สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 93,886 view


สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
The Republic of South Africa

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับนามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับโมซัมบิกและสวาซิแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก

พื้นที่ 1,219,090 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงพริทอเรีย (Pretoria)

ประชากร 50.59 ล้านคน (ปี 2554)

ภูมิอากาศ สภาพอากาศอบอุ่น มีแสงแดดตลอดปี 

ภาษาราชการ  ภาษาอังกฤษ และภาษา Afrikaans

ศาสนา Zion Christian ร้อยละ 11.1 Pentacostal/Charismatic ร้อยละ 8.2 Catholic ร้อยละ 7.1 Methodist ร้อยละ 6.8 อิสลามร้อยละ 1.5 คริสต์นิกายอื่นๆ ร้อยละ 46.5 ไม่มีศาสนาร้อยละ 15.1 อื่น ๆ ร้อยละ 3.7

หน่วยเงินตรา แรนด์แอฟริกาใต้ (South Africa Rand - ZAR)        

อัตราแลกเปลี่ยน 1 ZAR ประมาณ 3.86 บาท (ณ วันที่ 12  เมษายน 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 405.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 10,977 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ   ร้อยละ 3.1 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง   ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสองสภา โดยมีประธานาธิบดี    ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายเจคอบ  ซูมา (Jacob Zuma) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

1. การเมืองการปกครอง

1.1 แอฟริกาใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยสมาชิกคณะมนตรีเขตการปกครองแห่งชาติ (National Council of Provinces) จำนวน 90 ที่นั่ง (คัดเลือกจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละเขตการปกครอง ทั้ง 9 เขต เขตละ 10 ที่นั่ง) มีวาระ 5 ปี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 400 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงในแบบสัดส่วน มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์สูงสุด ศาลสูง และศาลปกครอง

1.2 แอฟริกาใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาและเผ่าพันธุ์ มีภาษาที่ใช้เป็นทางการถึง 11 ภาษา ภาษาหลักคือ อังกฤษ และ Afrikaan สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 (ค.ศ.1961) ถูกปกครองโดยคนผิวขาวซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และมีนโยบายการปกครองแบบแบ่งแยกเชื้อชาติ (Racial Segregation) และการกีดกันสีผิวอย่างรุนแรง (Apartheid) จนกระทั่งสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรแอฟริกาใต้ในปี 2520 และประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติยุติการติดต่อทางการเมืองกับแอฟริกาใต้ แรงกดดันทั้งจากในประเทศและจากนานาชาติส่งผลให้นโยบายเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ผ่อนคลายลง และได้มีการเลือกตั้งอย่างไม่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 โดยผู้นำชาวผิวดำที่มีบทบาทสำคัญในการยุตินโยบายเหยียดผิวคือ นายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2537-2542) และพรรคการเมือง African National Congress (ANC) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการต่อสู้รัฐบาล Apartheid ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และครองอำนาจการเมืองต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

1.3 นายทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายแมนเดลา ตั้งแต่ปี 2542-2551 ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 เนื่องจากมีแรงกดดันทางการเมืองภายในพรรค ANC อันมีสาเหตุหลักมาจากการที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายซูมา ประธานพรรค ANC คนใหม่ เชื่อว่า นายอึมเบกิอยู่เบื้องหลังความพยายามที่จะให้ศาลดำเนินคดีกับนายซูมา ในข้อหาฉ้อราษฏร์บังหลวง ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของนายซูมา ผู้จะเป็นตัวแทนพรรค ANC ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน 2552

1.4 ผลจากการลาออกของนายอึมเบกิ ทำให้นายคกาเลมา โมแลนเต (Kgalema Motlanthe) รองประธานพรรค ANC ได้รับการรับรองจากรัฐสภาให้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีภายใน 1 วันหลังจากที่นายอึมเบกิลาออก และได้แต่งตั้งรองประธานาธิบดี และคณะรัฐมนตรีของนายอึมเบกิเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิมเกือบทั้งคณะ ส่งผลให้รัฐบาลสามารถประคองสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศโดยรวมได้ รัฐบาลของนายโมแลนเตบริหารประเทศเพียงช่วง 6 เดือน (ระหว่างกันยายน 2551 – เมษายน 2552) ซึ่งอยู่ในในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง

1.5 การแตกแยกภายในพรรคและการแบ่งพวกระหว่างผู้สนับสนุนนายอึมเบกิและผู้สนับสนุนนายซูมา ส่งผลให้พรรค ANC อ่อนแอลง อนึ่ง สมาชิกพรรค ANC จำนวนหนึ่งได้แยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้แก่ พรรค The Congress of the People (Cope) เมื่อเดือนธันวาคม 2551 โดยมีนายโมซิอัวร์ เลโกตา (Mosiuoa Lekota) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพรรค วิเคราะห์กันว่า พรรค Cope มีศักยภาพจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของพรรค ANC ได้ในอนาคต

1.6 ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552

แอฟริกาใต้ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค ANC ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 65.96 ส่วนพรรค Democratic Alliance (พรรคของคนผิวขาว) ได้คะแนนเสียงร้อยละ 16.6 และพรรค Cope ได้ร้อยละ 7.41 จากผลการเลือกตั้งดังกล่าวนายซูมา ประธานพรรค ANC ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเข้าพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552  โดยมีประมุขแห่งรัฐและผู้แทนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ  เช่น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรเลโซโท ประธานาธิบดีลิเบีย รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และแขกอื่น ๆ เข้าร่วมจำนวนกว่า 5,000 คน ในส่วนของผู้แทนจากไทย มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย เข้าร่วมพิธีฯ

1.7 รัฐบาลของประธานาธิบดีซูมา

ประธานาธิบดีซูมา ได้แต่งตั้งอดีตประธานาธิบดีโมแลนเต เป็นรองประธานาธิบดี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อน และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีผลงานโดดเด่นจากรัฐบาลที่แล้ว 12 คน อาทิ นายเทรเวอร์ มานูเอล (Trevor Manuel) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2539-2552 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี กำกับดูแลสำนักงานการวางแผนแห่งชาติ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีซูมาได้ปรับโครงสร้างการบริหารรัฐบาล ดังนี้

(1) ตั้งกระทรวงใหม่ 4  กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงกิจการสตรี เยาวชน เด็ก และคนพิการ (เพื่อดูแลสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม) กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ และกระทรวงที่ดินและการพัฒนาชนบท

(2) แยกกระทรวงแร่ธาตุและพลังงาน ออกเป็น 2  กระทรวง คือ กระทรวงเหมืองแร่ และกระทรวงพลังงาน

(3) แยกกระทรวงการศึกษาออกเป็น 2  กระทรวง คือ กระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม

(4) เปลี่ยนชื่อกระทรวงการต่างประเทศ จาก Department of Foreign Affairs เป็น Department of International Relations and Cooperation และแต่งตั้งนางไมเต อึนโคอานา มาชาบาเน่ (Maite Nkoana-Mashabane) ซึ่งเป็นสตรีผิวดำที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศอินเดียและมาเลเซีย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ

1.8 รัฐบาลของประธานาธิบดีซูมา มีนโยบายเพิ่มการจ้างงาน และลดความยากจนของประชาชน และต้องการเพิ่มบทบาทของตนในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

2. เศรษฐกิจและสังคม

2.1 แอฟริกาใต้มีระบบเศรษกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มีภาคการเงินการธนาคารและอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง เป็นประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะ เหล็ก ถ่านหิน และอัญมณีรายใหญ่ของโลก มีอุตสาหกรรมแร่ธาตุและการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ภาวะวิกฤติการเงินโลกในขณะนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารและสถาบันการเงินในแอฟริกาใต้อย่างรุนแรงนัก เนื่องจากแอฟริกาใต้มีกฎระเบียบทางการเงินที่เข้มงวด และธนาคารหลักในแอฟริกาใต้มักพึ่งพาเงินทุนสำรองระหว่างกันและกันมากกว่าที่จะหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ

2.2  ศักยภาพทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้

 (1) สาขาเกษตร

อุตสาหกรรมการเกษตร (agro-industrial sector) ของแอฟริกาใต้ มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ15 ของ GDP ใช้เทคโนโลยีด้านการปรับแต่งพันธุกรรม (GMO) เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างกว้างขวาง มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ (พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.2 ล้าน ตรกม.) โดยร้อยละ 22 ของพื้นที่เพาะปลูกนี้ จัดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและดินมีคุณภาพสูง มีระบบชลประทานที่ดี

การเกษตรของแอฟริกาใต้มี 2 ลักษณะคือ (1) กลุ่มที่ทำการเกษตรเพื่อเชิงพาณิชย์ ใช้เทคโนโลยี การเกษตรค่อนข้างสูง มีระบบชลประทานและการจัดการที่ดี เจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว และ (2) กลุ่มที่ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว เจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ

พืชไร่ในแอฟริกาใต้ที่ผลิตมากที่ที่สุดคือข้าวโพด (ผลิตประมาณ 8 ล้านตันต่อปี) ทั้งเพื่อการบริโภคและเลี้ยงสัตว์ โดยนอกจากจะผลิตเพื่อบริโภคในประเทศแล้ว แอฟริกาใต้ยังถือเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหลักในกลุ่ม Southern African Development Community (SADC)

นอกจากนี้ยังมีผลผลิตที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ข้าวสาลี อ้อย เมล็ดทานตะวัน(แอฟริกาใต้เป็นผู้ผลิตเมล็ดทานตะวันที่ใหญ่อันดับ  12 ของโลก ผลิตได้ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี) ผลผลิตพืชสวนที่สำคัญคือ ส้ม ซึ่งผลิตกว่าปีละ 3 ล้านตัน

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สำคัญคือ สัตว์ปีก ผลิตปีละ 15 ล้านตัน/เนื้อวัว ผลิตกว่าปีละ 11 ล้านตัน

โอกาสของไทยในแอฟริกาใต้ด้านการเกษตร เช่น (1) การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการเกษตรแก่กันและกัน (2) การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หากราคาข้าวโพดจากแอฟริกาใต้ถูกกว่าจากตลาดหลักเช่นสหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินแรนด์ที่ลดลง (3) การแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านการวิจัย GMO (4) การส่งออกผลไม้จากไทยไปแอฟริกาใต้ (แต่ขณะนี้ ยังมีปัญหาเรื่องกฏระเบียบของการส่งออกสินค้าเกษตรไปแอฟริกาใต้)

(2) สาขาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ

แอฟริกาใต้มีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานโดยเฉพาะถ่านหินสำรองมากเป็นลำดับ 6 ของโลก (3 หมื่นล้านตัน) โดยแอฟริกาใต้ผลิตถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 250 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ ใช้ในประเทศประมาณร้อยละ 70 และส่งออกร้อยละ 30 ขณะนี้ กลุ่มธุรกิจบ้านปูได้เข้ามาสำรวจเหมืองถ่านหินหลายแห่งในแอฟริกาใต้ และคาดว่า จะมีการลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินเพื่อส่งออกไปยังตลาดอินเดียและจีน

(3)การก่อสร้างและแรงงาน

เนื่องจากแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2553 ทำให้รัฐบาลเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น รถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างสนามบินและนครโจฮันเนสเบอร์ก สนามกีฬา ปรับปรุงถนนสำคัญ รวมถึงภาคเอกชนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมกำลังขยายการลงทุน แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะชลอตัว แต่การที่แอฟริกาใต้จำเป็นต้องสร้างสาธาณูปโภคเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพดังกล่าวทำให้ต้องมีการลงทุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในโครงการใหญ่ๆ เช่น การสร้างสนามกีฬา จะมีผู้รับเหมา ก่อสร้างแน่นอนแล้ว แต่ก็ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่ภาคเอกชนไทย มีโอกาสเข้าไปประมูลงาน รวมทั้งส่งแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือไปยังแอฟริกาใต้มากขึ้น ขณะนี้มีแรงงานไทยในแอฟริกาใต้ปีละประมาณ 1,000 คน ซึ่งเดิม แอฟริกาใต้นำเข้าเพียงกลุ่มช่างเชื่อม ช่างประกอบท่อ จากไทยเป็นหลัก แต่ขณะนี้เริ่มนำเข้าแรงงานกลุ่มอื่นๆ เช่น ช่างไม้ พนักงานควบคุมรถขุด

2.3 ปัญหาสังคม

แม้ว่าแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ก็ประสบกับปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเงินทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของคนผิวขาวและคนผิวดำที่อยู่ในแวดวงการเมืองเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น คนจนและผู้ใช้แรงงานผิวดำส่วนใหญ่ของแอฟริกาใต้ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม การแพร่กระจายของ HIV/ AIDS และอาชญากรรมซึ่งมีความรุนแรง อาทิ การข่มขืน การค้าและเสพยาเสพติด และการทุจริต

รัฐบาลของประธานาธิบดีซูมา ประกาศนโยบายจะปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา สาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณการจ้างงาน การพยายามลดอัตราการก่ออาชญากรรม

ปัจจุบัน สถิติผู้ติดเชื้อเอดส์มีประมาณ 6 ล้านคน แต่มีเพียงจำนวนร้อยละ 30 เท่านั้นที่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ รัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว และพยายามใช้วิธีตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างทั่วถึง (Universal testing) ควบคู่ไปกับการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ (ARV Treatment)

3.  นโยบายต่างประเทศ

3.1  นโยบายต่างประเทศของแอฟริกาใต้มีลักษณะของการทูตเชิงเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังให้ประเทศต่าง ๆ มองแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แอฟริกาใต้มีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศศูนย์กลางในการฟื้นฟูศักยภาพของทวีปแอฟริกาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและระงับข้อพิพาทในหลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกา เช่น แองโกลา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โมซัมบิก รวันดา บุรุนดี และซิมบับเว ทั้งนี้แอฟริกาใต้เชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในทวีปแอฟริกานั้น ควรให้ประเทศในแอฟริกามีบทบาทนำในการเจรจาแก้ปัญหา

3.2 แอฟริกาใต้เป็นสมาชิกผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคของประเทศในแอฟริกา ได้แก่ กลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community – SACU) สหภาพแอฟริกา (African Union – AU) สหภาพศุลการกรแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Customs Union – SACU) และตลาดร่วมสำหรับแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa – COMESA)

3.3 แอฟริกาใต้ได้รับเลือกจากที่ประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ในฐานะตัวแทนของกลุ่มแอฟริกาวาระปี 2550-2551 และมีท่าทีสนับสนุนไทยในกรณีเขาพระวิหาร ในขณะนี้ แอฟริกาใต้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกถาวรของ UNSC โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีประเทศจากทวีปแอฟริกาอยู่ใน UNSC เลย

3.4  แอฟริกาใต้เป็นประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งในกรอบความร่วมมือ Indian Ocean Rim Association for Regional Coooperation (IOR-ARC) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ที่สาธารณรัฐมอริเชียส โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งอื่น ๆ อีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย เคนยา สิงคโปร์ โอมาน และมอริเชียส มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียในลักษณธไตรภาคี คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ซึ่งไทยเข้าเป็นสมาชิกโดยฉันทามติของที่ประชุมสภารัฐมนตรีสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2542 ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ 7 ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง และอินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน ไทย บังกลาเทษ อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ยังประเทศคู่เจรจาคือ อียิปต์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และกาตาร์ โดยมีองค์การการท่องเที่ยวแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tourism Organisation – IOTO) เป็นผู้สังเกตการณ์

3.5  แอฟริกาใต้เป็นประเทศสมาชิกที่แข็งขันในกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGHI) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยการรวมตัวของ 7 ประเทศจาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนิเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย ซึ่งต่างเล็งเห็นว่า ในโลกแห่งความเชื่อมโยง สามารถใช้ประเด็นสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และในทางกลับกัน ก็สามารถใช้การต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน FPGHI ได้พยายามแสดงบทบาทนำในการส่งเสริมให้เกิด global health security และให้ความสนใจประเด็นสาธารณสุขโลก ได้แก่ การช่วยประเทศกำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างทั่วถึง การส่งเสริมด้านสุขภาพและสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดร้ายแรง

3.6  แอฟริกาใต้มีบทบาทในการผลักดันและเร่งรัดให้มีการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยเฉพาะการผลักดันท่าทีผ่านการรวมกลุ่มประเทศ BASIC ซึ่งประกอบด้วย บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน ล่าสุด แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศ BASIC เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2553 ที่เมืองเคปทาวน์

3.7  เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 นางซู วาน เดอร์ เมอร์เว (Sue van der Merwe) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศแอฟริกาใต้ แถลงว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้ พร้อมด้วยองค์กรอิสระและภาคเอกชนแอฟริกาใต้ จะร่วมมือให้ความช่วยเหลือแก่เฮติผ่านศูนย์บริหารภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Management Center) ของแอฟริกาใต้ โดยจะแบ่งความช่วยเหบือเป็น 3 ระยะ คือ (1) การส่งหน่วยค้นหาและช่วยชีวิตเหยื่อแผ่นดินไหว (2) การส่งหน่วยนิติเวชเพื่อพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต และ (3) ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูเฮติ ในเชิงงบประมาณ มีรายงานว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 134,970 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับเงินสมทบจากภาคเอกชนจำนวนประมาณ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งหน่วยผู้เชี่ยวชาญไปเฮติด้วย

3.8  รัฐบาลปัจจุบันต้องการกระจายทิศทางนโยบายต่างประเทศไปทางประเทศตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) และอาเซียน โดยมองว่า อาเซียนเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของ SADC ที่แอฟริกาใต้มีบทบาทนำในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ด้วย

3.9  แอฟริกาใต้ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) วาระปี ค.ศ.2011-2012 ซึ่งไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนแอฟริกาใต้ด้วย

4. นโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์

4.1 แอฟริกาใต้เคยมีโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างปี 2517-2520 เพื่อรับมือกับการแทรกแซงในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งคุกคามความมั่นคงของประเทศ ต่อมาการแทรกแซงดังกล่าวได้ลดลง ประกอบกับการสิ้นสุดของรัฐบาล Aparthied ของแอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้จึงยกเลิกโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในปลายปี 2532 ถึงปี 2533 เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเวทีระหว่างประเทศ ปัจจุบันแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ประเทศแรกและประเทศเดียวจนถึงขณะนี้ที่ยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ของตน

4.2 ปัจจุบันแอฟริกาใต้มีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เพียงประเทศเดียวในทวีปแอฟริกา และมีปริมาณแร่ยูเรเนียมสำรองอันดับ 4 ของโลก แอฟริกาใต้จึงมีบทบาทสำคัญในการไม่เผยแพร่วัสดุเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

4.3 แอฟริกาใต้มีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าโคเอเบิร์ก (Koeburg) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองดุยเนฟอนเทน (Duynefontein) ริมมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตอนเหนือของเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ในมลรัฐเวสเทิร์น เคป (Western Cape) และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งเดียวในทวีปแอฟริกา แม้ว่ารัฐบาลแอฟริกาใต้จะเล็งเห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกในระดับต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกเท่าตัว (ประมาณ 80,000 เมกะวัตต์) ภายในปี 2568 แต่ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ประกาศยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาระบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ pebble bed modular reactor (PBMR) ซึ่งมีความปลอดภัยและมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าระบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบปรกติ ส่งผลให้นโยบายการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาเน้นเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์แบบปรกติและการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ซึ่งแอฟริกาใต้มีแร่ถ่านหินเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก

5.  การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2010

5.1 ด้วยนโยบายการหมุนเวียนสับเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไปตามภูมิภาคต่างๆ คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้ลงมติให้ภูมิภาคแอฟริกาเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ในปี ค.ศ.2010 จากนั้น มีประเทศสมาชิกในแอฟริกา 5 ประเทศ ลงสมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ประกอบด้วย อียิปต์ โมร็อกโก แอฟริกาใต้ ส่วนอีก 2 ประเทศ คือ ลิเบียและตูนิเซีย เสนอเป็นเจ้าภาพร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 นายโจเซป แบล็ตเตอร์ (Joseph Blatter) ประธาน FIFA ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ที่นครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า แอฟริกาใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ.2010 โดยได้รับคะแนนเสียง 14 เสียง มากกว่าโมร็อกโก (10 คะแนน) และอียิปต์ (0 คะแนน) (ลิเบียและตูนิเซียถอนตัว เนื่องจากไม่สามารถลงสมัครแบบเจ้าภาพร่วมได้)

5.2  แอฟริกาใต้จะจัดการแข่งขันฯ ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2553 โดยสนามแข่งขันหลัก 10 สนาม จะกระจายกันตามเมืองใหญ่จำนวน 9 เมือง ได้แก่ พริทอเรีย (Pretoria), โจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg), เคปทาวน์ (Cape Town), เดอร์บัน (Durban), โพโลควาเน (Polokwane), บรูมฟอนเทน (Bloemfontein), พอร์ต เอลิซาเบธ (Port Elizabeth), เนลส์พรุต (Nelspruit) และลัสเตนเบิร์ก (Rustenburg) ขณะนี้ รัฐบาลแอฟริกาใต้กำลังเร่งก่อสร้างระบบคมนาคมและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในเมืองที่เป็นที่ตั้งของสนามแข่งขัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือนแอฟริกาใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้น ประเทศที่มีอาณาเขตติดกันแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะ สวาซิแลนด์ บอตสวานา แซมเบีย และโมซัมบิก ก็หวังว่าจะได้รับอิทธิพลเชิงบวกต่อธุรกิจท่องเที่ยวของตนจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้ด้วย

5.3 สัญลักษณ์นำโชค (Mascot) ของ World Cup South Africa เป็นสิงโตน้อยตัวสีเหลือง ขนสีเขียว ชื่อ “ZAKUMI” (ZA มาจากตัวย่อของประเทศแอฟริกาใต้ และ kumi แปลว่า สิบ ในภาษาแอฟริกาหลายภาษา)

Zakumi

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

1.1 การทูต

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความสำคัญที่สุดประเทศหนึ่งสำหรับไทยในทวีปแอฟริกา โดยเป็นหุ้นส่วนหลักทางยุทธศาสตร์ของไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการกงสุลกับแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2535 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2536 เดิมไทยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโจฮันเนสเบอร์ก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2536 ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตและย้ายไปตั้งที่กรุงพริทอเรียแทน และเคยแต่งตั้งนาย ลีโอนาร์ด โนเอล ฮาวีย์ (Leonard Noel Harvey) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเมืองเดอร์บัน (ปัจจุบันพ้นหน้าที่ไปแล้ว) เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนปัจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ ส่วนฝ่ายแอฟริกาใต้เคยเปิดสถานกงสุลใหญ่ประจำกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 และได้เปลี่ยนสถานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นางสาว Robina Patricia Marks นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ได้แต่งตั้งให้นายแสวง เครือวัฒนสกุล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และมีเขตอาณาทางการกงสุลครอบคลุมจังหวัดเชียงรายด้วย

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้มีความราบรื่นและใกล้ชิดในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีท่าทีระหว่างประเทศที่สอดคล้องกันและมีการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ดี รัฐบาลแอฟริกาใต้มีท่าทีไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้เลื่อน/ระงับกำหนดการเดินทางเยือนและการดูงานในประเทศไทยของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตลอดจนไม่ยอมรับการเยือนหรือการมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไทยในระดับหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรี จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยได้มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แล้ว ความสัมพันธ์ได้ถูกปรับสู่ระดับปกติ และเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศไทย-แอฟริกาใต้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านแรนด์ (ประมาณ 4 ล้านบาท) ให้แก่สภากาชาดไทย การที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงมิตรไมตรีจิตของแอฟริกาใต้ที่มีต่อไทย และการพัฒนาของความสัมพันธ์ทวิภาคี 

1.2 เศรษฐกิจ

1.2.1 การค้า

แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ และไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของแอฟริกาใต้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในปี 2554 การค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้มีมูลค่ารวม 3,575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 2,202.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 828.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากแอฟริกาใต้ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย และอัญมณี

ทั้งสองฝ่ายประสงค์ที่จะเพิ่มพูนปริมาณการค้าระหว่างกัน แม้ว่าแอฟริกาใต้จะมีความกังวลในเรื่องความไม่สมดุลย์ทางการค้า (trade imbalance) เนื่องจากแอฟริกาใต้ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง และต่างสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมาธิการการค้าร่วม (Joint Trade Committee – JTC) ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเพื่อกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันต่อไป

1.2.2   การลงทุน

ปัจจุบัน ปริมาณการลงทุนในภาพรวมระหว่างไทย-แอฟริกาใต้ยังมีน้อย ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพต่อการลงทุนร่วมกัน ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม การก่อสร้าง ธนาคาร และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แอฟริกาใต้มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยจำนวน 1 โครงการ มูลค่า 7.3 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมเบา (อัญมณีและเครื่องประดับ) ธุรกิจไทยที่ลงทุนในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ได้แก่ ร้านอาหารและสปา จำนวนกว่า 20 ร้าน ปัจจุบันมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อาทิ

- กลุ่มธุรกิจบ้านปู ในธุรกิจการก่อสร้างโรงแรม เหมืองถ่านหิน

- กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในธุรกิจค้าข้าว สินค้าเกษตร และอาหารแปรรูป

- บริษัทค้าสากลปูนซีเมนต์ไทย ที่เพิ่งเริ่มเปิดสำนักงานในปี 2553 ค้าเม็ดพลาสติกและสินค้ากระป๋อง และอยู่ระหว่างการศึกษาลู่ทางการนำเข้าไวน์และถ่านหินจากแอฟริกาใต้มาจำหน่ายในไทย

- บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ในธุรกิจก่อสร้าง โรงแรมและสนามกอล์ฟ

- โรงงานผลิตสีสำหรับใช้กับถนนที่เมืองเดอร์บัน ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของไทยแห่งแรกในแอฟริกาตอนใต้

- T Group โดยบริษัท Thai Export 1980 ได้เข้าไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าใน

1.2.3   การท่องเที่ยว

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าสู่แอฟริกาใต้ แต่ยังขาดความชำนาญในด้านการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฝ่ายแอฟริกาใต้จึงประสงค์จะเรียนรู้ด้านการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากไทย ซึ่งฝ่ายไทยยินดีจะให้ความร่วมมือและจัดหลักสูตรให้กับเจ้าหน้าที่ของแอฟริกาใต้

รัฐบาลไทยจัดเทศกาลไทย (Thailand Grand Festival) อย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2549 ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2552 ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานมากกว่า 15,000 คน เพิ่มขึ้นจากการจัดงานครั้งก่อน ๆ และยังได้มีกิจกรรมขยายผลโครงการดังกล่าว โดยจัดให้เดือนกันยายน เป็น “เดือนแห่งประเทศไทย” ด้วยการจัดกิจกรรมโหมโรงย่อยๆ ขึ้นในกรุงพริทอเรียและนครโจฮันเนสเบิร์ก เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนงานเทศกาลไทย รวมทั้งได้เผยแพร่การจัดงานฯ ผ่านทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ท้องถิ่น อย่างแพร่หลาย

ความหลากหลายและความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวไทย กอปรกับชื่อเสียงด้านอาหารและอัธยาศัยไมตรีของชาวไทย รวมทั้งความได้เปรียบด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยน เป็นจุดเด่นและจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทยในหมู่ชาวแอฟริกาใต้ ที่ผ่านมา จากการสำรวจของสมาคมบริษัทนำเที่ยวแอฟริกาใต้พบว่า ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 โดยชาวแอฟริกาใต้ที่เดินทางไปไทยส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวที่พูดภาษาอัฟริกานส์ (Afrikaans) แต่ปัจจุบัน กลุ่มชาวผิวดำรุ่นใหม่และชาวแอฟริกาใต้เชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง กำลังให้ความสนใจไทยมากขึ้น

ในปี 2554 มีชาวแอฟริกาใต้เดินทางมาไทยประมาณ 70,246 คนมีคนไทยอยู่ในแอฟริกาใต้ประมาณ 3,000 คน แบ่งแรงงานไทยในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการบริการ (ร้านอาหารและสปา) ประมาณ 1,500 คน (ขึ้นอยู่กับฤดูการจ้างงาน) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ อาทิ ช่างเชื่อมท่อและช่างประกอบท่อ และ คู่สมรสของชาวต่างชาติ ประมาณ 750-800 คน ผู้ประกอบการร้านอาหาร/สปา ประมาณ 700 คน  และนักศึกษาประมาณ 100 คน

  • ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยจัดให้แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่อยู่ในโครงการ Annual International Training Course (AITC) ของไทย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาฝึกอบรม และดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

ฝ่ายแอฟริกาใต้มีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ในลักษณะไตรภาคี รวมทั้งประสงค์จะเรียนรู้จากไทยในการจัดตั้งหน่วยงานการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของแอฟริกาใต้เองด้วย

ในปี 2553 แอฟริกาใต้เสนอชื่อศาสตราจารย์ชาน ไนดู (Shan Naidoo) ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัย Witwatersrand ซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศตนต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขในแอฟริกาใต้ เพื่อรับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

1.4 ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ

ไทยกับแอฟริกาใต้แลกเสียงสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสมัครสมาชิก International Telecommunication Union (ITU) วาระปี ค.ศ.2011-2014

ไทยกับแอฟริกาใต้แลกเสียงสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสมัครสมาชิก International Law Commission (ILC) วาระปี ค.ศ. 2012-2016

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

2.1   ความตกลงว่าด้วยการบริการทางอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536)

2.2   ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อปี 2536)

2.3   อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539)

2.4   ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อปี 2542)

2.5   ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544)

2.6   ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ลงนามเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2544)

2.7   ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546)

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา

2.8   ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสำหรับความร่วมมือทวิภาคี

2.9   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2.10   ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

2.11   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร

2.12   ข้อตกลงว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศแอฟริกาใต้

2.13   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และการให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์

2.14   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยพืช

2.15   พิธีสารว่าด้วยเรื่องผลของพืชตระกูลไซตรัส

2.16   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านศิลปะและวัฒนธรรม

2.17   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา

3. การเยือนที่สำคัญ

3.1 ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- วันที่ 22 มีนาคม 2546 เสด็จฯ แวะพักเพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งที่ท่าอากาศยานนานาชาตินครโจฮันเนสเบอร์ก เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ก่อนเสด็จฯ นิวัติกลับประเทศไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการเสด็จฯ เยือนเคนยาและแทนซาเนีย

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

- วันที่ 5-16 กุมภาพันธ์ 2542 เสด็จเยือนแอฟริกาใต้ เพื่อทรงเป็นองค์ปาฐกในการประชุม TWOWS Second General Assembly & International Conference ในหัวข้อเรื่อง “Women, Science & Technology for Sustainable Human Development” ที่เมืองเคปทาวน์ ตามคำกราบทูลเชิญของ Third World Organization for Women in Science (TWOWS) และทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2542

- วันที่ 26 สิงหาคม - 5 กันยายน 2545 เสด็จเยือนแอฟริกาใต้ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development-WSSD) ตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดีทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki) แห่งแอฟริกาใต้

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง

- วันที่ 1-5 มีนาคม 2536 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2537 นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้แทนรัฐบาลไทย เยือนแอฟริกาใต้เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)

- วันที่ 17-21 สิงหาคม 2540 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 14-17 มิถุนายน 2542 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้แทนรัฐบาลไทย เยือนแอฟริกาใต้เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki)

- วันที่ 17-23 พฤษภาคม 2545 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนแอฟริกาใต้เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกาใต้

- วันที่ 25-28 เมษายน 2547 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เยือนแอฟริกาใต้เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki) และพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

- วันที่ 25-29 มกราคม 2552 พลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองทัพอากาศแอฟริกาใต้

- วันที่ 9 พฤษภาคม 2552 นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนาย ธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายเจคอบ ซูมา (Jacob Zuma)

- วันที่ 2-7 สิงหาคม 2552 พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

- วันที่ 8-15 กันยายน 2552 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงและภาคเอกชน เยือนแอฟริกาใต้ เพื่อเจรจาด้านการค้าการลงทุน

- วันที่ 12-20 มกราคม 2554 พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง พร้อมคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เยือนแอฟริกาใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของทั้งสองประเทศ

- วันที่ 14-20 มกราคม 2554 นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง และคณะ เยือนแอฟริกาใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์และศึกษาดูงานด้านนิติบัญญัติ ระบบงานรัฐสภา ระบบงานคณะกรรมาธิการ การบริหารราชการแผ่นดินของแอฟริกาใต้

- วันที่ 14-23 มกราคม 2554 นายมนตรี รูปสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ ประจำสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เยือนแอฟริกาใต้เพื่อศึกษาดูงานเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับระบบงานรัฐสภาและกระบวนการนิติบัญญัติของแอฟริกาใต้

3.2  ฝ่ายแอฟริกาใต้

ประธานาธิบดี / คณะรัฐมนตรี

- วันที่ 9-10 เมษายน 2540 นายอัลเฟรด อึนโซ (Alfred B. Nzo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้เยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 16-17 กรกฎาคม 2540 นายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

- วันที่ 27 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2545 นายเชพเพิร์ท มาลูซิ มายายูลา (Professor Shepherd Malusi Mayayula) ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาของรัฐสภาแอฟริกาใต้และคณะเยือนไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการศึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง

- วันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 นางซาเนเล อึมเบกิ (Zanele Mbeki) ภริยาของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้แวะพักที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ ก่อนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญ 

- วันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2545 นายลินคอร์น วูมิเล อึนกูลู (Lincoln Vumile Ngoulu) ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข รัฐสภาแอฟริกาใต้และคณะเยือนไทยเพื่อศึกษาดูงานด้านระบบการสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะการป้องกันและบำบัดรักษาโรคเอดส์และอุตสาหกรรมยา

- วันที่ 8-10 ธันวาคม 2545 นายเฟรเน่ โนเชอร์ จินวาลา (Dr. Frene Noshir Ginwala) ประธานสภาผู้แทนราษฎรแอฟริกาใต้เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Commission for Human Security

- วันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2546 นายลินดา อึมที (Linda Mti) ตำแหน่ง National Commissioner of Correctional Services และคณะเยือนไทยเพื่อศึกษาดูงานด้านการราชทัณฑ์ของไทย

- วันที่ 11-16 กรกฎาคม 2547 นายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และนางกราซา มาเชล (Graca Machel) ภริยา เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาลไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพฯ โดยนางกราซา มาเชล (Graca Machel)ได้รับเชิญเป็นผู้อุปถัมภ์โครงการ Leadership Programme ของการประชุม ฯ ในโอกาสนี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ภริยา ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายแมนเดลาและภริยา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 โดยได้หารือเกี่ยวกับการกระตุ้นความสำนึกในหมู่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในเรื่องความสำคัญของการต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์และกระตุ้นให้ผู้นำทุ่มเททรัพยากรในประเทศของตนเพื่อจัดหายาให้แก่ผู้ติดเชื้อ และทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกประติบัติ นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน อาทิ สถานการณ์ในอิรัก และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกาในลักษณะหุ้นส่วนด้านต่าง ๆ

- วันที่ 7-10 ธันวาคม 2547 นางไอวี่ แมทเซเป-คาซาเบอรี่ (Dr. Ivy Matsepe-Casaburri) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารแอฟริกาใต้ และคณะเยือนไทยเพื่อดูงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย

- วันที่ 29-30 มกราคม 2548 นางสาวโนแมทยาลา ฮันกานา (Nomatyala Hangana) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการปกครองท้องถิ่นและภูมิภาคแอฟริกาใต้ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม the Ministerial Meeting on Tsunami Early Warning System Arrangement ที่ จ. ภูเก็ต

- วันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2551 นางมันทอมบาซานา ชาบาราร่า-อึมซิมัง                    (Dr. Mantombazana Tshabalala-Msimang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Prince Mahidol Award Conference ที่โรงแรมดุสิตธานี

- วันที่ 20-22 สิงหาคม 2551 นายโซลา สเกยิย่า (Dr. Zola Skweyiya) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Dialogue Forum on Social Policies in South East Asia

- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นายแมกซ์ วูยิซิเล ซิซูลู (Max Vuyisile Sisulu) ประธานสภาผู้แทนราษฎรแอฟริกาใต้ และคณะผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎรแอฟริกาใต้ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภานานาชาติ ครั้งที่ 122 ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 23 สิงหาคม 2553 พลเอก Godfrey Nhlanhla Ngwenya ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เยือนไทยเพื่อหารือข้อราชการกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย

- วันที่ 22-24 มีนาคม 2554 นายโมฮาเหม็ด เอนเวอร์ เซอร์ตี (Mohamed Enver Surty) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษาพื้นฐาน (Basic Education) เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม The 10th Meeting of the High-Level Group (HLG) on Education for All (EFA) ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

- วันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2554 นายแพทย์เจตน์  ศิรธรานนท์  สมาชิกวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข คนที่หนึ่ง เดินทางไปเยือนแอริกาใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเรื่อง Population Dynamics, Climate Change and Sustainable Development (ในโอกาสนี้ นายแพทย์เจตน์ฯ ได้นำวัคซีนต้านพิษงูกรีนแมมบ้า กลับมาที่ประเทศไทยด้วยได้อย่างทันการณ์ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วง   ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยและมีข่าวว่ามีงูพิษกรีนแมมบ้า หลุดออกมาเป็นจำนวนมาก จึงต้องการวัคซีนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน)

- วันที่ 24-27 ธันวาคม 2554 นาย Ebrahim Ismail Ebrahim รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้ และครอบครัวเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว โดย รมว. กต. ได้รับนาย Ebrahim และครอบครัวเป็นแขก และวันที่ 26 ธันวาคม 2554 นาย Ebrahim ได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

- วันที่ 28 มกราคม 2555 นายแพทย์ Pakishe Aaron Motsoaledi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แอฟริกาใต้ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555ในโอกาสนี้ นายแพทย์ Pakishe Aaron Motsoaledi ได้เข้าพบหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสาธารณสุขกับผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย

- ล่าสุด Dr. Lindiwe Nonceba Sisulu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแอฟริกาใต้ มีหนังสือเชิญพลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมงาน The Africa Aerospace and Defence Exhibition (AAD) ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2555 ในฐานะแขกของตน

แทนที่วุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2550

นายซูมา ชนะ นายอึมเบกิ ในการเลือกตั้งประธานพรรค ANC เมื่อเดือนธันวาคม 2550

********************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ