สาธารณรัฐกาบอง

สาธารณรัฐกาบอง

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,299 view


สาธารณรัฐกาบอง
Gabonese Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก มีอาณาเขต
ทิศเหนือติดกับอิเควทอเรียลกินีและแคเมอรูน
ทิศตะวันออกและ ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐคองโก
ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 267,667 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงลีเบรอวิล (Libreville)
เมืองสำคัญอื่น ๆ เมือง Port-Gentil ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เมือง Franceville และเมือง Moande ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำ เหมืองแร่
ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิสูงและฝนตกชุก มีฤดูแล้งยาวนานตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนกันยายน หลังจากนั้นเป็นฤดูฝนช่วงสั้น ๆ และจะเป็นฤดูแล้งอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นฤดูฝนอีกครั้งฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 2,510 มิลลิเมตรต่อปี
จำนวนประชากร 1,485,832 คน (กรกฏาคม 2551)
เชื้อชาติ ได้แก่ เผ่า Bantu เผ่าต่าง ๆ ที่สำคัญ 4 เผ่า คือ Fang Eshira Bapounou และ Bateke นอกจากนี้ มีชาวอัฟริกันอื่น ๆ และชาว ยุโรปประมาณ 154,000 คน ซึ่งรวมทั้งชาวฝรั่งเศส 10,700 คน และมีผู้ถือสองสัญชาติ 11,000 คน
ศาสนา ประชากรร้อยละ 55 ถึง 75 นับถือศาสนาคริสต์
ประชากรที่เหลือ ส่วนใหญ่นับถือความเชื่อดั้งเดิม และ
มีผู้นับถือศาสนาอิสลามน้อยกว่าร้อยละ 1
ภาษา ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และมีภาษาถิ่นอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ Fang Myene Bateke Bapounou Eshira และ Bandjabi
หน่วยเงินตราเงินฟรังก์เซฟา (Communaute Financiere Africaine Franc) (XAF) อัตราแลกเปลี่ยน 481.83 เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14.6 ฟรังก์เซฟาเท่ากับ 1 บาท
ระบบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และเป็น
ผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ El Hadj Omar Bongo Ondimba ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2510 โดยรับเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 เป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 6
ประธานาธิบดี Mrs.Rose Francine Rogombe(รักษาการ)

 

 

 

 

 

การเมืองการปกครอง

นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน

1. การเมืองการปกครอง
1.1 กาบองมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ และเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลและเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยการหารือกับประธานาธิบดี
ในปี 2533 กาบองเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้มีระบบการเมืองหลายพรรค รัฐสภาของกาบองเป็นระบบสภาคู่ โดยสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 120 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไป และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี ในส่วนของวุฒิสภาจำนวน 91 ที่นั่ง (ตั้งขึ้นในปี 2538) เลือกจากสมาชิกสภาท้องถิ่น และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี
1.2 เดิมดินแดนกาบองเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์แอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส ในปี 2501 กาบองได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง และได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2504 โดยมีนาย Leon M’ba เป็นประธานาธิบดีคนแรก ในปี 2507 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้น แต่ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส
นาย Leon M’ba ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามเดิมจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2510
1.3 นาย Albert-Bernard Bongo (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Omar Bongo Ondimba) รองประธานาธิบดี ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้เข้ารับตำแหน่งแทน และจัดตั้งระบบการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว โดยมีพรรค Parti democratique gabonais (PDG) เป็นพรรครัฐบาล ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Bongo ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งซ้ำในปี 2516 ปี 2522 และปี 2529 โดยไม่มีคู่แข่ง
1.4 ในปี 2533 ภายใต้แรงกดดันจากกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ รัฐบาลกาบองได้จัดให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงเป็นระบบการเมืองแบบหลายพรรค อย่างไรก็ตาม พรรค PDG ของประธานาธิบดี ยังคงได้รับเสียงข้างมากในสภาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีขึ้นในปี 2536 นาย Bongo ยังคงได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับเลือกตั้งซ้ำในปี 2541
1.5 ในปี 2540 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มระยะเวลาให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งจากเดิมวาระละ 5 ปี เป็นวาระละ 7 ปี และมีการแต่งตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีขึ้นมาอีกครั้ง และในปี 2546 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งโดยยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งทำให้นาย Bongo มีสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2548 และชนะการเลือกตั้ง โดยนับเป็นการ
ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 6 และถือเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในแอฟริกา
1.6 ปัจจุบัน นาย Bongo เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ที่คลิกนิกแห่งหนึ่งในเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ในวัย 73 ปี โดยทางการกาบองได้ประกาศไว้อาลัยแก่การเสียชีวิตของนาย Bongo เป็นเวลา 30 วัน และกำหนดให้ประธานวุฒิสภานาง Rose Francine Rogombe ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีและจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน ในชั้นนี้ สถานการณ์ในกรุงลิเบรวิลล์ยังอยู่ในความสงบไม่เกิดเหตุวุ่นวายตามที่มีการคาดไว้แต่อย่างใด


2. เศรษฐกิจและสังคม
2.1 กาบองเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยเนื่องมาจากน้ำมัน โดยเศรษฐกิจของกาบองมีการพึ่งพารายได้ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมเป็นหลัก ในปี 2549 กาบองสามารถผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 39 ของโลก และช่วยให้กาบองมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงถึง 14,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจกาบองโดย เฉพาะระหว่างวิกฤตน้ำมันในช่วงปี 2523 และในปี 2541 อนึ่ง กาบองได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) ในปี 2538 เนื่องจากต้องการผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่ OPEC กำหนด ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจของกาบองดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น
2.2 แม้ว่ากาบองจะถือเป็นประเทศร่ำรวย แต่การลดค่าเงินฟรังก์เซฟาในปี 2537 ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขนาดหนักและทำให้กาบองต้องประสบปัญหาภาระหนี้สินระหว่างประเทศจำนวนมาก
ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยมีพันธะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ IMF ในการการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้า และเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้น้ำมัน เพื่อลดปัญหาการว่างงาน
2.3 นโยบายหลักของรัฐบาล คือการพยายามดำเนินการตามเงื่อนไขของ IMF เพื่อให้สามารถได้รับการสนับสนุน และหวังจะได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้จากกลุ่มประเทศ G7 นอกจากนี้ เนื่องจากมีการประเมินกันว่า การผลิตน้ำมันของกาบองจะหมดลงภายในปี 2555 หากไม่มีการสำรวจบ่อน้ำมันใหม่ ๆ รัฐบาลจึงได้พยายามพัฒนาการสำรวจน้ำมันเพิ่มเติมโดยการดึงดูดการลงทุนในสาขาพลังงาน โดยมีการปรับระบบกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อาทิ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบัน บริษัท Royal Dutch Shell และ Total เป็นสองบริษัทน้ำมันข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ดำเนินการในกาบอง
2.4 รัฐบาลได้พยายามลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับการภาคธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตแมงกานีส การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ การก่อสร้าง และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามคำแนะนำของ IMF อย่างไรก็ดี การส่งเสริมบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำมันในกาบองยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยธนาคารโลกได้จัดให้กาบองอยู่ในลำดับที่ 144 จาก 178 ของประเทศ ที่มีบรรยากาศเหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจัยหลักที่เป็นผลในการจัดลำดับดังกล่าว คือ กฎระเบียบภายในที่ยุ่งยาก อัตราค่าจ้างแรงงานสูงและการจดทะเบียนแรงงานที่เข้มงวด รวมทั้งการขาดประสิทธิภาพในการทำสัญญาและการประกันความเสี่ยงของนักลงทุน
2.5 กาบองประสบปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก อีกทั้ง สหประชาชาติได้จัดให้กาบองอยู่ในอันดับที่ 119 จาก 177 ประเทศ ที่มีดัชนีพัฒนาคน (Human Development Index-HDI) ต่ำที่สุด ซึ่งดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสาธารณสุขของกาบองยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อัตราโรงพยาบาลและแพทย์ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย โรคที่ระบาดมากได้แก่มาลาเรีย และเอดส์ ทั้งนี้ กาบองยังมีอัตราการแพร่กระจายของโรคเอดส์สูงถึงร้อยละ 7.9 (พ.ศ.2548) และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์กว่า 4,700 คน (พ.ศ. 2548)

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 ในอดีตกาบองดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเอนเอียงไปทางฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส โดยมีความร่วมมือทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ ในด้านการทหาร ฝรั่งเศสได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคมาให้การฝึกอบรมการใช้อาวุธสมัยใหม่ มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดทหารซึ่งสอนโดยทหารฝรั่งเศส ปัจจุบันยังมีกองกำลังทหารฝรั่งเศสประมาณ 3-4 พันคนประจำการอยู่เพื่อดูแลผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของกาบอง ซึ่งครอบคลุมถึงการไฟฟ้า ประปา ระบบคมนาคม และโทรคมนาคม
3.2 อย่างไรก็ดี กาบองได้พยายามลดการพึ่งพิงฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเดิม และขยายความสัมพันธ์กับมิตรประเทศอื่น ๆ อาทิ จีน บราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย เพื่อขอรับการช่วยเหลือด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและที่มิใช่น้ำมัน (oil and non-oil sectors) ของประเทศ ปัจจุบัน กาบองดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างกาบองกับจีนมีความแน่นแฟ้นมากขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2547 ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำ (State Visit) ของประเทศทั้งสอง ในระหว่างการเยือนกาบองอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีหูจินเท่าของจีน ได้มีการลงนามความตกลงระหว่าง China Petroleum and Chemical Corporation Refinery กับ Gabon and France’s Total Gabon ซึ่งจะรับประกันการส่งน้ำมันกาบองไปยังประเทศจีนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ มีรายงานว่า จีนกำลังก่อสร้างตึกรัฐสภาแห่งใหม่ ศูนย์มัลติมีเดีย และท่าเรือในกาบองอีกด้วย การเยือนดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญของจีนในฐานะหุ้นส่วนทางการค้าและการพัฒนาของกาบอง
3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างกาบองกับสหรัฐฯ มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีกาบองเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ (State Visit) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 และผู้บังคับบัญชาการทหารระดับสูงของสหรัฐฯ เยือนกาบองในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เพื่อหารือประเด็นความมั่นคง
น้ำมัน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกาบองในฐานะประเทศยุทธศาสตร์ในแอฟริกาตะวันตกของสหรัฐฯ
3.5 กาบองเป็นประเทศที่มีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สหประชาชาติ (UN) สหภาพแอฟริกา (AU) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) องค์การการประชุมอิสลาม (OIC) และประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกา (ECA) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2549 กาบองได้ร่วมกับองค์กรอาหารและยาแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการประชุมระดับอนุภูมิภาคเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในทวีปแอฟริกาตะวันตกขึ้นที่กรุงลีเบรอวิล ประเทศกาบอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความพยายามในการหยุดการแพร่ระบาดและหามาตรการป้องกันเชื้อไข้หวัดนกในแอฟริกาตะวันตก อนึ่ง นาย Jean Ping อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาบองได้รับตำแหน่งประธานสหภาพแอฟริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 (รัฐบาลกาบองได้ปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551)
3.6 ประธานาธิบดี Bongo ถือว่ามีความโดดเด่นบนเวทีระดับภูมิภาคโดยพยายามขยายบทบาทตนเองให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของแอฟริกา และภายหลังจากที่ได้สร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติขนาดใหญ่ขึ้น กาบองได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับภูมิภาคในหลายโอกาส นอกจากนี้ นาย Bongo ยังมีส่วนช่วยในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในแอฟริกาหลายกรณี อาทิ การสู้รบในโกตดิวัวร์ และการปะทะกันระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกับแอฟริกากลาง เป็นต้น
3.7 กาบองมีข้อพิพาททางดินแดนกับอิเควทอเรียลกินี โดยทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ 3 เกาะ คือ Mbanie Cocotier และ Conga ซึ่งเชื่อกันว่ามีน้ำมันอยู่มาก เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2549 ประธานาธิบดีกาบอง และประธานาธิบดีอิเควทอเรียลกินี ได้ตกลงที่จะจัดทำความตกลงเพื่อยุติข้อขัดแย้งการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว โดยมีนาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้ไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศยังไม่สิ้นสุด แม้กาบองจะเสนอให้มีการแบ่งสรรการใช้ทรัพยากรจากเกาะดังกล่าว ล่าสุด มีแนวโน้มว่าอาจมีการนำกรณีนี้ขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อพิจารณาตัดสินต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 11.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(2550)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 14,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.6 (ปี 2550)

 

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกาบอง

ความสัมพันธ์กับประเทสไทย
b>1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
ประเทศไทยกับกาบองได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2519 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมกาบอง และฝ่ายกาบองได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตกาบองประจำกรุงโซล มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน คือ นาย Jean-Pierre SOLE-EMANE กาบองได้แต่งตั้งให้นายทวีเกียรติ นาโคศิริ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์กาบองประจำประเทศไทย

1.2 ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งสองมีปริมาณไม่มากนัก และมีความผันผวนมากในแต่ละปี โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไทยเสียดุลการค้ากับกาบองมาโดยตลอด ล่าสุด ในปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกาบองมีจำนวน 1,515.43 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดลงกว่าปี 2550 ถึง 3,261.26 ล้านบาท ไทยส่งออกไปกาบองมูลค่า 1,489.30 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากกาบอง 26.12 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปกาบอง 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3. ข้าว 4. หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ 5. ประทีปโคมไฟ 6. ผลิตภัณฑ์พลาสติก 7. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 8. ผ้าผืน 9. เครื่องดื่ม 10. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากกาบอง ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

1.3 ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ไทยให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเผยแพร่เทคโนโลยีด้านการผลิตยารักษาโรคมาลาเรียและยาต้านโรคเอดส์แก่ประเทศในแอฟริกา โดยระหว่างปี 2549-2550 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขไปประเทศบูร์กินาฟาโซ แกมเบีย เซเนกัล กาบอง และมาลี เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีด้านการผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย โดยในกาบอง ดำเนินการระหว่างวันที่
2-8 กันยายน 2549 นอกจากนี้ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ยังได้ให้ทุนฝึกอบรมประจำปีแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญชาวกาบองในหลากหลายสาขาเป็นประจำทุกปี

2.ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือ (ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2529)

3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
รัฐบาล
- วันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2549 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาบองอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16 – 19 มีนาคม 2529 ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนกาบองอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายกาบอง
รัฐบาล
- ปี 2527 นาย Omar Bongo Ondimba ประธานาธิบดีกาบอง เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในลักษณะ Working visit
- วันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน 2528 นาย Omar Bongo Ondimba เยือนไทยเป็นการส่วนตัวโดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528
- วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2546 นาย Omar Bongo Ondimba พร้อมภริยา เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ 10 – 15 ตุลาคม 2546 นาย Omar Bongo Ondimba พร้อมภริยา เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัว
- วันที่ 16 - 20 เมษายน 2548 นาย Jean Ping รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาบอง พร้อมภริยา เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 30 เมษายน 2549 ถึง 6 พฤษภาคม 2549 นาย Omar Bongo Ondimba และภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว พร้อมด้วยนาย Jean Ping รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

มิถุนายน 2552

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2037 E-mail : [email protected]

 

เอกสารประกอบ

world-country-314-document.doc