สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย

สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 26,025 view


สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย
The Great Socialist People’s Libyan Arab Jamahiriya

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เหนือสุดของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศตะวันตกติดกับตูนิเซียและแอลจีเรีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับไนเจอร์
ทิศใต้ติดกับชาดและซูดาน และทิศตะวันออกติดกับอียิปต์

พื้นที่ 1,759,540 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงตริโปลี (Tripoli)

ประชากร 6.3 ล้านคน (ปี 2551)

ภูมิอากาศ โดยทั่วไปมีอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย อุณหภูมิเฉลี่ย 20-30 องศาเซลเซียส ด้านเหนือสุดมีอากาศเย็นคล้ายคลึงกับภูมิภาคแถบทะเลเมดิเตอร์-เรเนียน ขณะที่บริเวณตอนกลางด้านในประเทศมีอากาศร้อนแบบทะเลทราย

ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ มีการใช้ภาษาต่างประเทศ ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ในเมืองใหญ่ต่างๆ ด้วย

ศาสนา ร้อยละ 97 ของประชากร นับถือศาสนาอิสลาม ฝ่ายสุหนี่
สำนักมาลิกี นอกนั้น นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก และนิกายอื่นๆ

หน่วยเงินตรา ลิเบียดินาร์ (LYD) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1.21 ดีนาร์ หรือ 1 ลิเบียดินาร์ เท่ากับ 27.25 บาท (ธันวาคม 2552)

ระบอบการปกครอง อำนาจนิยม พันเอกกัดดาฟี (Colonel Muammar Abu Minyar Al Gaddafi) มีสถานะเป็นผู้นำการปฏิวัติ (Revolutionary Leader) เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดในการปกครองประเทศ มีคณะกรรมการปฏิวัติ (Revolutionary Committee) และคณะมนตรีปฏิวัติ (Revolutionary Command Council) เป็นกลไกช่วยในการกำหนดนโยบาย มีสภาประชาชน (National General People’s Congress) ทำหน้าที่ด้าน
นิติบัญญัติ และเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิก National General People’s Committee (คณะรัฐมนตรี) ทำหน้าที่ด้านการบริหารราชการ

 

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง
1.1 ลิเบียอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เคยอยู่ภายใต้กรีก อาณาจักรโรมัน อาณาจักรไบแซนไตน์ อาณาจักรออตโตมาน และท้ายสุด ตั้งแต่ปี 2454 ลิเบียอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติจึงได้มีข้อมติให้ลิเบียได้รับเอกราชจากอิตาลี ทั้งนี้ กษัตริย์ Idris ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อต้านการปกครองของอิตาลี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้นำในการเจรจาจนนำไปสู่การประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2494 ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ และต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2512 กลุ่มนายทหารนำโดยพันเอกกัดดาฟี ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากกษัตริย์ Idris และขึ้นเป็นผู้นำประเทศสืบมาจนปัจจุบัน
1.2 นับแต่พันเอกกัดดาฟี ขึ้นปกครองประเทศ ได้ดำเนินนโยบายตามแนวทางการเมืองของตน ซึ่งเรียกว่า ทฤษฎีสากลที่ 3 (Third Universal Theory) อันเป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางสังคมนิยมกับแนวคิดของศาสนาอิสลาม รวมทั้งดำเนินแนวทางต่อต้านชาติตะวันตก เช่น การปิดสำนักงานของสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรในลิเบีย การผลักดันให้สหรัฐฯ และอังกฤษถอนทหารที่ประจำอยู่ในลิเบียออกนอกประเทศ และการเวนคืนกิจการน้ำมันของชาติตะวันตก เป็นต้น ขณะเดียวกัน ลิเบียได้ขยาย ความร่วมมือกับสหภาพโซเวียต ในด้านการเมือง การทหาร และการซื้ออาวุธ
1.3 ลิเบียเคยถูกเพ่งเล็งว่าให้การสนับสนุนการก่อการร้าย โดยเฉพาะแก่กลุ่มต่างๆ ของปาเลสไตน์ เมื่อปี 2512 สหรัฐอเมริกา ได้บรรจุลิเบียไว้ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย (state sponsor of terrorism) ทั้งนี้ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่สำคัญซึ่งลิเบียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ การก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มปาเลสไตน์ที่กรุงโรมและกรุงเวียนนาเมื่อปี 2528 และการก่อวินาศกรรมสถานบันเทิง La Belle ที่กรุงเบอร์ลินเมื่อปี 2529 เป็นผลให้สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและทางทหารกดดันลิเบียให้ยุติการสนับสนุนการก่อการร้าย และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้สั่งการให้กองเรือรบสหรัฐอเมริกา เข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนเกิดการปะทะกับฝ่ายลิเบีย 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและเมษายน 2529 พร้อมทั้งได้ส่งเครื่องบินรบเข้าทิ้งระเบิดกรุงตริโปลี และเมืองเบงกาซีด้วย
ลิเบียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมเครื่องบิน 2 ครั้ง ได้แก่ การวางระเบิดเครื่องบิน Pan Am เที่ยวบินที่ 103 เหนือเมือง Lockerbie ของสก็อตแลนด์ในปี 2531 และการวางระเบิดสายการบิน UTA เที่ยวบินที่ 772 ของฝรั่งเศสที่ไนเจอร์ในปี 2532 แต่ลิเบียปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้ต้องสงสัยชาวลิเบียให้แก่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ทำให้ต่อมาในปี 2535 และ 2536 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 748 (1992) และ 883 (1993) คว่ำบาตรลิเบีย ซึ่งมีมาตรการต่างๆ รวมทั้ง การอายัดทรัพย์ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจของลิเบียในต่างประเทศ การห้ามการขายเครื่องบินและยุทธภัณฑ์แก่ลิเบีย การห้ามส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ในการขนส่งและกลั่นน้ำมันแก่ลิเบีย และการเรียกร้องให้นานาประเทศลดระดับและจำนวนผู้แทนทางการทูตในลิเบีย ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น ได้ออกกฎหมาย Iran-Libya Sanctions Act หรือ D’ Amato Act ในปี 2539 ห้ามบริษัทต่างประเทศลงทุนในภาคน้ำมันในลิเบียในโครงการมูลค่าเกิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ลิเบียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และหันไปใช้แนวทางโดดเดี่ยวตนเองจากประชาคมระหว่างประเทศ
1.3 ลิเบียเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการเมืองของตนในปี 2546 โดยได้ยินยอมมอบตัวนาย Abdelbaset Ali Mohamed al-Megrahi และนาย Al Amin Khalifa Fhimah ผู้ต้องสงสัยชาวลิเบียในคดี Lockerbie ไปขึ้นศาลที่เนเธอร์แลนด์ และเมื่อศาลได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนาย Megrahi แล้ว (นาย Fhimah ถูกตัดสินให้พ้นผิด) ลิเบียได้แสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเงินสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ลิเบียเริ่มได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมากขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรลิเบียเมื่อเดือนกันยายน 2546 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 พันเอกกัดดาฟี ได้ประกาศยุติโครงการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction - WMD) และประกาศจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) และอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention) พร้อมทั้งยินดีที่จะให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) เข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งการประกาศต่อต้านการก่อการร้ายและให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้หลายประเทศในยุโรปรวมทั้งอิตาลีและสหราชอาณาจักรหันไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับลิเบีย ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้มาตรการตามกฎหมาย D’ Amato Act ต่อลิเบียในปี 2547 และถอนชื่อลิเบียออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 สหรัฐฯ ได้ยกระดับสำนักงานประสานงาน (Liasison Office) ของสหรัฐฯ ในลิเบีย ขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ขณะที่ลิเบียก็ได้ยกระดับสำนักงานประสานงานของตนในกรุงวอชิงตันขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2549 นอกจากนี้ พันเอกกัดดาฟี ยังได้เดินทางเยือนฝรั่งเศสและสเปน เมื่อเดือนธันวาคม 2550 และนาย Abdulrahman Shalgam รัฐมนตรีต่างประเทศลิเบีย เดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2551 ซึ่งถือเป็นการเยือนสเปนและสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษของบุคคลระดับสูงของลิเบีย

2. เศรษฐกิจ

2.1 ลิเบียเป็นประเทศที่นับได้ว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกาเหนือ เศรษฐกิจของลิเบียขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน ได้แก่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในปี 2549 มีปริมาณการผลิตน้ำมันวันละ 1.72 ล้านบาร์เรล (ลิเบียตั้งเป้าหมายจะผลิตน้ำมันให้ได้วันละ 3 ล้านบาร์เรลภายในปี 2553) การส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 95 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของ GDP เศรษฐกิจภาคพลังงานมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะหลังจากที่สหประชาชาติได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อลิเบียในปี 2546 และหลังจากที่สหรัฐอเมริกายกเลิกการคว่ำบาตรต่อลิเบียในปี 2547 บริษัทน้ำมันต่างประเทศ เช่น บริษัท Occidental กลุ่มบริษัท OASIS ของสหรัฐอเมริกา บริษัท BP ของสหราชอาณาจักร บริษัท RWE-Dea ของเยอรมนี บริษัท Repsol ของสเปน และ Royal Dutch Shell ของเนเธอร์แลนด์ ได้เข้าไปรับสัมปทานการสำรวจและผลิตน้ำมันในลิเบีย และล่าสุดบริษัท Eni ของอิตาลี ได้ลงนามในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับ National Oil Cooperation (NOC) ของลิเบีย มูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค. 2550 นอกจากนี้ ลิเบียยังต้องการให้บริษัทต่างประเทศเข้าไปลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ และการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ด้านนี้ ได้แก่ Western Libya Gas Project มูลค่าการลงทุน 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร่วมลงทุนกับบริษัท Eni ของอิตาลี ทั้งนี้ บริษัท ปตท. สผ. (มหาชน) จำกัด ได้เข้าแข่งขันการประกวดราคาเพื่อขอรับสัมปทานแปลงสำรวจในลิเบียด้วย แต่ไม่ชนะการประกวดราคา
2.2 นับแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ลิเบียได้พยายามใช้แผนการพัฒนาที่มุ่งขยายฐานทางเศรษฐกิจ (diversification) เพื่อลดการพึ่งพาภาคน้ำมัน รวมทั้งส่งเสริมภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิต (manufacturing) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ปัจจุบันลิเบียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ
2.3 นับแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลมีรายได้จากภาคน้ำมันมากขึ้น ได้ให้ความสนใจการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ น้อยลง และมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infrastructure) นอกจากนั้นยังมีนโยบายส่งเสริมระบบตลาดเสรี โดยมีแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งนี้ โครงการด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันได้แก่ โครงการแม่น้ำเทียม (Great Man-made River Project) ความยาว 3,000 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากแอ่งน้ำจากภาคใต้ของประเทศไปยังแหล่งเกษตรกรรมในภาคเหนือ โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 ขณะนี้ใช้งบประมาณดำเนินการแล้ว 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ลิเบียยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมหนัก การผลิตกระแสไฟฟ้าและการกลั่นน้ำจากน้ำทะเล (Desalination) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งลิเบียมีศักยภาพที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี การท่องเที่ยวทางทะเลและทะเลทราย
2.4 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ลิเบียได้สมัครเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และได้เริ่มปรับปรุงกฎและระเบียบทางเศรษฐกิจ การค้า ตามหลักเกณฑ์ของ WTO เช่น มาตรการด้านภาษี และการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทั้งมีแนวนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทและส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

3. นโยบายต่างประเทศ

นโยบายพื้นฐานด้านต่างประเทศของลิเบีย ได้แก่ การเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับ ประเทศแอฟริกา การต่อต้านอิสราเอล และการส่งเสริมความเข้มแข็งของโลกอิสลามตามแนวทางของพันเอกกัดดาฟี จุดเน้นในการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน ได้แก่
3.1 การคืนดีและประนีประนอมกับประเทศตะวันตก รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ สหราชอาณาจักร โดยในช่วงที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญหลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2547 นาย Tony Blair นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้เดินทางเยือนลิเบีย และเมื่อวันที่ 27–28เมษายน 2547 พันเอกกัดดาฟี ได้เดินทางเยือนเบลเยียม และสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 นาย William Burns รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนลิเบีย นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนลิเบียในรอบ 30 ปี ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือน ได้มีการเปิดสำนักงานประสานงาน (Liaison Office) ของสหรัฐฯ ด้วย และต่อมาสหรัฐฯ ได้ถอนชื่อลิเบียออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย
3.2 การแสวงหามิตรประเทศเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน หลายประเทศตระหนักในศักยภาพของลิเบียในด้านพลังงานและได้เข้าไปลงทุนในด้านนี้ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา และจีน ขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี อินเดีย อิตาลี เกาหลีใต้ และตุรกี เข้าไปลงทุนในด้านการก่อสร้าง
3.3 การรักษาบทบาทในโลกอาหรับ โดยเฉพาะการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ แม้ว่าที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างลิเบียกับประเทศอาหรับต่างๆ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร จากการที่ลิเบียเห็นว่า กลุ่มประเทศอาหรับไม่ได้ให้การสนับสนุนในช่วงที่ลิเบียถูกสหประชาชาติคว่ำบาตร โดยลิเบียเคยประกาศจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States) ด้วย
3.4 นโยบายมุ่งแอฟริกา โดยความรู้สึกผิดหวังต่อโลกอาหรับได้ทำให้ลิเบียหันไปให้ความสำคัญต่อกลุ่มประเทศแอฟริกาและสหภาพแอฟริกา (African Union - AU) มากขึ้น ทั้งนี้ พันเอกกัดดาฟี ได้เคยเสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้ง ‘สหรัฐแอฟริกา’ (United States of Africa) ด้วย แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ และไนจีเรีย
3.5 ในระดับพหุภาคี ลิเบียเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference – OIC) สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) สหภาพอาหรับมาเกร็บ (Arab Maghreb Union) และองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries - OPEC)
ทั้งนี้ ลิเบียยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของสหประชาชาติ (UNSC) วาระปี 2551-2552 ด้วย (ไทยให้การสนับสนุนการลงสมัครตำแหน่งดังกล่าวของลิเบีย)

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจโดยทัวไป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 75.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 16,407 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.9 (ปี 2551)

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

1.1 ความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมือง
ลิเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2520 และได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำลิเบีย เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2552 โดยให้มีเขตอาณาครอบคลุมไนเจอร์ ชาด และตูนีเซีย เอกอัครราชทูตไทยประจำลิเบียคนปัจจุบัน คือ นายโอภาส จันทรทรัพย์ ขณะที่ฝ่ายลิเบียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตประจำฟิลิปปินส์เป็นผู้แทนที่มีถิ่นพำนักประจำประเทศไทย

1.2 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การค้าไทย-ลิเบีย มีแนวโน้มเติบโตและขยายตัว ในปี 2551 การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ารวม 329.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณร้อยละ 17.8 ไทยเป็นฝ่ายส่งออกรวมมูลค่า 312.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ารวมมูลค่าประมาณ 16.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากลิเบีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ในด้านพลังงาน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมประกวดราคาขอรับสัมปทานแปลงสำรวจและผลิตน้ำมันในลิเบียแล้ว 4 ครั้ง ระหว่างปี 2547-2550 ซึ่งแม้ไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ก็ยังสนใจที่จะร่วมประกวดราคาในโอกาสต่อไป
ในด้านแรงงาน ปัจจุบันมีคนงานไทยในลิเบียประมาณ 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานประเภทช่างฝีมือและกึ่งฝีมือทำงานในโครงการแม่น้ำเทียม (Great Man-made River-GMR) งานก่อสร้าง และโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ทั้งนี้ บริษัทนายจ้างในลิเบียมีแนวโน้มต้องการคนงานไทยเพิ่มขึ้น
1.3 ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ลิเบียได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ และให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารลิเบียเป็นที่ทำการของมูลนิธิดังกล่าว และใช้เป็นอาคารเรียนสำหรับเยาวชนไทยมุสลิมด้วย

2. การเยือนที่สำคัญ

2.1 ฝ่ายไทย
รัฐบาล
พลเอกสนธิ บุญญารัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี
- เดินทางเยือนลิเบียอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมกราคม 2551 และได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Saif Al Islam Muammar Al Gaddafi ประธานมูลนิธิกัดดาฟีเพื่อการพัฒนา (Gaddafi Development Foundation)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี
- นำคณะผู้แทนไทย (ประกอบด้วยเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและภาคเอกชน) เดินทางเยือนลิเบีย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย โดยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของลิเบีย นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยอิสลาม พบปะนักศึกษาไทยมุสลิม 16 คน และเยี่ยมชมโครงการสร้างแม่น้ำเทียมของลิเบีย เมื่อวันที่ 18 – 20 มิถุนายน 2547
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดินทางเยือนลิเบีย และได้เข้าเยี่ยมคารวะพันเอกกัดดาฟี เมื่อวันที่ 26 – 29 พฤษภาคม 2542

2.2 ฝ่ายลิเบีย
รัฐบาล
นาย Saif Al Islam Muammar Al Gaddafi ประธานมูลนิธิกัดดาฟีเพื่อการพัฒนา (Gaddafi Development Foundation)
- เดินทางเยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 – 12 ธันวาคม 2550 โดยได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เข้าพบนายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายพระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมทั้งเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เยี่ยมชมมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สวนเสือ วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จังหวัดกาญจนบุรี และนายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแก่นาย Saif ด้วย
นาย Salem Ali Salem Dannah ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิเบีย
- เดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 7 – 10 พฤศจิกายน 2549
นาย Salem I. Salem รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิเบีย
- เดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2540
นายโมฮัมเหม็ด เชอรีฟ (Mohamed Sheriff) เลขาธิการ World Islamic Call Society (เทียบเท่ารัฐมนตรี)
- เดินทางเยือนไทยในฐานะผู้แทนพิเศษของพันเอกกัดดาฟี เพื่อแสดงความขอบคุณฝ่ายไทยที่ได้ออกเสียงสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประณามสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อลิเบียเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน 2529 และได้พบหารือกับนายอรุณ ภาณุพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 – 20 เมษายน 2529

***********************************

ธันวาคม 2552

กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2061 E-mail : [email protected]