สาธารณรัฐคองโก

สาธารณรัฐคองโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,018 view


สาธารณรัฐคองโก
Republic of Congo

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ในด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา
ทิศเหนือติดกับแคเมอรูนและแอฟริกากลาง
ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ทิศตะวันตกติดกับกาบอง
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับแองโกลาและมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 342,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงบราซซาวิล (Brazzaville)
ประชากร 3.6 ล้านคน (ปี 2551)
ภูมิอากาศ
อากาศร้อนชื้นแบบเส้นศูนย์สูตร บริเวณที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงใต้มีฤดูแล้งยาวนาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม แต่บริเวณลุ่มแม่น้ำ คองโก (Congo Basin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศจะชื้น
ภาษา ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ Monokutuba และ Lingala
ศาสนา ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 50 ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 48 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 2
ระบอบการปกครอง
แบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ พลเอก Denis Sassou-Nguesso

 

 

 

 

 

 

 

 

การเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ชาวโปรตุเกสเป็นพวกแรกที่เดินทางมาถึงบริเวณปากแม่น้ำคองโก เมื่อศตวรรษที่ 15 และเมืองท่า Loango ในเขต Kouilou เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสในสมัยศตวรรษที่ 18 ต่อมา ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองคองโกเมื่อปี 2425 และกำหนดให้คองโกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน Equatorial Africa ในจักรวรรดิฝรั่งเศส ในช่วงระหว่างปี 2434-2446 โดยประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสกำหนดให้เมืองบราซซาวิลเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิฝรั่งเศสและเขตปลดปล่อยของฝรั่งเศส คองโกได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในวันที่ 15 ตุลาคม 2503 มีนาย Fulbert Youlou ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก
ในวันที่ 15 สิงหาคม 2506 นาย Alphonse Massemba-Débat ได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนาย Fulbert Youlou และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2511 พันตรี Marien Ngouabi ทำรัฐประหารอีกครั้ง และแต่งตั้งพันตรี Alfred Raoul ให้เป็นผู้รักษาการประมุขแห่งรัฐ ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเองในปี 2512 และปกครองประเทศด้วยระบอบลัทธิมาร์กซ์-เลนิน จนถูกลอบสังหารในวันที่ 18 มีนาคม 2520 เป็นผลให้พันเอก Joachim Yhombi-Opango ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อมา
พันเอก Denis Sassou-Nguesso (ยศในขณะนั้น) เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2522 และยกเลิกการปกครองภายใต้ระบอบลัทธิมาร์กซ-เลนินในปี 2532 อย่างไรก็ตาม ต่อมาพลเอก Sassou-Nguesso แพ้การเลือกตั้งให้แก่นาย Pascal Lissouba ในการเลือกตั้งอย่างเสรีที่จัดให้มีขึ้นครั้งแรกในปี 2535
การต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งในปี 2535 และยุติลงชั่วคราวในช่วงปี 2537-2538 เมื่อฝ่ายรัฐบาลจัดสรรที่นั่งส่วนหนึ่งในรัฐบาลให้แก่ฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม สงครามการเมืองเต็มรูปแบบได้ปะทุขึ้นในปี 2540 เมื่อมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนพลเอก Sassou-Nguesso ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากแองโกลา ในที่สุด เมื่อกองกำลังของพลเอก Sassou-Nguesso สามารถเข้ายึดกรุงบราซซาวิลได้สำเร็จ ประธานาธิบดี Lissouba ได้หลบหนีไปอยู่ที่บูร์กินาฟาโซ ในขณะที่พลเอก Sassou-Nguesso ประกาศชัยชนะและสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนตุลาคม 2540 จากนั้นจึงจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2545 และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน


นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
1.1 สาธารณรัฐคองโกปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร อยู่ในวาระคราวละ 7 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบ 2 สภา ประกอบไปด้วย (1) วุฒิสภา (Senate) จำนวน 66 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และ (2) สมัชชาแห่งชาติ หรือสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) มีจำนวน 137 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งทางตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีศาลสูง (Supreme Court) เป็นสถาบันหลักในฝ่ายตุลาการ
1.2 ในปี 2540 ประธานาธิบดี Denis Sassou-Nguesso ใช้กำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Lissouba ซึ่งได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในสาธารณรัฐคองโก ต่อมา ประธานาธิบดี Sassou-Nguesso เข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งทำให้สงครามการเมืองยุติลง และได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2545 ซึ่งประธานาธิบดี Sassou-Nguesso จากพรรค Parti congolais du travail (PCT) ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
1.3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา พลเอก Sassou-Nguesso ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง (พรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง) และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 14 สิงหาคม 2552 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองภายในของสาธารณรัฐคองโกอาจจะเกิดความขัดแย้งและความไม่มั่นคงได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในช่วงหลังสงครามกลางเมือง ทั้งยังใช้ความพยายามจำกัดการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรีเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเองไว้
1.4 การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ในเดือนกันยายน 2552 ประธานาธิบดี Sassou-Nguesso ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรวบอำนาจบริหารมาไว้ที่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแห่งรัฐ (Minister of State) 4 ตำแหน่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (2) พัฒนาการทางเศรษฐกิจ (3) ความมั่นคง และ (4) ประเด็นทางด้านสังคมและวัฒนธรรม คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันประกอบไปด้วยรัฐมนตรี 37 คน
1.5 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2545 ซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยการลงประชามติ กำหนดให้สาธารณรัฐคองโกแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เขตใหญ่ ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 76 เขตย่อย และเขตชุมชนเมือง 7 เขต อาทิ กรุงบราซซาวิล (Brazzaville) เมืองหลวงของประเทศ เมืองปวงต์-นัวร์ (Pointe-Noire) ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

2. นโยบายต่างประเทศ
2.1 ภายหลังจากที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส สาธารณรัฐคองโกปกครองประเทศด้วยระบอบลัทธิมาร์กซ์-เลนินเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ในช่วงดังกล่าว สาธารณรัฐคองโกมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอดีตสหภาพโซเวียต และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ วิชาการ และความช่วยเหลือทางด้านการทหาร อย่างไรก็ดี ภายหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกก็ลดน้อยลง
2.2 สาธารณรัฐคองโกยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิชาการและวัฒนธรรม ตลอดจนการให้ความสนับสนุนด้านการทหารแก่สาธารณรัฐคองโกมาโดยตลอด ประเทศฝรั่งเศสมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ในสาธารณรัฐคองโกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งต่อมาชาติตะวันตกอื่นๆ ก็ได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันในสาธารณรัฐคองโกมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐคองโกกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยดี สาธารณรัฐคองโกมีบทบาทสำคัญในการเจรจาให้คิวบาถอนทหารออกจากแองโกลาและการแยกตัวของนามิเบียออกจากแอฟริกาใต้ ในขณะที่รัฐบาลแองโกลาเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี Sassou-Nguesso (แองโกลาเคยส่งทหารมาช่วยรัฐบาลคองโกปราบกบฏในช่วงปี 2542)
2.4 สาธารณรัฐคองโกยังคงมีประเด็นข้อพิพาทด้านดินแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (หรือประเทศซาอีร์ ในอดีต) ทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม 2552 รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำคองโก ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อเมืองหลวงของทั้งประเทศ (กรุงบราซซาวิล และกรุงกินชาซา) และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงแอฟริกา (Trans-African Highway)
2.5 สาธารณรัฐคองโกเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) สหภาพแอฟริกา (African Union) องค์การการค้าโลก (WTO) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกากลาง (Economic Commission for Central African States) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) และกลุ่มประเทศ G-77

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ขัอมูลเศรษฐกิจปี 2551

หน่วยเงินตรา ฟรังก์เซฟา (CFAfr) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 13.25 CFAfr (ตุลาคม 2552)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,194 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.4 (2548)

เศรษฐกิจ
ในอดีต เศรษฐกิจของสาธารณรัฐคองโกเป็นการผสมผสานระหว่างเกษตรกรรมและหัตถกรรมแบบชนบท ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันและการส่งออกน้ำมันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สาธารณรัฐคองโกมีอัตราการผลิตน้ำมันประมาณ 281,000 บาร์เรลต่อวัน มีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 87 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ หรือกว่าร้อยละ 43.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติต่างๆ ได้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันของสาธารณรัฐคองโกแล้ว อาทิ Total Fina Elf ของฝรั่งเศส (ครองส่วนแบ่งอุตสาหกรรมน้ำมันในสาธารณรัฐคองโกมากที่สุด) Agip ของอิตาลี และ Chevon Texaco ของสหรัฐฯ
นอกจากอุตสาหกรรมน้ำมันแล้วนั้น ภาคเกษตรกรรมและการค้าไม้ยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ประชากรว่าร้อยละ 60 มีรายได้มาจากภาคเกษตรกรรม สินค้าเกษตรที่สำคัญของสาธารณรัฐคองโก ได้แก่ ไม้ซุง และน้ำตาล
หลังจากสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นในปี 2540 สาธารณรัฐคองโกได้พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อลดปัญหาความยากจนและภาวะการว่างงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา นโยบายเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคองโกในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การสร้างความหลากหลายทางด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และดำเนินการตามแผนงาน PRGF ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สินของประเทศ
สาธารณรัฐคองโกเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกากลาง จึงมีธนาคารแห่งรัฐในแอฟริกากลาง (Banque des Etats de l’Afrique Centrale หรือ BEAC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงยาอุนเด ประเทศแคเมอรูน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายทางด้านการเงินของประเทศ โดยมุ่งควบคุมระดับเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (1 ยูโร เท่ากับ 655.957 ฟรังก์เซฟา) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นมา
ประเทศคู่ค้าสำคัญของสาธารณรัฐคองโก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคองโก

1.ความสัมพันธ์ทั่วไป
ด้านการเมืองและการทูต
ไทยและสาธารณรัฐคองโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2531 ที่ผ่านมา ไทยเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นจุดติดต่อ ก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐคองโก ส่วนสาธารณรัฐคองโกได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคองโกประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และได้แต่งตั้งนายวิชัย ทิตตภักดี เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐคองโกประจำประเทศไทย

เศรษฐกิจ
ในปี 2551 ไทยและสาธารณรัฐคองโกมีมูลค่าการค้ารวม 151.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 44.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 106.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 61.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 114.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 41.21 ดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 73.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยไปยังคองโก ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก ผ้าผืน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากคองโก ได้แก่ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ

ความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยเคยเสนอความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นแก่สาธารณรัฐคองโกในสาขาที่ไทยมีประสบการณ์ อาทิ การสาธารณสุข การเกษตร และการศึกษา

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ยังไม่มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างกัน

3.การเยือนที่สำคัญ

3.1 ฝ่ายไทย
- วันที่ 24-25 สิงหาคม 2549 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐคองโกอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายสาธารณรัฐคองโก
- วันที่ 26-27 ตุลาคม 2527 นาย Jean Jacques Nicolas Mvouenze รัฐมนตรีช่วยปฏิบัติหน้าที่ด้านการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคองโก เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 19-19 พฤษภาคม 2537 นาย Pascal Lissouba ประธานาธิบดีคองโก เยือนไทยเป็นการส่วนตัว และได้พบหารือกับนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา
Royal Thai Embassy, Abuja
Plot 766 Panama Street, Cadastral Zone A6, off IBB Way, Maitama, Abuja,
NIGERIA
E-mail : [email protected]

The Embassy of the Republic of the Congo
No. 7, Dong Si Jie, San Li Tun, Beijing, The People’s Republic of China
Tel: (8610) 6532-1417, 6532-1658
Fax: (8610) 6532-2915

******************************

พฤศจิกายน 2552

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2036 E-mail : [email protected]

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-308-document.doc