เกรเนดา

เกรเนดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,316 view


เกรเนดา
Grenada

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ในทะเลแคริบเบียน ประกอบด้วยเกาะภูเขาไฟขนาดใหญ่ 3 เกาะได้แก่ เกาะ Grenada, Carriacou และ Petit Martinique

พื้นที่ 344 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ปกคลุมด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และมีชายฝั่งทะเลแคบ ๆ ล้อมรอบเกาะ ความยาวประมาณ 121 กิโลเมตร

ภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น

ประชากร 104,300 คน (2553)

เมืองหลวง กรุงเซนต์จอร์เจส (Saint George’s)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 53 โปรแตสแตนท์ ร้อยละ 33.2 แองกลิกัน ร้อยละ 13.8

เชื้อชาติ เชื้อสายแอฟริกัน ร้อยละ 82 เชื้อสายผสมแอฟริกันยุโรป ร้อยละ 13 เชื้อสายยุโรปและอินเดียนตะวันออก ร้อยละ 5

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 96 (2546)

หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก

วันชาติ 7 กุมภาพันธ์ (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1974)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) เครือจักรภพ (The Commonwealth), Eastern Carribbean’s Regional Security System (RSS), Organization of Eastern Caribbean States (OECS), G-77, ICAO, ITU, OAS, NAM, PetroCaribe UN , WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย แบบอังกฤษ

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ H.E. Sir l Carlyle Arnold GLEAN ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2552

ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Tillman Thomas ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 9 กรกฎาคม 2551

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 13 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล 10 คน และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 3 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 15 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายใน ปี 2556

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา (เรียกชื่อว่า Eastern Caribbean Supreme Court) ยกเว้นกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญจะส่งให้ผู้แทนองคมนตรี (Privy Council) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรพิจารณา

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

พรรคการเมืองสำคัญของเกรเนดาประกอบด้วย National Democratic Congress (NDC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน และพรรค New National Party (NNP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคการเมืองทั้งสองต่างดำเนินนโยบายสายกลาง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 พรรค NDC ซึ่งนำโดยนาย Tillman Thomas ชนะการเลือกตั้ง จากการได้ที่นั่งในสภาผู้แทนฯ ของเกรเนดาทั้งสิ้น 11 จาก 15 ที่นั่ง เหนือพรรค NNP คู่แข่งซึ่งนำโดยนาย Keith Mitchell อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำเกรเนดามาแล้วถึง 3 สมัย

นโยบายต่างประเทศ

เกรเนดามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ มีบทบาทเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือสำคัญแก่เกรเนดา โดยเฉพาะยามประสบภัยพิบัติ เช่น ความช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ให้เกรเนดาเพื่อฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนอีวานเมื่อปี 2547 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ โดยสหรัฐฯ ยังให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารในรูปของการฝึกอบรม และอาวุธยุทโธปกรณ์แก่เกรเนดาด้วย

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค เกรเนดาให้ความสำคัญกับการบูรณาการภายในแคริบเบียน โดยเข้าเป็นสมาชิก CARICOM และเป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Caribbean Currency Union (ECCU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศและดินแดนในแคริบเบียน (แองกวิลลา แอนติกาและบาร์บูดา เครือรัฐโดมินิกา เกรเนดา มอนต์เซอร์รัต เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์) ที่ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน (Eastern Caribbean dollar) ในหมู่สมาชิก

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.1 (2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 644 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 6,221.4 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 24.9 (2551)

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ปิโตรเลียม ปลา ก๊าซธรรมชาติ เหมืองหิน

มูลค่าการส่งออก 30.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ กล้วย จันทน์หอม โกโก้ ผัก ผลไม้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

มูลค่าการนำเข้า 363.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง

ประเทศคู่ค้า โดมินิกา สหรัฐอเมริกา เซนต์ลูเซีย ตรินิแดดและโตเบโก เวเนซุเอลา และประเทศอื่นๆ ในแคริบเบียน

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของเกรเนดาในปัจจุบันได้แก่ ภาคการบริการ (โดยเฉพาะด้านการศึกษา (offshore medical school) และการท่องเที่ยว) และภาคเกษตรกรรม (โดยเฉพาะการผลิตจันทน์หอมและโกโก้) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเกรเนดาได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนที่พัดเข้าถล่มเกาะบ่อยครั้ง ซึ่งนอกจากจะทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายแล้ว ยังทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปในการฟื้นฟูประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อปี 2550 เกรเนดาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคริกเก็ตชิงแชมป์โลก ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้รัฐบาลเกรเนดาได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการแข่งขันแล้ว ยังมีผลในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของเกรเนดาให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วย ซึ่งโรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ ที่เคยหยุดชะงักไปเพราะความเสียหายจากเฮอริเคนได้กลับมาเปิดกิจการใหม่
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า การท่องเที่ยวของเกรเนดายังไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นในทะเลแคริบเบียน เนื่องจากการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยังทำได้ไม่ดีนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกรเนดา

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเกรเนดามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์กันเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2522 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเกรเนดา อีกตำแหน่งหนึ่ง

การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันนั้นยังมีน้อย โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2553 นาย Michael Church รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการส่งออกและการค้าต่างประเทศของเกรเนดา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม 21st Meeting to the Parties to the Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer ในประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อปี 2548 ไทยจัดโครงการเชิญผู้แทนจากประเทศ CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความรู้จักและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งเกรเนดาเป็นหนึ่งในสมาชิก CARICOM ที่ได้ให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเกรเนดา มูลค่า 1.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
ในปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีมูลค่าแล้ว 1.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 1.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้ามูลค่า 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเกรเนดาถึง 0.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2552 ชาวเกรเนดาเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 26 คน

4. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ในระดับทวิภาคี ไทยและเกรเนดาอยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ขณะนี้ เกรเนดากำลังพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเกรเนดา ที่จะเป็นกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

สำหรับในระดับพหุภาคีนั้น ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือกับเกรเนดา โดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM) โดยเมื่อปี 2550 มีผู้แทนจากเกรเนดาได้รับทุนฝึกอบรมหลักสูตร Marine Aquaculture Development Training ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี 2550 ที่ไทยเสนอให้กลุ่มประเทศสมาชิก CARICOM สำหรับเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าว พร้อมกับตัวแทนจากประเทศสมาชิก CARICOM อื่นที่จังหวัดภูเก็ต

5. ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและเกรเนดามีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิก อาทิ สมาชิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 ซึ่งเกรเนดาให้เสียงสนับสนุนฝ่ายเดียวแก่ไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว และไทยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งนี้


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 30 ธันวาคม 2553 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ