สาธารณรัฐแอฟริกากลาง

สาธารณรัฐแอฟริกากลาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,072 view


สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
Central African Republic

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ : สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง: อยู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา ไม่มีทางออกทางมะเล มีอาณาเขต
ทิศเหนือติดกับชาด
ทิศตะวันออกติดกับซูดาน
ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสาธารณรัฐคองโก
ทิศตะวันตกติดกับแคเมอรูน
พื้นที่ : 622,984 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง: กรุงบังกี (Bangui)
เมืองสำคัญอื่น ๆ: เมือง Bimbo Mbaiki Berberati Kaga-Bandoro Bozoum และ Carnot
ภูมิอากาศ: ภูมิอากาศแบบเขตร้อน ภาคเหนือเป็นแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ภาคใต้เป็นแบบเส้นศูนย์สูตร อากาศร้อนที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 21-34 องศาเซลเซียส มีฝนตกมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม และหนาวที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ฤดูแล้งกินระยะเวลา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม อากาศแห้งที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม

จำนวนประชากร: 4.3 ล้านคน (ปี 2551)
ภาษา: ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และภาษา Sangho เป็นภาษาประจำชาติ และภาษาท้องถิ่นอื่นอีกหลายภาษา
ศาสนา: คริสต์ 50 % ความเชื่อดั้งเดิม 35% อิสลาม 15%
วันชาติ 13 สิงหาคม (ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503)
ระบบการปกครอง: แบบสาธารณรัฐ (Unitary Republic) รัฐเดี่ยว ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล
ประธานาธิบดี: Mr. François Bozizé
นายกรัฐมนตรี: Mr. Faustin Archange Touadera
รมว.กต. H.E. Gen. Antoine Gambi

การเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
สาธารณรัฐแอฟริกากลางเป็นดินแดน 1 ใน 4 ของ Equatorial Africa ของฝรั่งเศสซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า Ubangi Shari ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2501 ได้เข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกของประชาคมฝรั่งเศส และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2503
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2519 กำหนดระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา และใช้ชื่อประเทศว่า Central African Empire ประธานาธิบดี Bokassa สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ Bokassa ที่ 1 ต่อมา มีการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2522 โค่นล้มจักรพรรดิ Bokassa ล้มเลิกระบอบการปกครองดังกล่าว หลังจากนั้น มีการทำรัฐประหารอีกหลายครั้งเรื่อยมา
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2540 มีการลงนามในความตกลงเพื่อยุติปัญหาการก่อการของกลุ่มนายทหารนอกแถว (mutineers) ที่กรุงบังกี และมีการจัดตั้งกองกำลังสันติภาพที่เรียกว่า MISAB ความขัดแย้งระหว่างนายทหารนอกแถวและกองกำลัง MISAB ยังคงดำเนินต่อไปทั้งๆ ที่มีการลงนามตกลงหยุดยิงกันหลายครั้ง จนกระทั่งเดือนเมษายน 2541 กองกำลังของสหประชาชาติ (the United Nations Mission in the Central African Republic หรือ MINURCA) ได้เข้ารับหน้าที่ในการรักษาสันติภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
1.1 แอฟริกากลางมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ อยู่ในวาระคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2548 ฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาแบบสภาเดียว (National Assembly)ทำหน้าที่บริหารอำนาจนิติบัญญัติ มีสมาชิก 105 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ปัจจุบัน อดีตนายกรัฐมนตรี Célestin Gaombalet ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ฝ่ายตุลาการ มีศาลสูง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลอาญา และศาลชั้นต้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งได้รับการแก้ไขจากฉบับปี 2538 และได้รับการรับรองโดยการลงประชามติ
1.2 ประธานาธิบดี François Bozizé เข้ารับตำแหน่งหลังจากการทำรัฐประหารของฝ่ายทหารเมื่อเดือนมีนาคม 2546 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2548 การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในปี 2553 ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าประธานาธิบดี Bozizé จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกวาระ ส่วนพรรค Mouvement pour la liberation du people centrafricain (MLPC) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภา ยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องการส่งผู้สมัครเข้าร่วมชิงชัยการเลือกตั้ง ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี Félix Patassé และฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี Martin Ziguélé
1.3 เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 กลุ่มกบฏหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Union des forces démocratiques pour le rassemblement (UFDR) และกลุ่ม Armée populaire pour la restauration de la république et la démocratie (APRD) ได้ลงนามเข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ณ กรุงลีเบรอวิล สาธารณรัฐกาบอง และรัฐบาลได้จัดให้มีการเจรจาร่วมกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในลักษณะ Inclusive Political Dialogue (IPD) เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ ในเดือนธันวาคม 2551
1.4 เดือนกันยายน 2551 รัฐสภาเห็นชอบการออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่กลุ่มกบฏ และนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติ (Government of National Unity) ในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีนาย Francois Naouyuma ผู้นำกลุ่ม APRD และนาย Djomo Didou ผู้นำกลุ่ม UFDR รวมอยู่ด้วย โดยกลุ่ม Front démocratique du people centrafricain (FDPC) และกลุ่ม Mouvement des libérateurs centrafricains pour la justice (MLCJ) ได้เข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในภายหลัง
1.5 รัฐบาลแอฟริกากลางเริ่มดำเนินการตามกระบวนการ DDR ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 อย่างไรก็ตาม แอฟริกากลางยังคงประสบปัญหาความเปราะบางทางการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในประเทศที่มีเป็นเวลานาน สถาบันการปกครองและกระบวนการทางการเมืองยังคงรวมศูนย์อยู่ที่กรุงบังกีและไม่สามารถให้บริการและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างทั่วถึง สถานการณ์ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบของกลุ่มกบฏทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศยังคงคุกคามความปลอดภัยของประชาชน และก่อให้เกิดปัญหาคนอพยพพลัดถิ่น ในปัจจุบัน รัฐบาลของแอฟริกากลางยังคงพึ่งพากองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในสาธารณรัฐแอฟริกากลางและชาด (MINURCAT) และกองกำลัง Micopax ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากกรุงบังกี เมืองหลวงของประเทศ
1.6 รัฐบาลของนาย Bozizé ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาและเพิ่มความสามารถให้แก่กองทัพทั้งทหารและตำรวจ ตลอดจนการจัดตั้งระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความพยายามดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหประชาชาติ และประชาคมเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกากลาง โดยสหประชาชาติได้จัดตั้งสำนักงานเสริมสร้างสันติภาพอย่างบูรณาการแห่งสหประชาชาติในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (BINUCA) ขึ้นเพื่อรับภารกิจต่อจากสำนักงานเสริมสร้างสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (BONUCA) และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกับกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ MINURCAT ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในประเทศและภูมิภาคแอฟริกากลาง
1.7 ปัญหาความไม่สงบในประเทศแอฟริกากลางส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดนไปยังประเทศชาด ในปัจจุบัน กลุ่มกบฏ Convention des patriotes pour la justice et la paix (CPJP) ยังคงปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกองโจรอื่นๆ ที่มุ่งก่อความไม่สงบตามพื้นที่

2. เศรษฐกิจ
2.1 ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของแอฟริกากลางยังคงพึ่งพิงการทำเกษตรกรรมแบบยังชีพและการทำป่าไม้ รายได้จากภาคเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อย่างไรก็ตาม แอฟริกากลางยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทั้งนี้ แอฟริกากลางได้เข้าร่วมโครงการ Poverty Reduction and Growth Facility (PRGF) ของ IMF ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาโครงการจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ทั้งยังอยู่ในโครงการลบหนี้ Heavily Indebted Poor Countries (HIPC) ของ IMF ด้วย
2.2 ข้อจำกัดที่สำคัญของประเทศแอฟริกากลาง ได้แก่ การเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ระบบขนส่งที่ยังขาดการพัฒนา การขาดแรงงานฝีมือ และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคที่ยังขาดความชัดเจน ตลอดจนความขัดแย้งและเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่ไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ดี
2.3 แอฟริกากลางเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกากลาง (Communauté Economique et Monétaire de l’Afrique Centrale หรือ CEMAC) จึงมีธนาคารแห่งรัฐในแอฟริกากลาง (Banque des Etats de l’Afrique Centrale หรือ BEAC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงยาอุนเด ประเทศแคเมอรูน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายทางด้านการเงินของประเทศ โดยมุ่งควบคุมระดับเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (1 ยูโร เท่ากับ 655.957 ฟรังก์เซฟา) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นมา
2.4 สินค้าส่งออกหลักของแอฟริกากลาง ได้แก่ ไม้ซุงและเพชร ซึ่งในปี 2550 ทำรายได้ให้ประเทศถึง 87.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ สินค้าน้ำเข้าที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ น้ำมัน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 68.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550
2.5 ตลาดส่งออกที่สำคัญของแอฟริกากลาง ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม จีนและฝรั่งเศส ในขณะที่ตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญของแอฟริกากลาง ได้แก่ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส แคเมอรูน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาและสเปน

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 แอฟริกากลางมีความใกล้ชิดกับฝรั่งเศสจากการที่เคยเป็นประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสยังคงให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศ และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของแอฟริกา นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังคงวางกองกำลังทหารไว้ในแอฟริกากลางเพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ โดยวางกองกำลังทหาร 320 นายไว้ ณ กรุงบังกี และได้ส่งทหารไปประจำการที่แอฟริกากลางในส่วนของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหภาพยุโรป (EUFOR Chad/CAR) จำนวนทั้งสิ้น 1,650 นาย
3.2 ปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ชาด ซูดาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศแอฟริกากลาง ปัจจุบัน ประธานาธิบดี Bozizé ยังคงพยายามรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างซูดานกับชาดซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งกัน

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ร้อยละ 2.2 (ปี 2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 418 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป

เกษตรกรรมแบบพอยังชีพ รวมทั้งป่าไม้ยังคงเป็นเศรษฐกิจหลักของสาธารณรัฐ
แอฟริกากลาง และประชากรมากกว่าร้อยละ 70 ยังอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การส่งออกไม้และเพชร ยังนำรายได้สำคัญเข้าประเทศ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญเช่น การที่ไม่มีทางออกทะเล ระบบขนส่งที่ล้าหลังและแรงงานที่ไม่มีฝีมือเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกทิศทาง

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2548 (2005) เกิดอุทกภัยในแอฟริกากลาง ทำลายบ้านเรือนกว่า 2,500 หลัง ส่งผลกระทบถึงประชาชนกว่า 25,000 คน ขณะนี้ UN กำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ ทั้งการบริจาคอาหารและเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและแอฟริกากลางสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2530 ปัจจุบัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมแอฟริกากลาง ส่วนแอฟริกากลางได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแอฟริกากลางประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ความสัมพันธ์ทั่วไปราบรื่นดี
1.2 เศรษฐกิจ
ในปี 2551 ไทยและแอฟริกากลางมีมูลค่าการค้ารวม 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 9 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 1.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมลดลงจากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 1.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1.01 ดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 9.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการค้ารวมไทยและแอฟริกาเท่ากับ 2.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยไปยังแอฟริกากลาง ได้แก่ เคหะสิ่งทอ นมและผลิตภัณฑ์นม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากแอฟริกากลาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ยังไม่มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างกัน

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนระหว่างไทยกับแอฟริกากลาง


*****************************

พฤศจิกายน 2552

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ