ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์

ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,631 view


ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์
Kingdom of Swaziland

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล ล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ (430 กิโลเมตร) และโมซัมบิก (105 กิโลเมตร) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและภูเขา

พื้นที่ 17,364 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงอึมบาบาน (Mbabane)

ประชากร 1.2 ล้านคน  (ปี 2554)

ประกอบด้วยชาวแอฟริกันร้อยละ 97 และชาวยุโรปร้อยละ 3                    

ภูมิอากาศ อุณหภูมิใกล้เคียงกันตลอดปี ฤดูหนาวช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม (อุณหภูมิเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส) ฤดูร้อนระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม (อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส)

ภาษาราชการ อังกฤษและ Siswati

ศาสนา Zionist (เป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาคริสต์และความเชื่อดั้งเดิม) ร้อยละ 40 คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 20 อิสลามร้อยละ 10 และอื่น ๆ ร้อยละ 30

หน่วยเงินตรา ลิแลงเกนิสวาซิ (Swazi lilangeni - SZL) อัตราแลกเปลี่ยน 1 SZL ประมาณ 3.95 บาท (ณ วันที่ 26 เมษายน 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ 3.9  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,179.0  ดอลลาร์สหรัฐ  (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -0.5 (ปี 2554)

ระบบการปกครอง  ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ อำนาจการปกครองอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของกษัตริย์ มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์เป็นผู้นำรัฐบาล สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สาม (King Mswati III) (ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2529 (ค.ศ. 1986)) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายบานาบาส ซิบูซิโซ ดลามินี (Barnabas Sibusiso Dlamini) (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 16 ตุลาคม 2551 (ค.ศ. 2008))

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

ชนชาติสวาซี เดิมอาศัยอยู่ทางแอฟริกากลาง ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาทางแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ในปัจจุบัน ประมาณปี 2293 (ค.ศ. 1750) ภายใต้การปกครองของกษัตริย์งวาเนที่สาม (Ngwane III) จึงได้ถือว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกของราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ โดยครองราชย์อยู่จนถึงปี 2323 (ค.ศ. 1780) กษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สาม (King Mswati III) ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2529 (ค.ศ.1986) ต่อมาเมื่อมีการขุดพบทองคำในภูมิภาคนี้เมื่อปี 2422 (ค.ศ. 1879) จึงมีคนผิวขาวจากยุโรปอพยพเข้าไปแสวงโชคกันมากและยึดดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นเมืองขึ้น สวาซิแลนด์ตกเป็นเมืองขึ้นของคนผิวขาวเชื้อสายดัตช์ (ชาวบัวร์) ซึ่งได้ครองดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในปัจจุบันซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า Boer Republic of Transvaal ต่อมาคนเชื้อสายอังกฤษได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้และได้ทำสงครามชาวบัวร์ เมื่อปี 2446 (ค.ศ. 1903) สวาซิแลนด์จึงกลายเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร

สวาซิแลนด์ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2511 (ค.ศ.1968) ภายใต้   การปกครองของสมเด็จพระราชาธิบดีโซบูซาที่สอง (King Sobhuza II) โดยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีกษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีโซบูซาที่สอง ได้ทรงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ พร้อมทั้งยกเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค ทรงตราพระราชบัญญัติห้ามการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ปัจจุบัน สวาซิแลนด์ยังคงปกครองตามแนวทางการปกครองที่สมเด็จพระราชาธิบดีโซบูซาที่สอง ได้ทรงวางรากฐานไว้ ในขณะที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ พยายามกดดันให้สวาซิแลนด์เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

รากฐานการปกครองประเทศสวาซิแลนด์โดยสมเด็จพระราชาธิบดีโซบูซาที่สอง ซึ่งใช้ปกครองประเทศสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทรงนำแนวทางการปกครองประเทศแบบตะวันตกผสมผสานกับการปกครองตามประเพณีดั้งเดิมเข้าด้วยกัน สรุปได้ดังนี้ คือ

สถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันสวาซิแลนด์ยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศ รวมถึงในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและในคณะรัฐบาล ทั้งนี้ ทรงครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศและทรงมอบสิทธิในการทำกินบนพื้นที่ต่าง ๆ ให้ประชาชนผ่านหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ให้นำไปจัดสรรให้ประชาชนทำกิน โดยมีเงื่อนไขว่า จะส่งผลผลิตเป็นการตอบแทนผ่านทางหัวหน้าเผ่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการสถาปนากษัตริย์ขึ้นครองราชย์นั้น จะให้สมเด็จพระราชชนนี (Queen Mother) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน บุคคลที่เป็นผู้คัดเลือกกษัตริย์ คือ Inner Council ซึ่งได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ระดับอาวุโสและไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น สมเด็จพระราชชนนีจึงเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศควบคู่ไปกับกษัตริย์ อีกทั้งจะเป็นผู้นำประเทศในด้านการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศ

ฝ่ายบริหาร กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาดเหนือรัฐบาล และทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารได้  ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยส่วนหนึ่งทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยและส่วนหนึ่งทรงแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันของสวาซิแลนด์ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 (ค.ศ. 2006)

ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยวุฒิสภา (Upper House) และสภาผู้แทนราษฎร (Lower House or House of Assembly) วุฒิสภาประกอบด้วยวุฒิสมาชิกจำนวน 30 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 20 คน และอีก 10 คนมาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนสภาล่างประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 65 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสภาผู้แทนราษฎร 10 คน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออีก 55 คน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนและบริหารท้องถิ่นนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยผ่าน Tinkhundla Centres ซึ่งมีทั้งหมด 55 เขต จากทั่วประเทศ (การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 (ค.ศ. 2008)) ระบบนิติบัญญัติของสวาซิแลนด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีความหมายและปราศจากความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการยุบสภา และไม่ต้องปฏิบัติตามมติของฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่มีจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ล้วนเป็นบุคคลในพระราชวงศ์หรือบุคคลใกล้ชิดของกษัตริย์ ทั้งนี้ กฎหมายของสวาซิแลนด์ยังคงห้ามไม่ให้มีพรรคการเมือง อีกทั้งการปฏิรูปการเมืองสวาซิแลนด์ภายใต้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงดำเนินไปด้วยความล่าช้า

ฝ่ายตุลาการ สวาซิแลนด์ใช้ระบบตุลาการ 2 ระบบควบคู่กันไป คือ การพิจารณาคดีตามประเพณีดั้งเดิม หรือเรียกว่า Traditional Swazi National Court และการพิจารณาตามระบบศาลสถิตยุติธรรมตามแบบตะวันตก โดยยึดแนวทางกฎหมาย Roman Dutch ซึ่งการพิจารณาตามแนวทางสมัยใหม่นี้แบ่งศาลยุติธรรมเป็น High Court, Magistrates Courts และ Industrial Courts นอกจากนั้น ยังมี Constitutional Courts ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศและจะมีหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีที่ศาลอื่น ๆ มีความเห็นขัดแย้งกัน และการตัดสินคดีของ Constitutional Courts  ถือว่าคดีสิ้นสุด ทั้งนี้ กษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาเอง

รัฐธรรมนูญฉบับเก่าได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973) พร้อมกับการยกเลิกระบบพรรคการเมืองนับแต่นั้นมา ระบอบการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2549 (ค.ศ.2006) ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า จะอนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ และอำนาจสิทธ์ขาดในการปกครองยังคงอยู่ในพระราชอำนาจของกษัตริย์ จึงยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาประเทศ

เศรษฐกิจและสังคม

สภาพเศรษฐกิจของสวาซิแลนด์ผูกพันอยู่กับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก โดยประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ นำเข้าจากแอฟริกาใต้ และร้อยละ 70 ของสินค้าออกของสวาซิแลนด์ส่งไปยังแอฟริกาใต้ นอกจากนั้น ระบบการเงินและการคลังรวมทั้งระบบภาษีศุลกากรของสวาซิแลนด์ ก็ผูกพันกับแอฟริกาใต้ เนื่องจากสวาซิแลนด์เป็นประเทศสมาชิกของสหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้ (Southern African Customs Union - SACU) แต่ในทางปฏิบัติ สินค้าต่างประเทศส่วนใหญ่เข้ามายังเมืองท่าของแอฟริกาใต้ ดังนั้น แอฟริกาใต้จึงมีอิทธิพลเหนือประเทศสมาชิกอื่น ๆ มาก โดยใช้เรื่องสัดส่วนในการแบ่งปันรายได้จากการจัดเก็บภาษีสินค้าเข้า SACU เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่เสมอ สำหรับสวาซิแลนด์นั้น รายได้ซึ่งได้รับจากส่วนเฉลี่ยของภาษีที่ได้จาก SACU นับเป็นรายได้หลักที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการบริหารประเทศ

สินค้าที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลผลิตจากป่าไม้ อาทิ เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์จากไม้สน เครื่องดื่ม เครื่องตกแต่งบ้าน และตู้เย็น การลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ ประชาชนร้อยละ 80 อยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของสวาซิแลนด์ คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกาใต้และยุโรป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สวาซิแลนด์ก็ยังไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รายได้จากการท่องเที่ยวนับว่าเป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ

รัฐบาลสวาซิแลนด์มีนโยบายเสริมสร้างบรรยากาศและระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงของชีวิตประชาชนสวาซิแลนด์ รวมทั้งมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งรัฐบาลสวาซิแลนด์ยังมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรโดยการส่งเสริมด้านการศึกษา ปัจจุบันมีจำนวนสถานศึกษาเพิ่มขึ้นมาก แต่คุณภาพของการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควร และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ

แม้ว่าสวาซิแลนด์จะเป็นประเทศที่ยากจน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ถือว่า เป็นประเทศที่มีความปลอดภัยและความมั่นคงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี สวาซิแลนด์เป็นประเทศที่ต้องประสบปัญหาผู้ติดเชื้อเอดส์สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยประชากรกว่าร้อยละ 26.1 ติดเชื้อ HIV รัฐบาลสวาซิแลนด์จึงพยายามดำเนินนโยบายต่อต้านและป้องกันการแพร่ขยายของโรคเอดส์อย่างจริงจังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

นโยบายต่างประเทศ

สวาซิแลนด์มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศประชาคมเพื่อการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community – SADC) นอกจากนี้ สวาซิแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศแอฟริกา 5 ประเทศ (ประกอบด้วย บูร์กินาฟาโซ แกมเบีย มาลาวี เซาโตเมและปรินซิปี) และหนึ่งใน 25 ประเทศทั่วโลก ที่ให้การรับรองรัฐบาลไต้หวัน โดยสวาซิแลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันตั้งแต่ปี 2511

นอกเหนือจากประเทศเพื่อนบ้าน แนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของสวาซิแลนด์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่น เน้นความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย หลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ประเทศกลุ่มดังกล่าวกดดันสวาซิแลนด์อย่างหนักเพื่อให้มีการปฏิรูประบอบการเมืองการปกครอง ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มดังกล่าวชะลอตัวลง

ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์สวาซิแลนด์ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศไม่สู้ดีนัก เนื่องจากสวาซิแลนด์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความล่าช้าในการปฏิรูประบอบการเมืองการปกครอง การขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนของประชาชน อันเนื่องมาจากระบอบการปกครองปัจจุบันของสวาซิแลนด์ ซึ่งกษัตริย์มีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียว

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยและสวาซิแลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2534   (ค.ศ.1991) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรสวาซิแลนด์คนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย ส่วนฝ่ายสวาซิแลนด์มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และได้แต่งตั้งให้นางสาวพันธ์พิไล ใบหยก เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ประจำไทย ตั้งแต่ปี 2548 (ค.ศ. 2005)

ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างราชอาณาจักรสวาซิแลนด์และไทยเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง และราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สามแห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ยังทรงแสดงความชื่มชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาพลังงานชีวภาพเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่ได้ทอดพระเนตรโครงการตามพระราชดำริระหว่างการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11 - 15 มิถุนายน 2549 (ค.ศ. 2006)

ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สวาซิแลนด์ยังมีไม่มาก แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด สำหรับปี 2554 (ค.ศ. 2011) ระหว่างกันมีมูลค่า 35.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 21.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้ามูลค่า 14.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 8.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออก อาทิ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เคหะสิ่งทอ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าผืน เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ปัญหาการค้าระหว่างไทย-สวาซิแลนด์

ความห่างไกลและขาดแคลนข้อมูลเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันที่ผ่านมา และนักธุรกิจไทยมีทัศนคติเชิงลบต่อประเทศในแถบแอฟริกา จึงมักไม่ค่อยจะนิยมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจจากสวาซิแลนด์ด้วยเช่นกัน

เนื่องจากสวาซิแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก มีพลเมืองเพียง 1 ล้านคนเศษ จึงเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีกำลังซื้อน้อย และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล จำเป็นต้องพึ่งระบบคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแอฟริกาใต้และโมซัมบิก นอกจากนั้น ธุรกรรมการค้าส่วนใหญ่จึงต้องดำเนินการผ่านประเทศที่สาม โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ จึงมีต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมสูงกว่าการค้าปกติ เนื่องจากปัญหาพ่อค้าคนกลาง

การลงทุน

ยังไม่มีปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีชาวสวาซิแลนด์เดินทางมาไทยจำนวน 161 คน แต่ไม่มีคนไทยอยู่ในสวาซิแลนด์

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยได้เสนอให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่สวาซิแลนด์บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในด้านสาธารณสุข โดยเน้นการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ และวัณโรค และด้านการขจัดความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญในสวาซิแลนด์ สวาซิแลนด์จึงเป็นประเทศหนึ่งที่อยาภายใต้โครงการให้ทุนฝึกอบรมประจำปี (Annual International Training Course – AITC) ของไทย

ไทยอาศัยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตร ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เพิ่มพูนมากขึ้น และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ในปี 2550 (ค.ศ. 2007) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย เริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรทฤษฎีใหม่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการจัดตั้งแปลงเกษตรสาธิตการเกษตรฯ ที่ราชอาณาจักรเลโซโท และในอนาคต หากไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพจากข้าวฟ่างหวานซึ่งสวาซิแลนด์มีความสนใจมากและได้เคยขอรับเทคโนโลยีดังกล่าวจากไทยแล้วความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างกันเหล่านี้ก็จะเป็นช่องทางสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในทุกด้านต่อไป

ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 (ค.ศ. 2007))

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา

ไม่มี

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

- วันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2537 (ค.ศ. 1994)  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนสวาซิแลนด์อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 3-6 ตุลาคม 2554 (ค.ศ. 2011) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนสวาซิแลนด์อย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง

- เดือนพฤษภาคม 2438 (ค.ศ. 1995)คณะผู้แทนไทย ซึ่งมีรองอธิบดีกรมวิเทศสหการเป็นหัวหน้าคณะเยือนสวาซิแลนด์

- วันที่ 16-17 มิถุนายน 2539 (ค.ศ. 1996)  คณะสำรวจข้อเท็จจริงของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมผู้แทนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเยือนสวาซิแลนด์

- วันที่ 15-16 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002) นายนิสสัย เวชชาชีวะ ในฐานะผู้แทนพิเศษของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนไทยเยือนสวาซิแลนด์อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 (ค.ศ. 2005) นายวีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเยือนสวาซิแลนด์ และได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรีสวาซิแลนด์ เพื่อมอบหนังสือกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีสวาซิแลนด์และพระชายาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ฝ่ายสวาซิแลนด์

พระราชวงศ์

- เดือนตุลาคม 2532 (ค.ศ. 1989) สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สามแห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์เสด็จฯ แวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ หลังการประชุมระดับประมุขของประเทศเครือจักรภพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์         

- วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 (ค.ศ. 1996) สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สาม และพระชายา เสด็จ ฯ แวะพักและเปลี่ยนเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ และเดินทางต่อไปยังไต้หวัน

- วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1777) สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สามและพระชายา เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาล

- วันที่ 28 เมษายน - 7 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002)  สมเด็จพระราชชนนีอึนทอมบี แห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ (Her Majesty Queen Mother Ntombi) เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์

- เดือนตุลาคม 2545 (ค.ศ. 2002) สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สาม และพระชายา เสด็จ ฯ เยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนพระองค์

- วันที่ 11-15 มิถุนายน 2549 (ค.ศ. 2006) สมเด็จพระราชาธิบดีสวาติที่สามและพระชายา เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

- วันที่ 17-22 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระราชชนนีอึนทอมบี (Her Majesty Queen Mother Ntombi) เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมคณะผู้ติดตามอันประกอบด้วยสมาชิกพระราชวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง

- วันที่ 13-20 มีนาคม 2534 (ค.ศ. 1991) นายจอร์จ มัมบา (Sir George Mamba) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวาซิแลนด์และภริยา เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 18-22 มกราคม 2538  (ค.ศ. 1995)นายโซโลมอน ดลามินี (Solomon M. Dlamini) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเทมบา มาสูกู (Themba Masuku) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจของสวาซิแลนด์เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ 

- วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2547  (ค.ศ. 2004)นายอับซารอม เทมบา ดลามินี (Absalom Themba Dlamini) นายกรัฐมนตรีสวาซิแลนด์เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 18-19 มกราคม 2553 (ค.ศ. 2010) นายอึนซาบันคูลู ซิเมลาเน (Chief Ndzabankhulu Simelane) นำคณะผู้แทนจากสภาราชเลขาธิการ (Board of Royal Trustees) ของสวาซิแลนด์ เยือนไทยเพื่อหารือกับสำนักราชเลขาธิการและดูงานโครงการตามแนวพระราชดำริฯ

ซึ่งมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ คือ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย และสวาซิแลนด์

ประกอบด้วย แองโกลา บอตสวานา เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก สวาซิแลนด์ แทนซาเนีย แซมเบีย ซิมบับเว นามิเบีย แอฟริกาใต้ มอริเชียส สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เซเชลส์ และมาดากัสการ์ (ปัจจุบันมาดากัสการ์ถูกระงับสมาชิกภาพเนื่องจากเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน มี.ค. ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘)

***********************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ