สาธารณรัฐกินี

สาธารณรัฐกินี

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,324 view


สาธารณรัฐกินี
Republic of Guinea

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับกินีบิสเซา เซเนกัล และมาลี ทิศตะวันออกติดกับมาลี และโกตดิวัวร์  ทิศใต้ติดกับไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก

พื้นที่ 245,857 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงโกนากรี (Conakry)

ประชากร 11.2 ล้านคน (ปี 2555) ประกอบด้วยชนเผ่า Peuhl ร้อยละ 40  Malinke ร้อยละ 30 Soussou ร้อยละ 20  และชนเผ่าเล็กอื่น ๆ อีกร้อยละ 10

ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้นทางภาคใต้ของประเทศ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ตุลาคม อุณหภูมิประมาณ 22-30 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เมษายน ส่วนทางภาคเหนือของประเทศอากาศเย็นและแห้ง

ภาษาราชการ ภาษาฝรั่งเศส

ศาสนา อิสลามร้อยละ 85 คริสต์ร้อยละ 8  และความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 7

หน่วยเงินตรา ฟรังก์กินี (Guinean Francs - GNF) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 227.71 ฟรังก์กินี(ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 437.95 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้ต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายอาลฟา กงเด (Alpha Condé) (ดำรงตำแหน่งภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย โมฮัมเหม็ด ซาอิด โฟฟานา (Mohamed Said Fofana) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

กินีปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้ต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว โดยสภาได้ถูกยุบโดยผู้นำรัฐประหารของร้อยเอกมูสซา ดาดิส คามารา (Capt. Moussa Dadis Camara) เมื่อเดือนธันวาคม 2551 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลรักษาการได้แต่งตั้งคณะกรรมการรักษาการแห่งชาติ (National Transition Council – CNT) ซึ่งมีผู้แทน 155 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภา (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545  และได้มีกำหนดเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 แต่ปัจจุบันยังเลื่อนการเลือกตั้งสภาออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องคณะกรรมาธิการตรวจสอบการเลือกตั้งชุดปัจจุบันและรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ

ฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนกินีเป็นอาณานิคมในปี 2433 (ค.ศ.1890) โดยปกครองจากกรุงดาการ์ (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของเซเนกัล) และแต่งตั้งนายโนเอล บัลลีย์ (Noël Balley) เป็นผู้ปกครองดินแดนคนแรก ในปี 2438 (ค.ศ.1895) กินีได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ French West Africa ซึ่งเป็นสมาพันธ์ประเทศอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก ต่อมาในเดือนกันยายน 2501 ประธานาธิบดีชารล์ส เดอ กัลล์ (Charles de Gaulle) ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ (referendum) เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการก่อตั้งรูปแบบการปกครองใหม่ (the Fifth Republic) และในขณะเดียวกัน ได้ให้โอกาสประเทศอาณานิคม (ยกเว้นแอลจีเรีย) เลือกสถานะด้วย ซึ่งในขณะนั้น พรรค Parti démocratique de Guinée (PDG) ซึ่งก่อตั้งโดยนายอาเมท เซกู ทูเร (Ahmed Séku Touré) ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาแห่งดินแดนของกินี มีมติปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประชาคมแอฟริกาของฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากกินีและระงับความช่วยเหลือต่าง ๆ  กินีได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2501    

นายทูเร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก มีนโยบายเอนเอียงเข้าหากลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ตลอดจนจัดการปกครองประเทศตามแนวลัทธิมาร์กซ์ และปกครองแบบเผด็จการจนกระทั่งเสียชีวิตอย่างกระทันหันในปี 2527 สิ้นสุดการปกครองอันยาวนานกว่า 26 ปี คณะทหารนำโดยพลเอกลันซานา คอนเต (Lansana Conté) จึงเข้ายึดอำนาจและเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเมืองยังคงอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของคณะทหาร

ในปี 2534 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีสาระให้เปิดเสรีทางการเมืองและอนุญาตให้มีระบบหลายพรรคการเมือง รวมทั้งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ออกจากกันให้เด่นชัด และกำหนดให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด โดยจัดให้มีการลงคะแนนเสียง 2 รอบ ปัจจุบัน กินีมีพรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนทั้งหมด 65 พรรค

นายคอนเตได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2536 และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องในปี 2541 และในปี 2546 ตามลำดับ โดยในปี 2546 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งจากเดิม 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปีด้วย นอกจากนี้ พรรค Party for Unity and Progress (PUP) ของประธานาธิบดีคอนเต ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง

การปกครองแบบรวบอำนาจในกินีส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2550 หลังจากสหพันธ์แรงงานใหญ่ในกินีได้เรียกร้องให้มีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีคอนเต โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงกับตำรวจ ส่งผลให้เกิดการจลาจลต่อเนื่องโดยรัฐบาลไม่อาจควบคุมสถานการณ์ ซึ่งในที่สุดประธานาธิบดีคอนเต ต้องยินยอมตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเข้ามาทำหน้าที่บริหารแทน อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนาย Ahmed Tidiane Souaré เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ถูกมองว่าเป็นการให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จกับประธานาธิบดีอีกครั้ง เนื่องจากนาย Souaré เป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาและสนิทสนมกับประธานาธิบดีคอนเตเป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ประธานาธิบดีคอนเตเสียชีวิตลงเนื่องจากปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังมาหลายปี เป็นโอกาสให้กองทัพกินีนำโดยร้อยเอกมูสซา ดาดิส คามาร่า (Moussa Dadis Camara) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ประกาศยุบสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญและสถาบันสำคัญของรัฐ และตั้งสภาแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา (National Council for Democracy and Development) ขึ้นแทน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งฝังรากมาตลอด 25 ปี ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีคอนเต  ร้อยเอกคามาร่าขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมประกาศจะคืนอำนาจสู่ประชาชนเพื่อกลับคืนความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด และตนเองจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย

การทำรัฐประหารในครั้งนี้แม้ว่าจะมีความตึงเครียดแต่ถือได้ว่าเป็นไปอย่างสงบและในช่วงแรกไม่ปรากฏข่าวการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวกันสนับสนุนการรัฐประหารตามท้องถนนในกรุงโกนากรี รอบทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทำรัฐประหาร ประชาคมระหว่างประเทศได้ออกมาประณามการยึดอำนาจและกดดันให้ประธานาธิบดีคามาร่าคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลกินีได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยประกาศจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 11 ตุลาคม 2552 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 13 ธันวาคม 2552

ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ประธานาธิบดีคามาร่าได้ออกมาประกาศว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา จะมีขึ้นวันที่ 31 มกราคม 2553 และในเดือนมีนาคม 2553 ตามลำดับ และตนจะลงสมัครด้วย เป็นผลให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้ที่เคยสนับสนุนและฝ่ายค้าน จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งในกรุงโกนากรี กองกำลังรักษาความสงบของรัฐบาลได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 160 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกกว่า 1,600 ราย

จากการใช้ความรุนแรงกับประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทำให้หลายฝ่ายออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของกินีอย่างหนัก สหภาพแอฟริกา (AU) ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีคามาร่าลาออก ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) และสหภาพยุโรป (EU) ประกาศระงับการค้าอาวุธกับกินี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ AU  EU และสหรัฐฯ ได้มีมาตรการลงโทษผู้นำกินีและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม อาทิ การห้ามเดินทางและการอายัดบัญชีธนาคาร องค์การสหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งได้พบว่าหน่วยงานความมั่นคงของกินีได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และศาลอาญาระหว่างประเทศได้แสดงเจตนาทำการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 28 กันยายน 2552

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีคามาร่า โดยนายอบูบาคาร์ ทูมบา เดียคิเต (Aboubacar Toumba Diakite) ซึ่งเป็นทหารคนสนิท เป็นผลให้ประธานาธิบดีคามาร่าได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณศรีษะ และเข้ารับการรักษาที่ประเทศโมร็อกโกอย่างเร่งด่วน ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายเดียคิเต ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีการจับกุม ออกมาเปิดเผยว่า สาเหตุที่ลอบสังหารนายคามาร่า เนื่องจากตนกลัวว่าจะตกเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนกันยายน 2552  

เมื่ออาการพ้นขีดอันตรายแล้ว ประธานาธิบดีคามาร่าจึงได้เดินทางมาพักรักษาตัวต่อที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ โดยได้รับความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีบราอิเซ คอมปาโอเล (Blaise Compaoré) แห่งบูร์กินาฟาโซจากนั้น ได้แต่งตั้งนายเซคูบา โคนาเต (Sékouba Konaté) ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี           

รักษาการ และได้แต่งตั้งนายชอง-มารี ดอเร่ (Jean-Marie Dore) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

นายโคนาเต ประกาศว่า รัฐบาลชั่วคราวจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2553 และต่อมาได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553

นายอาลฟา กงเด (Alpha Condé) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 จากการเลือกตั้งซึ่งได้รับการยอมรับว่ามาจากกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศกินี โดยได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 52.5

เศรษฐกิจและสังคม

กินีเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะบอกไซต์ ซึ่งมีปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของโลกและเป็นผู้ผลิตแร่บอกไซต์รายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีทองคำ เพชร ยูเรเนียม แร่ธาตุอื่น ๆ และปิโตรเลียม  นับแต่ปี 2547 ความต้องการแร่ธาตุและราคาซื้อขายในตลาดโลกได้ส่งผลให้กินีมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และภาคเหมืองแร่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออก  อนึ่ง ปัจจุบันกินียังไม่สามารถนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ และมีบริษัทของสหรัฐฯ เพียงบริษัทเดียวที่ได้เข้าไปสำรวจปิโตรเลียมในกินี

ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจของกินี โดยประชากรกว่าร้อยละ 76 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมยังคงมีมูลค่าเพียงร้อยละ 16.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  โดยที่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นภาคการผลิตและส่งออกหลักของกินี

แม้ว่ากินีจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การคอรัปชั่นสูง ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การขาดแรงงานมีฝีมือ ประกอบกับสถานการณ์การสู้รบในกินีบิสเซา เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ซึ่งส่งผลให้มีการอพยพของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในกินี   กินียังถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่ล้มเหลว (failed states) อย่างไรก็ตาม กีนีเริ่มพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เพื่อรื้อฟื้นโครงการพัฒนาและความช่วยเหลือเพื่อการปลดหนี้ ที่เคยถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2546

เมื่อเดือนกันยายน 2554 รัฐบาลกินีได้เริ่มใช้กฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่อต้านการคอรัปชั่น รักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง กำหนดให้มีการทบทวนสัญญาสัมปทานทั้งหมด และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และธรณีวิทยา ได้ประกาศทบทวนสัมปทานของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลก่อน โดยจะตรวจสอบสัญญาที่อาจได้รับการลงนามภายใต้เงื่อนไขที่ไม่โปร่งใสและไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศกินี ทั้งนี้ เพื่อให้กินีได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากที่สุดจากการให้สัมปทานเหมืองแร่  อนึ่ง กฎหมายฉบับใหม่นี้ มีเงื่อนไขข้อบังคับต่าง ๆ เช่น การที่รัฐมีสิทธิได้หุ้นฟรีร้อยละ 15 ของบริษัทที่ลงทุนและรัฐสามารถซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 20  การที่บริษัทต่างชาติต้องนำเงินเข้าไปลงทุนอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนที่จะได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่

นโยบายต่างประเทศ

กินีสถาปนาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและเยอรมนีในปี 2518 และกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ โกตดิวัวร์และเซเนกัลในปี 2521 ความสัมพันธ์ระหว่างกินีและนานาประเทศมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2528 แต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 และเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมองกินีไปในทางลบ  สหภาพแอฟริกา (African Union – AU) และประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States – ECOWAS) ได้ประณามการทำรัฐประหารและระงับความเป็นสมาชิกของกินีในแต่ละองค์กร นอกจากนั้น อีกหลายประเทศรวมถึงไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ได้ประณามการทำรัฐประหาร และได้ส่งผลให้โครงการความช่วยเหลือทวิภาคีหลายโครงการถูกระงับภายหลังการทำรัฐประหารและเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552  อนึ่ง ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีกินีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ประเทศคู่ค้าเดิมเกือบทั้งหมดของกินีได้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ปกติกับกินี และกินีได้รับการยอมรับให้กลับมาเป็นสมาชิก AU และ ECOWAS อีกครั้ง

กินีมีบทบาทที่แข็งขันต่อการรวมกลุ่มและความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน AU และ ECOWAS กินีให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพิจารณาหารือและการตัดสินใจของแต่ละองค์กร นอกจากนี้ กินียังได้มีบทบาทสำคัญทั้งทางการทูตและการทหารในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินีบิสเซา

กินีประสบปัญหาการอพยพเข้ามาของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน นับแต่ปี 2543 มีจำนวนผู้อพยพจากเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย กินีบิสเซา และโกตดิวัวร์ เข้ามาในกินีประมาณ 750,000 คน โดยกินีได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาแก้ปัญหานี้ ในปัจจุบัน กินียังมีผู้อพยพอยู่ประมาณ 19,000 คน

ตั้งแต่นายอาลฟา กงเด ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีกินี เมื่อปลายปี 2553 กินีพยายามหันมาหาประเทศที่มีการค้าแบบเสรี และประเทศแถบตะวันตกมากขึ้น และมีความพยายามเปิดประเทศเพื่อชักชวนให้นักธุรกิจไปลงทุนในกินี เนื่องจากกินีเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ปิโตรเลียม และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อนึ่ง การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ของประธานาธิบดีกินี ได้สะท้อน ให้เห็นถึงความประสงค์ของกินีที่ต้องการจะเปิดตัวต่อประชาคมโลกมากขึ้น

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต

ไทยและกินีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2526 (ค.ศ.1983) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมกินี ในขณะที่กินีมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกินีประจำประเทศมาเลเซียมีเขตอาณาครอบคลุมไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกินีประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบัน คือ นายโมฮาเหม็ด แซมพิล (Mohamed Sampil) ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2551 นอกจากนี้ สาธารณรัฐกินีได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์กินีประจำประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน กำลังอยู่ในระหว่างการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์คนใหม่ (แทนนายสมาน ไกรคุ้ม ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์กินีประจำประเทศไทยตั้งแต่ปี 2541)

ความสัมพันธ์ทวิภาคีโดยทั่วไปราบรื่น แต่ไม่ใกล้ชิดนัก เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกันและการแลกเปลี่ยนการเยือนยังมีน้อย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในกินีเมื่อเดือนมกราคม ปี 2550 ทำให้ฝ่ายไทยมีความจำเป็นต้องอพยพคนงานไทยที่ประกอบอาชีพวิศวกรจำนวน 13 คน ที่ทำงานกับบริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่นในกินีกลับไทย

เศรษฐกิจ
การค้า
การค้าระหว่างไทยกับกินีมีปริมาณไม่มาก ที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับกินี ในปี 2554 มูลค่าการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 31.71  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปกินีมูลค่า 30.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากกินีมูลค่า 1.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 28.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปกินี ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ นมและผลิตภัณฑ์นม หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกินี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

การท่องเที่ยว
ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวชาวกินีเดินทางมาไทย 3,107 คน และมีคนไทยอยู่ในกินี 2 คน

ความร่วมมือทางวิชาการ
ไทยจัดให้กินีเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการ Annual International Training Course (AITC) ของไทย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาฝึกอบรม และดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ
กินีให้เสียงสนับสนุนไทยในการสมัครสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) สำหรับวาระปี ค.ศ. 2017-2018

กินีให้เสียงสนับสนุนไทยในการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) สำหรับวาระปี ค.ศ. 2015-2017

ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ความตกลงที่ลงนามไปแล้ว
บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐกินีว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (ลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555)

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและชาวกินีในต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐกินี (ลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555)

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
ไม่มี

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
ไม่มีการเยือนระหว่างกัน

ฝ่ายกินี
ประธานาธิบดี / คณะรัฐมนตรี
- เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 นาย Alexandre Cece Loua รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกินี เคยทาบทามการเยือนไทย หลังการประชุม World Ocean Conference ในวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 ที่อินโดนีเซีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และชี้แจงสถานการณ์การเมืองในกินี แต่ฝ่ายกินีได้ขอยกเลิกการเยือนไทยรวมทั้งการประชุมที่อินโดนีเซียเนื่องจากติดภารกิจภายในประเทศ

- วันที่ 24-26 มิถุนายน 2555 นายอาลฟา กงเด (Alpha Condé) ประธานาธิบดีกินีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

กันยายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ