สาธารณรัฐคิวบา

สาธารณรัฐคิวบา

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 36,454 view


สาธารณรัฐคิวบา
Republic of Cuba

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดใน West Indies กลางทะเลแคริบเบียน อยู่ทางทิศใต้ของรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา บริเวณทางตอนเหนืออยู่ใกล้กับอ่าวเม็กซิโก และทางด้านตะวันออกอยู่ใกล้กับเฮติ และสาธารณรัฐโดมินิกัน ทางตอนใต้ของประเทศมีภูเขาที่สำคัญคือ Sierra Maestra

พื้นที่ 110,860 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น (tropical) ฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม

เมืองหลวง กรุงฮาวานา (Havana)

ประชากร (2551) 11.24 ล้านคน

ภาษา สเปนเป็นภาษาราชการ

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
เชื้อชาติ ผิวขาวผสมผิวดำ ร้อยละ 51 ผิวขาวร้อยละ 37 ผิวดำร้อยละ 11 ชาวจีนร้อยละ 1

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 99.8

หน่วยเงินตรา คิวบาใช้เงินตรา 2 สกุล โดยในทางปฏิบัติ รัฐบาลเป็นผู้กำหนดค่าเงิน ได้แก่ 1) คิวบาเปโซ ซึ่งเป็นเงินตราสำหรับชาวท้องถิ่น โดยอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 24 คิวบา เปโซ (2549) และ 2) คิวบาคอนเวิร์ททิเบิลเปโซ ซึ่งเป็นเงินสกุลสำหรับชาวต่างชาติใช้จ่ายในคิวบา โดยอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 0.925 คิวบาคอนเวิร์ททิเบิลเปโซ (2553)

วันชาติ 1 มกราคม (วันครบรอบการปฏิวัติ ค.ศ. 1959)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ FEALAC, ECLAC, FAO, UN, UNESCO, NAM, G77, WTO, ILO, UNCTAD, IAEA, OAS (เมื่อ ค.ศ. 2009 OAS ได้ออกมติ ที่มีผลยกเลิกมติเดิมเมื่อ ค.ศ. 1962 ซึ่งระงับสมาชิกภาพของคิวบาในองค์กรดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขให้คิวบาปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการขององค์การ หากประสงค์กลับเข้าเป็นสมาชิก OAS)

เวลาแตกต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง (GMT-5)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง สังคมนิยม
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ที่มีชื่อว่า National Assembly of People’s Power ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 614 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีวาระ 5 ปี (การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปี 2551 และครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2556)

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยคนปัจจุบันคือนาย Raúl Castro Ruz ซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทนนาย Fidel Castro เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551

ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกา (ได้รับการแต่งตั้งจากสภา National Assembly of People’s Power) มีอำนาจดูแลศาลอื่นๆ ในระดับภูมิภาค

พรรคการเมือง ระบบพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ (Partido Comunista de Cuba : PCC)

นโยบายต่างประเทศ

คิวบาดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ อย่างชัดเจน โดยมีความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับเวเนซุเอลาและโบลิเวีย เนื่องจากผู้นำมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการต่อต้านการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ในลาตินอเมริกาและอเมริกากลาง โดยได้ลงนามความตกลงเพื่อบังคับใช้แนวทางเลือกแบบโบลิวาร์เพื่อประชากรแห่งอเมริกาและความตกลงการค้าของประชาชน (Agreement for the Application of the Bolivarian Alternative for the Peoples of our America and the Peoples’ Trade Agreements - ALBA) ร่วมกับเวเนซุเอลา โบลิเวียและนิการากัว เพื่อเป็นแนวทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาคตามแนวความคิดแบบสังคมนิยมและจะเป็นทางเลือกแทนการจัดทำความตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกา (Free Trade Agreement of the Americas – FTAA) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ

คิวบาแสดงบทบาทแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกรอบสหประชาชาติ และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM) โดยมักใช้เวทีดังกล่าวในการโจมตีการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการค้าของสหรัฐฯ ต่อคิวบา เป็นต้น

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2552) ร้อยละ 1.4

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (2551) 68.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว (2551) 6,086.40 ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.8

อัตราการว่างงาน (2551) ร้อยละ 1.7

หนี้สินต่างประเทศ 17.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทรัพยากรธรรมชาติ เหล็ก ทองแดง นิเกิล แมงกานีส เกลือ ไม้ ก๊าซธรรมชาติ

อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปน้ำตาล การกลั่นน้ำมัน อาหารแปรรูป เหล็ก ปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การผลิตยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

เกษตรกรรม อ้อย ยาสูบ ผลไม้ประเภทส้ม (Citrus) กาแฟ ผัก ถั่ว เนื้อ ข้าว ผลไม้เมืองร้อน

มูลค่าการนำเข้า (2551) 14.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า อาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร

มูลค่าการส่งออก (2551) 3.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออก น้ำตาล นิเกิล ยาสูบ อาหารทะเล เหล้ารัม ยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เนเธอร์แลนด์ เวเนซุเอลา แคนาดา จีน สเปน สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

คิวบามีนโยบายเศรษฐกิจตามระบอบสังคมนิยม โดยรัฐมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ควบคุมกลไกในการผลิตส่วนใหญ่ เป็นผู้จ้างแรงงานที่สำคัญ เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าส่วนใหญ่และแจกจ่ายสิ่งของแก่ประชาชน พร้อมทั้งควบคุมการลงทุนของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลคิวบาเริ่มมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายความเข้มงวดในธุรกิจบางประเภท อาทิ การท่องเที่ยวและโรงแรม เพื่อดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ ดำเนินมาตรการเปิดเสรี และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

หลังจากนาย Raúl Castro เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจของคิวบาโดยทันที แต่ก็ได้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยนาย Raúl Castro ประกาศดำเนินนโยบายการขยายการถือครองที่ดินทำกินของเกษตรกร ลดหรือยกเลิกเงินอุดหนุนบางประเภท เพิ่มเงินบำนาญ ยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภท อาทิ โทรศัพท์มือถือ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าว ไม่สามารถช่วยเหลือคิวบาให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ เพราะนอกจากคิวบาจะถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีปัญหาจากความด้อยประสิทธิภาพในการผลิต ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะน้ำตาลและนิเกิลในตลาดโลกตกต่ำ รวมทั้งผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุเฮอริเคนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คิวบาได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับเวเนซุเอลา ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของคิวบาได้อย่างมาก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีและเภสัชกรรมมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจคิวบาในภาพรวม โดยคิวบาสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทวัคซีนป้องกันไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ไปยังหลายประเทศ เช่น รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน และหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคิวบา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคิวบา

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและคิวบาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2501 โดยรัฐบาลไทยแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกเป็นเอกอัครราชทูตประจำคิวบาอีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี 2546 ได้เปิดสถานกงสุลกิตติศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐคิวบาขึ้นโดยมีนาย Jorge Manuel Vera Gonzalez ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ ส่วนรัฐบาลคิวบาได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2547 โดยเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Lazaro Herrera Martinez

ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันหลายครั้ง อาทิ

ฝ่ายไทย
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non Aligned Movement-NAM) ครั้งที่ 14 ที่กรุงฮาวานา เมื่อปี 2549
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม NAM เมื่อปี 2549
นายสุรพงษ์ ชัยนาม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม NAM เมื่อปี 2552

ฝ่ายคิวบา
นาย Jose Armando Guerra Menchero รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคิวบาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2543
นาง Noemi Benitez y de Mendoza รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศคิวบาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2544
นาย Ramon Ignacio Ripoll Diaz รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนต่างประเทศและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ได้เดินทางเยือนไทย เมื่อปี 2547 เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) ไทย-คิวบา ครั้งที่ 1

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 4.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 55.24 ไทยส่งออกไปคิวบามูลค่า 3.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 64.07) และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.44) ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปคิวบา ได้แก่ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น

สินค้าที่ไทยนำเข้าที่สำคัญจากคิวบา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
เมื่อปี 2552 ชาวคิวบาเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 259 คน

ความร่วมมือทางด้านวิชาการ
ไทยให้ความช่วยเหลือแก่คิวบาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) โดยเฉพาะด้านการเกษตร ประมง การท่องเที่ยวและการบริหารโรงแรม โดยล่าสุดคิวบา ส่งผู้แทนเข้าร่วมการอบรม Tourism in Asia: Development, Management and Sustainability ที่ สพร. จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2553
ส่วนฝ่ายคิวบาได้เสนอทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยเพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาภาษาและวรรณคดีสเปน และสาขาการกีฬา อีกทั้งยังได้จัดส่งผู้ฝึกสอนกีฬาในประเภทมวยสากลและวอลเลย์บอล มาฝึกสอนนักกีฬา/เยาวชนไทยในหลายโอกาส นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสนใจจะพัฒนาความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและความร่วมมือด้านพันธุวิศวกรรมระหว่างกันอีกด้วย

ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทั้งสองฝ่าย มีความสัมพันธ์อันดีในกรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิ เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (FEALAC) และกลุ่มประเทศไม่ฝั่กใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ซึ่งคิวบาดำรงตำแหน่งประธานเมื่อ ค.ศ. 2006-2009
นอกจากนี้ ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน อาทิ การแลกเสียงในการสมัครเป็นสมาชิกคณะกรรมการต่างๆ ในกรอบสหประชาชาติ โดยล่าสุด คิวบาให้เสียงสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระ ค.ศ. 2010-2013 และไทยตกลงแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนในตำแหน่งเดียวกัน ประจำวาระ ค.ศ. 2013-2016

ความตกลงที่สำคัญ
ความตกลงที่ได้ลงนามกันแล้ว ได้แก่
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและคิวบา ลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543
ความตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยกับคิวบา ลงนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย – คิวบา มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2547 และ 2549 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเน้นการดำเนินความร่วมมือใน 1) ด้านเศรษฐกิจการค้า 2) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 3) ด้านวิชาการ การศึกษา กีฬา และวัฒนธรรม
ความตกลงระหว่างสภาหอการค้าไทยและคิวบา ลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2547
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2549
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างไทยกับคิวบา ลงนามเมื่อ 23 มกราคม 2552

ความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการในสาขาการประมง
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการเกษตร และ
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

-------------------


กองลาตินอเมริกา
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
กรกฎาคม 2553


กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ