เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นการเอื้อให้เกิดผลดีสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีมากกว่า เพราะในความเป็นจริง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดที่จะสามารถลดทอนฐานะสูงสุดทางการเมืองของประธานาธิบดี Ben Ali หรือพรรค RCD ได้ ในภาพรวม พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 8 พรรค ขาดความเข้มแข็งและมีความแตกแยก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการจัดตั้งพรรคฝ่ายค้านให้เป็นระบบหรือมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างเสรีภาพ

ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นาย Ben Ali ได้รับคะแนนเสียง 4,238,711 เสียง จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 4,737,367 คน คิดเป็นร้อยละ 89.62 การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัครแข่งขันอีก 3 คน ได้แก่ นาย Mohamed Bouchiha จาก People’s Unity Party (PUP) นาย Ahmed Innoubil จาก Unionist Democratic Union (UDU) และนาย Ahmed Brahim จาก Harakat Ettajdid (HE) ถึงแม้ว่าบรรยากาศการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างราบรื่นเป็นที่น่าพอใจของคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างชาติแต่สหรัฐอเมริกาและกลุ่ม Human Rights Watch แสดงความกังวลถึงความโปร่งใสของการเลือกตั้งดังกล่าว รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการที่เด็ดขาดในการปราบปรามครือข่ายที่เชื่อมโยงกับองค์กรมุสลิมหัวรุนแรง Al-Qaida อันเป็นเหตุสำคัญในสงครามรบพุ่งระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและผู้ก่อความไม่สงบในท้องถิ่นในช่วงต้นปี 2550 และมีการคาดการณ์ถึงการทวีตัวเพิ่มขึ้นของการเผชิญหน้าต่อสู้กันใน Maghreb จึงมีชาวตูนิเซียบางส่วนตั้งคำถามถึงแผนการรักษาความมั่นคงและความรุ่งเรืองของประเทศว่า เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้หรือไม่กับระบบการเมืองการปกครองที่เปิดและมีอิสระมากขึ้น

ความคืบหน้าของรัฐบาลในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการจัดสรรทางสังคมและสวัสดิการอาจไม่มีความต่อเนื่อง เพราะอัตราการว่างงานที่สูงสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการคอรัปชั่นและสิทธิพิเศษทางด้านธุรกิจและการเมืองของกลุ่มบุคคลเพียงบางกลุ่ม ในระยะนี้ จึงเกิดการประท้วงเรื่องการว่างงานและการขึ้นราคาอาหารบ่อยครั้ง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายบรรเทาความตึงเครียดด้วยการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและความรุ่งเรืองมีความสำคัญมากกว่าความกังวลในเรื่องการขาดเสรีภาพทางการเมือง

3. เศรษฐกิจและสังคม
3.1 สภาพทั่วไป
เศรษฐกิจของตูนิเซียมีความหลากหลาย นอกจากจะมีรายได้จากเกษตรกรรม น้ำมันและ
แร่ฟอสเฟตแล้ว ปัจจุบันยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการผลิตเสื้อผ้าอีกด้วย อัตราเงินเฟ้อคงตัวตั้งแต่ปี 2544 (ร้อยละ 3.1 ปี 2550)
ตูนีเซียได้ทำสัญญาจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับโมร็อกโก จอร์แดน อียิปต์ และลิเบีย ในการประชุม World Economic Forum (WEF) เมื่อเดือนมิถุนายน 2543

ตูนิเซียพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) และติดต่อค้าขายกับประเทศในยุโรปเป็นหลัก และได้ลงนามความตกลง Association Agreement กับ EU เมื่อปี 2539 ซึ่งทำให้สินค้าของตูนิเซียเข้าสู่ตลาดของ EU โดยไม่ต้องเสียภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นต้นมา ในขณะนี้ ตูนิเซียให้ความสำคัญกับการสร้างานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการว่างงานสูงมากกว่าร้อยละ 14 นโยบายปัจจุบันมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของชาวตูนิเซียให้เท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตูนิเซียได้รับการระบุว่าเป็นประเทศที่มีทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในแอฟริกา และดัชนี CPI (Transparency International Corruption Perception Index) ระบุว่า สถานการณ์การทุจริตประพฤติมิชอบในตูนิเซียดีที่สุดในบรรดาประเทศอาหรับ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตูนิเซียได้สร้างบรรยากาศการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ตูนิเซีย ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ และลดหย่อนภาษี และศุลกากร และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในตูนิเซีย

3.2 การคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2552-2553
วิกฤติเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะทำให้รัฐบาลลระมัดระวังและใส่ใจกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP จะชะลอตัวลงในปี 2552 เป็นร้อยละ 2.2 และจะเพิ่มขึ้นขึ้นพอสมควรในปี 2553 เป็นร้อยละ 3.5 นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์ของเงินคงคลังจะลดต่ำลงโดยมีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 12.5 เพื่อใช้กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตของรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐ การขาดแคลนเงินคงคลังคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.2 ของ GDP ในปี 2552 – 2553 การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงในปี 2552 ในขณะที่กำไรจากการส่งออกและการนำเข้าจะค่อยๆ ลดลงไปจนถึงร้อยละ 2.1 ของ GDP โดยจะกระเตื้องเพิ่มขึ้นพอประมาณในปี 2553 ดัชนีทางเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออกที่ลดลงทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว สำหรับมูลค่าทางการค้าโดยรวมนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรกของปี แม้ว่าการขาดดุลทางการค้าและการขาดดุลงบประมาณจะลดลงเล็กน้อย

3.3 ทิศทางนโยบาย
วิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้รัฐบาลต้องมีความรอบคอบในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างหนักเพื่อที่จะลดอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยพยายามที่จะเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นร้อยละ 6.1 ต่อปี ภายในปี 2554 โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะเพิ่มการแข่งขันและส่งเสริมการลงทุนในประเทศของต่างชาติ นอกจากนี้ องค์การรัฐวิสาหกิจมีแผนที่จะส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาคเช่นกันเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างบริเวณภาคตะวันตกของประเทศที่ยากจนและภาคตะวันออกและเหนือที่มีความเจริญมากกว่าเพราะมีการลงทุนที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่มีอย่างจำกัดและความวุ่นวายทางการเมืองอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการดำเนินตามนโยบาย

3.4 นโยบายด้านงบประมาณและการเงิน
รัฐบาลมีนโยบายด้านงบประมาณปี 2552 ที่จะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและพยุงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อระดับไว้ซึ่งจะสามารถคงระดับการขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP การเพิ่มขึ้นของการบริโภคจะลดลงเล็กน้อยในปี 2553 แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายของเศรษฐกิจภาครัฐบาลและการคงที่ของการสนับสนุนทางการเงินในเรื่องเกษตรกรรมจะยังคงมั่นคง อย่างไรก็ตาม เงินช่วยเหลือน่าจะมีพอประมาณและรัฐบาลมีความพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อจะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายทั้งหมดถึงร้อยละ 5.8 สำหรับรายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ธนาคารกลางจะยังคงนโยบายทางการเงินที่เข้มแข็งและค่อนข้างระมัดระวัง โดยอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2553

3.5 นโยบายเศรษฐกิจ
• การกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปส่งผลกระทบต่อตูนิเซีย รัฐบาลจึงวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยได้กู้ยืมเงิน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก World Bank เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 เพื่อเป็นเงินทุนให้ภาคเอกชนนำไปพัฒนาความสามารถทางการผลิตและการแข่งขันในตลาด และสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สหภาพยุโรปเป็นผู้สนับสนุน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้ธนาคารปล่อยเงินกู้เเพื่อเป็นเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และช่วยเหลือเกษตรกรโดยการยกระดับราคาธัญพืช เพิ่มเงินช่วยเหลือในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น พักชำระหนี้ และให้เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการลงทุนแก่ชาวนา นอกจากนี้ ธนาคารกลางแห่งประเทศตูนิเซียได้ลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงมาเป็นร้อยละ 4.5 และลดปริมาณเงินทุนสำรองในธนาคารเพื่อให้มีการปล่อยกู้เงินสำหรับการลงทุนในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดงบประมาณรัฐเพื่อเป็นเงินทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนา และเงินอุดหนุนสำหรับมาตรการลดภาษีศุลกากร และการลดค่าเชื้อเพลิงลงอีกร้อยละ 4 มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่ตูนิเซียยังคงต้องพึ่งพาการตลาดจากยุโรปเป็นหลัก ทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว และเงินที่ชาวตูนิเซียทื่ไปทำงานนอกประเทศส่งกลับเข้ามานั้น ทำให้เศรษฐกิจของตูนิเซียฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจในยุโรปมีการฟื้นตัวก่อน

• การดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว
รัฐบาลตูนิเซียได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยได้นำเอายุทธศาสตร์ใหม่มาใช้ เนื่องจากการท่องเที่ยวของตูนิเซียในปัจจุบันสร้างรายได้เพียงร้อยละ 7 ของ GDP และการจ้างงาน 5 แสนคนทั้งทางตรงและทางอ้อม (ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16 ของแรงงานทั้งหมด) การท่องเที่ยวเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามายังตูนิเซีย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวในระยะหลังกลับเป็นที่น่าผิดหวัง ภาวะเงินเฟ้อในอดีตและมูลค่าค่าเงินดินาร์ที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวคิดเป็นเพียงร้อยละ 60 ของโมร็อกโก (ตูนิเซีย 516 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ โมร็อกโก 871 ดอลลาร์สหรัฐ ) นอกจากนี้ การลดราคาที่พักของของโรงแรมต่างๆ ส่งผลให้โรงแรมมีกำไรน้อยลงและเป็นหนี้นานขึ้น คุณภาพการบริการของโรงแรมในตูนิเซียไม่ค่อยมีมาตรฐานที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีโรงแรมใหม่ๆ เปิดขึ้นทุกๆ ปี (โครงการพัฒนายกระดับโรงแรมที่รัฐให้เงินอุดหนุนดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า) แม้ว่าความพยายามในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มประเภทสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวมักเป็นในรูปแบบแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบราคาประหยัด (มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการน้อย)

• การเพิ่มความหลากหลายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวคล้ายคลึงกับแผนการที่ผ่านมาในหลายทศวรรษ โดยจะเน้นให้มีความความหลากหลาย พัฒนาด้านสนามกอล์ฟ การล่องเรือ แหล่งโบราณคดี (ซึ่งมีรากฐานจากแหล่งอารยธรรมโรมันในตูนิเซีย) และการท่องเที่ยววันหยุดในทะเลทรายซาฮาร่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีฐานะ ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ซึ่งปัจจุบันทำรายได้เพียง 60 ล้านตูนิเซียดินาร์ต่อปี น่าจะมีศักยภาพในการพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างความทันสมัยให้โรงแรม การก่อสร้างโรงแรม ภัตตาคาร ไนต์คลับ ภัตตาคาร และ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกีฬาและการให้ความบันเทิง ในด้านมาตรฐานของการบริการจะพัฒนาโดยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การตลาดในด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และ จีน รัฐบาลตูนิเซียจัดสรรงบประมาณจำนวน 45 ล้านตูนิเซียดินาร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในอนาคตมีแผนสร้างเครือข่ายสายการบินให้มากขึ้นและหลากหลาย รวมทั้งปรับปรุงการต่อเครื่องบินภายในประเทศไปยังด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ Saharan Oasis

4. นโยบายต่างประเทศ
ตูนิเซียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศอาหรับและมุสลิมสายกลาง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และฝรั่งเศส และประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเวทีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ซึ่งมีสมาชิก 112 ประเทศ กลุ่มสันนิบาตอาหรับ และกลุ่ม Arab Maghreb Union แม้ว่าตูนิเซียมีความพยายามที่จะเปลี่ยนกลุ่มสันนิบาตอาหรับให้เป็นองค์การเศรษฐกิจประจำภูมิภาค โมร็อกโกและแอลจีเรียจะขัดขวางเสมอ ปัจจุบันรัฐบาลตูนิเซียมุ่งเน้นการปฏิรูปและพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2550 ถึง 2554 ด้วยเหตุที่ตูนิเซียตั้งอยู่ในจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ และประสบผลสำเร็จทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ตูนิเซียมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและเป็นสะพานเชื่อมกับประชาคมยุโรป นอกจากนั้น ตูนิเซียเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ได้ลงนามร่วมกับ EU ในความตกลง Euro-Mediterranean Association Agreement เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 ซึ่งความตกลงดังกล่าวมีผลให้ความสัมพันธ์กับ EU ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วัฒนธรรมและการกงสุล มีความใกล้ชิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรปและตูนิเซียต่อไปในอนาคตอันใกล้

ตูนิเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง Organisation of African Unity ในปี 2506 โดยได้เป็นประธานขององค์การระหว่างปี 2537-2538 ก่อนที่องค์การจะแปรสภาพเป็น African Union เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545
ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้ง World Solidarity Fund ในเดือนสิงหาคม 2552 เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ทั่วโลก ช่วยพัฒนาด้านสวัสดิการและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศที่ยากไร้ที่สุด โดยสหประชาชาติเห็นชอบให้จัดกองทุนนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลทั่วไปทางเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 39.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 3,798 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.3
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.1
อุตสาหกรรมสำคัญ ปิโตรเลียม เหมืองแร่ (โดยเฉพาะ ฟอสเฟตและแร่เหล็ก) การท่องเที่ยว สิ่งทอ รองเท้า ธุรกิจทางการเกษตร เครื่องดื่ม
ดุลการค้ากับไทย 107.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 98.60
ล้านเดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 8.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าออกสำคัญของตูนิเซีย เสื้อผ้า สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เครื่องจักร ฟอสเฟต เคมีภัณฑ์ ไฮโดรคาร์บอน เครื่องใช้ไฟฟ้า

สินค้าเข้าสำคัญของตูนิเซีย สิ่งทอ ไฮโดรคาร์บอน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สเปน ลิเบีย

หน่วยเงินตรา ตูนิเซียดินาร์ (Tunisian Dinar) 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับประมาณ 1.42 ตูนิเซียดินาร์ หรือ 1 ตูนิเซียดินาร์ ประมาณ 25 บาท

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตูนิเซีย

ความสัมพันธ์ทั้วไป

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
• ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตูนิเซียเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 แต่ยังไม่มีสถานเอกอัครราชทูตประจำระหว่างกัน ไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดดูแลตูนิเซีย และฝ่ายตูนิเซียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำอินโดนีเซียดูแลไทย อย่างไรก็ตาม ตูนิเซียได้แต่งตั้งนายประเสริฐ เตชะวิบูลย์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ตูนิเซียประจำประเทศไทย และฝ่ายไทยกำลังพิจารณาแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำตูนิเซียแทนนาย Mohammed Gherib อดีตเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำประเทศไทย ซึ่งได้ขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องด้วยปัญหาทางสุขภาพเมื่อปี 2546

1.2 ด้านการเมือง
• ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตูนิเซีย เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน ตูนิเซียเข้าใจสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทย

1.3 ด้านเศรษฐกิจ
• ในปี 2551 ตูนิเซียเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 81 ในโลก และอันดับที่ 14 ในแอฟริกา ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2549-2551) การค้าระหว่างไทยกับตูนิเซีย มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 81.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย (กระทรวงพาณิชย์) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาตลอด สำหรับในปี 2551 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 107.12 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 จากปี 2550 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 90.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

• ตูนิเซียเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าประเภทสิ่งทอ ไฮโดรคาร์บอน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ และอาหาร สำหรับสินค้าไทยที่มีลู่ทางขยายตลาด ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และข้าว สำหรับสินค้าไทยที่มีลู่ทางขยายตลาดในตูนิเซีย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากตูนิเซีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

1.4 ด้านสังคมและวัฒนธรรม
• ยังไม่เคยมีความร่วมมือระหว่างกัน

2. ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย
• ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2512)
•ความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางการทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2512)
•ความตกลงยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2512)
• ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อ 15 เมษายน 2529)
• ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ในระหว่างการเจรจา)
• ความตกลงเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อน (อยู่ในระหว่างตรวจร่าง)

3. การเยือนของผู้นำระดับสูง
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
• วันที่ 5-8 เมษายน 2545 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนตูนิเซีย

รัฐบาล
• วันที่ 9-10 กันยายน 2526 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์) และคณะเดินทางไปเยือนตูนิเซีย
• วันที่ 24-28 สิงหาคม 2535 คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ นำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เดินทางไปเยือนตูนิเซีย เพื่อศึกษาพื้นที่และหาลู่ทางขยายการค้า
• ปี 2537 รองประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) เดินทางไปเยือนตูนิเซีย
• วันที่ 21-23 กันยายน 2547 คณะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นำโดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินทางเยือนตูนิเซียและหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยของตูนิเซีย

3.2 ฝ่ายตูนิเซีย
รัฐบาล
• วันที่ 25-26 มีนาคม 2528 นาย Ismali Khelil รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผน (Minister of Planning) เดินทางมาเยือนไทย
• วันที่ 16-22 มีนาคม 2529 นาย Ridha Bach Baouab อดีตเอกอัครราชทูตตูนิเซียประจำไทย (ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง) นำคณะผู้แทนทางการค้าเยือนไทยเพื่อเจรจาทำความตกลงการค้ากับไทย
• วันที่ 13-15 เมษายน 2529 นาย Beji Caid Essebsi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตูนิเซียเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในการเยือนครั้งนั้นได้มีการลงนามความตกลงทางการค้าไทย-ตูนิเซีย ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างกัน
• วันที่ 15-20 กรกฎาคม 2535 นาย Mongi Safra รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติรับผิดชอบด้านการค้าของตูนีเซีย มาเยือนไทย เพื่อประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-ตูนิเซีย ครั้งที่ 1


****************************

พฤศจิกายน 2552


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]