สาธารณรัฐปานามา

สาธารณรัฐปานามา

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 21,673 view


สาธารณรัฐปานามา
Republic of Panama

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่แคบที่สุดของภูมิภาคอเมริกากลาง พื้นที่ทางทิศเหนือและใต้เป็นชายฝั่งทะเล โดยทิศเหนือติดมหาสมุทรแปซิฟิก และทิศใต้ติดทะเลแคริบเบียน พรมแดนด้านทิศตะวันตกติดกับคอสตาริกา ส่วนทิศตะวันออกติดกับโคลอมเบีย

ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมทะเล

พื้นที่ 75,517 ตารางกิโลเมตร

ประชากร (2553) 3.5 ล้านคน

เมืองหลวง กรุงปานามา (Panama City)

ภาษา สเปน

ศาสนา โรมันคาทอลิก

เชื้อชาติ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเลือดผสม Mestizo (ผิวขาว+คนพื้นเมือง) หรือ Mulatto (ผิวดำ+คนพื้นเมือง)

หน่วยเงินตรา Balboa มีค่าเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลปานามาผลิตเพียงแต่เหรียญกษาปณ์สกุล Balboa เท่านั้น การซื้อขายโดยทั่วไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ
เวลาต่างจากประเทศไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี

ประมุขของประเทศ นาย Ricardo Alberto Martinelli Berrocal (หมดวาระ 1 กรกฎาคม 2557)

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้ง

ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง 71 คน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

พรรคการเมืองสำคัญ
1. Democratic Change (พรรครัฐบาล)

2. Nationalist Republican Liberal Movement พรรครัฐบาล

3. Panamenista Party พรรครัฐบาล

4. Democratic Revolutionary Party

ระบบศาล ผู้พิพากษาสำหรับศาลสูงสุดมาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 10 ปี

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (2553) 27.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2553) ร้อยละ 6.9

รายได้ประชาชาติต่อหัว (2553) 16,234 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี

อัตราเงินเฟ้อ (2553) ร้อยละ 4.9

สินค้าส่งออกที่สำคัญ กล้วย กุ้ง น้ำตาล กาแฟ

สินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์

การเมืองการปกครอง

โครงสร้าง สภาวการณ์และแนวโน้มทางการเมือง

- นายริการ์โด อัลแบร์โต มาร์ติเนลลี แบร์โรกัล (Mr. Ricardo Alberto Martinelli Berrocal) เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรค Democratic Change ซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สาธารณรัฐปานามาอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552



- ปัจจุบัน รัฐบาลนายมาร์ติเนลลี กำลังประสบปัญหาความไม่พอใจจากพรรคร่วมรัฐบาล Panamenista Party (PP) เนื่องจากการเร่งผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อให้ประธานาธิบดีมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีมาร์ติเนลลี กำลังจะผิดสัญญาที่ตนให้กับพรรค PP ว่าจะไม่ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยต่อไป



- ปานามามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ เนื่องด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นจัดยุทธศาสตร์ทางการค้า อย่างไรก็ตาม ปานามามีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับโคลอมเบีย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปราบปรามกองกำลังของกลุ่ม Revolutionary Armed Forces of Colombia - FARC จนส่งผลต่อเสถียรภาพบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของปานามา



- ปานามามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวันและสิงคโปร์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยได้ลงนามใน FTA กับทั้งไต้หวันและสิงคโปร์แล้ว และสิงคโปร์ยังใช้ปานามาเป็น redistribution center หลักในลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ปานามาได้แสดงความสนใจที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin America Cooperation – FEALAC) และแสดงความประสงค์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกเอเปค (APEC)



ปานามาได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ ปีพ.ศ. 2501-2502, พ.ศ. 2515-2516, พ.ศ. 2519-2520, พ.ศ. 2525-2526 และล่าสุด ระหว่างปีพ.ศ. 2550-2551

เศรษฐกิจการค้า

โครงสร้าง สภาวการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจ

- ประธานาธิบดีมาร์ติเนลลีมีนโยบายในการนำประสบการณ์และหลักการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาปรับใช้ในการบริหารประเทศ โดยจะให้ความสำคัญในการพัฒนาปานามาให้เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของลาตินอเมริกา เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยมีนโยบายมุ่งเน้นการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ลดภาษีรายได้เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดิน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงปานามาและการขยายคลองปานามาเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ



- ปานามามีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นคอคอดเชื่อมอเมริกาใต้และอเมริกากลาง โดยมีคลองปานามาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรม แหล่งกระจายสินค้า การเงิน การธนาคาร และการประกันภัย และเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (offshore banking facility) ที่สำคัญของภูมิภาคอเมริกากลาง นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การเดินเรือระหว่างประเทศ โดยให้บริการรับจดทะเบียนเรือและบริการด้าน logistics ให้แก่เรือของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (รวมทั้งเรือไทย) ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลปานามาได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 2,398 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2555 สำหรับใช้ในโครงการขยายคลองปานามา คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557



- ปานามาได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีโคลอน (Colon Free Zone) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้แก่ ฮ่องกง จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ส่งผลให้ปานามาเป็นประเทศที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งในอเมริกากลาง



- ปานามาถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันอันดับที่ 49 ของโลก โดย World Economic Forum ประจำปี 2554-2555 โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอเมริกากลางที่มีความสามารถในการแข่งขันติดหนึ่งใน 50 อันดับแรก และมีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่สองเป็นรองเพียงชิลีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐปานามา

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง


- ไทยกับปานามาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2525 รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก มีเขตอาณาครอบคลุมปานามา โดยแต่งตั้งนางสาววิภาวรรณ นิพัทธกุศล เป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปานามา ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2553 และแต่งตั้งนาย Carlos Alberto Janon F. เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำปานามา ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2534



- ปานามาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2538 ปัจจุบัน นาย Isauro Ramon Mora Borrero (อีเซาโร รามอน โมรา บอร์เรโร) ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 และเข้าถวายสาส์นตราตั้งฯ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2553



- ไทยและปานามามีการแลกเปลี่ยนการเยือนไม่มากนัก โดยบุคคลสำคัญของไทยที่เคยเดินทางเยือนปานามาได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 ผู้แทนการค้าไทย (ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล) เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 และผู้แทนการค้าไทย (ดร. วัชระ พรรณเชษฐ์) นำคณะเยือนปานามา และคอสตาริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2554 สำหรับฝ่ายปานามาที่เคยเยือนไทยคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อเดือนตุลาคม 2545




ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ปานามาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 73 ของไทย และลำดับ 8 ในลาตินอเมริกา โดยในปี 2553 ปริมาณการค้ารวมทั้งสองฝ่ายมีมูลค่า 233.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.33 จากปีก่อน โดยไทยส่งออก 223.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 212.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยได้ดุลการค้าจากปานามาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา)



- สินค้าที่ไทยนำเข้าได้แก่ เหล็ก เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะ สินค้าที่ไทยส่งออกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป



- เมื่อปี 2553 มีชาวปานามาจำนวน 434 คนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมากขึ้นกว่าปี 2552 ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 367 คน



สถิติการค้าไทย-ปานามา (หน่วยล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปี มูลค่าการค้า ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2551 207 192 15 176
2552 163 137 26 110
2553 234 223 11 212

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากปานามา เหล็ก เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์


สินค้าที่ไทยส่งออกไปปานามา รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก


วันที่ 1 ธันวาคม 2554

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5114 Fax. 0-2643-5115 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-202-document.doc