จาเมกา

จาเมกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 21,383 view


จาเมกา
Jamaica

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียน ตั้งอยู่ห่างจากคิวบาทางทิศเหนือประมาณ 145 กิโลเมตร และเฮติทางทิศตะวันออกประมาณ 190 กิโลเมตร

พื้นที่ 10,991 ตารางกิโลเมตร

ภูมิประเทศ พื้นที่ 4 ใน 5 ของประเทศเป็นภูเขา บางแห่งเป็นที่ราบชายฝั่งแคบๆ ที่ไม่ต่อเนื่องกัน

ภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น (tropical) โดยเฉพาะบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล อุณหภูมิจะเย็นขึ้นในบริเวณที่เป็นภูเขา อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส และปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,980 มิลลิเมตร

ทรัพยากรธรรมชาติ บอกไซต์ ยิบซัมและหินปูน

เมืองหลวง กรุงคิงสตัน (Kingston)

ประชากร (2551) 2.7 ล้านคน

ภาษา ภาษาอังกฤษ (ภาษาราชการ) และภาษาปาโตอีส (Patois)

ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ (62.5%) นิกายโรมันคาทอลิค (2.6%) ศาสนาอื่นๆ (14.2%)

เชื้อชาติ เชื้อสายแอฟริกัน (91.2%) เชื้อสายผสม (6.2%)และอื่นๆ (2.6%)
อัตราการรู้หนังสือ (2551) ร้อยละ 87.9

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์จาเมกา (Jamaican dollar – J$) 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 85.68 ดอลลาร์จาเมกา (11 มิถุนายน 2553)

วันประกาศเอกราช 6 สิงหาคม ค.ศ. 1962 จากสหราชอาณาจักร

วันชาติ (Independence Day) 6 สิงหาคม

วันสถาปนารัฐธรรมนูญ 6 สิงหาคม 1962

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ Organization of American States (OAS), Caribbean Community and Common Market (CARICOM), Organization of Eastern Caribbean States (OECS), Latin American Economic System (SELA) Free Trade Area of the Americas (FTAA) Non-Alignment Movement (NAM) PetroCaribe G-15 G-77

เวลาแตกต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง (-5 GMT)

การเมืองการปกครอง

ในอดีต จาเมกาเป็นที่อยู่ของชาวพื้นเมืองเผ่า Arawaks ซึ่งอพยพมาจากดินแดนตอนในของทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาโคลัมบัสและคณะได้เดินทางมาถึงในปี 2037 (ค.ศ. 1494) และยึดครองเป็นอาณานิคมของสเปน ประมาณปี 2053 (ค.ศ. 1510) เริ่มมีการนำทาสผิวดำจากทวีปแอฟริกาเข้ามาเป็นแรงงานแทนชาวพื้นเมืองเดิมซึ่งลดจำนวนลง ในปี 2198 (ค.ศ. 1655) กองทัพอังกฤษได้บุกเข้ายึดเกาะจาเมกา และปรับปรุงเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลและแหล่งค้าทาสที่สำคัญในทวีปอเมริกา ในทศวรรษที่ 1930 หรือประมาณปี 2473 เป็นต้นมา รัฐสภาอังกฤษเริ่มให้สิทธิปกครองตนเองบางส่วนแก่รัฐบาลพื้นเมือง และในปี 2501 (ค.ศ. 1958) จาเมกาก็ได้เข้าเป็นสมาชิก West Indian Federation ซึ่งประเทศอาณานิคมอังกฤษในแคริบเบียนได้ถอนตัวในปี 2504 (ค.ศ. 1961) และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 2505 (ค.ศ. 1962)

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นประเทศในเครือจักรภพ โดยมีสมเด็จ พระราชินี Elizabeth II ทรงใช้พระราชอำนาจโดยผ่านทางผู้สำเร็จราชการ (Governor-General) ซึ่งคนปัจจุบัน คือ Sir Patrick Linton Allen ที่ได้รับการแต่งตั้งตามการถวายคำแนะนำโดยนายรัฐมนตรี และมีนาย Bruce Golding เป็นนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2550
คณะรัฐมนตรีได้รับการเสนอชื่อโดยนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 11 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Kenneth Baugh

เขตการปกครอง แบ่งออกเป็น14 เขต ได้แก่ Kingston & St. Andrew, St. Thomas, Portland, St. Mary, St. Ann, Trelawny, St. James, Hanover, Westmoreland, St. Elizabeth, Manchester, Clarendon, Portmore Municipality และ St. Catherine

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วย
1) วุฒิสภา มีสมาชิกจำนวน 21 คน โดย 13 คนมาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี และอีก 8 คนมาจากการเสนอชื่อของผู้นำฝ่ายค้าน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
2) สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกจำนวน 60 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 กันยายน 2550 โดยครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2555

ฝ่ายตุลาการ ระบบตุลากรของประเทศจาเมกาได้มาจากระบบตุลาการ Common Law ของประเทศอังกฤษ โดยมี Judicial Committee Privy Council แห่งสหราชอาณาจักรเป็นศาลฎีกาขั้นสุดท้าย และศาลอื่นๆ ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น
สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ

จาเมกามีพรรคการเมืองที่สำคัญ 2 พรรค ซึ่งมักจะสลับกันได้รับเลือกตั้งให้ปกครองประเทศ คือ พรรค Jamaica Labour Party (JLP) และพรรค People’s National Party (PNP) อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พรรค National Democratic Movement (NDM) เริ่มมีบทบาทสำคัญทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับคะแนนเสียงมากเพียงพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรค JLP และ PNP ได้

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2550 พรรค JLP ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 50.1 และนาย Bruce Golding หัวหน้าพรรค JLP ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรค PNP ของนาง Portia Simpson-Miller ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 49.8 ได้รับเลือกเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในกรุงคิงสตันเมืองหลวงของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 รายและทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินภายในกรุงคิงสตัน ความไม่สงบดังกล่าวเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะส่งตัวนาย Christopher Dudus Cook ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมตามหมายจับของสหรัฐอเมริกา เพื่อไปพิจารณาคดีในสหรัฐฯ ตามแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ

นาย Cook เป็นผู้กว้างขวางในกรุงคิงสตัน ทำให้มีประชาชนผู้สนับสนุนออกมาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเกิดการปะทะกัน จนกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว เหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ เนื่องจากนาย Cook เป็นผู้มีอิทธิพลในเขตฐานเสียงสำคัญของพรรครัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลของนาย Golding มีคะแนนนิยมลดต่ำลงเพราะไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศ และเป็นต้นตอของปัญหาสังคมนานับประการ อาทิ การว่างงาน ยาเสพติด และอาชญากรรม

นโยบายต่างประเทศ

จาเมกามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกือบทุกประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States : OAS) นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกที่มีบทบาทแข็งขันของประเทศในเครือจักรภพ และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM)
จาเมกาเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จาก Cotonou Conventions ที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับบางประเทศในเอเชีย แคริบเบียน และหมู่เกาะแปซิฟิก
ตามประวัติศาสตร์ จาเมกามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักร แต่ในปัจจุบันจาเมกามีความสัมพันธ์ทางการค้า การเงิน และวัฒนธรรมใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศในแถบแคริบเบียนนั้น นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ แล้ว จาเมกายังดำเนินความสัมพันธ์โดยผ่าน ประชาคมแคริบเบียน (CARICOM) และสมาคมประเทศแคริบเบียน (Association of Caribbean States - ACS)

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2551) ร้อยละ -1.2

อัตราเงินเฟ้อ (2551) ร้อยละ 22.0

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) (2551) 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โครงสร้างของ GDP (2552) ภาคบริการ ร้อยละ 64.7 ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 5.7 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 29.7

อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แร่บอกไซต์ สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเบา เหล้ารัม ซีเมนต์ โลหะ กระดาษ และเคมีภัณฑ์

เกษตรกรรม อ้อย กล้วย กาแฟ พืชจำพวกส้ม ผัก สัตว์ปีก แพะ และนม

หนี้ต่างประเทศ (2551) 8,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อัตราการว่างงาน (2551) ประมาณร้อยละ 11.0

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
สถิติการส่งออกของจาเมกา เมื่อปี 2550 คิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าออกที่สำคัญได้แก่ ออกไซด์ของอลูมิเนียม น้ำตาล บอกไซต์ กล้วย เหล้ารัม กาแฟ แยมผลไม้ เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ โดยมีคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา

สำหรับการนำเข้าของจาเมกาในปี 2550 นั้น คิดเป็นมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมี เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน เชื้อเพลิงเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ และมี สหรัฐฯ ประเทศสมาชิก ประชาคมแคริบเบียน (CARICOM) และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา เป็นคู่ค้า

เศรษฐกิจจาเมกาพึ่งพาอุตสาหรรมการบริการเป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยว การส่งเงินกลับจากแรงงานจาเมกาในต่างประเทศ (remittances) และการส่งออกแร่บอกไซต์และอะลูมิเนียมเป็นแหล่งนำเข้าเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม จาเมกาประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง การแข่งขันในตลาดต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ไม่มีเสถียรภาพ ขาดดุลการค้า ปัญหาการว่างงานในอัตราสูง และปัญหาหนี้สินจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องทำความตกลงรับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นจำนวน 1.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับภาวะหนี้สินของประเทศ อย่างไรก็ดี สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยและภาวะการว่างงานทำให้ปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบรัดเข็มขัดก็ทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำงบประมาณมารักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้ สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลพรรค JLP ในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจาเมกา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจาเมกา

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและจาเมกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2527 ปัจจุบัน ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวาเป็นเอกอัครราชทูตประจำจาเมกาอีกตำแหน่งหนึ่ง และไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคิงสตัน รัฐบาลจาเมกาได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้แต่งตั้ง ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์จาเมกาประจำไทย

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจาเมกาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ค่อนข้างห่างเหิน เนื่องจากไม่มีการหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากนัก การเยือนที่สำคัญของฝ่ายไทย อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล) เยือนจาเมกาอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม 2549

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างไทยกับจาเมกามีไม่มากนัก ในปี 2552 มูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 24.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 53.12 โดยไทยส่งออก 23.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 34.26 และนำเข้า 1.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 92.93 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 22.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจาเมกา ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลไม้กระป๋องและ แปรรูป สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจาเมกา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และผ้าผืน เป็นต้น

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553

---------------------

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
กองลาตินอเมริกา
มิถุนายน 2553



กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]