สาธารณรัฐโมซัมบิก

สาธารณรัฐโมซัมบิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,566 view


สาธารณรัฐโมซัมบิก
Republic of Mozambique

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา พรมแดนทิศเหนือติดกับแทนซาเนีย ทิศใต้ติดกับแอฟริกาใต้และสวาซิแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดกับมาลาวี ซิมบับเว แซมเบีย

พื้นที่ 799,380 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงมาปูโต (Maputo)

ประชากร 23 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Makhuwa, Tsonga, Lomwe, Sena, และอื่น ๆ รวมประมาณร้อยละ 99.66

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 22-31 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศเย็นที่สุดคือมิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ย 13-24 องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ ภาษาโปรตุเกส

ศาสนา คริสต์(คาธอลิก) ร้อยละ 23.8 อิสลามร้อยละ 17.8 คริสต์(ซิโอนิสต์)   ร้อยละ 17.5 อื่นๆ ร้อยละ 17.8 และไม่ระบุศาสนาร้อยละ 23.1

หน่วยเงินตรา เมติกัย โมซัมบิก (Mozambican Meticais - MZN)

อัตราแลกเปลี่ยน 1 MZN ประมาณ 1.14 บาท

(ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 12.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,085.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.5 (ปี 2553)

ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายอาร์มันโด เอมิลิโอ กูเอบูซ่า (Armando Emilio Guebuza) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 เป็นสมัยที่สอง) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายไอเรส โบนาฟาซิโอ อาลี (Aires Bonifacio Ali) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

โมซัมบิกปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยแบ่งออกเป็น 10 จังหวัด (Cabo Delgodo, Gaza, Inhambane, Manica, Maputo, Nampula, Niassa, Sofala, Tele และ Zambezia) และ 1 เมือง (Cidade de Maputo) มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสมัชชาสาธารณรัฐ 250 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 28 ตุลาคม 2552) ปัจจุบันพรรค FRELIMO เป็นพรรครัฐบาล โดยมีเสียงข้างมากในสมัชชาฯ กว่าร้อยละ 75 ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูงสุด (ผู้พิพากษาส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี อีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งภายในสมัชชาฯ) ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลประเพณี ศาลกฎหมายที่เกี่ยวกับการเดินเรือ และศาลแรงงาน

ชายฝั่งโมซัมบิกเป็นชุมชนทางทะเลของพ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และเปอร์เซียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 โดยเป็นชุมทางการค้าทาส งาช้าง ทองคำ และเครื่องเทศ และมีการสร้างครอบครัวของพ่อค้ามุสลิมซึ่งแต่งงานกับหญิงชาวแอฟริกาท้องถิ่น ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงโมซัมบิกได้แก่ ชาวโปรตุเกส ในศตวรรษที่ 15 โจรสลัดเข้ามามีอำนาจเหนือน่านน้ำโมซัมบิก ยกกำลังบุกยึดเมืองชายฝั่งโมซัมบิกและสร้างป้อมปราการป้องกันการโจมตีจากอังกฤษและดัตช์ ในศตวรรษที่ 17 ดินแดนโมซัมบิกตอนในถูกแบ่งเป็นเขตเกษตรกรรมภายใต้อาณานิคมของโปรตุเกส แต่กลุ่มโจรสลัดก็ยังคงบุกยึดหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชาวแอฟริกันท้องถิ่นดิ้นรนเป็นอิสระจากอาณานิคมโปรตุเกส

ปี 2503 รัฐบาลโปรตุเกสใช้กำลังปราบปรามคนท้องถิ่นที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ นำไปสู่สงครามและเหตุการณ์สังหารหมู่ (Mueda Massacre) ในปี 2505 นายเอดูอาร์โด มอนเลน (Eduardo Mondlane) ผู้นำท้องถิ่นที่มีอิทธิพล ได้ก่อตั้งแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยโมซัมบิก (Liberation Front of Mozamibique -  FRELIMO) ต่อมาในปี 2512 นายมอนเลนถูกฆาตกรรม และนายซาโมรา มาเชล (Samora Machel) ผู้นำทางทหารของ FRELIMO ได้ขึ้นเป็นผู้นำแนวร่วม และใช้ความรุนแรงในการต่อต้านรัฐบาลโปรตุเกส ในที่สุด กลุ่ม FRELIMO ได้ชัยชนะและประกาศเอกราชของโมซัมบิกจากอาณานิคมโปรตุเกสในวันที่ 25 มิถุนายน 2518 โดย FRELIMO เป็นพรรครัฐบาลและนายมาเชลเป็นประธานาธิบดี

กองทัพโปรตุเกสถอนกำลังจากโมซัมบิกในชั่วข้ามคืน โดยได้ทำลายสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถยนต์ และบ่อน้ำสาธารณะในเมืองลงทั้งหมด รัฐบาลใหม่ของนายมาเชลใช้นโยบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง (radical social change) ปกครองประเทศแบบสังคมนิยม ยึดทรัพย์สินเอกชนทั้งหมดเป็นของรัฐ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป

โมซัมบิกกลายเป็นประเทศที่ประเทศคอมมิวนิตส์ใช้เป็นสัญลักษณ์เชิดชูความสำเร็จของการปกครองระบอบสังคมนิยม การเมืองภายในของโมซัมบิกได้รับผลกระทบจากสงครามเย็นอย่างมาก ในทศวรรษที่ 1980 ประเทศเสรีตะวันตกและแอฟริกาใต้เข้าแทรกแซง โดยสนับสนุนกลุ่ม Mozambique National Resistance (RENAMO) ที่ก่อสงครามกลางเมือง ทำลายสาธารณูปโภคพื้นฐาน สะพาน ทางรถไฟ โรงเรียน สถานพยาบาล ทำให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ปลายทศวรรษที่ 1980 สหภาพโซเวียตล่มสลาย สงครามเย็นสิ้นสุดลง รัฐบาลแอฟริกาใต้ยุติการสนับสนุน RENAMO ต่อมาในปี 2529 นายมาเชลเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ และนายโจอาควิม ชิสสาโน (Joaquim Chissano) ขึ้นเป็นผู้นำประเทศแทน

นายชิสสาโนเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากมาร์กซิส (Marxist) เป็นเศรษฐกิจการตลาด (market economy) และลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพยุติสงครามกลางเมืองกับ RENAMO ในเดือนตุลาคม 2535 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของโมซัมบิกในเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งนาย   ชิสสาโนชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

การเลือกตั้งครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2542 ซึ่งนายชิสสาโนชนะการเลือกตั้งอีกครั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2547 นายชิสสาโนไม่สามารถลงสมัครได้เนื่องจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 วาระแล้ว ทำให้นายอาร์มันโด เอมิลิโอกูเอบูซ่า (Armando Emilio Guebuza) เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค FRELIMO แทนและสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายกูเอบูซ่าชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 นายกูเอบูซ่าชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 75 และพรรค FRELIMO ได้คะแนนเสียงร้อยละ 74.66 ทำให้ได้ที่นั่งในสมัชชาสาธารณรัฐ 191 ที่นั่ง จาก 250 ที่นั่ง (พรรค RENAMO ได้ 51 ที่นั่ง พรรค MDM ได้ 8 ที่นั่ง)

นับจากที่สงครามกลางเมืองอันยาวนานสิ้นสุดลงเมื่อตุลาคม 2535 โมซัมบิกได้เปลี่ยนสถานะจากภาวะรัฐล้มเหลว (failed state) มาเป็นประเทศตัวอย่างของการฟื้นฟูและการพัฒนาประเทศภายหลังจากภาวะสงคราม ส่งผลให้โมซัมบิกมีความมั่นคงทางการเมือง เกิดภาวะความปรองดองในชาติ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงการปกครองของประธานาธิบดีชิสสาโน ระหว่างปี 2529 -2548

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีกูเอบูซ่า (นับแต่ปี 2548) รัฐบาลมีนโยบายการปกครองค่อนข้างกร้าวร้าว มีลักษณะความเป็นเผด็จการสูง ซึ่งแตกต่างจากแนวทางเดิมของประธานาธิบดีชิสสาโน ที่ให้ความสำคัญกับความสมานฉันท์และการมีความคิดที่แตกต่างตามระบอบประชาธิปไตย (democratic pluralism) อย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างพรรครัฐบาล FRELIMO และพรรคฝ่ายค้าน RENAMO การพัฒนาประเทศจึงชะลอตัวลงตามไปด้วย การบริหารแบบเผด็จการของประธานาธิบดีกูเอบูซ่าได้เอื้อประโยชน์ต่อระบบอุปถัมภ์และการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความไม่พอใจจากภาคสังคม

ภายหลังเข้าพิธีสาบานตน ประธานาธิบดีกูเอบูซ่า ได้กล่าวปราศรัยถึงนโยบายของรัฐบาลว่า จะผลักดันการกระจายอำนาจการปกครองของรัฐบาล ส่งเสริมการปกครองที่ดี การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน และขจัดความยากจน รวมทั้งได้กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อเร่งรัดการพัฒนาของโมซัมบิกด้วย

เศรษฐกิจและสังคม

โมซัมบิกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม มีทรัพยากรธรรมชาติมาก โดยเฉพาะด้านอัญมณี ป่าไม้และประมง อัญมณีที่สำคัญของโมซัมบิกคือ agate, amethyst, aquamarine, emerald, garnet, jasper, morganite, rose quartz, tiger eye และ tourmaline และมีแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในบริเวณช่องแคบโมซัมบิก

โมซัมบิกมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะแก่การปลูกข้าวและพืชผลอื่น เช่น ข้าวโพด และพืชไร่จำพวกที่สามารถทำเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ภาคการเกษตรของสาธารณรัฐโมซัมบิกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังสงครามกลางเมือง รัฐบาลโมซัมบิกได้ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและการเพาะปลูกในประเทศ มีนโยบายปฏิวัติเกษตรกรรม (Green Revolution) มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตภาคการเกษตร ปัจจุบัน มีแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรร้อยละ 80 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโมซัมบิก ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และมะม่วงหิมพานต์ อย่างไรก็ตาม คนโมซัมบิกยังคงขาดทักษะด้านเกษตรกรรม รวมถึงขาดเครื่องจักรกลขนาดเล็ก เช่น เครื่องไถ และเครื่องหยอดเมล็ดข้าว ทำให้มีผลผลิตต่อไร่ไม่สูงนัก ปัจจุบัน จีนได้ขอเช่าพื้นที่ในโมซัมบิกเพื่อทำการเพาะปลูกพืช เวียดนามได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเกษตรแก่โมซัมบิกแล้ว และสหรัฐอเมริกามีโครงการให้ความช่วยเหลือ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มการค้าผลิตผลเกษตรกับโมซัมบิก ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และให้ความช่วยเหลือจัดตั้งสมาคมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ลงทุน ผู้ผลิต ผู้จัดหา ผู้แปรรูป และผู้จัดจำหน่าย

โมซัมบิกมีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน โดยมีมาตราการด้านภาษีจูงใจสำหรับนักลงทุน แต่การให้สิทธิพิเศษจะต่างกันไปตามเขตที่นักลงทุนไปลงทุนและประเภทของการลงทุน แต่โดยเฉลี่ย นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าประมาณร้อยละ 50-80 โดยเฉพาะภาษีเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร และการก่อสร้าง นอกจากนี้โมซัมบิกยังได้กำหนด Rapid Development Zone เช่นจังหวัด Niassa, Nacala และZambezi และเขต Ilha de Mozambique และ Ibo Island ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาษีการโอนที่ดิน เป็นต้น

เมือง Tete ทางตอนเหนือของโมซัมบิกมีถ่านหินจำนวนมาก (คาดว่าน่าจะมากที่สุดในโลก) ขณะนี้มีนักลงทุนจากบราซิล (บริษัท Companhia Vale do Rio Doce) ได้สัมปทานทำเหมืองถ่านหินในเขตดังกล่าว โดยที่โมซัมบิกผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำกว่าร้อยละ 90  จึงยังไม่ได้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากนัก จึงเป็นไปได้ที่ราคาถ่านหินในโมซัมบิกจะยังคงมีราคาถูกเนื่องจากความต้องการใช้ยังมีไม่มาก แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องการขนส่งไปที่ท่าเรือ ปัจจุบัน บริษัทอินเดียรายหนึ่งกำลังซ่อมแซมทางรถไฟจากเมือง Tete ไปยังท่าเรือเมือง Beira ระยะทางประมาณ 900 กม. เพื่อให้การขนส่งถ่านหินเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น

โมซัมบิกยังมีอุปสรรคสำคัญคือ ความขลุกขลักในการจัดการภายในประเทศ การใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก ประชากรส่วนมากไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และมีไข้มาลาเรียระบาดเป็นระยะ

โมซัมบิกถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยทำให้ระบบเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศมีเสถียรภาพและปรับปรุงการบริการภาคสาธารณะให้ดีขึ้น โดยมุ่งหมายว่า หากสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับที่กำหนดไว้จะสามารถลดปัญหาความยากจนได้ ในส่วนของนโยบายการคลัง รัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมากในโครงการบรรเทาความยากจน

อุตสาหกรรมที่สำคัญของโมซัมบิก ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ อะลูมินั่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ ซีเมนต์ แก้ว และยาสูบ สินค้าหลักที่โมซัมบิกส่งออก ได้แก่ อะลูมินั่ม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ กุ้ง น้ำตาล และฝ้าย โดยประเทศที่โมซัมบิกส่งสินค้าออก ได้แก่ เบลเยี่ยม แอฟริกาใต้ สเปน และเนเธอร์แลนด์  ส่วนสินค้าที่โมซัมบิกนำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย จีน และโปรตุเกส สินค้านำเข้าหลักของโมซัมบิกคือ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องนุ่งห่ม โดยภาพรวม ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของโมซัมบิกคือ แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 36.6) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 15.6) และโปรตุเกส (ร้อยละ 33)

นโยบายต่างประเทศ

ในช่วงทศวรรษแรกหลังได้รับเอกราช โมซัมบิกมีนโยบายการปกครองแบบสังคมนิยม Marxist-Leninist และวางตัวใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศ Soviet Bloc โดยเฉพาะ สหภาพโซเวียตและเยอรมันตะวันออก แต่ในช่วงหลังของทศวรรษ 1980 โมซัมบิกได้พยายามขยับออกจาก Soviet Bloc และหันไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย การยุติสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2535 ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปัจจุบัน นโยบายต่างประเทศของโมซัมบิกมุ่งเน้นไปที่แอฟริกาใต้ ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (SADC) และประเทศผู้ให้ตะวันตก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทด้านการลงทุนและการค้าอย่างมาก

โมซัมบิกหลังภาวะสงครามกลางเมือง กลายมามีบทบาทสำคัญด้านการทูตระดับภูมิภาคและปฏิบัติการด้านสันติภาพ โดยเฉพาะด้านการเจรจาและการไกล่เกลี่ย เนื่องจากโมซัมบิกมีประสบการณ์โดยตรงในช่วงที่ต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในโมซัมบิก นอกจากนี้ โมซัมบิกยังเคยส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการสันติภาพในบุรุนดีเมื่อปี 2548 อีกด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 โมซัมบิกเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth) นับเป็นประเทศแรกที่ไม่ได้เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร แต่เข้าร่วม Commonwealth ต่อมาเมื่อกลางปี 2539 โมซัมบิกได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งประชาคมประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Comunidade de Países de Língua Portuguesa - CPLP) ต่อมา เมื่อปี 2541 โมซัมบิกถอนตัวออกจากสมาชิกภาพในตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (COMESA) เนื่องจากหันไปให้ความสำคัญการค้ากับประเทศในกลุ่ม SADC มากกว่าประเทศในกลุ่ม COMESA

โมซัมบิกมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแอฟริกาใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการเชื่อมโยงระหว่างกันที่มีมากขึ้น ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยแอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง การท่องเที่ยว การย้ายถิ่นฐานของประชาชน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และความร่วมมือด้านความมั่นคง

ความสัมพันธ์อับอดีตเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส เป็นไปด้วยดีมาตั้งแต่สมัยช่วงสิ้นสุดภาวะสงครามกลางเมือง โดยโปรตุเกสมองว่า โมซัมบิกเป็นประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญในกลุ่ม CPLP โปรตุเกสยังเป็นทั้งผู้ลงทุนและผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโมซัมบิกด้วย แต่เนื่องจากในช่วงหลัง ประธานาธิบดีกูเอบูซ่ามีนโยบายต่อต้านอดีตเจ้าอาณานิคม โดยเห็นว่า เป็นวิธีการเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง เป็นผลให้หลายบริษัทของโปรตุเกสในโมซัมบิกปิดตัวลง

โมซัมบิกยังมีสัมพันธภาพทางการเมืองที่ดีกับแองโกลาและซิมบับเว เนื่องจากต่างประสบภาวะการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โมซัมบิกเคยต่อต้านการแทรกแซงทางทหารในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกของทั้งแองโกลาและซิมบับเว (มีท่าทีเช่นเดียวกับแอฟริกาใต้) และสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ การเจรจาทางการเมืองในแองโกลาในช่วงหลังของสงครามกลางเมือง ความสัมพันธ์กับมาลาวีมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งสองประเทศร่วมมือกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน (ร่วมกับแซมเบียด้วย) ที่เรียกว่า Nacala Development Corridor (NDC) ซึ่งมีบริเวณตั้งแต่เมือง Nacala ซึ่งเป็นเมืองท่าของโมซัมบิก ผ่านกรุง Lilongwe ของมาลาวี ไปจนถึงกรุง Lusaka ของแซมเบีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศของทั้งสามประเทศได้

โมซัมบิกเป็นประเทศสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ อาทิ สหประชาชาติ (United Nations – UN) สหภาพแอฟริกา (African Union – AU) กลุ่มประเทศไม่ฝักฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) องค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of Islamic Conference – OIC) ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกา  ตอนใต้ (Southern African Development Community – SADC) ประชาคมประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส (Comunidade dos Países de Língua Portuguesa - CPLP) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก (African, Caribbean and Pacific Group of States - ACP)

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยและโมซัมบิกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2532 (ค.ศ.1989) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมโมซัมบิก เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐโมซัมบิกคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย และไทยได้แต่งตั้งนายคาร์ลอส อังโตนีโอ ดา คอนไซเซา ซิมบิเน (Carlos António da Conceicão Simbine) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโมซัมบิก ส่วนโมซัมบิกมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโมซัมบิกประจำกรุงจาการ์ตา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายการ์ลูส อากุสตินโย ดู โรซารีอู (Carlos Agostinho do Rosario) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา และแต่งตั้งนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย

เศรษฐกิจ

การค้า

การค้าระหว่างไทยและโมซัมบิกยังมีปริมาณไม่มากนัก ในปี 2554 การค้ารวมมีมูลค่า 171.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังโมซัมบิกมีมูลค่า 158.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากโมซัมบิกมีมูลค่า 12.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 145.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปโมซัมบิก อาทิ ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโมซัมบิก ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ

การลงทุน

แม้การลงทุนในโมซัมบิกของผู้ประกอบการไทยยังมีไม่มาก แต่โมซัมบิกมีศักยภาพด้านป่าไม้ เนื่องจากต้นทุนค่าทำไม้ ซึ่งรวมค่าขนส่งจากโมซัมบิกมาไทย ถูกกว่าที่ซื้อจากประเทศพม่าและกัมพูชา อุตสาหกรรมโรงเลื่อยจึงน่าจะได่รับการส่งเสริม โดยเฉพาะ ไม้เต็งและไม้มะค่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดไทย

นอกจากนี้ โมซัมบิกยังมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,700 กม. จึงเป็นแหล่งประมงนอกน่านน้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในบริเวณช่องแคบโมซัมบิก เมื่อปี 2545 เอกชนไทยเคยได้รับสัมปทานทำประมงปลาและกุ้ง แต่ต่อมา ต้องถอนเรือประมงออกไป เพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดและเอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นและโปรตุเกส ซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย อย่างไรก็ดี เอกชนไทยยังสนใจในอุตสาหกรรมประมง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่งและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป-แช่แข็ง

การท่องเที่ยว

ในปี 2553 มีชาวโมซัมบิกเดินทางมาไทยจำนวน 655 คน โดยคนโมซัมบิกส่วนใหญ่ที่เดินทางมาติดต่อธุรกิจในไทยและมักสั่งซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสิ่งทอ เช่นเดียวกับคนแอฟริกาในประเทศอื่น เนื่องจากทราบว่าสินค้าไทยประเภทนี้ราคาถูกและมีคุณภาพ และมีคนไทยอยู่ในโมซัมบิกจำนวน 20-30 คน ซึ่งเข้าไปขุดพลอยที่เมือง Nampura ทางตอนเหนือของโมซัมบิก

ความร่วมมือทางวิชาการ

รัฐบาลไทยให้ทุนฝึกอบรมตามโครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) แก่โมซัมบิก ในหลายสาขา อาทิ การท่องเที่ยว การบริหารจัดการชายฝั่งทะเล การเกษตรแบบยั่งยืน และสาธารณสุข โดยในปี 2552 โมซัมบิกส่งผู้แทนเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตร Tourism Management ด้วย

ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย

ความตกลงที่ลงนามแล้ว

-

ความตกลงที่อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำ

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ

- พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-โมซัมบิก

- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง

- เดือนมีนาคม 2544 นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะผู้แทนการค้าไทย พร้อมทั้งผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนโมซัมบิกเพื่อสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุน

ฝ่ายโมซัมบิก

ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี

- วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2535 นายมาริโอ ดา กราคา มาชุงโก (Mario da Graca Machungo) นายกรัฐมนตรีโมซัมบิกเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

- วันที่ 15-17 มีนาคม 2549 นางอัลซิลดา อันโตนิโอ เด อาบริว (Alcinda Antonio de Abreu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือโมซัมบิก เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นายโจเซ่ มาเตอุส คาทูพา (Jose Mateus Katupha) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภา และเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union – IPU) ครั้งที่122 ที่กรุงเทพฯ

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ