สาธารณรัฐจิบูตี

สาธารณรัฐจิบูตี

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,713 view


สาธารณรัฐจิบูตี
Republic of Djibouti

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ สาธารณรัฐจิบูตี (Republic of Djibouti)

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดเอริเทรีย ทิศตะวันตก และใต้ติดเอธิโอเปีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดโซมาเลีย ทิศตะวันออกติดอ่าว Aden และทะเลแดง พื้นที่ 23,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ชายฝั่งทะเล 314 กิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงจิบูตี (Djibouti)

ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแบบทะเลทราย

ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร จำนวนประชากร 0.9 ล้านคน (ปี 2554)

ภาษา ฝรั่งเศสและอาหรับเป็นภาษาทางการ นอกจากนี้ยังมีภาษาโซมาลี อาฟาร์ที่เป็นภาษาท้องถิ่นอีกด้วย

ศาสนา อิสลาม ร้อยละ 94 และคริสต์ ร้อยละ 6

ระบบการปกครอง สาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีสภาเดียวคือ Chamber of Deputies หรือ Chambre des Deputes มาจากการเลือกตั้ง 65 คน

ประมุขของรัฐ นายอิสมาอิล โอมาร์ เกลลีห์ (Ismaïl Omar Guelleh)

หัวหน้ารัฐบาล นาย ไดเลียตา โมฮาเหม็ด ไดเลียตา (Dileita Mohamed Dileita)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย มาฮะหมุด อาลี ยูซุฟ  (Mahamoud Ali Youssouf)

ประวัติโดยสังเขป
จิบูตีเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2510 (ค.ศ. 1967) โดยใช้ชื่อว่า ดินแดน Afars and Issas ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มชนพื้นเมืองในจิบูตีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองในเอธิโอเปีย (Afar) และโซมาเลีย (Issa)

จิบูตีได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2520 (ค.ศ. 1977)  โดยมีนาย Hassan Gouled Aptidon ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของจิบูตี นาย Aptidon ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรค Rassemblement populaire pour le progrès (RPP) ซึ่งมีสมาชิกเป็นชาว Issa เท่านั้น เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่พอใจและความขัดแย้งของสองชนเผ่า ต่อมาความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านที่ต่อมาได้จัดตั้งพรรค Front pour la restauration de l’unité et de la démocratie (FRUD) ของชาว Afar ขึ้น

ในเดือนธันวาคม 2537 (ค.ศ. 1994) ความขัดแย้งได้คลี่คลายลง เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ลงนามสันติภาพกับพรรค FRUD และให้ผู้นำพรรค FRUD เข้าดำรงตำแหน่งในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกจำนวนหนึ่งของพรรค FRUD ไม่เห็นด้วยกับการประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรค FRUD ขึ้น ในขณะเดียวกับที่พรรค RPP ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลสามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้สำเร็จ

หลังจากนั้น ในปี 2542 (ค.ศ. 1999) รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น โดยพรรค RPP ได้มอบหมายให้นาย Ismaïl Omar Guelleh ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแทนนาย Aptidon ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ และนาย Guelleh ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2544 (ค.ศ. 2001) นาย Ahmed Dini ผู้นำทางทหารของพรรค FRUD ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งทั่วไปต่อไป

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2548 (ค.ศ. 2005) และปี 2554 (ค.ศ. 2011) พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้คว่ำบาตร โดยไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ส่งผลให้นาย Guelleh ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นทั้ง 2 ครั้ง และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจึงถึงปัจจุบัน เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

นาย Guelleh ปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและเฉียบขาด โดยใช้ระบบอุปถัมภ์ ควบคุมรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และกองทัพ ปิดกั้นการเสนอข่าวของสื่ออย่างเสรี และใช้อำนาจรัฐกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายค้านและประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถต้านทานอำนาจของนาย Guelleh ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 (ค.ศ. 2011) ในช่วงเดียวกับที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ประชาชนชาวจิบูตีประมาณ 300 คน รวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการยกเลิกการจำกัดจำนวนวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี แต่ก็ไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด

การเมืองการปกครอง

ระบบการปกครอง
จิบูตีมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ  โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคถูกจัดตั้งขึ้นหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2535 (ค.ศ. 1992) โดยปัจจุบันมี 9 พรรคการเมือง โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ ได้แก่ ฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดี Union pour la majorité présidentielle (UMP) และฝ่ายค้าน Union pour une alternance démocratique (UAD) ระบบการบริหารราชการแผ่นดินมีสภาเดียวคือ สภาผู้แทน ราษฎร (Chamber of Deputies หรือ Chambre des Députés) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 65 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระสมัยละ 5 ปี สำหรับระบบกฎหมายของจิบูตีนั้นได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายของฝรั่งเศส และระบบกฎหมายอิสลาม (Sharia – Islamic Law)

จิบูตี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 เขต ได้แก่ Ali Sabieh, Arta, Dikhil, Djibouti, Oback และ Tadjourah

เศรษฐกิจและสังคม
จิบูตีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เนื่องจากที่ตั้งของจิบูตี อยู่บนเส้นทางการเดินเรือและเป็นจุดผ่านในการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากอ่าวอาหรับและอ่าวเปอร์เซีย ไปยังคลองสุเอซและแหลม Good Hope ของแอฟริกาใต้ ท่าเรือของจิบูตีจึงเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าและบริการกระจายเข้าสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลในอนุภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออก

เศรษฐกิจของจิบูตีพึ่งพาการให้บริการทางท่าเรือซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ  โดยร้อยละ 80 ของการขนส่งสู่ท่าเรือเป็นการขนส่งสินค้าเข้า-ออกของเอธิโอเปีย นอกนั้นใช้เส้นทางรถไฟระหว่างกรุงแอดดิสอาบาบากับกรุงจิบูตี ซึ่งเป็นเพียงเส้นทางเดียวที่สินค้าและบริการสามารถเข้าสู่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย ท่าเรือของจิบูตีเป็นจุด re-export สินค้าเข้าสู่ตลาดในแอฟริกาตะวันออก และกลุ่มประเทศตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa- COMESA)

จิบูตีให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบท่าเรือเป็นอย่างมาก โดยการท่าของจิบูตีได้มอบหมายให้ บริษัท Dubai Ports World (DPW) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลสหรัฐอาหรับอามิเรตส์ เพื่อบริหารท่าเรือในจิบูตี 2 แห่ง ได้แก่ Port of Djibouti ที่เมืองหลวง และ Doraleh ซึ่งอยู่ห่างจาก Port of Djibouti ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ท่าเรือ Doraleh เป็น (1) จุดศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมแบบปลอดภาษี (2) จุดขนถ่ายสินค้า และ (3) จุดขนถ่ายน้ำมัน โดยจิบูตีหวังว่าจิบูตีเป็นจุดขนถ่ายสินค้าที่สำคัญใน Horn of Africa และต้องการยกระดับขีดความสามารถของเมืองท่าให้ทัดเทียมกับเมืองท่า Mombasa ของเคนยา ล่าสุด จิบูตี วางแผนที่เปิดท่าเรือแห่งที่สาม แต่ต้องชะลอโครงการออกไป เนื่องจากปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านจิบูตีลดลง และปัญหาด้านการเงินของ Dubai World ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ DPW

จิบูตีไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ไม่มีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังไม่มีดินและน้ำที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

นโยบายต่างประเทศ
จิบูตีดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลาง และมุ่งให้ความสำคัญกับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน (โซมาเลีย เอธิโอเปีย และเอริเทรีย) ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตก เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง จิบูตีให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโลกหลังจากต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคแอฟริกา เนื่องจากจิบูตีได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความไม่สงบในโซมาเลีย และโจรสลัดโซมาเลียในอ่าวเอเดน  

เอธิโอเปีย – จิบูตีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเอธิโอเปีย เนื่องจากจิบูตีเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของเอธิโอเปียและรายได้หลักของจิบูตีมาจากการเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าไปยังเอธิโอเปีย

เอริเทรีย – ความสัมพันธ์ระหว่างจิบูตีและเอริเทรียดีขึ้น ภายหลังเอริเทรียยอมถอนทหารออกจากดินแดนข้อพิพาทกับจิบูตี ทางตอนเหนือของจิบูตี บริเวณ Cape Doumeira   และ Doumeira Islands เมิอช่วงกลางปี 2553 (ค.ศ. 2010) ตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ 1862 (2009) ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายกำลังตกลงเจรจาแบ่งเขตแดนโดยมีกาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

โซมาเลีย – จิบูตีเป็นอีกประเทศที่มีบทบาทต่อปัญหาในโซมาเลีย จิบูตีเป็นผู้จัดการประชุมของกลุ่มต่าง ๆ ในโซมาเลีย เมื่อปี 2543 (ค.ศ. 2000) และเมื่อปี 2551-2552 (ค.ศ. 2008-2009) ซึ่งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์โซมาเลีย (Transitional Federal Government-TFG) ชุดปัจจุบัน ที่มี Sheikh Sharif Sheikh Ahmed เป็นประธานาธิบดี ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2554 (ค.ศ. 2011) จิบูตีได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน 450 นาย เข้าร่วมภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย (African Union Mission in Somalia: AMISOM) ร่วมกับยูกันดาและบุรุนดี

ความสัมพันธ์กับประเทศในตะวันออกกลาง – จิบูตีมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันดีกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอาหรับอามิเรสต์ (รัฐดูไบ) ที่เข้ามาดำเนินการกิจการท่าเรือในจิบูตี และกาตาร์ที่เป็นตัวไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างจิบูตีและเอริเทรีย

ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก – จิบูตีมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมากแก่จิบูตี และมีฐานทัพอยู่ในจิบูตี รัฐบาลจิบูตีมีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านการก่อการร้าย และตกลงให้ โดยอนุญาตให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เข้ามาตั้งฐานทัพ นอกจากนี้ จิบูตียังอนุญาตให้เรือรบประเทศต่างๆ เข้ามาในเขตเดินเรือของตนเอง เพื่อปฏิบัติการลาดตระเวนปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ – จิบูตีเป็นสมาชิกสหภาพแอฟริกา (African Union- AU) สันนิบาตอาหรับ (the League of Arab States) องค์กรการประชุมอิสลาม (the Organization of the Islamic Conference -OIC) องค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ ใช้ภาษาฝรั่งเศส (the International Organization of Francophones -OIF) และเป็นที่ตั้งสำนักใหญ่ IGAD (Intergovernmental Authority on Development) ซึ่งเป็นองค์การด้านความร่วมมือในภูมิภาค Horn of Africa   

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐจิบูตี

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยกับจิบูตีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 (ค.ศ. 1986) โดยไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีเขตอาณาครอบคลุมจิบูตี และเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐจิบูตี ถิ่นพำนัก ณ กรุงไคโร คนปัจจุบัน คือ นายชลิต มานิตยกุล ฝ่ายจิบูตีมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และเอกอัครราชทูตจิบูตีประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว คนปัจจุบัน คือ นาย Ahmed Aráita Ali นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งนาง Koran Ahmed Aouled ทนายความหญิงชาวจิบูตีให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำจิบูตี

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ในปี  2554 (ค.ศ.2011) การค้าระหว่างไทยและจิบูตีมีมูลค่า 18.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จิบูตีส่งออกมายังไทยเป็นมูลค่า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้าจิบูตีถึง 18.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจิบูตี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เซรามิค กระดาษและผลิตภัณฑ์ ส่วนรายการสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจิบูตีนั้นไม่ปรากฏ

ด้านการลงทุน ปัจจุบัน บริษัท Thai Export 1980 ทำธุรกิจไซโลข้าวในจิบูตี ตามคำเชิญชวนของรัฐบาลจิบูตีเมื่อปี 2551 (ค.ศ. 2008)

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จิบูตี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004) แต่ยังไม่มีโครงการความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน

ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของจิบูตีในหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข โดยได้มีการจัดเชิญผู้แทนจากจิบูตีมาเข้าร่วมการฝึกอบรมตามโครงการต่างๆ ที่ไทยจัดขึ้น อาทิกิจกรรมดูงานในหัวข้อ AIDS Prevention and Problem Alleviation ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1–9 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)

จัด Workshop on Comprehensive Response to HIV/AIDS Prevention Care ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดขึ้นสำหรับ UNDP ที่กรุงไนโรบี ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2548 (ค.ศ. 2005) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้าน การจัดการกับปัญหา HIV/AIDS

รัฐบาลไทยได้จัดโครงการดูงานด้านการขจัดความยากจนให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจิบูตี จำนวน 5 คน ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2548 (ค.ศ. 2005)

กิจกรรมศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2549 (ค.ศ. 2006)

จัดหลักสูตร Malaria Prevention and Control ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม- 25 มิถุนายน 2553(ค.ศ. 2010)

ความตกลงที่สำคัญกับไทย
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ - ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
- ความตกลงด้านวัฒนธรรม - ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
รัฐบาล

เมื่อวันที่ 11–12 กันยายน 2546 (ค.ศ. 2003) นายสนั่นชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะผู้แทนเยือนจิบูตี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และศึกษาศักยภาพของจิบูตี และได้เข้าพบนาย Ali Abdi Farah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจิบูตี

ฝ่ายจิบูตี
รัฐบาล

เมื่อวันที่ 7–11 มิถุนายน 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Ali Abdi Farah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจิบูตี นำคณะเยือนไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547

เมื่อวันที่ 26–29 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Ismail Omar Guelleh ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจิบูตี เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ที่พระราชวังไกลกังวล

เมื่อวันที่ 12-15 สิงหาคม 2551 (ค.ศ. 2008) นาย Mahmoud Ali Youssouf รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจิบูตี เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงฯ


****************************

สิงหาคม 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8