สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 37,671 view


สหรัฐอเมริกา
United States of America

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง : ทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีมลรัฐอลาสกาอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา และ มีมลรัฐฮาวายอยู่ทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก
เนื้อที่ : มีเนื้อที่ประมาณ ๙,๖๓๑,๔๑๘ ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก
รองจากรัสเซียและแคนาดา
อาณาเขตติดต่อ :
ทิศเหนือ ติดกับ แคนาดา
ทิศใต้ ติดกับ เม็กซิโก
ทิศตะวันออก ติดกับ มหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันตก ติดกับ มหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิอากาศ: อากาศหนาว เว้นแต่ในมลรัฐฮาวาย และมลรัฐฟลอริดาหนาวเย็นมากที่บริเวณขั้วโลกเหนือในมลรัฐอะแลสกา บริเวณที่ราบด้านตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) จะค่อนข้างแห้งแล้ง และมีความแห้งแล้งมากบริเวณที่ลุ่มภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิต่ำในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีอากาศดีขึ้นเป็นครั้งคราวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยจะได้รับความอบอุ่นจากลมของเนินเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาร๊อกกี้
ทรัพยากรธรรมชาติ : ถ่านหิน, ทองแดง, เกลือ, ยูเรเนี่ยม, ทองคำ, เหล็ก, ปรอท, นิเกิล, โปแตส, เงิน, วุลแฟรม, ทังสแตน, สังกะสี, ปิโตรเลี่ยม, ก๊าซธรรมชาติและป่าไม้ เป็นต้น
ประชากร : ๓๐๙,๑๘๙,๓๑๘ คน (มี.ค. ๒๕๕๓ ประมาณการ)
เชื้อชาติ :คนผิวขาวร้อยละ ๗๙.๘ คนแอฟริกันอเมริกันร้อยละ ๑๒.๘ คนเอเชียร้อยละ ๔.๕
คนอเมริกันอินเดียนและคนท้องถิ่นอลาสการ้อยละ ๑.๐ คนพื้นเมืองฮาวายและคนหมู่เกาะแปซิฟิกร้อยละ ๐.๒
คนฮิสแพนิกร้อยละ ๑๕.๔ (๒๕๕๑ ประมาณการ)
ภาษาราชการ : ภาษาอังกฤษ
วันชาติ :๔ กรกฎาคม
ศาสนา :โปรเตสแตนท์ร้อยละ ๕๑.๓
โรมันคาทอลิกร้อยละ ๒๓.๙
มอร์มอนร้อยละ ๑.๗
ยิวร้อยละ ๑.๗
พุทธร้อยละ ๐.๗
มุสลิมร้อยละ ๐.๖
อื่น ๆ ร้อยละ ๒.๕
ไร้ศาสนาร้อยละ ๑๒.๑
(๒๕๕๑ ประมาณการ)
หน่วยเงิน : ดอลลาร์สหรัฐ US Dollar (USD)

อัตราแลกเปลี่ยน : ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ๓๔.๓๕๑ บาท
(ถัวเฉลี่ย ๒๕๕๒)

อัตราเงินเฟ้อ : -๐.๗% (ถัวเฉลี่ย ๒๕๕๒)

เวลาต่างจากไทย : ฝั่งตะวันออก ๑๒ ชั่วโมง
ฝั่งตะวันตก ๑๕ ชั่วโมง

จำนวนคนไทยในสหรัฐอเมริกา : จากการประมาณการของ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ มีคนไทยจำนวนประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน (ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) โดยมากอาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส และชิคาโก

การเมืองการปกครอง

ประวัติประเทศสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาก่อกำเนิดขึ้นจากการประกาศอิสรภาพของรัฐอธิปไตย ๑๓ มลรัฐ คำประกาศดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๖ และอังกฤษยอมรับเอกราชของชาติอเมริกาในวันที่ ๑๔ มกราคม ค.ศ ๑๗๘๙ ต่อมาในปีเดียวกัน รัฐเหล่านั้นจึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อก่อตั้งสหพันธรัฐ โดยให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง รัฐต่างๆ มอบอำนาจอธิปไตยหลายประการให้รัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตัน แต่สงวนอำนาจบางประการไว้ เช่น อำนาจนิติบัญญัติและการคลังในระดับมลรัฐ ดังนั้น ทุกมลรัฐจึงมีวุฒิสภาและสภาผู้แทนของตนเอง ( ยกเว้นเนแบรสกา ซึ่งมีสภาเดียว ) และมีอำนาจเก็บภาษีผู้มีภูมิลำเนาในมลรัฐ
ชื่อประเทศ : ชื่อเต็ม United States of America เรียกว่า สหรัฐอเมริกา ชื่อย่อ United States เรียกว่า สหรัฐฯ อักษรย่อ US หรือ USA
ระบอบการปกครอง : สหพันธรัฐ (Federal Republic) แบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief Executive) ภายใต้รัฐธรรมนูญ
เมืองหลวง : กรุงวอชิงตัน (Washington, D.C.)
การแบ่งการปกครอง : ประกอบด้วย ๕๐ มลรัฐและ ๑ District (District of Columbia ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กรุงวอชิงตัน) ได้แก่ Alabama, Alaska (เป็นมลรัฐที่ใหญ่ที่สุด), Arizona, Arkansas, California, Colorado, Connecticut, Delaware, District of Columbia, Florida, Georgia, Hawaii, Idaho, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Maine, Maryland, Massachusetts, Michigan, Minnesota, Mississippi, Missouri, Montana, Nebraska, Nevada, New Hamshire, New Jersey, New Mexico, New York, North Carolina, North Dakota, Ohio, Oklahoma, Oregon, Pennsylvania, Rhode Island (เป็นมลรัฐที่เล็กที่สุด), South Carolina, South Dakota, Tennessee, Texas, Utah, Vermont, Virginia, Washington, West Virginia, Wisconsin, Wyoming
เขตการปกครองอื่นๆ : American Samoa, Baker Island, Guam, Howland Island, Jarvis Island, John Atoll, Kingman Reef, Midway Islands, Navassa Island, Northern Mariana Islands, Palmyra Atoll, Puerto Rico, Virgin Islands, Wake Island
ระบบกฎหมาย :อยู่บนรากฐานของกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ
สิทธิในการเลือกตั้ง : อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป
ประมุขของประเทศ : นาย Barack Obama เป็นประธานาธิบดี คนที่ ๔๔ และหัวหน้ารัฐบาล เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ สังกัดพรรคเดโมแครต และมีนาย Joe Biden เป็นรองประธานาธิบดี

โครงสร้างทางการเมือง
สหรัฐฯ มีพรรคการเมืองใหญ่ ๒ พรรค คือ พรรครีพับลิกัน (Republican) และพรรคเดโมเเครต (Democrat) การปกครองแบบสหพันธรัฐ แบ่งแยกอำนาจออกเป็น ๓ ฝ่าย ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายได้รับเลือกในลักษณะที่แตกต่างกัน และมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (checks and balances) ดังนี้
ฝ่ายบริหาร : มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไป ร่วมกับรองประธานาธิบดีทุก ๔ ปี ในวันอังคารแรกของ
เดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งผ่านคณะผู้เลือกตั้ง ( Electoral College ) จำนวน ๕๓๘ คน ดำรงตำแหน่งไม่เกิน ๒ สมัย
สมัยละ ๔ ปี ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทำสนธิสัญญาต่างๆ ตลอดจนแต่งตั้งผู้พิพากษา
เอกอัครราชทูต และตำแหน่งต่างๆของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับรองผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy Assistant Secretary) ขึ้นไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ประกอบด้วย ๒ สภา คือ
วุฒิสภา มีสมาชิกจากแต่ละมลรัฐ มลรัฐละ ๒ คน รวมเป็น ๑๐๐ คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ ๖ ปี โดยสมาชิกจำนวน ๑ ใน ๓ ครบวาระ
ทุก ๒ ปี วุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือปฎิเสธบุคคลที่ ประธานาธิบดีแต่งตั้ง รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และให้สัตยาบันสนธิสัญญา
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง (President of the Senate) คือนาย Joe Biden
หัวหน้าฝ่ายเสียงข้างมาก (Majority Leader)ในวุฒิสภา ได้แก่ นาย Harry Reid (D-Nevada) หัวหน้าฝ่ายเสียงข้างน้อย
(Minority Leader) ได้แก่ นาย Mitch McConnell (R-Kentucky)
สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก ๔๓๕ คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในมลรัฐ คือ
ประชากร ๕๗๕,๐๐๐ คน ต่อ สมาชิก ๑ คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ ๒ ปี ประธานสภา
(Speaker of the House) ได้แก่ นาง Nancy Pelosi (D-California) ผู้นำเสียงข้างมาก คือ
นาย Steny Hoyer (D-Maryland) ส่วนผู้นำเสียงข้างน้อย คือ
นาย John Boehner (R-Ohio)
ฝ่ายตุลาการ :ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น (Curcuit Court) ศาลอุทรณ์ (Appeal Court)
และศาลฎีกา (Supreme Court) ศาลฏีกามีอำนาจที่จะล้มเลิกกฏหมายใดๆและการปฎิบัติการของ
ฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งมีทั้งหมด ๙ คนนั้น
ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง และดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีการกำหนดวาระ
วันเลือกตั้ง :การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
สถานการณ์การเมือง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ซึ่งมีนาย Barack Obama สมาชิกวุฒิสภาและตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และนาย John McCain สมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนจากพรรครีพับริกัน เป็นผู้แข่งขันหลัก ผลปรากฏว่า ประธานาธิบดี Obama ชนะการเลือกตั้ง และทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
รัฐบาลประธานาธิบดี Obama จะให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการร่วมมือกับนานาประเทศ
แก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การถอนกำลังทหารจากอิรัก การดำเนินการในอัฟกานิสถานและปากีสถานเพื่อกำจัดกลุ่ม Al-Qaeda และกลุ่มหัวรุนแรง การแก้ไขปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและมิตรประเทศ การแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับโลกมุสลิม การรักษาความสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามามีแนวทางการทำงานที่มุ่งเน้นการทูตมากกว่าการใช้กำลังทหาร โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบ สหประชาชาติ การใช้ smart power (ผสมผสาน hard และ soft power) เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย

เศรษฐกิจการค้า

ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม ( Capitalism ) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโดยที่รัฐจะเข้าแทรกแซงในกิจการของเอกชนน้อย และสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม ( Capitalism )
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโดยที่รัฐจะเข้าแทรกแซงในกิจการของเอกชนน้อย และสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) :
๑๔,๒๖๔.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๑)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) :
๔๖,๔๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒ ประมาณการ)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ:
ร้อยละ ๕.๗ (๒๕๕๒)
อัตราการว่างงาน :
ร้อยละ ๙.๓ (มีนาคม ๒๕๕๓)
อุตสาหกรรม : สหรัฐฯ เป็นผู้นำทางภาคอุตสาหกรรมของโลก
มีความหลากหลายสูง และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก
เช่น ปิโตรเลียม เครื่องยนต์เครื่องบิน อุปกรณ์การสื่อสาร
เคมีภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค
ป่าไม้ เหมืองแร่
ดุลการค้า : มูลค่า – ๓๘๐,๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒ ประมาณการ)
การส่งออก: มูลค่า ๙๙๔,๗๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒ ประมาณการ)
สินค้าส่งออก : ผลผลิตทางการเกษตร (ถั่วเหลือง, ผลไม้, ข้าวโพด) ร้อยละ ๙.๒ อุปกรณ์อุตสาหกรรม (เคมีภัณฑ์) ร้อยละ ๒๖.๘ สินค้าทุน (ทรานซิสเตอร์, เครื่องบิน, ส่วนประกอบรถยนต์, เครื่องคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม) ร้อยละ ๔๙ สินค้าอุปโภคบริโภค (รถยนต์ ยาและเวชภัณฑ์) ร้อยละ ๑๕
การนำเข้า: มูลค่า ๑,๔๔๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒ ประมาณการ)
สินค้านำเข้า : ผลผลิตทางการเกษตร ร้อยละ ๔.๙ อุปกรณ์อุตสาหกรรม ร้อยละ ๓๒.๙ (น้ำมันดิบ ร้อยละ ๘.๒) สินค้าทุน (เครื่องคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม,ส่วนประกอบรถยนต์, เครื่องจักรสำนักงาน, เครื่องกำเนิดพลังงาน) ร้อยละ ๓๐.๔ และ สินค้าอุปโภคบริโภค (รถยนต์, เสื้อผ้า, ยาและเวชภัณฑ์, เฟอร์นิเจอร์, ของเล่น) ร้อยละ ๓๑.๘ ประเทศคู่ค้าในการนำเข้า : จีน ร้อยละ ๑๖.๔ แคนาดา ร้อยละ ๑๕.๗ เม็กซิโก ร้อยละ ๑๐.๑ ญี่ปุ่น ร้อยละ ๖.๖ และ เยอรมัน ร้อยละ ๔.๖ (๒๕๕๒ ประมาณการ)
ปีงบประมาณ :๑ ตุลาคม – ๓๐ กันยายน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

- ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา มีมายาวนาน ๑๗๗ ปี โดยไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๓๗๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามและสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี (Treaty of Amity and Commerce) เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๓๗๖ ซึ่งต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (Treaty of Amity and Economic Relations) เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้ร่วมรบในสงครามสำคัญกับสหรัฐฯ ทุกครั้ง
- ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เห็นไทยเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ มีความสัมพันธ์ที่ mature และเห็นว่าไทยมีระดับการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดี มีบทบาทด้านการระหว่างประเทศ และเป็นสังคมเปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทย สหรัฐฯ จะกังวลในแง่ความแน่นอนของนโยบาย และผลกระทบต่อธุรกิจและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และในแง่ที่ไทยเคยเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมประชาธิปไตยที่รักสงบและความขัดแย้งทางการเมืองสามารถดำเนินไปในกรอบของรัฐสภา
- สหรัฐฯ ให้การยอมรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเห็นว่าการแก้ไขสถานการณ์ในประเทศเป็นเรื่องภายในของไทย และเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและในกรอบประชาธิปไตย
- ความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือทางทหาร ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย การส่งเสริมการค้า การลงทุน การใช้ประโยชน์จากสหรัฐฯ ในฐานะแหล่งความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกจากนั้น ไทยเห็นความสำคัญของการขยายกรอบความร่วมมือที่ตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกันของโลกมากขึ้น ได้แก่ การต่อต้านภัยพิบัติ การควบคุมการแพร่กระจายและกำจัดโรคติดต่อ และการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจที่ดีในระดับประชาชน ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การจัดตั้ง Thai Clubs และ American Clubs ตามสถาบันการศึกษาของแต่ละประเทศ การส่งเสริม Thai studies และ American studies ตลอดจนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการ และการแลกเปลี่ยน เชิงวัฒนธรรมต่างๆ

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองไทย-สหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา
- ภายหลังเหตุการณ์วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สหรัฐฯ งดการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับรัฐมนตรีและระงับความช่วยเหลือทางทหารบางส่วน แต่ความสัมพันธ์ก็ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วภายหลังการเลือกตั้ง
- ปี ๒๕๕๑ เป็นปีที่ครบรอบ ๑๗๕ ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสดังกล่าว ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีในทุกระดับ รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย
- ปี ๒๕๕๒ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ รมช.พณ. เยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ รมช.กค. เยือนสหรัฐฯ เมี่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม ASEAN Post Ministerial Conference ครั้งที่ ๔๒ และ ASEAN Regional Forum (ARF) ครั้งที่ ๑๖ ที่ จ.ภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยได้พบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย และการร่วมกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๔ ที่นครนิวยอร์กในเดือนกันยายน ๒๕๕๒
- ปี ๒๕๕๓ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง โดย รองนายกรัฐมนตรีไตรรงค์ สุวรรณคีรี พร้อมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nuclear Security Summit เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๓ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทยเยือนสหรัฐฯ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๕ และพบหารือกับฝ่ายบริหาร ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชนสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๓
- เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านข้อมติ S.Res ๕๓๘ “Affirming the support of the United States for a strong and vital alliance with Thailand” ซึ่งเสนอโดยนาย Jim Webb (D-VA) เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยมีสาระสำคัญ คือ ๑) ยืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อความเป็นพันธมิตรที่สำคัญกับไทยและความสำคัญในด้านต่างๆ ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ การที่ไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก และเป็นที่เคารพรักของประชาชนไทย ๒) นายกรัฐมนตรีได้ออกแนวทางปรองดอง ๕ ข้อ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองโดยสันติ และ ๓) วุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้ นำสันติและเสถียรภาพกลับคืนมาสู่ไทย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประณามการใช้ความรุนแรงและตกลงกันโดยผ่านการเจรจา สนับสนุนแนวทางปรองดอง ๕ ข้อที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี มีการปฏิบัติตามแผนการที่จะตกลงกันเพื่อการปรองดองของไทย เพื่อให้จัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้
- เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผ่านข้อมติ H.Res. ๑๓๒๑ ด้วยคะแนนเสียง ๔๑๑ ต่อ ๔ โดยมีนาย Eni Faleomavaega (D-AS) เป็นผู้อุปถัมภ์ และมี สส.สหรัฐฯ ร่วมอุปถัมภ์ จำนวน ๒๙ ราย โดยมีเนื้อหาเช่นเดียวกับข้อมติ S.Res ๕๓๘

ความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง
- ความร่วมมือทางทหารเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญ โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความสนับสนุนด้านการทหารต่อไทย ผ่านโครงการ Foreign Military Sales (FMS) และโครงการ International Military Education & Training (IMET) นอกจากนี้ ยังมีการฝึกซ้อมทางทหาร Cobra Gold ซึ่งเป็นการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และขยายเป็นการฝึกแบบพหุภาคีที่มีประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมและสังเกตการณ์จำนวนมาก
- ไทยมีนโยบายที่จะพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติและมนุษยธรรมระดับภูมิภาค โดยเป็นศูนย์ฝึกความพร้อม คลังเก็บสิ่งของและอาหารเพื่อการให้ความช่วยเหลือ และเป็นที่ตั้งของหน่วย rapid deployment เพื่อตอบสนองต่อภัยฉุกเฉิน เนื่องจากไทยและท่าอากาศยาน อู่ตะเภามีความเหมาะสมในเชิงภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ในจุดที่สะดวกต่อการเป็นศูนย์กลาง และมีความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นประจำและเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้และความชำนาญในการทหาร ฝ่ายไทยจึงจะได้หารือกับสหรัฐฯ ต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาของไทยดังกล่าว ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ กรุงฮานอย
- พลโท Wallace Gregson, Assistant Secretary of Defense, Asian and Pacific Security Affairs เสนอต่อ ปลัด กต. ให้ร่วมกันจัดตั้ง Disaster Survey Team เป็น stand-by unit ผสมระหว่างทหารและพลเรือนเพื่อเข้าไปประเมินพื้นที่ภัยพิบัติ เสนอแนะวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม

การจัดตั้ง Friends of Thailand Caucus (FoTC) ที่รัฐสภาสหรัฐฯ
กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้ทาบทามสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ให้จัดตั้งและเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม Friends of Thailand Caucus โดยได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ โดยมี Rep. Earl Blumenauer (D-OR) และ Rep. Donald Manzullo (R-IL) เป็นประธานร่วมของกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วม ๒๓ คน มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเป็นกลไกประสานผลประโยชน์และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ให้ใกล้ชิดขึ้น และสร้างเข้าใจที่ดีต่อไทยในหมู่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยการเป็นเวทีในการรับฟังและตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของไทยที่สหรัฐฯ สนใจหรือมีความห่วงกังวล และยังสามารถเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย (หมายเหตุ จากผลการเลือกตั้ง Midterm Election เมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่เป็นสมาชิก FoTC ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ๒ คน และไม่ได้รับการเลือกตั้ง ๑ คน ทำให้เหลือสมาชิก ๒๓ คน จากเดิม ๒๖ คน)

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ
- แนวนโยบาย
• ไทยต้องการแสวงหาช่องทางใหม่ๆ ในการส่งเสริม/ผลักดันการส่งออกกับคู่ค้าหลักและตลาดสำคัญในภูมิภาค เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าให้แก่ภาคเอกชนไทย โดยเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งภาพลักษณ์ (CSR, safety, environment) การเข้าถึงแหล่งกระจายสินค้า supermarket chain และการพัฒนาด้านโลจิสติกส์
• ไทยยังคงต้องการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การคมนาคมในภูมิภาค
• ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจบริการในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านร้านอาหารไทย ธุรกิจสุขภาพ/สปา และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างทัศนคติและความเข้าใจประเทศไทย อันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและอาหารไทย
• การสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ แสวงหา niche knowledge เพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- สถิติการค้า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดสำหรับไทย (ไม่นับรวมกลุ่มประเทศ) ซึ่งใน ๕ เดือนแรก ปี ๒๕๕๓ มีมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น ๑๑,๔๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี ๒๕๕๒ ถึงร้อยละ ๒๖ โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า ๗,๒๙๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ ๑๑ ของการส่งออกรวม) และนำเข้า ๔,๑๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ๓,๑๐๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สถิติการลงทุน การลงทุนจากสหรัฐฯ มีมูลค่าน้อยกว่าจากญี่ปุ่นและกลุ่มสหภาพยุโรป (มีสัดส่วนราวร้อยละ ๔ เมื่อเทียบกับประมาณร้อยละ ๔๐ และ ๑๐ ตามลำดับ) และการลงทุนในหลักทรัพย์ราว ในช่วงเดือน มกราคม - เมษายน ๒๕๕๓ มีการลงทุนทางตรงสุทธิมูลค่า ๕๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์มูลค่า ๘๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การจัดทำ FTA ซึ่งไทยและสหรัฐฯ ได้ยุติการเจรจาลงตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ นั้น ขณะนี้ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของไทยนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ ได้กำหนดให้การจัดทำสนธิสัญญาใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นก่อน ในขณะที่ สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถระบุแนวทางที่ชัดเจนได้ เพราะรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่ต่ออายุ Trade Promotion Authority และขณะนี้ได้หันไปให้ความสนใจกับการเจรจากรอบ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership
- การเข้าร่วมกรอบหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจข้ามแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership-TPP) ซึ่งเป็นกรอบความตกลงการค้าเสรี มีผลบังคับใช้ เมื่อปี ๒๕๔๙ มีสมาชิกประกอบด้วย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชิลีและบรูไน ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๕๑ สหรัฐฯ (สมัยปธน. บุช) ออสเตรเลีย เวียดนามและเปรูได้ประกาศเข้าร่วมเพิ่มเติม โดยสหรัฐฯ เห็นว่า TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง และครอบคลุมในหลายประเด็นทั้งการเข้าถึงตลาด การกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การค้าสินค้า การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การลงทุนและการบริหารทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ในช่วงของประธานาธิบดีบุช สหรัฐฯ ยังไม่ได้ดำเนินการเข้า TPP อย่างชัดเจน ต่อมา ในช่วงการเยือนเอเชียและการเข้าร่วมประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศว่าจะเข้าร่วม TPP อย่างเป็นทางการ และต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้แสดงความจำนงค์อย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม TPP
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้จัดการเจรจา TPP เพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่แล้ว ๓ ครั้ง คือ (๑) ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ที่ออสเตรเลีย เพื่อพิจารณาให้ TPP เป็น FTA แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เบ็ดเสร็จ (๒) ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ที่สหรัฐฯ เพื่อพิจารณาเรื่องการเปิดตลาด และความสัมพันธ์ระหว่าง TPP และ FTAs ของประเทศคู่เจรจา (๓) ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ที่บรูไน เพื่อพิจารณา cross-cutting อาทิ ความเชื่อมโยง การปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบเดียวกันทั่วภูมิภาค โดยมาเลเซียได้เข้าเป็นประเทศคู่เจรจาอย่างเต็มรูปแบบด้วย ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ที่นิวซีแลนด์ ตามด้วยเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ชิลี เมษายนที่สิงคโปร์ มิถุนายนที่เวียดนาม สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ ๘ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ และเปรูในเดือนตุลาคม ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า สหรัฐฯ จะพยายามผลักดันให้ TPP มีข้อสรุปก่อนการประชุม APEC ที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔
ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีความเห็นว่าจะจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย – แปซิฟิกจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่ง TPP ก็เป็นทางเลือกหนึ่งด้วย ขณะนี้ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้แสดงความสนใจในการเข้าร่วมกระบวนการเจรจากับสมาชิกเดิมแล้ว และมีความเป็นไปได้สูงที่จีนไทเปจะเข้าร่วมกระบวนการหารือด้วย ซึ่งหากประเทศเหล่านี้สามารถเข้าร่วมได้จะทำให้ GDP ของสมาชิกรวมกันมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และปริมาณการค้าเกินกว่า ๑ ใน ๓ ของโลก
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมไทย-สหรัฐฯ
- ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยด้านสังคมและวัฒนธรรมมีลักษณะพิเศษ ปัจจุบันมีชาวไทยอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ รวมกว่า ๓ แสนคน ซึ่งอาศัยกระจายอยู่ตามมลรัฐต่างๆ โดยเมืองที่มีชาวไทยอาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ นครลอสแอนเจลิส นครซานฟรานซิสโก กรุงวอชิงตัน นครซีแอตเติล นครนิวยอร์ก นครชิคาโก
- ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือทางการศึกษา สังคม และวัฒนธรรมที่ดำเนินการสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน ความร่วมมือด้านการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ โครงการฟุลไบรท์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศต่าง ๆ โดยได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ปัจจุบัน ไทยให้เงินสนับสนุนโครงการฯ คิดเป็นร้อยละ ๓๕ นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งอาสาสมัครสันติภาพ (Peace Corps) ของสหรัฐฯ เข้ามาในไทยทุกปี เริ่มตั้งแต่ ปี ๒๕๐๕ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน รวมทั้งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตชนบทด้วย โดยในปี ๒๕๕๕ จะครบรอบ ๕๐ ปี การดำเนินงานของ Peace Corps ในประเทศไทย
- กระทรวงการต่างประเทศยังได้สนับสนุนการจัดตั้งโครงการไทยศึกษา (Thai Studies) ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย โดยในปี ๒๕๕๓ ไทยให้การสนับสนุนทั้งสิ้น ๘ มหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศยังได้สนับสนุนการจัดตั้งโครงการสหรัฐอเมริกาศึกษา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี ๒๕๕๑ ด้วย
- นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ไทยได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง Thai Club/Society ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของสหรัฐฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยในหมู่นักศึกษาสหรัฐฯ และมุ่งพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน ระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ ขณะนี้ สามารถตั้ง Thai Club ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ สำเร็จแล้ว ๑๑ แห่ง นอกจากนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันยังดำเนินโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องระหว่างโรงเรียนไทยกับโรงเรียนในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยเข้าร่วมโครงการ ๒๖ แห่งและโรงเรียนสหรัฐฯ ๒๘ แห่ง ซึ่งมีโรงเรียนที่จับคู่กับแล้วจำนวน ๔ คู่

ความร่วมมือด้านประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล
- ไทยให้ความสำคัญด้านประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล รวมทั้งการนำประสบการณ์หรือ best practice ของประเทศพัฒนาแล้วมาประยุกต์ใช้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือในเรื่องนี้กับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ในหลายโอกาส โดยเน้นการกำจัดคอรัปชั่น การส่งเสริมจรรยาบรรณและ ธรรมาภิบาล การเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานภาครัฐและการปกครองส่วนท้องถิ่น
- ความร่วมมือด้านประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลกับสหรัฐฯ ได้เริ่มมาระยะหนึ่ง อาทิ ความร่วมมือกับสถาบัน IRI (International Republican Institute) และสถาบัน NDI (National Democratic Institute) ซึ่งมีสำนักงานในไทยและทำงานร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าและหน่วยงานอื่น ๆ
- นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับ USAID/RDMA ผ่านการดำเนินโครงการ “สะพาน – เสริมสร้างประชาธิปไตย : Sapan – Strengthening Democracy” โดยมีบริษัทอเมริกัน DAI ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล เป็นผู้ดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๓ โครงการนี้มีระยะเวลา ๓-๕ ปี และมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอิสระ
๒) เสริมสร้างศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรสื่อต่าง ๆ
๓) ส่งเสริมความสมานฉันท์และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- งบประมาณที่ USAID/RDMA จัดสรรจะไม่ได้ลงมาที่ภาครัฐ แต่จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรอิสระ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ทั้งนี้ USAID/ DAI หารือและรายงานพัฒนาการให้ฝ่ายไทยทราบและพิจารณาเป็นระยะๆ

ประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลระหว่างกัน
ทรัพย์สินทางปัญญา
- รายงาน Special ๓๐๑ ปี ๒๐๑๐ ได้จัดอันดับการปกป้อง IPR ของไทยในกลุ่ม PWL (Priority Watch List) เป็นปีที่ ๔ อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๕๓ USTR จะพิจารณาให้มีการประเมินนอกรอบ (Out-of-Cycle Review) ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการด้านต่างๆ ของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันกำหนดให้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติ และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานเร่งด่วนเพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งได้เข้าเป็นภาคีของ Patent Cooperation Treaty (PCT) ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ สำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศได้เริ่มรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศแล้วในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
- ก.สธ.ได้ประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ กับยาของบริษัท Merck & Co และในเดือนมกราคม ๒๕๕๐ กับยาอีก ๒ รายการ ซึ่งรวมถึงยาของบริษัท Abbott Laboratories ต่อมา ในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ ไทยถูกลดสถานะจาก WL (Watch List) เป็น PWLทั้งนี้ การประกาศใช้ CL เป็นปัจจัยหนึ่งของการถูกลดสถานะดังกล่าว หลังจากนั้น ในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ ก.สธ.ได้ประกาศใช้ CL เพิ่มเติมสำหรับยามะเร็ง ๔ รายการ รวมทั้งสิ้น ๗ รายการ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยไม่ได้ประกาศใช้ CL เพิ่มเติม ในเดือนกันยายน ๒๕๕๓ ก.สธ. ได้ประกาศขยายเวลาใช้ CL กับยาต้าน HIV ๒ รายการ ของบริษัท Merck & Co และบริษัท Abbott ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาของสหรัฐฯ ได้พยายามผลักดันที่จะมีช่องทางหารือกับทางภาครัฐอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับช่องทางการเข้าถึงยาคุณภาพอย่างยั่งยืน

รายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน/สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
- สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยรัฐสภาสหรัฐฯ กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Report) และรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) ในประเทศต่างๆ กว่า ๑๗๐ ประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่างๆ อาทิ สื่อมวลชน NGOs และ สอท.สหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ โดยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์จะมีการจัดลำดับการดำเนินการของแต่ละประเทศ (Tier) เป็น ๓ กลุ่ม/ระดับ ได้แก่ (๑) Tier ๑ คือ ประเทศที่มีการคุ้มครอง ป้องกันเหยื่อการค้ามนุษย์ และปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรฐานสากล (๒) Tier ๒ ประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานสากล แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข (๓) Tier ๓ ประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมายการค้ามนุษย์ไม่ถึงระดับสากลและไม่มีความพยายามแก้ไข ซึ่งสหรัฐฯ อาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่มนุษยธรรมและการค้า ทั้งนี้ การจัดทำรายงานข้างต้นส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับหลายประเทศ มากกว่าผลเชิงบวกตามเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในประเทศทั่วโลก เนื่องจากรายงานต่างๆ ข้างต้นถูกตั้งคำถามในเรื่อง (๑) ความน่าเชื่อถือของรายงาน ความถูกต้องครบถ้วนรอบด้านของข้อมูล (๒) เกณฑ์การพิจารณา โดยเฉพาะการไม่ให้ความสำคัญแก่การใช้ความพยายามปรับปรุงแก้ไขของประเทศต่างๆ และมิได้คำนึงถึงระดับการพัฒนาของประเทศที่ถูกประเมินเท่าที่ควร อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIPs Report) ประจำปี ๒๕๕๓ โดยประเมิน ๑๗๗ ประเทศและจัดระดับ ๑๗๕ ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยถูกปรับลดระดับจาก Tier ๒ เป็น Tier ๒ Watch List โดยรายงานระบุว่า รัฐบาลไทยดำเนินการไม่สอดคล้องครบถ้วนตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of ๒๐๐๐ ของสหรัฐฯ แม้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหา และบังคับใช้ พรบ. อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีความคืบหน้าเพียงพอ

รายงานกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ
- อีกประเด็นหนึ่งซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ปัญหาแรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และแรงงานต่างด้าว โดยในปี ๒๕๕๒ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ นอกจากได้เผยแพร่รายงานประจำปีเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) เพื่อประเมินการดำเนินการของประเทศต่างๆ ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ ยังได้จัดทำและเผยแพร่รายการสินค้าจากประเทศต่างๆ ที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับอันขัดต่อมาตรฐานสากล โดยระบุสินค้าไทย ๔ รายการ (กุ้ง เสื้อผ้า อ้อย และสื่อลามกอนาจาร) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยและอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมของไทยในภาพรวม
ทั้งนี้ ภายหลังการจัดทำและเผยแพร่รายการสินค้าดังกล่าว กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้ประกาศให้เงินสนับสนุนองค์การแรงงานระหว่างประเทศในประเทศไทย เป็นระยะเวลา ๔ ปี เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กในระยะยาวในอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเล ซึ่งโครงการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ สนับสนุนเงินให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศดำเนินโครงการ “Support for National Action to Combat Child Labour and Its Worst Forms” ในประเทศไทย ใน ๖ จังหวัด คือ สมุทรสาคร เชียงราย ตาก อุดรธานี สงขลา ปัตตานี ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๓

ประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าและม้งลาว
- สหรัฐฯ มีความห่วงกังวลว่า ไทยจะส่งกลับผู้หนีภัยพม่าไปยังประเทศพม่าในขณะที่สถานการณ์ภายในพม่ายังไม่เรียบร้อย ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือรัฐบาลไทยในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่ามาโดยตลอด ในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ สหรัฐฯ ได้รับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าจำนวน ๑๗,๓๔๘ คน จากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ รวมทั้งได้ให้เงินช่วยเหลือราว ๒๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ แก่องค์กรเอกชนเพื่อดำเนินโครงการด้านมนุษยธรรม และให้การสนับสนุนสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าที่พำนักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทย
- ในช่วงปลายปี ๒๕๕๒ มีประเด็นการส่งกลับชาวม้งลาว ซึ่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม สส. และ สว. รวมทั้งประเทศตะวันตกหลายประเทศ ได้แสดงความกังวล และแสดงความผิดหวังที่ฝ่ายไทยดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ ได้คลี่คลายมากขึ้นในช่วงปี ๒๕๕๓ เนื่องจากลาวมีความผ่อนปรนขึ้นและได้อนุญาตให้ม้งลาวเดินทางไปตั้งหลักแหล่งในต่างประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ บ้างแล้ว

--------------------------

มกราคม ๒๕๕๔



กองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5121--2 Fax. 0-2643-5124 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-266-document.doc