สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 39,976 view


สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
Federal Republic of Nigeria

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของ ทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับไนเจอร์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับชาด ทิศตะวันออกติดกับแคเมอรูน ทิศตะวันตกติดกับเบนิน ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณอ่าวกินี มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 853 กิโลเมตร

พื้นที่  923,773 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงอาบูจา (Abuja)

ประชากร 170.1 ล้านคน (ปี 2555) มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ประมาณ 250 เผ่า ชนเผ่าที่มีประชากรมากที่สุดและมีอิทธิพลทางการเมือง ได้แก่ Hausa - Fulani ร้อยละ 29 Yoruba ร้อยละ 21 Igbo หรือ Ibo ร้อยละ 18

ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ภาคใต้ฝนตกชุกเป็นระยะเวลานาน  ภาคเหนืออากาศค่อนข้างร้อนและแห้งเกือบตลอดปี  ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม จะมีฝุ่นละอองพัดมาจากทะเลทรายซาฮาราปกคลุมทั่วท้องฟ้า เรียกว่า ฮามาตัน (Harmattan)

ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ

ศาสนา อิสลาม ร้อยละ 50 (ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ) คริสต์ ร้อยละ 40  (ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้)  ความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 10       

หน่วยเงินตรา ไนรา (Naira) 1 ไนรา เท่ากับ 100 โกโบ อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 5.15 ไนรา (ข้อมูลวันที่ 20 สิงหาคม 2555)     

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 235.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.4 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ระบบ 2 สภา โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี จำกัดไม่เกิน 2 วาระ ปัจจุบัน คือ นายกู๊ดลัก    อีเบล โจนาธาน (Goodluck Ebele Jonathan) โดยได้สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 หลังจากที่นายอูมารุ  มูซา ยาร์อาดูอา (Umaru Musa Yar'Adua) ประธานาธิบดีคนก่อนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2553

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป

ในศตวรรษที่ 18 ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาส และอังกฤษได้เข้ายึดเมืองท่าลากอสในเดือนสิงหาคม 2394 ต่อมาได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการจัดการทางการเมืองของตนเองจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2443 บริษัทฯ จึงได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษและได้จัดตั้ง “อาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรีย” เมื่อปี 2457

สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2503 และได้เป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2506 หลังจากนั้น ได้มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2509 และเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและภูมิภาค เนื่องจากชนเผ่า Hausa ทางเหนือเกรงว่าจะถูกครอบงำโดยชนเผ่า Igbo ทางตะวันออกของประเทศ ภูมิภาคตะวันออกจึงตัดสินใจถอนตัวและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแห่งไบอาฟรา (Republic of Biafra) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2510 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองนองเลือดที่ยืดเยื้อ เพราะการแทรกแซงจากต่างประเทศและภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ในที่สุด เมื่อปี 2513 สาธารณรัฐแห่งไบอาฟราก็พ่ายแพ้

ต่อมา มีความพยายามหลายครั้งที่จะให้มีการปกครองโดยพลเรือน แต่ฝ่ายทหารขัดขวาง หลังจากที่นาย Ken Saro-wiwa ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของรัฐ Ogoni และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของประชาชน  อีก 7 คน ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 ไนจีเรียก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเป็นการชั่วคราว พลเอก Sani Abacha ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำของไนจีเรียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้กับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2541 แต่พลเอก Abacha ถึงแก่อนิจกรรมก่อน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ด้วยโรคหัวใจวาย คณะรัฐมนตรีปกครองชั่วคราว (Provisional Ruling Council) จึงได้เลือกพลเอก Abdulsalam Abubakar เสนาธิการทหารเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แทนพลเอก Abacha

พลเอก Abubakar ตระหนักถึงสถานการณ์ของรัฐบาลทหารที่ถูกต่อต้านจากประชาชนและนานาชาติ จึงมีท่าทีผ่อนปรนและประนีประนอมมากขึ้น โดยได้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งหนึ่งในนักโทษการเมืองคนสำคัญที่ได้รับการปล่อยตัวคือ พลเอก Olusegun Obasanjo จากนั้น พลเอก Abubakar ได้ให้สัญญาว่าจะลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชน โดยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้นปรากฏว่า พลเอก Olusegun Obasanjo หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party (PDP) ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น รวมทั้งพรรค PDP ก็ได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบ 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่ไนจีเรียสามารถเปลี่ยนการปกครองจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ และได้กลับเข้าเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกครั้ง

การเมืองการปกครอง

ไนจีเรียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ โดยแบ่งโครงสร้างการปกครองออกเป็น  3 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายบริหาร แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสหพันธ์ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล คราวละ 4 ปี จำกัดไม่เกิน 2 สมัย โดยมีคณะรัฐมนตรี (Federal Executive Council) เป็นผู้บริหาร (2) ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบ 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่ง คราวละ 4 ปี วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 109 คน จากรัฐต่าง ๆ 36 รัฐ รัฐละ 3 คน และอีก 1 คน จากเขตเมืองหลวงกรุงอาบูจา (Abuja Federal Capital Territory) สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวน 360 คน การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 และ (3) ฝ่ายตุลาการ ได้แก่ ศาลสูง ศาลอุทธรณ์กลาง และมีศาลกฎหมายอิสลามในรัฐทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ประธานาธิบดี อูมารุ มูซา ยาร์อาดูอา (Umaru Musa Yar'Adua) จากพรรค People's Democratic Party (PDP) ซึ่งได้รับตำแหน่งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ได้เดินทางไปรักษาตัวจากปัญหาสุขภาพที่ซาอุดิอาระเบีย โดยมิได้มอบหมายให้นายกู๊ดลัก อีเบล  โจนาธาน (Goodluck Ebele Jonathan) รองประธานาธิบดี เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศแทนอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง ทั้งด้วยการประท้วงและการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง จนในที่สุด รัฐสภาไนจีเรียได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ให้รองประธานาธิบดีโจนาธาน ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีจนกว่านายยาร์อาดูอาจะสามารถกลับมาบริหารประเทศต่อไปได้ในฐานะรักษาการประธานาธิบดี (Acting President) นายโจนาธานมีคำสั่งปรับคณะรัฐมนตรี ทั้งคณะ (Federal Executive Council) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่  โดยได้สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 พร้อมด้วยรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแห่งรัฐ รวม 38 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีนักการเมืองจำนวน 13 คน เคยดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดก่อน

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2553 นายอูมารุ มูซา ยาร์อาดูอา ถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลไนจีเรียประกาศให้ไว้ทุกข์เป็นเวลา 7 วัน และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 นายโจนาธานได้เข้าพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไนจีเรีย พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่เน้นย้ำถึงความยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และความตั้งใจของรัฐบาลในการปฏิรูประบบเลือกตั้ง การแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง การรักษาความสงบเรียบร้อยและการพัฒนาพื้นที่บริเวณ Niger Delta และการรักษาความมั่นคงของประเทศ

ล่าสุด ไนจีเรียได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2554 ซึ่งนายโจนาธาน ตัวแทนของพรรค People’s Democratic Party (PDP)  ซึ่งเป็นชาวคริสต์จากภาคใต้ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ถือเป็นการฉีกจากธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาของพรรค ที่จะสับเปลี่ยนอำนาจการบริหารประเทศระหว่างผู้นำชาวคริสต์จากภาคใต้กับผู้นำชาวมุสลิมจากภาคเหนือ ทำให้ประชากรมุสลิมทางภาคเหนือไม่พอใจนัก ทั้งที่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง พรรค PDP ได้ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า จะส่งนักการเมืองซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากภาคเหนือเป็นตัวแทนพรรค ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจนาธานจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2558 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินการรับมือกับปัญหาความไม่สงบ การว่างงาน ความยากจนและล้าหลังในไนจีเรีย

นโยบายของรัฐบาลไนจีเรียชุดปัจจุบันให้ความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม การเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ตลอดจนบทบาทในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้ายและการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (2) การยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและการจัดตั้งรัฐบาลตามครรลองรัฐธรรมนูญ (3) การส่งเสริมบทบาทไนจีเรียในเวทีระหว่างประเทศเพื่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงโลก (4) การปฏิรูปและพัฒนาประเทศเพื่อส่งเสริมและตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ระบบธนาคาร การพัฒนาระบบบริหารจัดการอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า (5) การสร้างโอกาสสำหรับการค้าและการลงทุนทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ และ (6) การปรับปรุงนโยบายและวาระแห่งชาติให้สอดคล้องกับการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพความมั่นคงทั้งในระดับประเทศ อนุภูมิภาคและภูมิภาคแอฟริกาโดยรวม

รัฐบาลไนจีเรียให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ Niger Delta  โดยกำหนดให้การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้ง Niger Delta Development Commission (NDDC) ขึ้นในปี 2543 เพื่อเร่งบริหารการพัฒนาในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ก่อตั้ง Ministry of Niger Delta ขึ้นในปี 2551 และประกาศนโยบายนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ หากยอมวางอาวุธด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Movement for the Emancipation of the Niger Delta (MEND) ยังคงก่อความไม่สงบในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ทำลายฐานเจาะผลิตและท่อลำเลียงน้ำมัน ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน ลักพาตัวคนงานและชาวต่างชาติหรือนักธุรกิจน้ำมันเพื่อเรียกค่าไถ่ รวมทั้งก่อความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัยในชีวิตของคนในพื้นที่ นักธุรกิจ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันของไนจีเรีย จนในที่สุด รัฐบาลไนจีเรียได้จัดตั้งกองกำลังปฏิบัติการร่วมทหาร-ตำรวจ (Joint Task Force) ขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อเข้าปราบปรามกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ Niger Delta ส่งผลให้มีผู้ล้มตายทั้งสองฝ่าย
 
ผลจากนโยบายนิรโทษกรรมของรัฐบาลซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2552 คาดว่า มีผู้ก่อความไม่สงบที่ยอมวางอาวุธและเข้ามอบตัวทั้งสิ้นกว่า 15,000 คน (จากรัฐ Delta มากกว่า 6,000 คน) เพื่อแลกกับการนิรโทษกรรมโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Pardon) และเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดหลักสูตรฝึกอาชีพ เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้ดำรงชีวิตในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม โครงการเยียวยาไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากขาดการวางแผนที่ดีและเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ปัจจุบัน Niger Delta ยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และยังเกิดความไม่สงบอยู่เป็นระยะ

ปัจจุบัน ความแตกต่างทางความเชื่อทางศาสนายังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมไนจีเรีย หลายครั้งที่ความขัดแย้งทั่วไปถูกนำไปเชื่อมโยงกับความแตกต่างทางความเชื่อทางศาสนาและนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2552 ซึ่งมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังทหาร-ตำรวจกับกลุ่ม Boko Haram  และเหตุการณ์ได้ลุกลามจากเมือง Bauchi ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ Bauchi ทางตอนเหนือของประเทศไปยังรัฐอื่น ๆ ข้างเคียง ได้แก่ Borno, Kano และ Yobe จนทางการไนจีเรียต้องประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืนในรัฐทั้ง 4 รัฐ และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 คน ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 กลุ่ม Boko Haram ได้เข้าโจมตีสถานีตำรวจและสถานที่ราชการต่าง ๆ ในเมือง Kano ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน ล่าสุด มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบโดยกลุ่ม Boko Haram ถึง 900 รายแล้วในครึ่งแรกของปี 2555 นอกจากนี้ ความรุนแรงและความตึงเครียดระหว่างประชาชนชาวคริสต์และมุสลิมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ในภาคเหนือ แต่เริ่มกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศด้วย

เศรษฐกิจ
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเริ่มการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ปัจจุบัน ไนจีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา และติดอันดับ 11 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบของโลก อย่างไรก็ตาม ภาวะความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไนจีเรียให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ ที่ผ่านมา ไนจีเรียเคยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่ม Paris Club ในปี 2543

ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา อดีตประธานาธิบดี Obasanjo ได้ดำเนินแผนปฏิรูปเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ National Economic Empowerment and Development Strategy (NEEDS) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และพัฒนาประเทศอย่างอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้น (1) การปฏิรูปองค์กรภาครัฐทั้งในด้านโครงสร้าง นโยบายและยุทธศาสตร์ (2) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมระบบการค้าเสรีที่มีความโปร่งใส โดยคำนึงถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย (3) การสร้างแหล่งรายได้อื่นนอกจากน้ำมัน  (4) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (5) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States - ECOWAS) อนึ่ง แม้ว่านาย Obasanjo จะพ้นวาระไปแล้ว นายโจนาธาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ได้รับยุทธศาสตร์ NEEDS มาดำเนินการต่อ
ไนจีเรียนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และอาหาร โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน สหรัฐอเมริกา บราซิล และยุโรป ไนจีเรียส่งออกน้ำมันและปิโตรเคมีภัณฑ์เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 79 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่งออกอื่น ๆ ได้แก่ โกโก้ และยางดิบ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปอเมริกา บราซิล และสเปน

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ Niger Delta ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในไนจีเรีย โดยเฉพาะต่อภาคพลังงาน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยองค์กรภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการปิโตรเลียม หรือ Nigerian National Petroleum Corporation (NNPC) ได้เปิดเผยว่า โรงกลั่นน้ำมันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันดิบ เนื่องจากฐานขุดเจาะน้ำมันและท่อลำเลียงขนส่งน้ำมันดิบจำนวนมากในพื้นที่ Niger Delta ได้ถูกโจมตีโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธและจำเป็นต้องปิดตัวลง ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของไนจีเรียลดลงเหลือ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยผลิตได้ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของไนจีเรียลดลงอย่างมาก ปัจจุบัน ทางการไนจีเรียกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้มาทดแทนรายได้จากการค้าน้ำมันกับต่างประเทศที่สูญเสียไป

นโยบายต่างประเทศ
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีบทบาทนำด้านการเมืองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและภูมิภาคแอฟริกาโดยรวม โดยเฉพาะใน ECOWAS ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอาบูจา และกองกำลังสันติภาพของประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States Monitoring Group - ECOMOG) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงทางการทหารและรักษาสันติภาพในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และซูดาน

นอกจากนี้ ไนจีเรียยังเป็นหนึ่งในประเทศผู้ริเริ่มนโยบาย The New Partnership for Africa's Development (NEPAD) ซึ่งเป็นเสมือนแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาในแอฟริกา ปัจจุบัน ไนจีเรียยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกที่มุ่งเน้นการมีบทบาทนำในภูมิภาคแอฟริกา

ในปัจจุบันที่ประชาคมนานาชาติกำลังถกเถียงเรื่องการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ ไนจีเรียเป็นประเทศหนึ่งที่อาจได้รับการสนับสนุนให้ก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในฐานะตัวแทนของประเทศแอฟริกา

สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ไนจีเรีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต

ไทยและไนจีเรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2505 และในปีถัดมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตและแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงลากอส นับเป็นสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรกของไทยในทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้ปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอสเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณและความปลอดภัย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้ปิดทำการตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าวไทยได้แต่งตั้งให้ Dr. Folarin Gbadebo-Smith  เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียที่เมืองลากอสเมื่อ ปี 2542 ต่อมาในปี 2549 รัฐบาลไทยมีนโยบายย้ายสถานเอกอัครราชทูตจากกรุงลากอส ไปยังกรุงอาบูจา (เมืองหลวงแห่งใหม่) โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลากอส  เป็นการถาวรและเริ่มเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา ในเดือนธันวาคม 2549

สำหรับฝ่ายไนจีเรียเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำสาธารณรัฐฟิลิปปินส์มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ไนจีเรียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ที่กรุงเทพฯ โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไนจีเรียดำเนินมาด้วยความราบรื่น ไนจีเรียได้ส่งคณะแสดงวัฒนธรรมมาแสดงที่กรุงเทพฯ 2 ครั้ง เมื่อปี 2544 และเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไนจีเรีย ทั้งนี้ ในปีนี้ (1 พฤศจิกายน) ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไนจีเรียจะครบรอบ 50 ปี

เศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย–ไนจีเรียดำเนินไปได้ด้วยดี การค้าไทย–ไนจีเรียมีมากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคแอฟริกา รองจากแอฟริกาใต้ และเป็นอันดับที่ 47 ในตลาดโลก ทั้งยังเป็นตลาดส่งออกข้าวนึ่งอันดับ 1 ของไทยในตลาดโลก ในปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรีย เท่ากับ 846.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 795.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าจากไนจีเรีย 51.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 744.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังไนจีเรีย ได้แก่ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผ้าผืน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไนจีเรีย ได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ ด้ายและเส้นใย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ปัจจุบัน ภาคเอกชนมีการจัดคณะไปสำรวจตลาดไนจีเรียและความเป็นไปได้สำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายไนจีเรียก็มีความสนใจในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ไทยได้เปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา โดยมีนายบูรณ์ อินธิรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน นับเป็นสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศแห่งที่ 4 ในทวีปแอฟริกา

ความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยกำหนดให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai Aid Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษา/ฝึกอบรมและดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุขและการศึกษา ในช่วงปี 2548 - 2549 ไนจีเรียได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการกับโรคมาลาเรีย (International Training Course on the Management of Malaria) โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินการ และหลักสูตรการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย (Malaria Prevention and Control)

สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ได้เวียนทุนฝึกอบรม (Annual International Training Course หรือ AITC) ให้ฝ่ายไนจีเรียพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี โดยคำนึงถึงสาขาที่ไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับไนจีเรียตามความต้องการได้ โดยในปี 2552 ไนจีเรียได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ได้แก่ (1) International Narcotics Law Enforcement (2) Sufficiency Economy (3) Sustainable Crop Production (4) Enhancing Entrepreneurship in SME Development and Export Consortia และ (5) Epidemiology and Control of Tropical Disease สำหรับในปี 2553 นั้น สพร. ได้เวียนทุนฝึกอบรมให้ฝ่ายไนจีเรียพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมใน 6 หลักสูตร ดังนี้ (1) Biodiesel Technology (2) Enhancing Entrepreneurship in SME Development and Export Consortia (3) Income Generation and Poverty Reduction for Development (4) International Narcotics Law Enforcement (5) Sufficiency Economy (6) Sustainable Crop Production

ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาในคดีอาญา (Treaty between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Federal Republic of Nigeria on the Transfer of Offenders and Co-operation in the Enforcement of Penal Sentences) ลงนามเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นมา

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ
- ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับไนจีเรีย (Agreement on Investment Promotion and Protection)
- ความตกลงด้านการค้า (Trade Agreement)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิชาการ (Agreement on Economic, Scientific and Technical Cooperation)

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
วันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2546 นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนไนจีเรีย โดยคณะฯ ได้เข้าพบประธานาธิบดี Obasanjo และหารือถึงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การกงสุล ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการเกษตร และสาธารณสุขการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น

วันที่ 23 - 24 มีนาคม 2548 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย นำคณะนักธุรกิจไทย จำนวน 33 คน เยือนไนจีเรีย โดยได้ร่วมหารือในสภาธุรกิจ (Business Forum) ณ กรุงอาบูจา และเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี Obasanjo แห่งไนจีเรีย

วันที่ 14 - 16 มกราคม 2549 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เยือนไนจีเรีย

วันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2553 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี นำคณะผู้แทนไทยเยือนไนจีเรีย เพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครบ 50 ปีของการได้รับเอกราชของไนจีเรีย และหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และหน่วยงาน Association of Local Governments of Nigeria (ALGON) ของไนจีเรีย

ฝ่ายไนจีเรีย
วันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2547 Dr. Olusegun Agagu ผู้ว่าการรัฐ Ondo พร้อมคณะจำนวน 9 คน เดินทางมาดูงานเกี่ยวกับการปลูกข้าวและมันสำปะหลัง รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 สมาคมมิตรภาพไทย - ไนจีเรีย ได้จัดเลี้ยงต้อนรับคณะดังกล่าว ซึ่ง Dr. Agagu กล่าวว่า ตนมีความประทับใจกับความก้าวหน้าเรื่องข้าว มันสำปะหลัง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยมาก และเห็นว่าควรมีการส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวระหว่างไทยและไนจีเรียต่อไป

วันที่ 10 – 16 พฤษภาคม 2553 คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันประเทศไนจีเรีย จำนวน 21 นาย เยือนไทยเพื่อเข้าเยี่ยมคารวะผู้แทนระดับสูงและรับฟังการบรรยายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยมีสถาบันวิชาการป้องกันประเทศเป็นผู้ให้การต้อนรับ

วันที่ 11 – 14 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการด้านเทคนิคการปฏิรูปที่ดิน สำนักประธานาธิบดีไนจีเรีย เดินทางมาศึกษาแนวทางปฏิบัติในการปฏิรูปที่ดินของไทย โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ส.ป.ก.) เป็นผู้จัดกำหนดการดูงานให้กับคณะฯ

วันที่ 21 – 22 กุมภาพันธ์ 2554 นาย Ike Ekweremadu รองประธานวุฒิสภาไนจีเรีย (Deputy Senate President) นำคณะผู้แทนจากรัฐสภาของไนจีเรียเยือนไทยเพื่อศึกษาดูงานด้านรัฐสภา โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานวุฒิสภา และหารือกับคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของวุฒิสภา นอกจากนั้น ได้เข้าพบ    

ศ. ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เพื่อรับฟังการบรรยายหัวข้อ “Legislative / Parliamentary Academic Support Work of King Prajadhipok’s Institute” และเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

----------------------------------------------------

กันยายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ