สาธารณรัฐโดมินิกัน

สาธารณรัฐโดมินิกัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,668 view


สาธารณรัฐโดมินิกัน
Dominican Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่บนเกาะฮิสปานิโอลา (Hispaniola) ในทะลแคริบเบียน โดยมีพื้นที่เป็น 2 ใน 3 ของเกาะ และมีพรมแดนด้านตะวันตกติดกับสาธารณรัฐเฮติ

พื้นที่ 48,511 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ แบบกึ่งร้อนชื้น

ประชากร 9.65 ล้านคน (2552)

เมืองหลวง กรุงซันโตโดมิงโก (Santo Domingo)

ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 95

เชื้อชาติ ผิวผสมร้อยละ 73 ผิวขาวร้อยละ16 ผิวดำร้อยละ 11

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 87

หน่วยเงิน โดมินิกันเปโซ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเมื่อปี 2552 คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 36 โดมินิกันเปโซ

วันชาติ 27 กุมภาพันธ์ (วันประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1844)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom ในฐานะ ผู้สังเกตการณ์) ระบบการรวมกลุ่มในอเมริกากลาง (Central American Integration System – SICA ในฐานะสมาชิกสมทบ) สหภาพรัฐสภา (Inter-Parlimentary Union – IPU), OAS, NAM, PetroCaribe, UN , WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ระบบรัฐสภาและประธานาธิบดีแบบเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา

ประมุขของประเทศ ประธานาธิบดี ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาล มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Leonel Fernández Reyna ซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่ 3 เมื่อปี 2551 (สมัยแรก ปี 2539 และสมัยที่สอง ปี 2547) และการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2555

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 32 คน โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งใน 31 จังหวัดๆ ละ 1 คน และเขตประเทศ 1 คน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 183 คน

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร โดยมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐบาลชุดปัจจุบันนำโดยพรรค PLD ซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภาด้วย

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาล ซึ่งมีเขตจังหวัดเป็นเขตอำนาจศาล และศาลฎีกา (ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้รับแต่งตั้งจากสภาตุลาการแห่งชาติ)

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

นาย Leonel Fernandez ประธานาธิบดีคนปัจจุบันแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วเป็นสมัยที่ 3 และถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศนับตั้งแต่ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่อนุญาตให้นาย Fernanadez ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกในสมัยหน้า (ค.ศ. 2012) แต่ด้วยฐานเสียงสนับสนุนที่เข้มแข็งของพรรค PLD ในรัฐสภาโดมินิกัน อาจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นาย Fernanadez สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งก็เป็นได้ ทั้งนี้ โดมินิกันมีปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไข ได้แก่ การขาดแคลนพลังงาน การปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด รวมถึงการบริหารการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

นโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลประธานาธิบดี Fernandez มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย นอกเหนือไปจากการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ นาย Fernandez ยังพยายามเพิ่มบทบาทในระดับภูมิภาคของโดมินิกัน ด้วยการเข้าไปมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างโคลอมเบียกับเวเนซุเอลา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศแก่เฮติภายหลังประสบภัยแผ่นดินไหวเมื่อต้นปี 2553 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้โดมินิกันก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นตัวกลางประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ

ที่ผ่านมา สาธารณรัฐโดมินิกันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาโดยเฉพาะเวเนซุเอลา ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการทำความตกลงซื้อขายน้ำมันที่เอื้อประโยชน์ให้โดมินิกันสามารถซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลาได้ในราคาถูก จึงสามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของโดมินิกันได้เป็นอย่างดี ส่วนความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างเฮตินั้น แม้โดมินิกันจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเฮติภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ อาจถูกกระทบด้วยปัญหาผู้อพยพชาวเฮติที่เพิ่มจำนวนอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาระแก่รัฐบาลโดมินิกัน ซึ่งพยายามที่จะผลักดันกลุ่มคนเหล่านั้นออกจากดินแดนของตน

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.5 (2552)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 46,597.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (2552)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 5.8 (2552)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 14.9 (2552)

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แร่นิกเกิล ทองคำ เงิน

มูลค่าการส่งออก 5,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำตาล กาแฟ และยาสูบ

มูลค่าการนำเข้า 12,283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร น้ำมันปิโตรเลียม ฝ้าย ผ้า เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์

ประเทศคู่ค้า สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เฮติ และประเทศอื่นๆ ใน ลาตินอเมริกา

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

ในอดีต เศรษฐกิจโดมินิกันพึ่งพาการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาล กาแฟและยาสูบ ขณะที่ในปัจจุบัน เศรษฐกิจภาคบริการมีความสำคัญต่อโดมินิกันเพิ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 เศรษฐกิจโดมินิกันขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม (Free Trade Zone - FTZ) ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังมีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล ส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ

ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ สาธารณรัฐโดมินิกันได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศอเมริกากลางและสหรัฐฯ (Dominican Republic-Central American Free-Trade Agreement หรือ DR-CAFTA) ทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงมีปริมาณการค้ากับประเทศกลุ่ม DR-CAFTA ที่ขยายตัวขึ้นเช่นกันจนกลายเป็นตลาดที่สำคัญรองจากสหรัฐฯ และเม็กซิโกไปแล้ว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดมินิกันยังคงพึ่งพาสหรัฐฯ อยู่มาก เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกกว่าร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกของโดมินิกัน รวมถึงเป็นที่มาของรายได้ถึง 1 ใน 10 ของจีดีพีของประเทศ จากรายได้ของแรงงานอพยพชาวโดมินิกันที่เข้าไปทำงานในสหรัฐฯ ส่งกลับเข้าประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโดมินิกัน

ความสัมพันธ์ทั่วไป ไทยและโดมินิกันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2510 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด โดยฝ่ายไทยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำโดมินิกันอีกตำแหน่งหนึ่ง และมีนายกุสตาโว เอ็นริเก ตูรูลล์ (Gustavo Enrique Turull) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิติมศักดิ์ประจำสาธารณรัฐโดมินิกัน ส่วนฝ่ายโดมินิกันแต่งตั้งเอกอัครราชทูตโดมินิกัน ณ กรุงนิวเดลี ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้เปิดสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2516

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 63.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 51.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 11.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าโดมินิกัน มูลค่า 39.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ลวด และสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2553 (มกราคม-ตุลาคม) ขยายตัวขึ้นเป็น 77.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 64.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้ามูลค่า 12.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 52.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่โดมินิกันให้ความสนใจและมีโอกาสขยายตลาดได้สูง ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ปิกอัพ เป็นต้น ส่วนการลงทุน สาขาธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวไทย ได้แก่ การท่องเที่ยว สปา โรงแรม ร้านอาหารไทย ดอกไม้ตัด การเพาะเลี้ยงกุ้ง และการเพาะกล้วยไม้

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2552 ชาวโดมินิกันเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 303 คน

ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคี แต่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่โดมินิกันผ่านองค์การรัฐอเมริกา (Organization of American States-OAS) เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin America Cooperation-FEALAC) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM) โดยเมื่อเดือนกันยายน 2553 สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ได้อนุมัติให้ทุนการศึกษาแก่ผู้แทนจากโดมินิกันจำนวน 2 คน เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ SMEs Trade and Investment Opportunities ระหว่างวันที่ 6-16 กันยายน 2553 ที่กรุงเทพฯ

ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและโดมินิกันมีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและโดมินิกันเป็นสมาชิก อาทิ สมาชิกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระ ค.ศ. 2011-2013 ซึ่งโดมินิกันให้เสียงสนับสนุนฝ่ายเดียวแก่ไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว และไทยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งดังกล่าวด้วย


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 17 ธันวาคม 2553 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ