สหรัฐเม็กซิโก (เม็กซิโก)

สหรัฐเม็กซิโก (เม็กซิโก)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 29,515 view


สหรัฐเม็กซิโก (เม็กซิโก)
United Mexican States (Mexico)

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ทิศเหนือติดกับสหรัฐฯ ทิศใต้ติดกับกัวเตมาลา และเบลิซ ทิศตะวันออกติดกับอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวแคลิฟอร์เนีย

ภูมิอากาศ ภาคใต้และบริเวณที่ราบต่ำติดชายฝั่งทะเล มีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตรอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส (64 ฟาเรนไฮท์) สำหรับภาคเหนือ และภาคตะวันออกจะมีภูมิอากาศแบบทะเลทราย

พื้นที่ 761,600 ตารางไมล์ (1,972,500 ตารางกิโลเมตร) เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง
ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในลาตินอเมริกา และใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก

ประชากร 111.2 ล้านคน (2553)

เมืองหลวง กรุงเม็กซิโก

ภาษาราชการ สเปน

ศาสนา โรมันคาทอลิก ร้อยละ 89, โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 6, อื่นๆ ร้อยละ 5

เชื้อชาติ เมสติโซ (ผิวขาวผสมอินเดียน) ร้อยละ 60, อเมริกันอินเดียน ร้อยละ 30, คอเคเชียน ร้อยละ 9, อื่นๆ ร้อยละ 1

อายุเฉลี่ย ชาย 73 ปี หญิง 78 ปี

ประชากรในวัยทำงาน ร้อยละ 64.3 (2551)

การศึกษา อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 91 การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี

หน่วยเงินตรา เปโซ (Peso) (1 เปโซ = ประมาณ 2.38 บาท)

เวลาต่างจากประเทศไทย ช้ากว่าไทย 13 ชั่วโมง

วันชาติ 16 กันยายน (ค.ศ.1810 ประกาศอิสรภาพจากสเปน)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ UN,WTO, CARICOM(OBSERVER), FAO, FEALAC,G3, G11, G15, G77, GATT, IAEA, ICAO, ILO, IMF, INTERPOL, ITU, NAM (OBSERVER), OAS, UNCTAD, UNESCO, WHO, APEC, etc.

ประวัติศาสตร์

บริเวณที่ตั้งของเม็กซิโกในปัจจุบันนั้น ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุได้ว่า ทำเกษตรกรรม มากว่า 7,000 ปีก่อนคริสตกาล ความเจริญทางวิชาการ ระบบการวางผังเมือง และสาธารณูปโภค แสดงให้เห็นถึงการก่อร่างระบบสังคมที่มีความซับซ้อนและมีการจัดการที่ดี อาทิ การตั้งชุมชนของชนเผ่ามายา จนกระทั่งถึงจักรวรรดิ์ Aztec ซึ่งแผ่อิทธิพลครอบครองบริเวณที่เป็นเม็กซิโกในปัจจุบัน อาณาจักร Aztec มีพลเมืองเป็นชาวพื้นเมืองอินเดียนประมาณ 15 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Tenochtitlan ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกในปัจจุบัน อาณาจักร Aztec มีความรุ่งเรืองทั้งด้านวิทยาการและมีทรัพยากร ประเภททองคำ เงิน และแร่ธาตุจำนวนมาก ด้วยสาเหตุนี้ทำให้สเปนเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคมเมื่อปี ค.ศ. 1521 ทว่า สเปนได้ปกครองเม็กซิโกด้วยความรุนแรง จนกระทั่งชาวเม็กซิโกได้ปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากสเปนสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1810 ภายหลังการปฏิวัติการเมืองเม็กซิโกค่อนข้างไม่มั่นคง เนื่องจากถูกปกครองในแนวทางเผด็จการประชาชนยากจนและขาดสวัสดิการ จนกระทั่งมีการปฏิวัติยกร่างรัฐ ธรรมนูญใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1917 ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาระบบการเมืองและสังคม อันเป็นผลต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เหตุการณ์สำคัญ

อารยธรรมมายา 100 ปี ก่อนคริสตกาล, จักรวรรดิ Aztec ค.ศ. 1325, สเปนยึดครองเป็นอาณานิคม ค.ศ. 1521, ประกาศอิสรภาพ ค.ศ. 1810, รัฐธรรมนูญใหม่ ค.ศ. 1917, เจ้าภาพโอลิมปิก ค.ศ. 1968, เจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ. 1970 และ ค.ศ. 1986, วิกฤตการณ์การเงิน ค.ศ. 1982 และ 1994 เป็นสมาชิก NAFTA ค.ศ. 1994

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น แบ่งเป็น 31 รัฐ และ 1 เขตนครหลวง (Federal District) ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหารไม่มีรองประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

ประมุขของประเทศ - ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

- นายเฟลิเป เด เฆซุส กัลเดรอน อิโนโฆซา (Felipe de Jesus Calderon Hinojosa)จากพรรค National Action Party (PAN) ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2549 เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 ทั้งนี้ จะมีการเลือกตั้ง
ทั่วไปวันที่ 1 กรกฎาคม 2555
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบบสองสภา (Congress) ได้แก่ วุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) วุฒิสมาชิกมีจำนวน 128 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี สำหรับสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น 500 คน โดย 300 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และที่เหลือมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (party list) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหารและเป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรี

ระบบการศาล ประกอบด้วยศาลระดับรัฐและศาลสหพันธ์

นโยบายต่างประเทศที่สำคัญ

รัฐบาลเม็กซิโกชุดปัจจุบันเน้นเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันกับทุกประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การพัฒนา และการสร้างงานที่มีรายได้ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

- นโยบายต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องการดำเนินความสัมพันธ์เชิงลึกในลักษณะ
การเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (Strategic Alliances) กับประเทศในทวีปเอเชีย
และยุโรป และขยายความร่วมมือทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่เม็กซิโกมุ่งหาและขยายพันธมิตรนักธุรกิจจากเอเชียให้กับนักธุรกิจเม็กซิกัน


- นโยบายต่อสหรัฐฯ เน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่อง
การปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดและกลุ่มอาชญากรรมต่างๆ สำหรับในเรื่องการอพยพของแรงงานเม็กซิกันเข้าสหรัฐฯ เม็กซิโกจะเจรจากับสหรัฐฯ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมอย่างสง่าผ่าเผยและเป็นผลสำเร็จ (with dignity and efficacy) โดยเม็กซิโกได้แต่งตั้งนายอาร์ตูโร สารูกัน กาซามิตฆานา (Arturo Sarukhan Casamitjana) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีกัลเดรอน ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
เป็นเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ณ กรุงวอชิงตัน


- นโยบายต่อภูมิภาคลาตินอเมริกา มุ่งหวังให้เม็กซิโกเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคลาตินอเมริกาและต้องการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ โดยจะเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศในลาตินอเมริกา


เม็กซิโกมี คตล. NAFTA และจัดทำ FTA ทั้งหมด 12 ฉบับ กับ 43 ประเทศ (ส่วนใหญ่จากภูมิภาคลาตินฯ และ EU ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น) และกำลังเจรจา FTA กับสิงคโปร์ และการพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำ FTA กับออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีบทบาทแข็งขันใน เช่น องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of the American States—OAS) APEC และ WTO

นโยบายการต่างประเทศเม็กซิโกจะยังคงสอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเม็กซิโกและเป็นประเทศภาคีใน NAFTA และความร่วมมือผู้นำ NAFTA ใน Security and Prosperity Partnership of North America (SPP) อย่างไรก็ดี คสพ. ของทั้งสองประเทศย่ำแย่ลงเมื่อสหรัฐฯ จะปฏิรูป กม. ตรวจคนเข้าเมืองโดยจะให้สร้างกำแพงกั้นชายแดนที่ติดกับเม็กซิโกยาว 700 ไมล์ และกำหนดให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองและพำนักในสหรัฐฯ มีความผิดทางอาญา ทั้งนี้ รัฐบาลเม็กซิโกรับที่จะควบคุมบริเวณชายแดนให้มากขึ้นและผลักดันให้สภาของสหรัฐฯ พิจารณาความเป็นไปได้ของ guest worker program ซึ่งให้โอกาสผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองสามารถพำนักอาศัยหรือรับสิทธิทำงานในสหรัฐฯ ได้ชั่วคราว

ส่วนในเวทีระหว่างประเทศ เม็กซิโกเน้นการเข้าไปมีบทบาทเชิงรุกในทุกเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่อยู่ในความสนใจ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขจัดความยากจน และกระบวนการส่งเสริมสันติภาพ ความสำเร็จที่สำคัญของเม็กซิโกในเวทีระหว่างประเทศคือได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุม UNFCCC COP-16 ณ เมืองแคนคูน ในเดือนพฤศจิกายน 2553 และจะเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ณ เมือง Los Cabos ในเดือนมิถุนายน 2555 ด้วย

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 3.9 (2550)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1,113.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

GDP per capita 16,975 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี
โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 4 (ข้าวโพด ถั่วแดง เมล็ดพืชให้น้ำมัน พืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ ฝ้าย กาแฟ อ้อย พืชผักเมืองหนาว)
ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 26.6 (ปิโตรเลียมและเหมืองแร่)
ภาคบริการ ร้อยละ 69.5 (การค้าและการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.7 (2554)
ดุลบัญชีเดินสะพัด –1.853 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำ 76.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2549)

หนี้สาธารณะ ร้อยละ 22.8 ของ GDP (2550)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 3.7 (2550)

ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม เงิน ทองแดง ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้

อุตสาหกรรม อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ยาสูบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า
ปิโตรเลียม เหมืองแร่ สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องยนต์ การท่องเที่ยว

เกษตรกรรม ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าว ถั่ว ฝ้าย กาแฟ ผลไม้ มะเขือเทศ ปลา

นโยบายเศรษฐกิจหลัก ส่งเสริมการค้าเสรี จัดตั้งเขตการค้าเสรีทวิภาคี ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation target)

การค้าระหว่างประเทศ (2553)

การส่งออก 291.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การนำเข้า 293.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าหลัก เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือเพื่อการเกษตร สินค้าวัตถุดิบ อุปกรณ์การขนส่งและชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องบิน และชินส่วนประกอบ เป็นต้น

สินค้าส่งออกหลัก สินค้าอุตสาหกรรม น้ำมันปิโตรเลียม เงิน ผลไม้ กาแฟ ฝ้าย


สถิติการค้าไทย-เม็กซิโก (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ - สถิติปี 2554)

มูลค่าการค้า 1,882.17
ไทยส่งออก 1,277.10
ไทยนำเข้า 605.07
ดุลการค้า 672

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐเม็กซิโก (เม็กซิโก)

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เม็กซิโก

ไทยและเม็กซิโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2518 และมีการฉลองครบรอบการสถาปนาครบรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเลี้ยงรับรองและการแสดงดนตรีร่วมกันระหว่างนักกีตาร์คลาสสิกชาวเม็กซิกันกับนักดนตรีไทยจากกองทัพเรือ รวมทั้งได้จัดทำหนังสือที่ระลึก “สายสัมพันธ์ 30 ปี ไทย – เม็กซิโก” (“Lazos de Amistad 30 Años Tailandia–Mexico”) เกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นภาษาไทยและสเปนอยู่ในเล่มเดียวกัน นอกจากนี้ ในโอกาสดังกล่าวรัฐบาลไทยได้มอบ
รูปปั้นช้างไทยให้แก่เทศบาลกรุงเม็กซิโก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันยาวนานของไทยและเม็กซิโก โดยปัจจุบันรูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่บนถนน Boulevard Puerto Aereo ซึ่งเป็นถนนสายหลักระหว่างสนามบินนานาชาติเม็กซิโกและใจกลางกรุงเม็กซิโก

รัฐบาลไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เมื่อปี 2521 โดยมีเขตอาณาครอบคลุม 4 ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียน ได้แก่ คิวบา กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และเป็นจุดติดต่อของเบลิซ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก คนปัจจุบันคือ นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์

ส่วนรัฐบาลเม็กซิโก ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2532 โดย เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นาย Jorge Chen และแต่งตั้งให้คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์เม็กซิโกประจำประเทศไทย
การเยือนระดับสูงของบุคคลสำคัญ

การเยือนเม็กซิโก

1. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (6-9 ตุลาคม 2539)

2. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เดือนเมษายน 2535)

3. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม UN International Conference
on Financing for Development (FfD) ที่เมือง Monterrey 20-22 มีนาคม 2545 และเยือนอย่างเป็นทางการ 24-25 ตุลาคม 2545

4. ดร.อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (17-19 มกราคม 2539)

5. นายอุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เดือนมีนาคม 2536)

6. ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (19-22 พ.ย. 2537)

7. นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (16-19 ก.ค. 2540)

8. ดร. ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (30 ม.ค. - 2 ก.พ. 2545)

9. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเข้าร่วมประชุม World Youth Conference ค.ศ. 2010 ที่เมือง Leon ในเดือนสิงหาคม 2553

การเยือนไทย

1. นาย Javier Barros Valero รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (22-25 เมษายน 2536)

2. นาย Antonio do Icaza รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีเม็กซิโก (14-17 กันยายน 2537)

3. นาย Andres Rozental ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีเม็กซิโก (20-21 ธันวาคม 2537)

4. นาย Jose Angel Gurria รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (4-6 กรกฎาคม 2539)

5. นาย Javier Trevino Cantu รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (24-25 พฤศจิกายน 2540)

6. นาง Rosario Green รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางมาร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาครั้งที่
10 (UNCTAD X) (ก.พ. 2543)

7. นาย Eugenio Anguiano Roch ทูตพิเศษของประธานาธิบดีเม็กซิโกเดินทางเยือนไทยเพื่อขอเสียงสนับสนุนเม็กซิโกในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประเภทไม่ถาวร

8. นาย Luis Ernesto Derbez รัฐมนตรีเศรษฐกิจ (7 พ.ค. 2545)

9. นาง Dulce Maria Sauri นำคณะวุฒิสมาชิกประกอบด้วย วุฒิสมาชิก Ramirez และวุฒิสมาชิก Alaniz รวม 3 คน เยือนไทยเพื่อเชิญให้รัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุม Asia Pacific Parliamentary Forum (APPF) (31 พ.ค. 2545)

10. นาย Vicente Fox Quesada ประธานาธิบดี เดินทางเข้าร่วมการประชุม APEC 2003 (20-21ตุลาคม 2546)

11. นาง Patricia Espinosa Cantellano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก เดินทางเข้าร่วมการประชุม UNFCCC Climate Change Talks (เม.ย. 2554)

ความตกลงระหว่างไทย-เม็กซิโก

1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภานักธุรกิจเม็กซิกัน (Mexican Business Council) ปี ค.ศ. 1990
2. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ปี ค.ศ. 1993
3. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ปี ค.ศ. 1999
4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภานักธุรกิจเม็กซิกันสำหรับการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและเทคโนโลยี (COMCE) ปี ค.ศ. 2003
5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา ปี ค.ศ. 2003
6. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรัฐโกลีมา (Colima) ของเม็กซิโก ปี ค.ศ. 2003
7. บันทึกความเข้าใจ Political Consultations ปี ค.ศ. 2011


ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้า

ไทยส่งออกไปยังเม็กซิโกเป็นมูลค่า 637.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.49 % ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย

สินค้าส่งออกของไทยไปเม็กซิโก 5 อันดับแรก ได้แก่
1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
2) รถยนต์ และส่วนประกอบ
3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
4) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ
5) อุปกรณ์สื่อสารและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าจากเม็กซิโก 5 อันดับแรก ได้แก่
1) อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
2) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
3) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
4) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
5) เหล็ก เหล็กกล้า


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5113-4 Fax. 0-2643-5115 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-173-document.doc